ตร.นางเลิ้งแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 ประชาชน ร่วมเดินขับไล่ #8ปีประยุทธ์ แม้ประกาศชุมนุมได้ แต่อ้างว่าไม่แจ้งชุมนุม

12 ก.ย. 2565 ที่ สน.นางเลิ้ง ประชาชนและนักกิจกรรม รวม 4 คน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกรณีการจัดกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์, “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ และ “มานี” เงินตา คำแสน โดยหมายระบุว่ามี พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม เป็นผู้กล่าวหา

.

ทั้งสี่คนได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พร้อมทนายความ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะได้แจ้งข้อหาใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1. ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15)
  2. ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
  3. ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

ขณะเดียวกัน เฉพาะวรัณยา ยังถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เพิ่มเติมอีก 1 ข้อกล่าวหาด้วย

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มราษฎรไล่ตู่, กลุ่มทะลุคุก 100% และกลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร ได้นัดหมายให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรมเดินไล่เหี้ย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นแกนนำพร้อมมวลชนประมาณ 25 คน ได้เคลื่อนขบวนโดยการเดินเท้าเพื่อไปจัดกิจกรรมขับไล่นายกรัฐมนตรี บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

เมื่อเดินเท้าไปถึงบริเวณแยกนางเลิ้ง ซึ่งเป็นแนวกั้นแรกด้วยแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปิดการจราจรไว้เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปชุมนุม พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.นางเลิ้ง ได้ประกาศแจ้งข้อห้ามเกี่ยวกับการชุมนุมว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธย่อมกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ แต่การชุมนุมนี้ไม่ได้แจ้ง จึงเป็นการชุมนุมที่ผิด จึงขอให้ยุติการชุมนุม 

แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติ โดยได้ยกแผงเหล็กแนวแรกออก และเดินเท้ามาปักหลักชุมนุมที่หน้าแผงเหล็กแนวกั้นที่สอง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง โจมตีการทำงานของรัฐบาลและต้องการให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง และปักหลักค้างแรมเพื่อรอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

จนวันที่ 24 ส.ค. 2565 กลุ่มผู้ชุมนุมยังปักหลักต่อไป และไม่ย้ายที่ชุมนุม หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและ พ.ต.อ.สมยศ ได้เข้าไปเจรจาพูดคุย ตำรวจยังระบุว่าขณะการชุมนุมในเวลาประมาณ 15.45 น. วรัณยายังได้กล่าวปราศรัยมีเนื้อหาโจมตี พ.ต.อ.สมยศ มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ จนมีการเลิกการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 20.15 น.

ทั้งสี่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 20 วัน พนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนปล่อยตัวไป โดยนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 6 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

.

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 15) ที่อนุญาตให้ชุมนุมในพื้นที่เฝ้าระวัง แต่ระบุว่าให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม และกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

ทำให้การไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ ถูกเพิ่มโทษขึ้นไปจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยปกติ กลายเป็นการใช้กฎหมายลำดับรองเพิ่มโทษให้ข้อหาตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

ทั้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในมาตรา 3 (6) ยังบัญญัติมิให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประกาศหัวหน้าผู้รับชอบฯ ฉบับนี้ ขัดต่อกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ จึงไม่ควรมีผลบังคับใช้ได้

กรณีการออกประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับนี้ ตัวแทนนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนประกาศฉบับนี้ ซึ่งศาลได้รับฟ้องไว้ แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหลังการไต่สวนเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันกรณีจากการชุมนุมในวาระ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งครบรอบ 8 ปี ยังมีรายงานกรณีของนักสิทธิแรงงาน 5 คน ถูกตำรวจ สน.นางเลิ้ง ออกหมายเรียกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกันนี้ จากการชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงาน และขับไล่ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565

.

X