ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “สายน้ำ” กรณีสวมครอปท็อปเดินแฟชั่นที่สีลม: เมื่อแฟชั่นยุค 70 กลายเป็นภัยความมั่นคง

ในวันที่ 20 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “สายน้ำ” นักกิจกรรมผู้ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขก บนถนนสีลม

คดีนี้มี วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ “เชียร์ลุง” เป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ยานนาวา และพนักงานอัยการคดีเยาวชนมีคำสั่งฟ้อง “สายน้ำ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า สายน้ำได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” 

สายน้ำได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้ทำการสืบพยานโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 16-17, 22 ก.พ. 26-28 เม.ย. 3 และ 10 พ.ค. 2566 และนัดสืบพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา

ย้อนดูคำฟ้อง>>> เปิดข้อกล่าวหา ม.112 เยาวชน – ผู้แต่งคอสเพลย์ชุดไทย เหตุเดินพรมแดงม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม

.

ภาพรวมการสืบพยาน: ฝั่งโจทก์กล่าวหาโยง “สายน้ำ” แต่งกายเลียนแบบรัชกาลที่ 10 แม้รู้เป็นภาพตัดต่อ สายน้ำระบุการแต่งกายเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ใครๆ ก็สามารถใส่ครอปท็อปได้ 

การพิจารณาคดีนี้ เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ 10 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางฯ โดยพนักงานอัยการโจทก์ ได้นำพยานโจทก์รวม 27 ปาก เข้าเบิกความ อาทิ ผู้กล่าวหา, พนักงานสอบสวน, นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ด้านที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ได้แก่ สายน้ำ นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักวิชาการด้านศิลปะการละคร โดยในการพิจารณาคดี นอกจากจำเลย ผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมายแล้ว ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการพิจารณา

การสืบพยานโดยรวม ทางพยานฝ่ายโจทก์ได้พยายามกล่าวหาว่าพฤติการณ์ของ “สายน้ำ” มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะสวมใส่ครอปท็อปเลียนแบบภาพของในหลวง ที่มีการเผยแพร่บนโลกอินเทอร์เน็ต แม้พยานหลายปากจะรับว่าเป็นที่รู้กันทั่วว่าเป็นภาพตัดต่อก็ตาม ขณะที่กิจกรรมที่เกิดขึ้นก็เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่

ขณะที่ข้อต่อสู้ของทางจำเลยคือ ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม ทั้งการชุมนุมไม่ได้ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรค และเป็นไปโดยสงบ ส่วนการใส่เสื้อครอปท็อปก็เป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ไม่ว่าใครก็สามารถสวมใส่ได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งการแต่งกายดังกล่าวจำเลยต้องการเลียนแบบ “จัสติน บีเบอร์” นักร้องชื่อดังเท่านั้น ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีการเตรียมการหรือเป็นการกระทำร่วมกัน 

.

.

ผู้กล่าวหาแจ้งความ “สายน้ำ” เหตุสวมครอปท็อป-เขียน ‘พ่อกูชื่อมานะฯ’ บนแผ่นหลัง 

วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายและเป็นแอดมินเพจ “ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ”

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. พยานดูการถ่ายทอดสดสถานการณ์ชุมนุมทางโซเชียลมีเดีย ปรากฏภาพผู้หญิงสวมชุดไทยสีชมพูชื่อ “จตุพร แซ่อึง” มีคนคอยเดินตามถือพานและกระเป๋าให้ และมีผู้ชุมนุมทำท่าหรือกิริยาเหมือนมารอรับขบวนเสด็จ นอกจากจตุพรก็มีเด็กผู้ชายสวมเสื้อครอปท็อปสีดำกางเกงยีนส์ ซึ่งก็คือจำเลยคดีนี้ ร่วมเดินแฟชั่นโชว์ด้วย 

พยานระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงอยู่ต่างประเทศสวมใส่เสื้อครอปท็อปปรากฏในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกิจกรรมนี้ จำเลยได้แต่งกายเลียนแบบภาพดังกล่าว และมีการเขียนข้อความว่า “พ่อกูชื่อมานะ” ตรงแผ่นหลัง พร้อมกับพระนามในหลวงรัชกาลที่ 10 ไว้ตรงบริเวณบั้นเอว 

จำเลยได้ร่วมเดินพรมแดงโดยมีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบ ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้เปิดก่อนเข้าข่าวพระราชสำนัก พร้อมกับแสดงกิริยาโบกไม้โบกมือคล้ายในหลวงที่มีประชาชนมารอรับเสด็จ ขณะที่ผู้ชุมนุมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” พร้อมกับคว้าข้อเท้าจับตัว ทำท่าหมอบกราบ โดยจำเลยไม่ได้ทำการปฎิเสธแต่อย่างใด

พยานเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการล้อเลียนเสียดสีในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงได้บันทึกวิดีโอลงแผ่นซีดีแล้วนำมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน

.

