คดี 112 “แม่จ่านิว” ศาลอาญานัดสืบต่อจากศาลทหารปลายปี – เลื่อนนัด “อัญชัญ” เหตุอัยการไม่ว่าง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 – ศาลอาญา รัชดาฯ ได้กำหนดนัด 2 คดี ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถูกโอนมาจากศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ได้แก่ คดีของ “อัญชัญ” (สงวนนามสกุล) ข้าราชการของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง อีกคดีคือคดีของ “พัฒน์นรี ชาญกิจ” หรือ “แม่จ่านิว” ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการพิมพ์ตอบในช่องแชทส่วนตัวเฟซบุ๊กว่า ‘จ้า’

>>> ติดตาม!! 12 คดี มรดกยุค คสช. ศาลอาญากำหนดชะตาจำเลยใหม่ สัปดาห์นี้

พัฒน์นรี: คดีแชท ‘จ้า’ ม.112 ของแม่จ่านิว ถกเคร่งพยานที่เหลือ นัดสืบ 3 – 4 พ.ย. 63

ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อกำหนดวันสืบพยาน ในคดีแชท ‘จ้า’ ของแม่จ่านิว ณ ห้องพิจารณา 913 ศาลให้คู่ความตกลงเรื่องการยอมรับหรือตัดพยานในสำนวนคดีที่เหลือ จากเดิมที่จะสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 10 ปาก ทำให้เหลือพยานโจทก์แค่ 1 ปาก ที่ต้องสืบ คือ พนักงานสอบสวน ส่วนพยานจำเลยจะสืบ 5 ปาก รวมจ่านิวซึ่งถูกคุกคามระหว่างทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ โดยศาลอาญาได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2563 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

จากนั้นในเวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน พัฒน์นรีได้ถูกควบคุมตัวในห้องใต้ถุนศาลอาญา เพื่อรอให้นายประกันทำเรื่องประกันตัวต่อจากศาลทหารโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางไว้เป็นเงินสด 500,000 บาท หลังการทำเรื่องประกันตัวเสร็จสิ้น ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวพัฒน์นรีชั่วคราว แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

>>> คดีแชท “จ้า” ม.112 ของ “แม่จ่านิว” เลื่อนอีก – กว่า 2 ปีครึ่ง สืบพยานโจทก์ได้เพียง 4 ปาก

ในคดีนี้ พัฒน์นรีถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการถูกกล่าวหาว่า พูดคุยกับนายบุรินทร์ อินติน เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยการส่งข้อความแชทในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 โดยกระบวนการในคดีใช้เวลานานกว่า 3 ปี ก่อนที่จะมีการโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม

ในข้อความที่ฝ่ายโจทก์เห็นว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มาจากบุรินทร์ฝ่ายเดียว แต่อัยการระบุในคำฟ้องว่าการกระทำของพัฒน์นรีและบุรินทร์เป็นไปโดยมีความมุ่งหมายที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทขณะนั้นเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ในส่วนคดีของนายบุรินทร์ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ร่วมกับพัฒน์นรี และเขาให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2560 โดยกรรมแรกกรณีแชทข้อความกับพัฒน์นรี ศาลลงโทษจำคุก 7 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน

กรรมที่สองจากการพิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 22 ปี 8 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน โดยสาเหตุที่มีการเพิ่มโทษเนื่องจากนายบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน

ปัจจุบันเขาถูกคุมขังในเรือนจำและเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำ

 

อัญชัญ: หนึ่งในเหยื่อคดีหมิ่นฯ ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกของ คสช.

นอกจากคดีของพัฒน์นรี ศาลอาญาฯ ยังได้นัดพร้อมคู่ความในคดีของ “อัญชัญ” ข้าราชการและเจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 อย่างไรก็ตาม ศาลได้แจ้งให้ทนายจำเลยทราบว่าทางอัยการโจทก์ไม่สะดวกที่จะมาในนัดวันดังกล่าว ศาลจึงได้เลื่อนนัดพร้อมออกไปเป็นวันที่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 13.00 .

>>> ศาลทหารสั่งโอนคดี “อัญชัญ” ม.112 ไปยังศาลยุติธรรม ให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

มูลเหตุคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่เธอถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้านระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 โดยกล่าวหาอัญชัญว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นจำนวน 29 ครั้ง คิดเป็นความผิด 29 กรรม อัญชัญให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในชั้นศาล

อย่างไรก็ตาม ศาลทหารได้มีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีโดยลับ อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นการกระทำผิดภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้อัญชัญถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางอยู่เป็นเวลาสามปีกว่า ก่อนที่เธอจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เมื่อปลายปี 2561

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.

การเปลี่ยนแปลงของแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ในรอบปี 2561

X