ควบคุมตัว 3 เด็ก-เยาวชน ขณะกินแมค อ้างมีพฤติการณ์ก่อกวน #ขบวนเสด็จ อีกด้านสกัด “มังกรปฏิวัติ” รับเสด็จ 1 ในผู้ชุมนุมถูก ตร.ทำร้ายจนฟันบิ่น-แว่นแตก   

15 เม.ย. 2565 – ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เมื่อช่วงเวลาราว 11.45 น. “พิงค์” (นามสมมติ) อายุ 13 ปี และเยาวชนอีก 2 ราย อายุ 16 และ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 – 30 นาย และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าควบคุมตัวขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เบื้องต้น คาดว่ามีเหตุจากกิจกรรมรอรับเสด็จในช่วงบ่าย จัดโดยกลุ่มมังกรปฏิวัติ

จากวีดิโอที่พิงค์บันทึกเหตุการณ์ไว้ พบว่า มีเจ้าหน้าที่ พม. เข้าพูดคุยกับเธอก่อน โดยตกลงกันว่า หากเธอกินอาหารด้วยท่าทีที่สงบก็ไม่เป็นไร เขาจะขอนั่งเฝ้าเฉยๆ แต่ถ้ามีการท่าทีที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จะต้องเชิญตัวไป แต่ในทันทีที่เจ้าหน้าที่ พม.พูดคุยเสร็จ ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้เข้ามาสั่งให้เธอไปกับเจ้าหน้าที่ทั้งที่พิงค์ยังกินข้าวไม่เสร็จ ระบุว่า เธอมีท่าทีก่อกวน และเคยมีประวัติมาก่อนด้วย 

เมื่อพิงค์ไม่ยินยอม และตั้งคำถามว่า เธอก่อกวนอย่างไร ตำรวจในเครื่องแบบซึ่งระบุว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ กลับบอกว่า การพูดลักษณะนี้เป็นการก่อกวน ขอเชิญออกนอกพื้นที่ ไม่อย่างนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย จากนั้น ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) หญิง ได้เข้าควบคุมตัวพิงค์ซึ่งเริ่มร้องไห้ ก่อนอุ้มเธอขึ้นรถตู้ตำรวจ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกเธอว่า จะพาไปกินโจ๊กที่ศาลาว่าการ กทม. แต่แล้วเจ้าหน้าที่กลับพาพิงค์ไปควบคุมไว้ที่กระทรวง พม. ถนนกรุงเกษม โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมตัวจากร้านแมคโดนัลด์มาที่ พม. ตามหลังพิงค์มาอีก 2 คน 

ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่กระทรวง พม. ตำรวจยังได้ยึดโทรศัพท์มือถือของ 1 ในนักกิจกรรม อ้างว่าอยู่ในพื้นที่ของกระทรวง พม. จึงมีอำนาจ แต่ก็ได้คืนให้ในเวลาต่อมา กระทั่งเวลา 12.44 น. ทั้งสามได้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปยังสโมสรตำรวจบนถนนวิภาวดี รังสิต โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ที่หน้ากระทรวง พม. มีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจเยาวชนทั้งสาม จึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่เพื่อความปลอดภัย เมื่อมาถึงสโมสรตำรวจ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะทำประวัติของเยาวชนทั้งสาม และได้ติดต่อให้ผู้ปกครองเดินทางมารับตัว แต่ภายหลังตำรวจได้เปลี่ยนเป็นลงบันทึกประจำวันแทนการทำประวัติ จากนั้นได้ปล่อยตัวเยาวชนทั้งสามในเวลาประมาณ  18.00 น. โดยไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ พร้อมมอบสำเนาบันทึกประจำวันมาให้ด้วย

หลังจากได้รับการปล่อยตัว เยาวชน 2 ราย ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ในการควบคุมตัวเด็กและเยาวชนทั้งสาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา จึงเข้าข่ายกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ไร้อิสรภาพ และเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งนักกิจกรรมทั้งสามยังเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 (พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ) ให้การคุ้มครอง โดยห้ามมิให้ผู้ใดทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการนำตัวเด็กไป จำเป็นต้องเป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีกระทรวง พม, ศึกษาธิการ หรือมหาดไทย โดยต้องแสดงบัตรประจำตัวก่อนด้วย และต้องเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ซึ่งจากภาพข่าวและภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการควบคุมตัว ก็ยังน่าตั้งคำถามว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามหลักการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริงหรือไม่

.