.

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน วริษนันท์เบิกความว่า ตนจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว อาจจะเป็นกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือกลุ่มเยาวชนปลดแอก 

พยานทราบถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของการชุมนุม ได้แก่ นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตามพฤติการณ์ของกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ส่วนตัวพยานไม่ชอบการด่าทอ ใส่ร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ชอบให้ใครก้าวล่วงพระองค์ โดยพยานกับพวกในเครือข่ายได้ช่วยกันรวบรวมคลิปที่จำเลยกระทำผิด

ในสื่อสังคมสื่อออนไลน์ พยานใช้ชื่อว่า “แอดมินเจน” ดูแลเพจภาคีประชาชนปกป้องสถาบันและประชาชนของพระราชา มีผู้ร่วมดูแลประมาณ 10 คน ในการทำหน้าที่แอดมินเพจภาคี พยานก็ยังใช้สิทธิตามกฎหมาย แจ้งความมาตรา 112 กับคนอื่น นอกจากนี้พยานยังเป็นแอดมินเพจ “เชียร์ลุง” อีกด้วย แต่เพจนี้ปิดตัวไปแล้ว 

วริษนันท์เบิกความว่าไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมใส่ครอปท็อปในที่สาธารณะ รวมถึงไม่เชื่อว่าในหลวงจะแต่งกายในลักษณะดังกล่าว

ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านว่า หลังพยานเห็นการกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้ว ทำให้รู้สึกหมดศรัทธากับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้รู้สึกหมดศรัทธา แต่รู้สึกโกรธโมโหและเสียใจที่มีคนก้าวล่วงพระองค์ พยานจึงต้องทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของทั้งสองพระองค์ 

.

ผู้กำกับ สน.ยานนาวา เบิกความ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ-ไม่มีการจับกุมในวันเกิดเหตุ

พ.ต.อ.ประเดิม จิตวัฒนาภิรมย์ ผู้กำกับ สน.ยานนาวา เบิกความว่า ทางตำรวจทราบว่าเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้ไปออกโทรทัศน์รายการ “ถามตรงๆ กับจอมขวัญ” และประกาศว่าจะมีการจัดแฟชั่นโชว์ที่สีลม ในวันที่ 29 ต.ค. 2563 

ในวันเกิดเหตุมีการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ทาง สน.ยานนาวา เตรียมจัดกำลังควบคุมฝูงชน เนื่องจากมีการชุมนุมปิดถนนสีลม โดยแบ่งกำลังไว้ 3 สถานที่ ได้แก่ วัดแขก, แยกสุขสวัสดิ์ และสีลม 

พยานพบกลุ่มผู้ชุมนุมมาบริเวณแยกวัดแขก โดยมายืนออกันเต็มบริเวณถนนสีลม การจราจรไม่สามารถใช้การได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก พร้อมกับโห่ร้องขับไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณนั้น เนื่องจากกลัวเกิดการปะทะ การชุมนุมจึงได้ดำเนินต่อไป จนยุติลงในเวลาประมาณ 20.30 น. 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.อ.ประเดิม เบิกความว่าการแสดงออกและการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 แต่ขณะเกิดเหตุยังมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อยู่ พยานทราบว่าคนที่ประกาศจัดการชุมนุม คือ “มายด์” ภัสราวลี

พยานเบิกความว่าตนอยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. ในระหว่างนั้น ไม่เห็นตัวจำเลยและไม่ได้เห็นว่าการจัดเวทีปราศรัย จำเลยมีส่วนร่วมอย่างไร ทั้งรับว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และไม่มีการจับกุมในวันที่เกิดเหตุ

พยานรับว่า สถานที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่เมื่อมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ก็เกิดความแออัด เดินไม่สะดวก หลังการชุมนุมพยานไม่ได้ติดโรคโควิด-19 แต่อย่างใด

.

เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่เลิก ระบุไม่ได้มีการขออนุญาตการชุมนุม

พ.ต.ท.สมบัติ อำไพพร เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลในการชุมนุมสาธารณะ เบิกความว่าตนได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ สน.ยานนาวา ให้ออกแบบแผนรักษาความปลอดภัย โดยมีฝ่ายป้องกันและปราบปราม และตำรวจนครบาลเข้าร่วมด้วย

พยานได้ดูแลรับผิดชอบตรงพื้นที่บริเวณแยกวัดแขก มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยมาเข้าร่วมตรงบริเวณดังกล่าวจนเต็มถนนและได้ทำการปิดถนน จากการตรวจสอบไม่ปรากฎว่ามีการยื่นคำร้องแจ้งขออนุญาตการชุมนุมล่วงหน้า ผู้กำกับจึงได้สั่งให้พยานแจกจ่ายประกาศให้แก่ผู้ชุมนุม 

พยานได้ขึ้นรถขยายเสียงอ่านประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ถอนกำลังออกไป และหลังการชุมนุมจบลง พยานได้มาให้การต่อพนักงานสอบสวน

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.สมบัติ เบิกความรับว่า ระหว่างการชุมนุมไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงตะโกนโห่ร้องไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ทั้งนี้ พยานเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า

.

