ประมวลคดี “วิ่งไล่ลุง” นครพนม: เกือบ 2 ปี คดียังอยู่ แค่โพสต์ชวนไปวิ่ง เหตุคับข้องใจออกกําลังกายก็ถูกห้าม กลับถูกฟ้องเป็นผู้จัด – ไม่แจ้งชุมนุม 

6 ต.ค. 2564 ศาลจังหวัดนครพนมนัดฟังคำพิพากษาคดี “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ซึ่งมี พิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ เป็นจำเลย โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

คดีนี้สืบพยานเสร็จเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยอาศัยอำนาจตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, มาตรา 14 และมาตรา 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ โดยศาลเห็นควรให้ส่งคำร้องของจำเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ก.ย. 2563 เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดนครพนมได้เลื่อนฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ก่อนสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย กระทั่งวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10, มาตรา 14 และมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44  ศาลจังหวัดนครพนมจึงได้นัดพิศาลฟังคำพิพากษาในวันนี้

“วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ถูกติดตาม ประกาศให้เลิก ก่อนดำเนินคดี “พิศาล” ผู้โพสต์ชวนไปวิ่ง 

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีนั้น จัดขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 06.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน ออกวิ่งจากบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราชไปตามทางสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกายเลียบริมแม่น้ำโขง โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์และถ่ายรูปกิจกรรมร่วมร้อยนาย ก่อนวิ่งมีการอ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล แต่ขณะจะเริ่มวิ่ง ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ได้นำประกาศให้เลิกการชุมนุมภายใน 08.00 น. มาให้ ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งชุมนุม ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ออกวิ่ง ถ่ายรูปร่วมกัน และแยกย้ายกันในเวลาก่อน 08.00 น.

ทั้งนี้ กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 จัดขึ้นในอย่างน้อย 39 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยนิสิต นักศึกษา สถาบันต่างๆ รวมตัวกันริเริ่มจัดที่กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ” แม้กิจกรรมจะสามารถจัดขึ้นได้ในแทบทุกจังหวัด แต่ก็ประสบปัญหาการละเมิดสิทธิในลักษณะต่างๆ อาทิ ปัญหาการข่มขู่ คุกคาม ติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ, การใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เข้าควบคุมปิดกั้น กรณีที่จังหวัดนครพนม มีข้อมูลว่า อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 2 ราย รวมทั้งพิศาล ถูกตำรวจติดตามไปที่บ้าน หลังพิศาลโพสต์ภาพโปสเตอร์กิจกรรมวิ่งไล่ลุงของจังหวัดนครพนมและชวนคนมาวิ่งออกกำลังกาย เพื่อสอบถามว่าจะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหรือไม่ จะมีการระดมคน แจกเสื้อ หรือปราศรัยหรือไม่  

ภายหลังกิจกรรมยังมีการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมในหลายพื้นที่รวมอย่างน้อย 16 คดี รวมทั้งที่ จ.นครพนม เป็นข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุม 14 คดี ผ่านไปเกือบ 2 ปี 8 คดี ที่ผู้ถูกกล่าวหา 12 คน ยืนยันต่อสู้คดี คดีความยังคงอยู่ในศาล แม้ 1 คดี จะมีคำพิพากษาแล้ว แต่จำเลยยังคงอุทธรณ์ผลคำพิพากษานั้น

อัยการฟ้อง “พิศาล” เหตุโพสต์ชวนวิ่งที่มีการแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่แจ้งการชุมนุม 

หลังพิศาลเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 1 เดือนต่อมา พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องพิศาลต่อศาลจังหวัดนครพนม 

คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมว่า “วิ่งไล่ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ต่อมา ตามวันและสถานที่ดังกล่าว จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะ ในที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีการแสดงออกทางการเมืองต่อประชาชนทั่วไป โดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 

พิศาลให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยมีข้อต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงแต่โพสต์เชิญชวนและไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายกันเป็นปกติอยู่แล้ว จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองไว้ อีกทั้งไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

.

