การใช้ ม.112 ลดน้อยลงหรือดำรงอยู่ในรูปแบบอื่น

“การใช้ ม.112 ลดน้อยลง” เป็นคำกล่าวที่เราอาจได้ยินบ่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ หากมองจากปริมาณคดีที่เกิดขึ้นคำกล่าวนี้นับว่ามีส่วนจริงอยู่บ้าง โดยหลังปี 2561 หรือหลังการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย การบังคับใช้มาตรา 112 มีแนวโน้มลดน้อยลง แต่สิ่งที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนค้นพบคือแนวโน้มการดำเนินคดีและคุกคามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์และการสร้างเพดานทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นทว่าหนาแน่นแข็งแรง ยังคงเป็นประเด็นซึ่งยังต้องจับตาในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1. การเพิ่มขึ้นของคดีตามข้อหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

ยิ่งโลกออนไลน์พยายามผลักดันพรมแดนการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ออกไปกว้างขวางเท่าใด ปริมาณของคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ยิ่งพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อการดำเนินคดีด้วย ม.112 ค้านสายตาสังคม เช่น คดีของ ‘นูรฮายาตี’ หญิงพิการทางสายตาวัย 24 ปี ผู้ถูกนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 จากการใช้แอปพลิเคชันสำหรับคนตาบอดโพสต์ความคิดเห็นและคัดลอกบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งกระแสสังคมคัดค้านการดำเนินคดีต่อหญิงพิการทางสายตารายนี้หนักหน่วง 12 ก.พ. 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกฟ้องคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่านูรฮายาตีตาบอดสนิททั้งสองข้าง มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการที่จำเลยคัดลอกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 อย่างไรก็ตาม 5 มี.ค. 2561 อัยการได้สั่ั่งฟ้องนูรฮายาตี ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” จากการแชร์คลิปรายการวิทยุของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสองรายบนเฟซบุ๊ก 6 มี.ค. 2561 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกนูรฮายาตี 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

อีกคดีที่ยังเป็นที่จดจำคือคดีของ ‘นที’ ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ด้วยข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เดิมเขาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 แต่อัยการเปลี่ยนมาฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แทน

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่อง วันที่ 2-3 ต.ค. 2562 ในช่วงแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ร้อนแรงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการจราจรย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ‘กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์’ นักกิจกรรมทางการเมือง เป็นหนึ่งในผู้โพสต์แสดงความเห็นในช่วงนี้ โดยเขาโพสต์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างประเทศและติดแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ลงในโซเชียลมีเดียของตน จากนั้นกาณฑ์ถูกควบคุมตัวเมื่อ 7 ต.ค. 2562 และถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อมาศาลอาญาพิจารณาอนุญาตปล่อยตัวกาณฑ์ชั่วคราว แต่ห้ามโพสต์ข้อความลักษณะนี้อีก โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท เมื่อมองเข้ามาที่ระยะใกล้ยังพบ คดี ‘นิรนาม’ ผู้ใช้ทวิตเตอร์วัย 20 ปี ซึ่งมีผู้ติดตามหลายแสนคน ถูกจับกุมตัวโดยไม่มีหมายจับเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เช่นเดียวกับ นูรฮายาตี นที และกาณฑ์ จากการทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10

2. การใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 116 หรือข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่นฯ’