สืบสวนระบุเห็นสายน้ำแสดงกิริยาเลียนแบบในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ไม่เคยเห็นในหลวงสวมใส่ครอปท็อปมาก่อน

พ.ต.อ.ประวิทย์ วงษ์เกษม รองผู้กำกับสืบสวน สน.ยานนาวา เบิกความว่าขณะเกิดเหตุพยานมีหน้าที่วางกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณที่ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมมีการจัดตั้งเวทีและมีกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งการ์ดใส่ปลอกแขน มีการลงถนนและติดป้ายเกี่ยวกับสถาบันฯ ตรงเวทีแฟชั่นโชว์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

พยานเห็นสายน้ำเดินแฟชั่นโชว์ แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือ ทักทายประชาชน และผู้ชมก็หมอบกราบ หลังจากยุติการชุมนุม พยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนให้ผู้บังคับบัญชา ก่อนที่จะไปแจ้งดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนและสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.อ.ประวิตรเบิกความว่า พยานลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวในชุดแต่งกายนอกเครื่องแบบ ในที่เกิดเหตุมีชุดสืบสวนจาก สน.ยานนาวา ราว 10 นาย พยานได้แฝงตัวและปะปนไปกับพื้นที่ชุมนุมบริเวณต่างๆ และคอยดูแลการชุมนุม 

ในการชุมนุมได้มีการกล่าวหาว่าแบรนด์ SIRIVANNAVARI ว่าใช้งบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ แต่ในทางข้อเท็จจริง พยานยังไม่ทราบ นอกจากนี้พยานยังไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าว 

พยานไม่ทราบว่าการชุมนุมดังกล่าว “สายน้ำ” ได้มีการซักซ้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ตะโกน “ทรงพระเจริญ” ก่อนเดินแฟชั่นโชว์หรือไม่ พยานทราบว่า “ทรงพระเจริญ” ไม่มีในพจนานุกรม แต่ทราบว่าใช้กับพระมหากษัตริย์ และใช้ในการแสดงละคร เช่น การเล่นลิเก 

ในสถานที่ชุมนุมมีการกีดขวางทางจราจรและผู้ชุมนุมหนาแน่น มีผู้ชุมนุมทั้งใส่และไม่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ทั้งนี้พยานไม่ได้ติดโควิด-19 หลังการชุมนุมแต่อย่างใด 

.

ร.ต.อ.กรณินทร์ คุ้มกัน ผู้บังคับหมู่ สน.ยานนาวา ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าว ในวันเกิดเหตุพยานปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 16.00 น. มีผู้ชุมนุมเข้ามาที่ถนนสีลมบางส่วน มีการกางแผ่นไวนิลเขียนว่า “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ฝั่งตรงข้ามวัดแขก ซึ่งป้ายข้อความดังกล่าวเป็นชื่อกลุ่มในเฟซบุ๊ก และสืบทราบมาว่าเป็นกลุ่มของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สร้างขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ มีป้าย “งบกระทรวงพาณิชย์ หนุนกิจการ SIRIVANNAVARI 13 ล้านบาท” และมีข้อความปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับภาพศิลปะล้อเลียนการเมืองวางยาวไปตามถนน 

ระหว่างทำกิจกรรม พยานเห็นจตุพรสวมชุดไทยสีชมพูแสดงกิริยาเลียนแบบพระราชินี ขณะที่จำเลยสวมชุดครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือคล้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ตอนเยี่ยมประชาชน มีผู้ชุมนุม 2-3 รายทำท่าคล้ายหมอบกราบและจับข้อเท้าจำเลย

ในวันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมมีทั้งใส่หน้ากากอนามัยและไม่ได้ใส่ รวมถึงไม่มีการบริการเจลแอลกฮอล์แต่อย่างใด

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ร.ต.อ.กรณินทร์ เบิกความว่า ในการสืบสวนหาข่าวตนใช้มือถือถ่ายภาพและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ใช้กล้องถ่ายภาพ พยานลงพื้นที่กับเพื่อนร่วมงานอีก 10 กว่านาย รวมถึงมีผู้บังคับบัญชาด้วย 

พยานรับว่า ตอนเห็นจำเลยเดินแฟชั่นโชว์ จำเลยเดินแบบในลักษณะที่เป็นสากล พยานไม่ได้สืบสวนหาข่าวคนที่หมอบกราบว่าเป็นใคร และเกี่ยวข้องยังไงกับจำเลย ที่สำคัญพยานไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่งกายด้วยชุดครอปท็อปมาก่อน และการกระทำของจำเลยไม่ได้ทำให้พยานรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังในหลวงรัชกาลที่ 10

พยานรับว่าสถานที่ชุมนุมดังกล่าวเป็นถนนเปิดโล่ง มีหลายช่องทางจราจร อีกทั้งพยานไม่ได้ติดโควิด-19 จากที่ชุมนุม 

.

