ฟ้อง “จตุพร” ม.112 เหตุแต่งคอสเพลย์ชุดไทยร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ อัยการชี้เจตนาล้อเลียนราชินี ก่อนศาลให้ประกัน

15 กรกฎาคม 2564 – วันนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2) ได้นัดหมายให้ จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมทางการเมืองผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการแต่งชุดไทยเข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขกบนถนนสีลม เดินทางมาเพื่อฟังคำสั่งฟ้องในคดี

>>> เปิดข้อกล่าวหา ม.112 เยาวชน – ผู้แต่งคอสเพลย์ชุดไทย เหตุเดินพรมแดงม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม

หลังจากรับทราบว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี และได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1265/2564  ทนายความและจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวคราว โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ต่อมาในช่วงราว 11.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการกระทำในลักษณะเดียวกันที่ถูกฟ้องอีก และจะต้องมาตามกำหนดนัดของศาลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น.

นอกเหนือจากจตุพร ยังมีอีกคดีที่มีมูลเหตุเดียวกันจากการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่ง วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี นั่นคือคดีของ “สายน้ำ” (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) นักกิจกรรมเยาวชนซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกัน กรณีแต่งชุดเสื้อยืดเอวลอย และเขียนร่างกายด้วยหมึกเข้าร่วมชุมนุม อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้แยกคดีความของสายน้ำออกมาเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งจะต้องถูกพิจารณาโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยในขณะนี้ อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดีของสายน้ำ

>>> คดี 112 จตุพร – สายน้ำ (เยาวชน) ม็อบแฟชั่นโชว์ 29ตุลา

>>> “สายน้ำของการเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ไหลหวนกลับ”: บทสนทนากับเยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112 กับเวลา 24 ชม. ก่อนฟังคำสั่งฟ้องคดี

>>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64

.

เปิดคำฟ้องคดี ม.112 เหตุแต่งชุดคอสเพลย์เข้าร่วมการชุมนุมม็อบแฟชั่นโชว์ อัยการชี้ จำเลยล้อเลียนราชินีโดยไม่หวั่นเกรงใดๆ

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องที่ สุธรรม ศรีพิทักษ์ พนักงานอัยการ ยื่นต่อศาลในวันนี้ เริ่มด้วยการเท้าความเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลใช้บังคับอยู่ จําเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายรวม 4 กรรม กล่าวคือ

1. จําเลยกับพวกได้ร่วมกันเป็นผู้ชุมนุม ทํากิจกรรมในสถานที่ที่มีคนแออัดที่บริเวณพื้นผิวจราจรบนถนนสีลม หน้าวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก) ซึ่งเป็นการชุมนุมสาธารณะที่มิได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในการชุมนุมพบว่ามีการทํากิจกรรม ดนตรี และงานแสดง แอบอ้างว่าเป็นงานศิลปะต่อหน้าประชาชนจํานวนมากในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกําหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่หรือถนนสาธารณะ

ต่อมา ผู้กํากับ สน. ยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในท้องที่ได้เข้ามาประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 19.00 น. แต่จําเลยกับพวกและผู้ชุมนุมแสดงอาการไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงเลี่ยงออกจากบริเวณชุมนุมเพื่อความปลอดภัย หลังจากถึงกําหนดระยะเวลาที่ประกาศไว้ จําเลยกับพวกและผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมโดยยังร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมต่อจนเจ้าพนักงานไม่อาจเปิดพื้นผิวการจราจรเพื่อให้ประชาชนใช้งานได้ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือคําสั่งของเจ้าพนักงาน หรือกระทำการอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ

2. จําเลยกับพวกได้ร่วมกับผู้จัดการชุมนุม ทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่จัดให้มีจุดบริการล้างมือ และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนของประชาชนในพื้นที่ เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไป 

3. จําเลยกับพวกยังร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้โทรโข่งและเครื่องกระจายเสียงอย่างอื่น โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

4. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยคำว่า “ทรงพระเจริญ” เป็นคําที่ใช้ถวายพระพรกษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง 

