จับตา! พรุ่งนี้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 112 “นิว” จตุพร แต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์สีลม หลังศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 ปี

ในวันที่ 19 ส.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 403 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีของ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์วัย 27 ปี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ใน #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม 

คดีนี้มี วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้กล่าวหา โดยในเหตุเดียวกันนี้ วริษนันท์ยังได้กล่าวหา “สายน้ำ” เยาวชนขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี ว่ากระทำความผิดตาม มาตรา 112 จากการแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายด้วย ซึ่งถูกแยกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

.

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาระบุเนื้อหาโดยย่อ เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่น ๆ ให้ยกทั้งหมด 

อย่างไรก็ดี ศาลระบุจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา

ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ศาลพิพากษาว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิด คือ แต่งกายด้วยชุดไทย ถือกระเป๋าสีทองขนาดเล็ก มีชายชุดไทยแต่งชุดไทยราชปะแตนเดินตามหลังคอยกางร่มให้ มีหญิงใส่ชุดลายดอกถือพานและถือโทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภเดินตาม โดยในขณะที่จำเลยเดินแบบ มีผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” มีผู้ชุมนุมยื่นมือไปจับข้อเท้า ซึ่งจำเลยได้หยุดยืนให้ผู้ชุมนุมจับข้อเท้า และจำเลยได้ยื่นมือไปจับมือทักทายกับผู้ชุมนุมอื่นๆ ก่อนเดินย้อนกลับเข้าไปหลังป้ายที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”  

จากนั้น “สายน้ำ” ได้ออกมาเดินแบบในชุดเสื้อกล้ามครอปท็อบสีดำ มีข้อความที่แผ่นหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” แล้วมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ในหลวงสู้ ๆ”

จากการกระทำของจำเลยและสายน้ำเกิดขึ้นโดยต่อเนื่องกัน ศาลพิพากษาโดยนำพฤติการณ์มาพิเคราะห์กับสภาพแวดล้อมแล้วเข้าใจว่า จำเลยและสายน้ำมีการซักซ้อมกันมาก่อนว่าจำเลยแสดงตนเป็นราชินี และสายน้ำแสดงตนเป็นรัชกาลที่ 10 

โดยจากพฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี ในเชิงล้อเลียนเสียดสี ก่อให้เกิดความตลกขบขัน เป็นการไม่แสดงความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นกระทำที่ไม่บังควร

ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ  ศาลพิพากษาว่า จากการนำสืบของพยานโจทก์ฟังได้ความว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณถนนสีลม อันเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยการชุมนุมได้มีการนำแผงเหล็กมากั้นกีดขวางการจราจร ซึ่งวันที่เกิดเหตุเป็นวันทำงานธรรมดา ย่อมมีประชาชนใช้ยานพาหนะสัญจรในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่าการชุมนุมสร้างความเสียหาย ผลกระทบต่อผู้ใช้พื้นที่สาธารณะ ผู้สัญจรไปมา และยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ จึงลงโทษจำเลยในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ให้ปรับเป็นเงินจำนวน 1,500 บาท 

หลังฟังคำพิพากษา จตุพรถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจตุพรระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา โดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกัน 3 ประการ นิวจึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 3 วัน 2 คืน

.

ต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สามารถสรุปได้เป็น 3  ประการ ดังต่อไปนี้

ในการสืบพยานคดีนี้ ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความตอบโจทก์ซักถามและตอบทนายความจำเลยถามค้านว่าจำเลยและสายน้ำได้มีการประชุมหารือวางแผนสมรู้ร่วมคิดหรือแบ่งหน้าที่กันทำ การเดินของจำเลยเป็นการเดินแบบแฟชั่นโชว์ ซึ่งจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าบุคคลที่มาเดินแฟชั่นในวันเกิดเหตุจะแต่งกายด้วยชุดแบบใด 

จำเลยกับสายน้ำไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งสายน้ำเคยให้การไว้ตามที่พนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายของจำเลยมาถามสายน้ำว่ารู้จักจำเลยหรือไม่ สายน้ำได้เขียนใต้รูปภาพดังกล่าวว่า “ไม่รู้จักกับบุคคลในภาพดังกล่าว” 

ลำดับการเดินไม่ได้มีการเตรียมการว่าบุคคลใดจะเดินก่อนหรือเดินหลัง ซึ่งเป็นรูปแบบใครพร้อมเดินก็เดินก่อน จากพยานหลักฐานซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวปรากฏว่าจำเลยกับสายน้ำเดินออกมาคนละช่วงเวลา ไม่ได้เดินออกมาต่อเนื่องติดกัน และไม่ได้เดินออกมาพร้อมกัน อีกทั้งผู้ร่วมเดินแฟชั่นในวันเกิดเหตุมีอีกหลายคนที่ร่วมเดินและใส่ชุดเดินแฟชั่นที่มีลักษณะแตกต่างกันไป