1 ในเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวระบุ ถูกอุ้มทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด กระทบกระเทือนจิตใจ ตำรวจอ้าง มีประวัติเคยเคลื่อนไหว จึงต้องควบคุมตัว

ภายหลังจากได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ ได้พูดคุยกับ 1 ในผู้ถูกจับกุม เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี เธอได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัวที่เกิดขึ้น ซึ่งเธอยอมรับว่า ปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ได้สร้างบาดแผลไว้ในใจเธอ ซ้ำเติมปัญหาด้านจิตเวชที่เธอกำลังเผชิญอยู่

“ตอนแรก ดาบประสิทธิเข้ามาคุยกับเราก่อน เรากับน้องอีกคนเพิ่งไปถึงแมคโดนัลด์ แต่น้องคนที่มาก่อนเราถูกควบคุมตัวไปแล้ว พอสั่งอาหารปุ๊ป เขาก็เข้ามาพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่น พยายามพูดเหมือนมาสอนเรา เราก็เลยถามกลับไปว่า ‘ทำไมเราถึงมานั่งตรงนี้ไม่ได้? เราแค่จะมากินข้าว’ เขาก็ตอบเรากลับมาว่า ‘มันไม่ถูกที่ถูกเวลา’ อ้างว่าเพราะเรามีประวัติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ซักพักเจ้าหน้าที่ของ พม. ก็เข้ามาคุย มีการอ้างเรื่องข้อกฎหมาย แล้วเราก็ถูกพาไปตัวไป พม. แล้วก็ไปเจอน้อง ๆ ที่นั่น”

“เราถามเขาไปว่า ‘พี่ หนูไม่ได้โดนอะไรใช่ไหม? เอาตัวหนูมาทำไม? แล้วเมื่อไหร่จะปล่อย?’ เจ้าหน้าที่เขาก็ตอบว่า ไม่มีอะไร เดี๋ยวจะให้ผู้ปกครองมารับ เดี๋ยวก็กลับบ้านได้ เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ได้มีท่าทีข่มขู่อะไร แต่เรายังรู้สึกตกใจที่โดนอุ้ม รู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งยังมีความพยายามจะถามข้อมูล ยึดโทรศัพท์มือถือของน้องเรา”

“ที่สโมสรตำรวจ ตอนที่ทำบันทึกประจำวัน เขาก็บันทึกว่า พวกหนูมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง แต่ไม่ได้ให้ทำประวัติ ไม่ได้ให้เราเซ็นเอกสารอะไร แต่ให้สำเนาของบันทึกประจำวันมาด้วย”

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันกระทบกระเทือนจิตใจ ตัวเราเองก็มีโรคทางจิตเวชด้วย เป็นโรคตื่นตระหนก (Panic Attack) มันเลยทำให้เกิดแผลลึกกว่าเดิม เรารู้สึกว่า ทำไมเขาถึงต้องทำกับเราขนาดนี้ พวกเราเองก็ยังเป็นเยาวชนอยู่ แล้วก็ยังไม่ได้ทำความผิดอะไรด้วย”

“สมมติถ้าเราจะไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มันก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องทำกับเราแบบนี้ หลังจากนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดตามมาบ้าง กังวลเรื่องความปลอดภัย กลัวว่าจะมีคนมาคอยตามถ่ายรูป แล้วจะถูกอุ้มแบบที่โดนอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้”

.