พ.ต.ท.เทอดไท สุขไทย ผู้กำกับฝึกอบรมกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความว่า พยานได้จัดทำรายงานและสืบสวนจำเลย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 พยานได้ปฎิบัติหน้าที่รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ที่วงเวียนใหญ่ ในระหว่างที่เสด็จมีกลุ่มของจำเลยในคดีนี้ ได้กระทำการชู 3 นิ้ว พร้อมกับตะโกน “ยกเลิก 112” ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการกระทำในลักษณะนี้ พยานอ้างว่าเกือบทุกครั้งที่มีการเสด็จ สายน้ำจะกระทำการในลักษณะนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความปลอดภัยและถวายพระเกียรติของในหลวง 

ในเรื่องการแสดงออก “สายน้ำ” ไม่ได้มีแค่คดีเดียว พยานมองว่าไม่ใช่การกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เป็นเรื่องของเจตนา 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.เทอดไท เบิกความว่า ไม่ทราบว่าสายน้ำมีคดี 112 สองคดี โดยมีอีกคดีที่ยกฟ้องไปแล้ว

พยานทราบความหมายของการชู 3 นิ้ว สื่อถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ คนทุกคนเกิดมาเท่ากัน รวมถึงพยานทราบว่ารัฐธรรมูญมาตรา 25 ได้ระบุเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามที่กฎหมายกำหนด 

สำหรับการชุมนุมดังกล่าว พยานดูรายงานตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่า กลุ่มนี้ไม่มีแกนนำ ทุกคนสามารถเป็นแกนนำได้หมด ดังนั้นจึงถือว่าสายน้ำเป็นแกนนำ รวมถึง “จตุพร” ที่มีคำพิพากษาไปแล้ว อย่างไรก็ตามในรายงานไม่ปรากฎว่าสายน้ำขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด 

.

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ระบุ ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับสื่อที่เผยแผร่การชุมนุม ด้านกองพิสูจน์หลักฐานไม่ทราบว่าคลิปวิดีโอเหตุการณ์การชุมนุมผ่านการตัดต่อหรือไม่ 

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล เจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสังคมออนไลน์ เบิกความโดยสรุปว่า พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าวการเชื่อมโยงทางออนไลน์ จากการสืบสวนพบคลิปในสื่อออนไลน์ 3 ช่องทาง เป็นภาพเคลื่อนไหววิดีโอของจตุพรและจำเลยในคดีนี้ โดยทั้ง 3 สื่อมีการเปิดเป็นสาธารณะ โดยพยานตรวจพบผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับจตุพรได้เผยแพร่สื่อดังกล่าว แต่ตรวจไม่พบว่าสายน้ำเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวแต่อย่างใด

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า ตนใช้เฟซบุ๊กมาตลอดกว่า 10 ปี ทราบว่าบัญชีเฟซบุ๊กสามารถปลอมแปลงได้ หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่ามาจากภาพที่เผยแพร่มาจากสามสื่อออนไลน์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีกับสื่อดังกล่าว

ร.ต.อ.เอกภักดิ์ รัตนพันธ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับคดีนี้มีหลักฐานซีดี ซึ่งได้มาจากคลิปวิดีโอของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และ ไทยรัฐ แผ่นซีดีดังกล่าวพบความไม่ต่อเนื่องของเหตุการณ์ แต่ไม่ทราบว่าเป็นการตัดต่อหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่แฟ้มต้นฉบับ

.

ตำรวจจราจรเห็นว่าการชุมนุมสร้างความเดือดร้อน ปิดกั้นจราจร ไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า 

ร.ต.อ.สมชาย ดีพาชู เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกจราจร เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ สน.ยานนาวาให้ไปควบคุมจราจรที่ถนนนราธิวาสตัดกับสีลม

ในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยมารวมตัวเวลา 14.00 น. โดยมีการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กมากั้นการจราจร พยานได้แจ้งกับทางกลุ่มผู้ชุมนุมว่าให้เอาแผงเหล็กดังกล่าวออก เนื่องจากประชาชนเข้าไปในถนนสีลมซอย 9 ไม่ได้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมยกแผงเหล็กออก