พยานโจทก์รับว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นผู้จัดชุมนุม 

อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 5 ปาก ได้แก่ ประกอบ วงศ์พันธ์ เกษตรกรอำเภอโพนสวรรค์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม, พ.ต.ท.นราธิป ชัยคำภา สวป.ผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย, พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ พิมพา รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองนครพนม ผู้กล่าวหา,  พ.ต.ท.คําดี เฮียงบุญ และ ร.ต.อ.ชม ชูรัตน์ พนักงานสอบสวน 

พ.ต.ท.จีรุฏฐ์  และ พ.ต.ท.คำดี เบิกความสอดคล้องกันว่า ที่แจ้งความและดำเนินคดีจำเลย เนื่องจากจำเลยโพสต์เชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมวิ่งในกิจกรรมนี้ แม้จำเลยไม่ได้ระบุในโพสต์ว่าเป็นผู้จัด รวมทั้งไม่มีกําหนดการหรือคําแถลงการณ์  

ทั้งนี้ พยานตำรวจทั้งสองรวมทั้งผู้ร่วมกิจกรรมต่างรับว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพียงแต่ร่วมวิ่งและถ่ายรูป แม้ในกิจกรรมจะมีการอ่านแถลงการณ์ ซึ่งนายประกอบ ผู้ร่วมกิจกรรมไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ แต่จำเลยก็เพียงแต่ยืนอยู่ในแถว ไม่ได้เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ไม่ได้เป็นผู้ที่พูดคุยและรับหนังสือแจ้งให้เลิกการชุมนุมจาก ผกก.สภ.เมืองนครพนม อีกทั้งไม่พบว่าจําเลยได้ปราศรัย รวมทั้งในขณะที่วิ่งจำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้จัดแจงขบวนวิ่งว่าจะวิ่งไปทางไหน 

โดย พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ รับว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นิยามคําว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ซึ่งมีหน้าที่แจ้งการชุมนุม หมายถึง ผู้ประสงค์จัดกิจกรรมชุมนุม ถ้าไม่มีผู้แจ้งการชุมนุม จะถือว่าผู้โพสต์เชิญชวนเป็นผู้จัดการชุมนุมได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมประกอบด้วย แต่ พ.ต.ท.คำดี พนักงานสอบสวน เบิกความยืนยันว่า การที่จําเลยโพสต์เชิญชวน ถือว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุมแล้ว และผู้ที่แชร์ข้อความที่จําเลยโพสต์ก็ถือว่าเป็นการชักชวนให้ร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน 

.

ผู้ร่วมกิจกรรมไปร่วมเพราะเห็นจากสื่อและเฟซบุ๊กซึ่งโพสต์กันทั่วไปว่า จะมี “วิ่งไล่ลุง”  

อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะมีการโพสต์เชิญชวนให้คนไปวิ่ง แต่ประกอบ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม เบิกความว่า ที่ไปร่วมกิจกรรมเนื่องจากปกติพยานก็วิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว อีกทั้งเห็นในเฟซบุ๊กซึ่งมีการโพสต์กันทั่วไปว่า วันที่ 12 ม.ค. 2563 จะมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พยานมีเพื่อนในเฟซบุ๊กกว่า 5,000 คน จึงจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนโพสต์เชิญชวน และคนที่ไปร่วมวิ่งในวันนั้นก็ไม่ได้มีการนัดแนะกัน  ต่างฝ่ายต่างไปวิ่ง

สอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ ผู้กล่าวหา ซึ่งระบุว่า พยานทราบว่า มีการนัดหมายทั่วประเทศว่าจะมีกิจกรรมการวิ่งในวันดังกล่าว โดยเริ่มจากที่กรุงเทพฯ และใช้ชื่อกิจกรรมว่า วิ่งไล่ลุง คล้ายๆ กัน เช่นเดียวกับที่นครพนม และพนักงานสอบสวน ระบุว่า จากการสอบคําให้การของผู้ร่วมกิจกรรม 2 คน ต่างให้การว่า ไม่ได้ทราบข้อความชักชวนจากเฟซบุ๊กของจําเลย แต่ทราบจากสื่อทั่วไป  

ขณะที่ พ.ต.ท.นราธิป ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย เบิกความว่า จำเลยโพสต์เชิญชวนให้คนไปวิ่งอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยมีการแชร์ถึง 85 ครั้งและมีคนมาแสดงความเห็น 16 ข้อความ แต่รับว่า พยานไม่ทราบว่าจะมีคนอื่นโพสต์ชักชวนก่อนที่จําเลยจะโพสต์หรือไม่ 

ประกอบยังเบิกความว่า พยานตั้งใจว่าจะไปวิ่งในวันดังกล่าว และมีความคิดว่าจะไปแจ้งการชุมนุม โดยที่พยานกับจำเลยไม่ได้มีการนัดหมายหรือพูดคุยกัน  แต่ในวันที่ 9 ม.ค. 2563 ได้มีเจ้าหน้าที่มาสอบถามและบอกให้พยานไม่ให้ไปร่วมวิ่ง พยานจึงได้นำเอา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่พยานเสิร์ชจากกูเกิ้ลมาให้เจ้าหน้าที่ดูและแจ้งว่า จะไปแจ้งการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่บอกพยานว่าไม่ต้องไป  

เป็นเพียงกิจกรรมออกกำลังกาย จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุม

ประกอบยืนยันว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุงมีการจัดในพื้นที่อื่นๆ เยอะแยะ เป็นเพียงกิจกรรมออกกำลังกาย ในขณะที่ตนวิ่งก็ไม่พบว่ามีป้ายข้อความ เครื่องขยายเสียง หรือเสื้อแสดงสัญลักษณ์ และไม่มีลักษณะที่จำเลยจะมาจัดการชุมนุม ในขณะที่เจ้าหน้าที่มาหาตนที่บ้านและห้ามไม่ให้ไปร่วมวิ่ง ตนก็ยืนยันว่าแค่จะไปวิ่งออกกำลังกาย และได้โพสต์ในเวลาต่อมาว่า การไปวิ่งออกกำลังกายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ตำรวจมาห้ามไม่ให้พยานไปวิ่งนั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งได้แนบ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่มีการขีดเส้นใต้ที่มาตรา 3 ว่า การวิ่งออกกำลังกายไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุม

ขณะที่ พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ ผู้แจ้งความ เบิกความว่า จำไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า การกีฬาไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ นอกจากนั้น โพสต์ของจำเลยที่พยานระบุว่าเป็นการเชิญชวนนั้น พยานไม่ได้ดูโดยละเอียดว่าเป็นการเชิญชวนไปวิ่งออกกำลังกายหรือไม่ เมื่อทนายจำเลยให้พยานดูโพสต์ของจำเลยอีกครั้ง พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ รับว่า มีข้อความเชิญชวนให้มาร่วมวิ่งออกกำลังกายแสดงพลังบริสุทธิ์เท่านั้น และในการวิ่งซึ่งพยานได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบ พยานก็ไม่พบป้ายข้อความ เครื่องขยายเสียง หรือสัญลักษณ์ใดๆ 

นอกจากนี้ พยานตำรวจยังรับว่า หลัง ผกก.สภ.เมืองนครพนม แจ้งให้ยุติกิจกรรมในเวลา 08.00 น. กิจกรรมก็ยุติลงก่อน 08.00 น. โดยเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความวุ่นวาย หรือใช้ความรุนแรง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

.

ตำรวจไม่ได้สืบหาผู้จัดเตรียมแถลงการณ์ และไม่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กคนอื่นว่ามีการโพสต์เชิญชวนด้วยหรือไม่

ในวันเกิดเหตุ มีการแถลงการณ์ถึงรัฐบาลก่อนการวิ่ง ซึ่ง พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ เบิกความว่า เป็นแถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตย แต่พยานรับว่า ไม่ทราบว่า เครือข่ายดังกล่าวจะเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้มีการสืบหา เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ซึ่งเบิกความด้วยว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัดเตรียมคําแถลงการณ์ และไม่ทราบกลุ่มดังกล่าวนี้จะเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันเกิดเหตุหรือไม่  

ด้านประกอบ ผู้เข้าร่วมการวิ่งก็เบิกความว่า ไม่รู้มาก่อนว่าในพื้นที่จังหวัดนครพนมมีเครือข่ายพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตยตามที่ระบุในแถลงการณ์ และไม่ทราบด้วยว่าเครือข่ายนี้จะเป็นผู้จัดการวิ่งหรือไม่  