ม.116 เป็นข้อหาหนึ่งในหมวดความผิดต่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ที่บ่อยครั้งผู้ต้องคดีนี้เป็นผู้ถูกแจ้งข้อหาด้วยคดี 112 ในตอนแรก เช่น คดีของ ‘ทนายประเวศ ประภานุกูล’ ทนายความผู้ช่วยเหลือนักโทษคดีการเมืองที่กลายมาเป็นผู้ต้องหา จากการโพสต์เฟซบุ๊กหลายข้อความ โดยในตอนแรกเขาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ และข้อหาตามมาตรา 116 จำนวน 3 ข้อความ ประเวศต่อสู้คดีโดยไม่ยอมรับกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ให้การ และไม่นำสืบพยาน 27 มิ.ย. 2561 ศาลอาญาพิพากษาให้ประเวศมีความผิดตามมาตรา 116 ถูกลงโทษจำคุก 15 เดือน และถูกจำคุกอีก 1 เดือนข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน แต่คำพิพากษาไม่ได้มีคำวินิจฉัยใดๆ ถึงการกระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ ที่มีการฟ้องเข้ามาในตอนแรก ประเวศถูกคุมขังจบครบโทษรวม 1 ปี 4 เดือน

3. ข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร

ต้นเดือน พ.ค. 2560 มีชายต่างวัยรวมทั้งสิ้น 9 ราย ถูกดำเนินคดีจากข้อกล่าวหาเรื่องการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ จ.ขอนแก่น กลุ่มแรก 9 ราย ผู้ถูกควบคุมตัวก่อน และถูกดำเนินคดีในข้อหาทั้งเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, และความผิดตามมาตรา 112 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษา เมื่อ 18 ก.ย. 2561 ให้ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ใน 2 คดี ที่จำเลยวัยรุ่น 6 ราย ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ ซุ้มประตู ไม่ปรากฏว่ามีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามมาตรา 112 แต่เห็นว่าจำเลยทั้งหมดกระทำความผิดในข้อหาอื่นๆ ตามฟ้องแทน และลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแตกต่างกันไปตั้งแต่ 3 ปี – 9 ปี ช่วงปลายปี มีการจับกุมอีกสองราย และฟ้องในข้อหาเดียวกับกลุ่มแรกรวม 3 คดี อย่างไรก็ตาม 18 มิ.ย. 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 แต่พิพากษาลงโทษในข้อหาอื่นๆ รวมจำคุกคนละ 12 ปี 6 เดือน

4. การข่มขู่คุกคาม ป้องปราม ติดตามถึงบ้าน

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจติดตามตัวบุคคลถึงบ้าน และเรียกบุคคลไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทั้งในค่ายทหารและสถานีตำรวจ หลังโพสต์แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือติดตามคนดูแลแฟนเพจบางเพจที่มีเนื้อหาทางการเมือง ยังเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้เสมอ บ่อยครั้งนอกจากการพูดคุย การตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว ยังจัดทำบันทึกการให้ปากคำ การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปคัดลอก-ตรวจสอบข้อมูล และให้เซ็นข้อความที่ระบุว่าจะไม่กระทำอีก กรณีเหล่านี้จำนวนมากและเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ และไม่มีจำนวนแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในปริมาณมากเพียงใด เพราะผู้ถูกคุกคามส่วนหนึ่งถูกข่มขู่ไม่ให้เปิดเผยการคุกคามที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทำให้กรณีลักษณะนี้แทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตามมีบางกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูล เช่นเดือนพฤศจิกายน 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อบัญชีว่า @99CEREAL ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมตัวจากมหาวิทยาลัยไปยัง สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยไม่มีหมายจับหรือหมายเรียก และไม่ได้ปรึกษาหรือมีทนายความ จากกรณีรีทวิตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่ได้รุมซักถามความคิดเห็นทางการเมืองและประวัติส่วนตัวโดยถ่ายวีดิโอไว้ตลอดเวลา ทั้งยังถูกขอถ่ายภาพ IP โทรศัพท์มือถือ, ล็อกอินทวิตเตอร์, เบอร์โทร, อีเมล, ขอดูแชทต่างๆ และถูกกดดันให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งมีเนื้อหาถึงการจะไม่ทวิตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก ก่อนปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดี มีผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่แสดงความคิดเห็นหรือแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถูกดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเป็นระยะ โดยตั้งแต่ตุลาคม 2562 – เมษายน 2563 มีรายงานผู้ถูกดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 5 ราย ผู้ การข่มขู่คุกคามต่อการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ยังรวมไปถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามสอดส่องปรากฏการณ์ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 โดยเข้าไปเรียกตัวบุคคลที่ไม่ยืนออกมาขอข้อมูลส่วนตัวและถ่ายรูปบัตรประชาชน