จำเลยไม่ทราบจำนวนของผู้ที่มาชมการเดินว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ และไม่สามารถควบคุมพฤติการณ์ของผู้ชมได้ว่าเมื่อดูการเดินแล้วจะตอบรับอย่างไร การที่มีผู้ชุมนุมก้มลงกราบและตะโกนเรียกจำเลยว่าพระราชินีนั้น จำเลยก็ไม่ได้เตรียม ไม่ทราบมาก่อนและไม่ได้คาดหมายว่าจะมีผู้ชมแสดงออกต่อการเดินแฟชั่นของจำเลย เช่น การก้มลงกราบ หรือตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” หรือ “พระราชินีสวยมาก” เป็นการกระทำของผู้ชมเอง ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย

จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการเดินแฟชั่น เพียงทราบข่าวจึงอยากมาร่วมเดินแฟชั่นดังกล่าว การเดินแฟชั่นในวันเกิดเหตุนั้น ไม่ได้เป็นการเดินแฟชั่นตามหลักวิชาชีพการแสดง แต่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการชุมนุม ไม่ได้มีการสั่งการผู้ชม ไม่ได้มีการขายบัตรให้ผู้ที่จะเข้ามาชม ใครอยากเดินแฟชั่นสามารถเดินได้เลย ใครอยากดูอยากชมก็เข้ามาได้เช่นกัน

การแต่งตัวด้วยชุดไทยของจำเลยในวันเกิดเหตุนั้น จำเลยเพียงต้องการใส่ชุดไทยซึ่งเป็นชุดประจำชาติเพื่อไปร่วมเดินงานแฟชั่นที่จัดขึ้นในการชุมนุม ซึ่งการใส่ชุดไทย บุคคลใดก็สามารถใส่และหามาใส่ได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลย ไม่มีลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยเพียงแค่เดินแฟชั่นปกติ การโบกมือทักทายหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมชมเป็นเรื่องปกติของการแสดง เทียบพฤติการณ์กับศิลปินหรือนักร้อง การจับมือหรือโบกมือทักทายผู้เข้าร่วมถือเป็นเรื่องปกติ

จำเลยไม่ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระราชินีแต่อย่างใด ไม่มีถ้อยคำหรือข้อความใดที่จำเลยด้อยค่า ด่า หรือดูถูกเหยียดหยาม หรือแสดงว่าสถาบันกษัตริย์ฯ ไม่เท่าเทียมในสังคมอย่างไร หรือทำให้สถาบันกษัตริย์ฯ เป็นตัวตลกแต่อย่างใด จำเลยเพียงใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นในการชุมนุม การแสดงงานศิลปะหรือการแสดงเดินแฟชั่นนั้นเป็นศาสตร์ของการตีความตามความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสารว่าจะตีความอย่างไร จึงเป็นวิจารณญานของแต่ละบุคคล

การมีพรมแดงในงานแฟชั่นโชว์เป็นเรื่องปกติ จะตีความว่าพรมแดงนั้น ตามประเพณีของประเทศไทย พรมแดงใช้ปูสำหรับเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์นั้นไม่ได้ 

ที่ศาลพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยกับสายน้ำเป็นการจำลองการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นที่ยกย่องเชิดชูของปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทำที่มิบังควร และทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย

แม่ศาลจะตีความว่าจำเลยจำลองการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรของพระราชินี แต่จำเลยไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่บ่งชี้ให้เกิดการล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ฯ เพราะเป็นเพียงการเดินแฟชั่น ไม่ได้มีถ้อยคำหรือการแสดงใด ๆ ที่จะทำให้พระราชินีเสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือเชิงตลกขบขันแต่อย่างใด

พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่สามารถรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องนั้น มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระราชินีอย่างไร โจทก์มีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลเป็นพยานความเห็นทั้งสิ้น ซึ่งความเห็นของแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกันตามแต่ความรับรู้และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

การเดินแฟชั่นชุดไทยของจำเลยหาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ หรือทำให้เสื่อมพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพแก่รัชกาลที่ 10 และพระราชินีแต่อย่างใด พยานโจทก์ยังรักและเทิดทูนอยู่เช่นเดิม

ในตอนท้ายของอุทธรณ์ระบุว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยให้พ้นข้อกล่าวหาไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 จตุพรได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ตรงกับวันเกิดของแม่ และขณะนี้คุณพ่อมีอาการป่วย ต้องเข้าไอซียูด้วยอาการไข้หวัดใหญ่

“ไม่ขออะไรมาก 19 นี้ ขอให้ได้ออกมาดูแลพ่อก่อน แค่ 2-3 อาทิตย์ก็ยังดี” จตุพรระบุ

.

ย้อนอ่านประมวลคดีนี้ และเรื่องราวของจตุพร 

ประมวลสืบพยานคดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ วัดแขก สีลม: 112 และการแต่งกาย

ความเปลี่ยนแปลงของรอยสักเลข “๙” ผลกระทบจากคดี 112 และการเตรียมใจของ “นิว จตุพร”

เมื่อลูกของประชาชนคืนสู่อิสรภาพ (ชั่วคราว): สามวัน-สองคืน ในเรือนจำของ “นิว จตุพร”

X