ในการปิดถนนจราจรครั้งนี้ กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในสีลมซอย 9 มีการร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งพยานทราบจากผู้กำกับว่าการปิดกั้นจราจรดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.อ.สมชาย เบิกความว่า พื้นที่บริเวณวัดแขกมีการจัดพีธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้ง เช่น ขบวนแห่ โปรยดอกไม้ เป็นต้น หากมีการจัดกิจกรรมเมื่อไหร่ก็จะปิดถนน ซึ่งชาวบ้านบริเวณนั้นเข้าใจได้เพราะเป็นการปิดถนนปีละครั้ง และเมื่อมีการปิดถนนก็สามารถใช้ช่องทางจราจรอื่นสัญจรได้ 

พยานรับว่าทางผู้กำกับได้วางแผนการจราจรรับมือกิจกรรมดังกล่าว โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูแลประชาชนที่สัญจร 

.

เจ้าของกิจการระบุการชุมนุมกระทบรายได้หลัก แม้บริเวณนั้นจะมีการจัดกิจกรรมทางศาสนา-ปิดถนนบ่อยครั้ง 

วีระกร เจริญศรี ประชาชนที่เกิดเหตุ เบิกความว่าขณะเกิดเหตุประกอบอาชีพร้านนวดเพื่อสุขภาพที่แขวงสีลม ในวันที่มีการชุมนุมพยานเห็นว่ามีสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีนักข่าวสื่อมาสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม 

ช่วงเวลาประมาณสี่โมงเย็น พยานเห็นผู้ชุมนุมมายืนเต็มท้องถนน มีการจัดชุมนุมสนุกสนาน มีการปราศรัย ทำให้ลูกค้าของพยานไม่สามารถเข้ามาในร้านได้ การชุมนุมดังกล่าวทำให้รายได้ของพยานขาดหายไป

พยานเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเดินแฟชั่นโชว์ มีกลุ่มคนแต่งกายเลียนแบบในลักษณะล้อเลียน พยานเห็นแล้วคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ หลังจากนั้นพยานได้มาให้การกับพนักงานสอบสวนไว้

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน วีระกรเบิกความว่า ในช่วงปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจการแย่งลงอย่างมาก ช่วงที่มีการชุมนุมกิจการก็กระทบเพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

พยานรับว่าตนไม่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วนำไปมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบดูว่ารายได้ลดลงจริงหรือไม่ และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบถามถึงบัญชีของพยาน อีกทั้งพยานรับว่าบริเวณหน้าวัดแขกมีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้ง 

เท่าที่พยานเห็นการแต่งกายขณะเดินแฟชั่นโชว์เป็นการแต่งกายตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตามพยานเห็นว่าผู้หญิงที่แต่งชุดไทยเดินแบบน่าจะล้อเลียนเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

นีราจ ซัซเดว์ เจ้าของร้านตัดสูท เบิกความว่าร้านตั้งอยู่หน้าปากซอย 20 เยื้องวัดแขก พยานค้าขายกับคนไทยและชาวต่างชาติ เปิดร้าน 11.00-18.00 น. ในวันเกิดเหตุแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ก็เปิดร้าน 

ช่วงตกเย็นพยานเห็นคนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ตอนแรกพยานไม่ทราบว่ามาชุมนุมเรื่องอะไร ในด้านธุรกิจไม่มีต่างชาติเข้าซื้อของ ค้าขายติดลบ และไม่มีคนเดิน การเดินทางค่อนข้างลำบาก โดยปกติไม่ควรจะมีการชุมนุมบนถนน เพราะทำให้การเดินทางไม่สะดวก 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน นีราจเบิกความรับว่า การชุมนุมไม่ได้ส่งผลกระทบกับการค้าขายมากกว่าเดิม 

อีกทั้งโดยปกติแล้วการร่วมพิธีที่บริเวณวัดแขกก็มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่กรณีจัดงานบุญ จะมีการแจ้งกับทางสถานีตำรวจ จะได้มีการหลีกเลี่ยงเส้นทางได้

.

พยานความเห็นชี้พิจารณาจากบริบทแวดล้อม เสื้อผ้า การแต่งกาย การแสดงแฟชั่นโชว์เจตนาสื่อถึงสถาบันฯ 

ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความหลังได้ดูคลิปเดินแฟชั่นโชว์แล้วเห็นว่า มีการเขียนป้ายข้อความ “ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์” ห้อยแขวนอยู่ ซึ่งระบุเจตนาของผู้เขียนชัดเจนว่าต้องการการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ สื่อว่าสถาบันฯ ที่เป็นอยู่ไม่น่าเคารพยกย่อง สามารถนำมาล้อเลียนได้ เย้ยหยันเพื่อความสนุกสนานได้