5. การหยิบยก ม.112 มาสร้างความหวาดกลัว

ปฏิบัติการของพลเมืองด้วยกันเองที่ใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางสังคม ในการดำเนินการกับผู้ที่แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การคุกคามปิดกั้น ไม่เปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นดังกล่าวยังอยู่ในสังคมไทย แม้ไม่ได้ใช้ ม.112 มาลงโทษทางกฎหมายโดยตรง เช่น กรณี ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไล่พนักงานโรงพยาบาล โดยอ้างว่าพนักงานฉีกธนบัตรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์และไม่ให้ตรวจโทรศัพท์มือถือเพื่อพิสูจน์การแสดงความคิด, กรณีชมรมเหยื่อออนไลน์เข้าแจ้งความต่อ ปอท. ให้เอาผิดเน็ตไอดอล ฐานหมิ่นประมาทจากการโพสต์วิจารณ์วิจารณ์ชุดประกวดมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงออกแบบ, นอกจากนี้ยังมีการคุกคามในลักษณะการล่าแม่มด เช่นสื่อออนไลน์บางแห่งได้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาเปิดเผยและโจมตีกล่าวร้าย เช่น กรณีผู้ร่วมแฟลชม็อบ ‘ไม่ถอยไม่ทน’ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 รายหนึ่ง ได้ถ่ายภาพการชูแผ่นป้ายประท้วง โดยมีฉากหลังของฝูงชนและแผ่นป้ายเป็นตึกที่สกรีนรูปของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำให้ถูกสื่อสังคมออนไลน์นำข้อมูลส่วนตัวมาเสียบประจาน จนได้รับผลกระทบถูกให้ออกจากงานและถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามตัวอีกด้วย, หรือการเกิดขึ้นของเครือข่าย ‘ผู้แจ้งความ’ คดี 112 ซึ่งเปิดเผยเจตนาว่าจงใจให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้รับความเดือดร้อนจากการต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 112 ไกลจากภูมิลำเนา

นอกจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคุกคามดังกล่าว คดีอาญาตามมาตรา 112 หลายคดียังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะคดีที่จำเลยเลือกที่จะต่อสู้คดี เช่น คดีของสิรภพ กวีผู้ถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวเกือบ 5 ปี, คดีของฐนกร กรณีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง, คดีของพัฒน์นรี หรือ ‘แม่จ่านิว’ จากกรณีแชท ‘จ้า’, คดีของอัญชัญ กรณีแชร์คลิปบรรพต 29 กรรม, คดีของ ‘แหวน ณัฏฐธิดา’ พยานปากเอกในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ, คดีของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนผู้ถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็น 2 คดี, หรือกลุ่มคดีของผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ปัจจุบันคดีเหล่านี้ได้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารมาพิจารณาต่อในศาลพลเรือน ซึ่งยังเป็นคดีที่ต้องจับตาต่อไป หลังรัฐประหาร 2557 มีตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 169 คน แบ่งเป็นผู้ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 106 คน และกรณีแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เรียกรับผลประโยชน์อีกอย่างน้อย 63 คน ทว่าหากนับรวมคดีอื่นๆ ที่รายรอบนับว่ายังเป็นปริมาณสูงอยู่ไม่น้อย

ปรากกฎการณ์ ‘ลดลง’ ของปริมาณคดี 112 ที่เกิดขึ้น จึงไม่ควรถูกพิจารณาแต่เพียง ‘รูปแบบ’ เท่านั้น แต่ยังต้องจับตา ‘เนื้อหา’ ที่ดูจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปรไปในสาระสำคัญแต่อย่างใด

X