ภายหลังจากที่จําเลยนี้กับพวกได้กระทําความผิดตามฟ้องในข้อหาก่อนหน้า จําเลยกับ “สายน้ำ” ซึ่งเป็นเยาวชน แยกดําเนินคดีต่างหากแล้ว และพวกของจําเลยอีกหลายคนที่ยังหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันวางแผน เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่างๆ และร่วมกันแบ่งหน้าที่กันทำ ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ด้วยการแต่งกาย แสดงกริยาอาการ คําพูด แสดงข้อความด้วยถ้อยคําเขียนตามเนื้อตัวร่างกาย โดยมีเนื้อหาใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี

กล่าวคือจําเลยกับพวกได้ร่วมกันนําพรมสีแดงผืนใหญ่หลายผืนมาปูที่พื้นถนน ทั้งฝั่งสีลมขาเข้าและขาออก มีการนําฉากผ้าใบกั้นด้านหลังฝั่งถนนสีลมขาเข้า เขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ส่วนฉากผ้าใบฝั่งถนนสีลมขาออก เขียนข้อความบรรทัดบนว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ)” บรรทัดล่างมีข้อความว่า “SIRIVANNAVARI 13 ล้าน” ซึ่งเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ราชธิดาของรัชกาลที่ 10 ที่ได้ทรงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ 

แล้วจําเลยได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้า ๆ บนพรมแดง ฝั่งถนนสีลมขาเข้า และขณะกําลังเดินไปมีพวกของจําเลยซึ่งเป็นชายแต่งกายชุดไทยนุ่งโจงกระเบน ถือร่มกางให้ ส่วนพวกของจําเลยอีกคนซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ถือพานสีทองเดินตามหลังในระหว่างเดินบนพรมแดงดังกล่าว และพวกของจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องก็ได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้าของจําเลย จําเลยจึงหยุดเดิน และจําเลยได้ยื่นมือมาให้ผู้ชุมนุมได้จับ ในระหว่างนั้นผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครได้กล่าวคําว่า “พระราชินี” และเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งเป็นเพลงประกอบข่าวในพระราชสํานัก ทั้งยังมีผู้ชุมนุมตะโกนขึ้นว่า “ทรงพระเจริญ” และ คําว่า “พระราชินี” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลเข้าใจว่า จําเลยนี้เป็นพระราชินีองค์ปัจจุบัน จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “สายน้ำ” พวกของจําเลยซึ่งเป็นเยาวชนแยกดําเนินคดีต่างหากได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา พวกของจําเลยซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครซึ่งทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าเยาวชนรายนี้ พวกของจําเลย เป็นพระมหากษัตริย์ จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลและกําลังใจให้พระองค์ และการเขียนข้อความพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบริเวณร่างกาย อันเป็นการกระทําที่ไม่เหมาะสม และมิบังควร

การแสดงออกของทั้งสองเป็นการแสดงเนื้อหาความหมายให้ปรากฏแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าจําเลยนี้เป็นพระราชินีและพวกของจําเลยเป็นรัชกาลที่ 10 และจําเลยกับพวกสามารถล้อเลียนกษัตริย์และราชินีได้โดยมิหวั่นเกรงใดๆ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ 

อัยการระบุในท้ายคำฟ้องว่า การกระทำของจตุพรถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,  ข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16(1)(7),19(5) และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

.

เปิดคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ยืนยันหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด

ในส่วนของคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดี มีเนื้อความว่า คดีนี้ จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งฐานความผิดดังกล่าว ศาลนี้และศาลอาญาได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลย ในคดีอื่นมาแล้ว จึงขอศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวจําเลยในคดีนี้ด้วย

พฤติการณ์ต่าง ๆ ตามฟ้อง มีเพียงจําเลยเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่รับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การคุมขังตัวจําเลยไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควร และจําเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล จําเลยให้ความร่วมมือในการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการเป็นอย่างดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ 

นอกจากนี้ ทั้งอัยการและพยักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว จําเลยไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งจําเลยไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมใด ๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อน

ตามคําฟ้องไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของจําเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยแม้แต่น้อย ขอศาลโปรดใช้ดุลพินิจพิจารณาคําร้องโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยยังไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจําเลย 

อีกทั้งขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจําทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร หากจําเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของจําเลย จึงขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  

.

X