19 มค. 2564 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง 2 นักกิจกรรมกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” เข้ารับฟังคำสั่งศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง กรณีสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้องครูใหญ่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว และยกฟ้องเซฟ นัดสอบคำให้การวันที่ 7 เม.ย. 2564
ด้วยวันนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้หลายคดีที่สืบพยานถูกเลื่อนออกไป บรรยากาศที่ศาลจึงเป็นไปอย่างเงียบเหงากว่าที่เคยเป็น ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลออกพิจารณาคดีเวลา 9.50 น. ในห้องประกอบไปด้วย ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์, จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทนายความจำเลยทั้งสอง และผู้สังเกตการณ์ 1 คน
ศาลอ่านคำสั่งว่า อรรถพล จำเลยที่ 1 มีมูลความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากชื่อขอนแก่นยูไนเต็ด มีเพียงชื่อเดียว ซึ่งหมายถึงสโมสรฟุตบอลที่โจทก์เป็นเจ้าของ และจำเลยกล่าวถึงว่า มีการนำเงินจากการทุจริตมาฟอกเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ส่วนวชิรวิทย์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้จัดงาน ไม่สามารถรับฟังได้ว่ามีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด จึงให้ยกฟ้อง
หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีในส่วนที่โจทก์กล่าวหาอรรถพล ทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัว และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์วงเงิน 20,000 บาท โดยอรรถพลได้ใช้เงินสดวางเป็นหลักประกัน ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 7 เม.ย. 2564
หลังเสร็จกระบวนการวันนี้ ครูใหญ่กล่าวว่า เชื่อว่าต่อสู้คดีได้อย่างแน่นอน และยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลร่วมกับแกนนำ “ขอนแก่นพอกันที” และกลุ่มประชาชนเครือข่ายอื่นๆ ตามเดิม ส่วน เซฟ หลังได้รับการยกฟ้อง เขากำลังมองถึงการพิจารณาฟ้องกลับ โดยจะปรึกษาทนายความต่อไป
สำหรับเหตุในคดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 สุรสิทธิ์ ทุมมา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีแทน อ้างตนเองเป็นพยานโจทก์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 จำเลยที่ 2 จัดตั้งเวทีปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงและถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กและยูทูบ มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาล ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโฆษกได้เชิญจำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยบนเวที ขณะปราศรัยมีข้อความพาดพิงโจทก์และสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดว่า “…ขอนแก่นยูไนเต็ด ผมเคยภาคภูมิใจ แต่สุดท้ายผมก็รู้ว่า เป็นที่ฟอกเงินดีๆ นี่เอง…” ซึ่งหมายความว่าสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดของโจทก์เป็นที่นำเงินจากการกระทำที่ผิดกฎหมายมาลงทุนเพื่อทำให้เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นความหมายในทางที่ไม่ดี ผู้ได้รับฟังการปราศรัยหรือฟังการถ่ายทอดทางเฟซบุ๊กและยูทูบขณะนั้นย่อมเข้าใจผิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์
>> ไต่สวนมูลฟ้องคดีขอนแก่นยูไนเต็ดฟ้องแกนนำ “ขอนแก่นพอกันที” ปราศรัยพาดพิง ฟังคำสั่ง ม.ค.64
ขณะพยานโจทก์อีกปาก แฟนคลับของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้ฟังข้อความที่กล่าวพาดพิงถึงสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด เบิกความว่า เข้าไปดูคลิปปราศรัยการเมืองเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 พบว่ามีการพูดถึงสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดทำนองว่า เป็นที่ฟอกเงินซึ่งมีความหมายที่ไม่ดี เป็นการนำเงินไม่ถูกกฎหมายมาทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดหากได้มาฟังจะพลอยเข้าใจผิด ทำให้สโมสรเสียชื่อเสียง
ก่อนศาลมีคำสั่ง ทนายความจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ขอให้ศาลมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยทั้งสองในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ด้วยเหตุผลดังนี้
1. โจทก์คือสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด แม้จดทะเบียนเป็นบริษัทและมีชื่อ สุวิภา ช่างเหลาเป็นกรรมการบริษัท แต่ในทางปฏิบัติหรือการแสดงออกในนามสโมสรผ่านช่องทางต่างๆ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าเจ้าของสโมสรคือเอกราช ช่างเหลา ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของสโมสร มีอำนาจมากที่สุดในทางปฏิบัติ
2. ในการวิพากษ์วิจารณ์ของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลที่เอกราช ช่างเหลา สังกัดอยู่ คือพรรคพลังประชารัฐก็ถูกวิจารณ์อย่างมากถึงการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ มีการทุจริต รวมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น คือนายเอกราช ช่างเหลา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีข้อครหาและถูกกล่าวหาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่นว่าโกงเงินสหกรณ์ไปเป็นเงินประมาณ 431 ล้านบาท อันเป็นคดีที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลจังหวัดขอนแก่น การวิพากษ์วิจารณ์ของจำเลยจึงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม และแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว อีกทั้งนายเอกราชยังเป็นบุคคลสาธารณะ
3. พยานโจทก์ปากที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภายหลังได้ยินข้อความดังกล่าวพยานไม่เชื่อแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่านายเอกราชเป็นคนดี มีเมตตา เห็นได้ชัดแจ้งว่า คำปราศรัยของจำเลยไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามฟ้องนั้น จะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ กล่าวคือ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงจะครบองค์ประกอบความผิดได้
4. ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 อรรถพล บัวพัฒน์ ได้จัดตั้งเวทีปราศรัยอนุญาตให้จำเลยที่ 2 วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง เป็นผู้ปราศรัยข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ แต่ในการนำสืบ โจทก์กลับสืบพยานสลับตัวจำเลยทั้งสอง โจทก์สืบว่าจำเลยที่ 1 ปราศรัยข้อความหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 จัดให้มีการชุมนุมจัดตั้งเวทีให้จำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัย ไม่ตรงตามคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งถือเป็นการสืบพยานนอกประเด็นที่ฟ้อง ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง