ม็อบทะลุแก๊ส: ภาพสะท้อน New Low สิทธิเด็กและเยาวชนในชั้นจับกุม

            คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

.

เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง “สามเหลี่ยมดินแดง” กลายเป็นจุดนัดหมายของเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่มีรูปแบบการแสดงออกที่แตกต่างไปจากความรับรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาของใครหลายๆ คน เขาเหล่านี้ไม่ได้มีลักษณะอย่าง “เด็กเนิร์ด” หรือนักดีเบตเรื่องหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้มีลักษณะเป็นนักปราศรัย และไม่มีความใกล้เคียงกับกลุ่มเด็กกิจกรรมที่ศึกษาปัญหาสังคมและพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโครงสร้างทางสังคม

มีหลายเหตุผลที่เขาเหล่านั้นพาตัวเองมาที่นี่ และไม่ว่าเขาจะมาเพราะความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่เริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุมต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบและสันติ เพียงเพราะจะไปจัดการชุมนุมที่หน้าราบ 1 บ้านพักประยุทธ์ หรือมาเพราะต้องการแสดงออกถึงความโกรธที่มีต่อรัฐบาลที่ไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด จนชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของตนเองและครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หรือมาเพราะเพื่อนกับรุ่นพี่ชวน หรือแม้กระทั่งบางคนมาเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ตามแบบวิธีของเขา เช่น ปิดถนน จุดประทัด เผาเศษยาง ยิงลูกแก้ว ปาระเบิดปิงปอง ฯลฯ

หลายคนอาจมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ “สันติวิธี” หรือแม้แต่นักสันติวิธีต่างสำนักเองก็อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกันไปก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหรือใบอนุญาตที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้น โดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามหลักการสากลเกี่ยวกับสลายการชุมนุม ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก และการใช้กำลังจะต้องใช้อย่างจำกัดตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

ประการสำคัญ พวกเขาเหล่านั้นยังเป็นเพียงเด็กและเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี แม้จะตกเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดคดีอาญา ในการจับกุมกักขังเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่รัฐไทยเข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่ต้องพูดถึงการต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รวมถึงกฎหมายอื่นที่บัญญัติหลักการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมไว้ ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้กำหนดหลักการและเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนหลายประการ อาทิเช่น ข้อที่ 37 รัฐภาคีประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า การจับกุมกักขังเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เด็กทุกคนที่ถูกจับกุมกักขังจะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมและด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องถูกกักขังแยกต่างหากจากผู้ใหญ่ และเด็กมีสิทธิที่จะติดต่อกับครอบครัวและได้รับการเยี่ยม

และข้อที่ 40 รัฐภาคีประกันว่าเด็กทุกคนที่ถูกกล่าวหาหรือตั้งข้อหาว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาอย่างน้อยที่สุดต้องได้รับหลักประกันว่าได้รับแจ้งข้อหาทันทีและโดยตรง ในกรณีที่เหมาะสมโดยผ่านบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย และจะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางอื่นที่เหมาะสม

กฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชน (กฎแห่งกรุงปักกิ่ง) ข้อที่ 10 เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองทราบทันที หากแจ้งให้ทราบทันทีไม่ได้ จะต้องแจ้งให้ทราบภายหลังในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 28 บัญญัติรับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขัง จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และการค้นตัวบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 69 ยังระบุเรื่องการจับกุมและควบคุมเด็กหรือเยาวชนต้องกระทำโดยละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจาน และห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น รวมทั้งมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กไม่ว่ากรณีใดๆ เว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น

ขณะจับกุมให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ และแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ ถ้าในขณะจับกุมนั้นไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครองอยู่ด้วย ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทำได้ และหากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อกับบุคคลดังกล่าว  ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ให้เจ้าพนักงานผู้จับดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า

และก่อนส่งตัวเด็กหรือเยาวชนให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับทำบันทึก การจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ แต่ห้ามมิให้ถามคำให้การเด็กหรือเยาวชน จากนั้นเจ้าพนักงานผู้จับต้องนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที เพื่อให้พนักงานสอบสวนของท้องที่ดังกล่าวส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว

.

.

จากการติดตามการรายงานสดจากพื้นที่การชุมนุมของสำนักข่าวออนไลน์ และการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับเด็กและเยาวชนม๊อบทะลุแก๊ส ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ทนายความพบว่า การเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่กระทำโดยใช้กำลังและอาวุธ เช่น การรุมจับจนคนล้มหมอบไปแล้วใช้กระบองตีซ้ำหรือรุมกระทืบ, การถีบรถจักรยานยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่ให้ล้ม, การใช้กระสุนยางยิงในระดับที่เป็นอันตราย, การขับรถไล่ตามในระยะกระชั้นชิด เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเด็กและเยาวชนม๊อบทะลุแก๊สถูกจับกุม มักจะถูกสายเคเบิ้ลไทร์รัดข้อมือ ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่สามารถติดต่อพ่อแม่หรือทนายความได้ และแทนที่จะถูกนำตัวไปที่ สน.ดินแดง ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที  แต่กลับถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ถูกจับและอยู่ห่างไกลจากที่เกิดเหตุ ประกอบกับขณะนี้มีการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 21.00 – 04.00 น. บางรายแม้ติดต่อพ่อแม่ได้ แต่ไม่สามารถเดินทางมาเพื่อเข้าร่วมกระบวนการจัดทำบันทึกจับกุมหรือมารับตัวกลับไปดูแลในคืนนั้นได้ เนื่องจากไม่มีรถและไม่กล้าฝ่าเคอร์ฟิว จนทำให้เด็กและเยาวชนต้องถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

กล่าวได้ว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ยังห่างไกลจากการกระทำโดย “ละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” อย่างสิ้นเชิง และเกินเลยไปกว่าการควบคุมตามความจำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น และไม่เป็นไปตามหลักการจับกุมเด็กและเยาวชนตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ และเป็นการกระทำละเมิดที่ปราศจากอำนาจทางกฎหมายที่จะกระทำได้ เป็นความรับผิดโดยตรงทั้งทางแพ่งและอาญาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่ใช้กำลังและอาวุธทำร้ายเด็กและเยาวชนจนได้รับบาดเจ็บ ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

.

.

ประการต่อมา ยังเป็นหน้าที่ของ “ศาลเยาวชนและครอบครัว” ในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ชั้นจับกุมว่าได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น ในชั้นตรวจสอบการจับ หากศาลได้ความว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการจับกุมเด็กและเยาวชน ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าการจับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ อันเป็นระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่กฎหมายประกันสิทธิของประชาชนไว้ และเป็นหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่จะทำการตรวจสอบและรายงานการปฏิบัติที่ไม่เป็นตามหลักการสิทธิเด็กและเยาวชนต่อประชาคมโลกอย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์

ประการสำคัญยังเป็นหน้าที่ของประชาชนในสังคมที่ต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ สามเหลี่ยมดินแดง เพราะการเพิกเฉยนั้นเป็นเสมือนใบอนุญาตที่ให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับเด็กและเยาวชนโดยปราศจากความรับผิดชอบใดๆ ได้ต่อไป

.

X