2 นักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก ยืนยันขอต่อสู้คดี ม.116 คดีแรก หลัง #เยาวชนปลดแอก

12 พ.ย. 2563 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดสอบคำให้การ หลังวานนี้ (11 พ.ย. 2563) นายรุ่งโรจน์ เที่ยงนิล พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ  เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ทนายแชมป์” ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร สองนักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก ในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ที่ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลฯ 

09.00 น. ฉัตรชัยและวิศรุตเดินทางมาถึงศาลตามที่ศาลนัด ในส่วนของฉัตรชัยนั้นเดิมวันนี้เป็นนัดรายงานตัวต่อศาลหลังได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง โดยเป็นวันที่ครบกำหนดฝากขังผัดที่ 2 แต่เมื่ออัยการยื่นฟ้องแล้ว วันนี้จึงเป็นการมาศาลในชั้นพิจารณา 

วัฒนา จันทศิลป์ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาลว่า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาคดี  “หลังจากยื่นคำให้การจำเลยที่ 1 คือ ฉัตรชัย แก้วคำปอด คงต้องยื่นประกันตัวในชั้นศาลอีกครั้ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 คือ วิศรุต สวัสดิ์วร ที่ได้ประกันตัวไปเมื่อวาน” 

จากนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉัตรชัยในชั้นศาล โดยเปลี่ยนหลักประกันจากเดิมซึ่งใช้ตำแหน่ง ส.ส.ของนายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.จ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ในวงเงิน 2 แสนบาท แต่นายเอกชัยติดภารกิจประชุมสภาในวันนี้ เป็นการวางเงินสด 120,000 บาท โดยมีนายศราวุธ ฟุ้งสุข ทนายความ เป็นนายประกัน   

เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบเพื่อจะควบคุมตัวทั้งสองไปขังที่ห้องขังใต้ถุนศาล แต่ฉัตรชัยและวิศรุตแจ้งว่า ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จากนั้นทั้งหมดได้ไปที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิ โดยเจ้าหน้าที่ศาลได้อ่านคำฟ้องให้ฉัตรชัยและวิศรุตฟัง เบื้องต้นทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตามที่ได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารไปแล้ว  

11.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวฉัตรชัย โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน 

ศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิคดีนี้ในวันที่ 26 พ.ย. 2563 และนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 21 ธ.ค. 2563 

คดีนี้นับเป็นคดี ม.116 คดีแรกที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลในบรรดาคดีที่นักศึกษา-นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหานี้จากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยมีการเร่งรัดยื่นฟ้องคดีอย่างผิดสังเกต หลังวิศรุต จำเลยที่ 2 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 6 วัน ขณะที่บางคดีมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วกว่า 3 เดือน ก็ยังไม่มีการยื่นฟ้อง อีกทั้งอัยการคดีนี้ยังเลือกที่จะยื่นฟ้องเฉพาะนักกิจกรรมในท้องถิ่นที่สาธารณะไม่ค่อยรู้จัก อย่างไรก็ตาม ทนายวัฒนากล่าวในตอนท้ายว่า “ทั้งสองคนพร้อมต่อสู้คดี เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และอยู่ในความสนใจของสาธารณะ”

ด้านวิศรุตกล่าวถึงคดีนี้ว่า “เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าหน้ารัฐในการชะลอความเคลื่อนไหวของประชาชน ทำให้เกิดความยุ่งยากกับการต่อสู้เท่านั้น แต่ผมยืนยันว่ายังคงยืนหยัดสู้ต่อไปไม่ว่าในทางคดีความหรือในเชิงการเคลื่อนไหว”

ขณะที่ฉัตรชัยเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่ได้รับการประกันไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ผมได้ทราบภายหลังจากการรายงานตัวครั้งที่ 2 ว่า ในวันที่ 27 ต.ค. ซึ่งในหลวงจะเสด็จมายังวัดหนองป่าพง พนักงานสอบสวนได้มายื่นขอถอนประกัน โดยอ้างว่าได้ข้อมูลมาว่า ผมได้รวบรวมประชาชนไปแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อขัดขวางขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเรื่องเท็จและไม่มีมูลเลย ซึ่งศาลก็พิจารณาแล้วได้ยกคำร้องของพนักงานสอบสวน เนื่องฝ่ายผู้ถูกร้อง ไม่ได้มาแสดงเหตุผลข้อเท็จจริงคัดค้าน”

ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า “ผมไปรับเสด็จจริงแต่ไปคนเดียวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาไปก่อความวุ่นวายใดๆ แต่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลา 16.00 – 21.00 น. คือตลอดระยะเวลาที่ในหลวงเสด็จมาและเสด็จกลับไป” (อ่านประกอบที่ จนท.ติดตามความเคลื่อนไหว นร.-น.ศ.-นักกิจกรรมจำนวนมาก ก่อนการเสด็จถวายผ้าพระกฐินที่อุบลฯ)

X