เกิดเหตุผลักดันกันขณะตำรวจปิดกั้นขบวนไป #รับเสด็จ ที่สะพานขาว มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย

ภายหลังจากที่มีการควบคุมตัวเด็กและเยาวชนทั้งสาม นักกิจกรรมหลายกลุ่มได้แชร์โพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่มมังกรปฏิวัติ ซึ่งนัดหมายไปที่หน้ากระทรวง พม. ต่อมาในช่วงราว 15.39 น. หลังเยาวชนถูกควบคุมตัวไปสโสมรตำรวจแล้ว กลุ่มมังกรปฏิวัติได้ประกาศเดินทางเข้าไปรับเสด็จ โดยขบวนรับเสด็จถือป้ายข้อความ “อยากรับเสด็จ” “พ่อของปวงประชา” ฯลฯ พร้อมทั้งตะโกน “ทรงพระเจริญ” ไปในระหว่างทาง แต่ขบวนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสีกากีตั้งแถวสกัดที่บริเวณสะพานขาว ถนนหลานหลวง จนเกิดการปะทะกัน ขณะผู้ชุมนุมพยายามตะโกนว่า “อย่าทำร้ายประชาชน เรามารับเสด็จ” 

จากไลฟ์สดของเพจ Friends talk พบว่า หลังเหตุการณ์ปะทะมีประชาชนชายอายุ 22 ปี ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังพบว่ามีเยาวชนชายอายุราว 10 – 15 ปี รวมถึง “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมืองเยาวชน ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน โดยทานตะวันปรากฎรอยช้ำแดงที่ใบหน้า ทั้งยังปรากฏภาพสื่ออิสระรายหนึ่งถูกตำรวจหลายนายลากตัวไปกดลงกับพื้นจนโทรศัพท์พร้อมขาตั้งที่ใช้ไลฟ์สดฟาดลงกับพื้น ยังไม่ทราบอาการว่าบาดเจ็บหรือไม่

ชายวัย 22 ปี เล่าเหตุการณ์ว่า ตนเองเห็นว่าตำรวจและผู้ชุมนุมปะทะกันอยู่ฝั่งหนึ่ง ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นทางโล่ง ตนจึงเดินไปทางนั้น โดยเจ้าหน้าที่เข้ามาขวาง ตนก็บอกไปว่า “ผมจะไปรับเสด็จ” เจ้าหน้าที่ก็ถามย้อนกลับมาว่า “มึงจะไปรับเสด็จเหรอ?” จากนั้นก็ถูกลากตัวเข้าไปทำร้ายร่างกายที่หลังแนวกั้น บริเวณที่รถตำรวจจอดอยู่ และถูกเหยียบที่หัวลงกับพื้นจนแว่นแตกและหายไป โดยตามร่างกายมีร่องรอยการถูกทำร้ายชัดเจน ทั้งปากแตกและรอยแดงที่คอ

16.09 น. ตำรวจแถลงว่า ไม่ได้มีการกระทืบอย่างที่กล่าวอ้าง เป็นเพียงการผลักดันให้พ้นแนวจนล้มลงไป ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็แย้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงกว่าที่ตำรวจออกมาแก้ต่าง ทางตำรวจจึงแจ้งว่าจะพาตัวไปรักษาพยาบาล พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย จน 5 นาทีต่อมา พิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ประกาศยุติการชุมนุมเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมเชิญชวนมวลชนไปรับนักกิจกรรมเยาวชนทั้งสามกลับจากสโมสรตำรวจ

ในช่วงดึกวันเดียวกัน หลังจากเหตุการณ์สงบลง “ฟริค” (นามสมมติ) ซึ่งถูกทำร้ายจนแว่นแตก และฟันบิ่น ได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุและเป็นหน่วยงานปฏิบัติการ และได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลพญาไทเพื่อตรวจร่างกาย

.

X