พ.ต.ท.นราธิป ผู้ตรวจสอบการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวน เบิกความว่า พยานตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเพียงคนเดียว ภายหลังจากที่มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลย โดยพยานไม่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของกลุ่มคนที่ร่วมวิ่งด้วย รวมทั้งไม่ได้ตรวจสอบว่า คนที่ร่วมวิ่งจะเป็นผู้ที่แชร์ข้อความของจำเลยหรือไม่ สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวน ซึ่งระบุว่า พยานไม่ทราบว่านอกจากจําเลยแล้วจะมีบุคคลอื่นโพสต์ข้อความชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้หรือไม่

คับข้องใจที่นักศึกษาในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดถูกห้ามจัด “วิ่งไล่ลุง” ถูกจำกัดสิทธิในการออกกำลังกาย จึงโพสต์ชวนกันไปวิ่ง แต่ไม่ใช่ผู้จัด 

พิศาล บุพศิริ จําเลยเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียว ระบุว่า พยานเป็นอดีตผู้ลงสมัครรับเรื่องตั้งของพรรคอนาคตใหม่ เขต 4 นครพนม เกี่ยวกับคดีนี้ พยานรู้จักกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจากสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ว่าจะมีการจัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ พยานไม่รู้จักผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนตัว แต่พอจะทราบเป็นกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการออกกําลังกาย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่ถูกห้ามจัด เช่นเดียวกับในหลายพื้นที่ แม้แต่ที่อุบลฯ ซึ่งมีการขออนุญาตจัด ก็ถูกห้ามเช่นกัน 

ทําให้พยานเกิดความคับข้องใจ จึงโพสต์เฟซบุ๊กระบายความรู้สึกว่า ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ไม่มีใครสามารถมาจํากัดสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยได้ การออกกําลังกายก็ไม่ควรถูกจํากัดสิทธิ ส่วนรูปโปสเตอร์ที่โพสต์ พยานได้มาจากกลุ่มไลน์ จําไม่ได้ว่ากลุ่มใด เนื่องจากมีอยู่หลายกลุ่ม 

พยานไม่ทราบมาก่อนว่าในจังหวัดนครพนมมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง มาพบในภายหลังจากข้อความที่ส่งต่อกันทางไลน์และสื่อโซเชียลว่าจะมีการจัดกิจกรรมบริเวณลานศรีสัตนาคราช แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัด พยานไปร่วมวิ่ง เนื่องจากความคับข้องใจดังกล่าว ทนไม่ไหวที่ถูกห้ามแม้แต่การวิ่งออกกำลังกาย

วันเกิดเหตุ พยานไปวิ่งโดยไม่ได้นําป้ายหรือเอกสารใดไปด้วย มีเพียงโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ผู้วิ่งรวมตัวกันอยู่นั้น ได้มีการอ่านแถลงการณ์ของพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตย โดยพยานยืนอยู่ใกล้ๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถูกกระชับพื้นที่ด้วยตํารวจและทหาร พยานไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการอ่านคําแถลงการณ์ในกิจกรรมนี้  และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นํากลุ่มดังกล่าว  

หลังอ่านแถลงการณ์ได้มีตํารวจในเครื่องแบบ ถือหนังสือมาให้ผู้อ่านแถลงการณ์ลงลายมือชื่อ พยานฟังว่าดังกล่าวเป็นคําสั่งให้เลิกการทํากิจกรรมก่อน 08.00 น.  จากนั้นพยานก็ออกวิ่งประมาณ 30 นาที ก่อนที่จะกลับพยานได้ร่วมถ่ายรูปกับผู้ที่มาวิ่ง  

ภายหลังกิจกรรมมีหมายเรียกให้พยานเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พยานได้ให้การเป็นหนังสือว่าพยานไม่ใช้ผู้จัดการชุมนุม และให้เหตุผลว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ กิจกรรมที่พยานร่วมคือ การไปวิ่ง ไม่ใช่การชุมนุม 

พยานเชื่อว่าเหตุที่พยานถูกดําเนินคดีเพียงคนเดียว เนื่องจากพยานเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ และพรรคอนาคตใหม่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล 