สำหรับป้ายข้อความว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ หนุนกิจการ SIRIVANNAVARI 13 ล้านบาท” พยายเบิกความว่า ช่วงเวลาขณะนั้นเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีจัดแฟชั่นโชว์ที่ต่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงพาณิชย์ ข้อความต้องการสื่อว่าการดำเนินการดังกล่าว ไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชน เพราะเป็นสมาชิกราชวงศ์และได้รับอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า จึงได้นำมาล้อเลียนเย้ยหยัน ไม่แสดงความเคารพ อีกทั้งยังมีการใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบการเดินแบบ

เมื่อพิจารณาจากเพลง การแต่งกาย และการแสดงแล้ว พยานเข้าใจว่าสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ และแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมชุมนุม คิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีค่าควรเคารพตามรัฐธรรมนูญ สามารถนำมาล้อเล่น เย้ยหยันอย่างไรก็ได้ 

กรณีของจำเลย พยานเห็นว่าตั้งใจแต่งกายล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันฯ ได้ตัดต่อภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมชุดครอปท็อป นำมาใช้ล้อเลียนและเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ถือเป็นการหมิ่นประมาทด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 10 

ทั้งนี้ พยานมองว่าการเดินแฟชั่นโชว์ดังกล่าวไม่ใช่งานศิลปะที่มีคุณค่าหรือมีรสนิยม เพราะงานศิลปะต้องทำให้เกิดปัญญาสร้างสรรค์ ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นประมุขของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ตรีดาวเบิกความว่าในการตีความการละครและการแสดงจะต้องมีองค์ประกอบ เช่น เพศ, วัย, ความรู้, ประสบการณ์, ความเชื่อทางศาสนา และรสนิยมทางเพศ ในความเห็นส่วนตัว พยานตีความได้ว่าการแสดงแฟชั่นโชว์ดังกล่าวสื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง 

พยานรับว่าติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรมาตั้งแต่ปี 2563 ทราบว่ามีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 พยานมองว่าหากจะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่การเรียกร้องจะต้องไม่ผิดกฎหมาย 

ในประเด็นเรื่องป้ายเกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ ตรีดาวรับว่าข้อมูลดังกล่าวได้มีการพูดถึงในสภาและที่สาธารณะ เพราะมีการขอให้เปิดเผยที่มาในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ

นอกจากนี้พยานรับว่าไม่เคยเห็นในหลวงใส่ครอปท็อปเดินในที่สาธารณะ แต่เห็นจากสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้พยานไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่าเห็นที่ไหนอย่างไร พยานรับว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกล้า ซึ่งมีนโยบายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน 

.

สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการกองการกฎหมายศูนย์การศึกษาตรัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เบิกความเกี่ยวกับคดีนี้ว่า พนักงานสอบสวนเอาคลิปกับภาพมาให้พยานดู เห็นเป็นภาพผู้หญิงแต่งชุดไทยและมีคนแต่งกายแบบมหาดเล็กเดินตามด้านหลัง มีการหมอบคลานและปูพรมแดงให้เดิน มีเพลงข่าวในพระราชสำนัก พยานมองว่าเป็นการล้อเลียนพระมหากษัตริย์ ประกอบกับมีผู้ชมโห่ร้อง มีการร้องว่า ‘ทรงพระเจริญ’ จึงเห็นว่าเป็นการล้อเลียนเสียดสีสถาบันฯ

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน สฤษดิ์เบิกความโดยสรุปว่า ตนเห็นว่าความเห็นทางกฎหมายสามารถแตกต่างกันได้ แต่ตามหลักอาญาจะต้องตีคความอย่างเคร่งครัดและชัดเจน

พยานไม่ได้จบปริญญาโทด้านกฎหมายอาญาโดยตรง และไม่ได้ทำวิจัยทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่พนักงานสอบสวนได้ติดต่อให้มาเป็นพยาน โดยนอกจากภาพจตุพรและสายน้ำ พนักงานสอบสวนไม่ได้นำคลิปวิดีโอที่มีกิจกรรมอื่นๆ มาให้พยานดูประกอบด้วย ในกรณีที่มีภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมใส่เอวลอย เผยแพร่สื่อออนไลน์ จริงเท็จอย่างไรพยานไม่ทราบ

พยานรับว่าเคยเข้าร่วมคัดค้านการนิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเคยสมัครเข้าไปเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นองค์กรแต่งตั้งโดยคสช. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก นอกจากนี้พยานยังเคยเป็นหนึ่งในสภาปฎิรูปแห่งชาติ  

ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านต่อว่าจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ความรู้สึกของพยานที่มีต่อสถาบันได้เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ พยานตอบว่าการกระทำของจำเลย ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในสถาบันฯ ว่าสามารถนำมาล้อเลียนได้

.

กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เบิกความว่าในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญพยานมาให้ความเห็นทางวิชาการ โดยพยานได้เขียนบทความที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และศาลก็มีคำสั่งระงับการกระทำดังกล่าว

ในความเห็นทางวิชาการ พยานเห็นว่าจำเลยในคดีนี้ แสดงออกเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจว่าตนเป็นตัวแทนในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการแต่งกายเลียนแบบ ซึ่งผู้ชุมนุมก็เข้าใจเช่นนั้น มีการตะโกนว่าในหลวงสู้ๆ และมีเสียง “ทรงพระเจริญ” ประกอบมีการจำลองภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ของกลุ่มคนที่ต้อต้านสถาบันฯ ประชาชนทั่วไปที่พบเห็น ย่อมมีความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันฯ และภาพดังกล่าวไม่เป็นความจริง

พยานได้เคยไปเบิกความในคดีของ “จตุพร” จากเหตุการณ์เดียวกันนี้ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดจริง

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน กิตติพงศ์เบิกความรับว่า คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นั้นยังไม่ถึงที่สุด และมีการเผยแพร่ความเห็นทางวิชาการในลักษณะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษามากมาย

เกี่ยวกับคดีนี้เท่าที่พยานดู จำเลยไม่ได้มีการแสดงกิริยาท่าทางยื่นเท้าให้คนดูจับรองเท้า หรือก้มลงไปจับมือ แต่มีประชาชนรอบๆ พยายามเอื้อมมือไปสัมผัส พยานจำไม่ได้ว่าในระหว่างกิจกรรมมีการสั่งให้นั่งลงหรือไม่ และท่าทางปฎิสัมพันธ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

พยานไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าว ส่วนตัวพยานมองว่าเป็นภาพตัดต่อให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ทั้งนี้พยานไม่เคยไปดำเนินการแจ้งความกับคนที่เผยแพร่ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ

พยานมองว่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ควรผลิตซ้ำหรือแต่งกายเลียนแบบ พยานมองว่าคนส่วนใหญ่ดูออกว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ แต่ก็ยังมีการผลิตซ้ำอยู่เพื่อโจมตีสถาบันกษัตริย์ แต่ก็มีบางคนที่เชื่อข้อมูลส่วนนี้ 

ในความรู้สึกของพยาน เห็นว่าการกระทำดังกล่างของจำเลยกระทบต่อความรู้สึก ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เพราะโดยหลักแล้วในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่แต่งกายแบบนั้น

.

ว่าที่ร้อยตรีนรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล  ทนายความของกลุ่มไทยภักดี เบิกความว่า ตนถูกเรียกมาเป็นพยานในคดีนี้ในฐานะนักกฎหมาย หลังพยานได้ดูคลิปแล้วรู้สึกว่าเป็นการล้อเลียนหมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 การแสดงแฟชั่นโชว์ดังกล่าว เป็นการไม่เคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ 

ช่วงตอบที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ว่าที่ร้อยตรีนรินทร์เบิกความว่า ตนเคยไปเป็นพยานให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 10 คดี ซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้เชิญมา โดยไม่ได้ออกหมายเรียก

พยานรับว่าตนเป็นทนายของกลุ่มไทยภักดีมีจุดยืนปกป้องสถาบันกษัตริย์ และไม่เห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร อีกทั้งพยานยอมรับว่าทางกลุ่มเคยมีการแจ้งความกับอานนท์ นำภา กับพวก

พยานเบิกความว่าการแต่งกายถือเป็นสิทธิเสรีภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะแต่งกายอย่างไรก็เป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่พยานรับว่าไม่เคยเห็นในหลวงสวมชุดครอปท็อปแต่อย่างใด ทั้งนี้พยานไม่ทราบว่า “จัสติน บีเบอร์” เป็นนักร้องมีชื่อเสียง จึงไม่ทราบว่าการแต่งกายครอปท็อปจะเป็นที่นิยมหรือไม่

.

ภัทร วงศ์ทองเหลือง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมวัฒธรรม เบิกความโดยสรุปว่าตนทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรมมาแล้ว 12 ปี พนักงานสอบสวนได้เชิญให้พยานมาดูคลิปเหตุการณ์ในคดีนี้ 

พยานให้ความเห็นว่า สถาบันกษัตริย์นั้นเป็นที่เคารพเทิดทูนและการแสดงออกจะต้องถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี หากผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะกล่าวถึงสถาบันฯ ก็ไม่สมควร การนำสถาบันฯ มาล้อเลียนไม่ควรกระทำ ทางกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติต่อสถาบันฯ แต่จะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักพระราชวังที่ทำหน้าที่ดังกล่าว

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ภัทรเบิกความว่า ในประเทศไทยมีพหุวัฒธรรม มีหลายเชื้อชาติ มีการรับวัฒนธรรมต่างชาติ เกี่ยวกับเรื่องพรมแด งพยานเบิกความว่าสามารถใช้ในบริบทอื่นได้ ไม่ได้มีกฎหมายห้าม แต่มีธรรมเนียมปฎิบัติและจารีตประเพณี 

พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้ดูภาพการแสดงอื่นๆ พยานรับว่า บอกไม่ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวเจตนาสื่อถึงสถาบันกษัตริย์หรือไม่ แต่หากตั้งใจกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ก็เป็นการไม่สมควร 

.