หลังจำเลยเบิกความเสร็จ อัยการโจทก์ได้ถามค้านว่า พยานนับถือศาสนาหรือไม่ พิศาลเบิกความตอบว่า เดิมพยานนับถือศาสนาพุทธ ปัจจุบันไม่นับถือ และไม่มีศาสนา 

ทั้งนี้ ก่อนการเบิกความ ซึ่งพยานทุกคนต้องสาบานตนตามความเชื่อทางศาสนาว่า จะเบิกความด้วยความสัตย์จริง พิศาลได้กล่าวสาบานตนว่า “ข้าพเจ้า พิศาล บุพศิริ ขอสาบานต่อหลักคิดวิทยาศาสตร์สังคม และจิตวิญญาณนักต่อสู้สร้างสังคมประชาธิปไตยทุกยุคทุกสมัย ข้าพเจ้าจะขอเบิกความด้วยความสัตย์จริงทุกประการ” 

.

ยกฟ้อง! ศาลชี้จำเลยแค่โพสต์ชวน ไม่มีพฤติการณ์เป็นผู้จัด ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม

ธีระยุทธ ผาฮุย ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ใจความว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บัญญัติว่านิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะ โดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัด หรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น 

จากคำนิยามดังกล่าว การจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ จะต้องแสดงออกให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม หรือหากไม่แสดงออกชัดแจ้งว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม จะต้องมีพฤติการณ์ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุม แต่ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ซึ่งเป็นภาพถ่ายผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งทุกคน จำเลยสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าสำหรับวิ่ง จากนั้นจำเลยออกวิ่งพร้อมกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ หลังจากวิ่งก็ยืนถ่ายรูปกับผู้ร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งของใดที่จะชี้ชัดได้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุม ทั้งจำเลยมิได้แสดงพฤติการณ์ใดที่ทำให้เห็นว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม 

แม้ขณะรวมตัวถ่ายรูป มีนายณพจน์ศกร ทรัพย์สิทธิ์ อ่านคำแถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตย จำเลยจะยืนอยู่ด้วย แต่ก็เป็นการยืนรวมกันกับผู้ร่วมวิ่งคนอื่นๆ มิได้แสดงพฤติการณ์หรืออากัปกิริยาใดเป็นพิเศษที่ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ประกอบกับพยานโจทก์ก็เบิกความในข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่า พยานไม่ทราบว่าจำเลยมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งดังกล่าวอย่างไร และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบก่อนที่จะวิ่งว่าจะมีการอ่านคำแถลงการณ์ พยานพบการอ่านคำแถลงการณ์ขณะที่ร่วมกิจกรรมแล้ว พยานไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้จัดเตรียมคำแถลงการณ์ ขณะอ่านคำแถลงการณ์พยานและจำเลยยืนฟังเฉยๆ จำเลยไม่ได้ร่วมอ่านคำแถลงการณ์หรือคำปราศรัยใดๆ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ร่วมจัดการชุมนุม

ส่วนการที่จำเลยโพสต์ชักชวนให้มาร่วมวิ่ง อันจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่แจ้งการชุมนุม ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของจำเลยชักชวนให้ผู้อื่นมาร่วมวิ่งไล่ลุง แม้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุม พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคสอง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง 

แต่คำนิยามความหมายของผู้จัดการชุมนุมได้บัญญัติว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดหมายผู้อื่นที่จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมจะต้องโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น ซึ่งตามข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “วิ่ง-ไล่-ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนม กะแลนนำเดียว เวลา 6 น.ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ไม่มีข้อความที่แสดงออกหรือพฤติกรรมใดนอกจากนี้ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือร่วมจัดการชุมนุม ทั้งขณะร่วมวิ่ง จำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ทำให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมดั่งที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยอีก พิพากษายกฟ้อง

นับเป็นคดี “วิ่งไล่ลุง” คดีแรกที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ในจำนวนที่มีการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมในหลายพื้นที่รวมอย่างน้อย 16 คดี ปัจจุบันยังมีคดีที่ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น 6 คดี และศาลอุทธรณ์ 1 คดี แม้กิจกรรมวิ่งไล่ลุงจะผ่านไปแล้วเกือบ 2 ปี 

.

อ่านลำดับเหตุการณ์ในคดี>> ผู้โพสต์นัดหมาย “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ถูกดำเนินคดี “ไม่แจ้งชุมนุม”

X