นักวิชาการสุขาภิบาลระบุขณะเกิดเหตุ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 0 ไม่ทราบว่าจะเกิดคลัสเตอร์หลังการชุมนุมหรือไม่ 

ณัฐกานต์ แฟงฟัก นักวิชาการสุขาภิบาลสำนักงานเขตบางรัก ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เบิกความว่าขณะเกิดเหตุ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และมีประกาศสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวพร้อมออกมาตรการควบคุมและป้องกันโรค 

สำหรับมาตรการป้องกันโรค ได้กำหนดไว้ว่า สามารถผ่อนคลายกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด มีจุดล้างมือและจุดให้แอลกอฮอล์ตลอดเวลา และต้องมีการควบคุมไม่ให้คนแออัดเกินไป 

จากการชุมนุมแฟชั่นโชว์ดังกล่าว พยานเห็นว่ามีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก บางส่วนสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่บางส่วนไม่ได้สวม อีกทั้งไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่มีบริการเจลแอลกฮอล์ ไม่มีการลงทะเบียนบริเวณทางเข้าและออกของสถานที่ รวมถึงคงไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ณัฐกานต์เบิกความว่าพยานไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง แต่พนักงานสอบสวนได้นำภาพการชุมนุมมาให้พยานดู 

พยานรับว่าศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานว่าในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นจำนวน 0 ราย และหลังจากการชุมนุม พยานก็ไม่ทราบว่ามีคลัสเตอร์โควิด-19 หรือไม่ ทั้งนี้ การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ผู้จัดการชุมนุมจะต้องเป็นคนขออนุญาต

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจกรมดุริยางค์ ระบุหากจะนำเพลงราชวัลลภมาใช้-ดัดแปลง ต้องขออนุญาตก่อน ด้าน ผอ.สื่อชี้เพลงราชวัลลภเป็นเพลงบรรเลง ไม่ใช่เพลงแดนซ์ที่ใช้ในแฟชั่นโชว์ 

พ.ต.ท.มนู โห้ไทย เจ้าหน้าที่กองดนตรีฝ่ายสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่ามีหน้าที่ดูแลกรมดุริยางค์ตำรวจ พยานได้ดูคลิปการชุมนุมแล้ว พบว่ามีการใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งแต่งขึ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เพลงนี้ส่วนมากจะใช้ในการเดินสวนสนามและวันเฉลิมพระพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ยังไม่มีการใช้ในรัชกาลนี้ และหากจะนำเพลงไปใช้หรือดัดแปลงจะต้องมีการขออนุญาตก่อน

ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อํานวยการ สํานักกิจการและสื่อสารองค์กรที่บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จํากัด เบิกความว่า พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะได้รับหนังสือจากตำรวจ สน.ยานนาวา สอบถามเกี่ยวกับการใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบในการเสนอข่าวในพระราชสํานัก เมื่อได้รับหนังสือพยานได้ทําหนังสือชี้แจงตอบกลับไปที่ผู้กํากับสน.ยานนาวา 

ช่วงตอบที่ปรึกษากฎหมายจําเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า พยานเคยได้ยินเพลงมาร์ชราชวัลลภที่ใช้เปิดก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานัก เป็นเพลงบรรเลงที่มีเฉพาะเสียงดนตรี ไม่มีเสียงร้อง เสียงคล้ายกับการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ ไม่ใช่ลักษณะของเพลงแดนซ์ที่ใช้ในการเต้นรํา 

พยานไม่ทราบว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 5, 7, 9 จะใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภเปิดก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักหรือไม่ เพราะพยานไม่ค่อยได้ดูสถานีโทรทัศน์ช่องเหล่านี้ สําหรับผู้ที่ไม่เคยดูข่าวในพระราชสํานักของช่อง 3 ก็จะไม่ทราบว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้มีการนําเพลงมาร์ชราชวัลลภมาใช้ก่อนที่จะเข้าข่าวในพระราชสํานัก 

อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เปลี่ยนมาใช้เพลงประณตนฤบดินทร์ เป็นเพลงข่าวในพระราชสํานักแทนเพลงมาร์ชราชวัลลภมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564

ที่ปรึกษากฎหมายจําเลยให้พยานดูคลิปวิดีโอเพลงก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5, 7, 9 แล้วถามพยานว่า สถานีโทรทัศน์ทั้งสามช่องไม่ได้ใช้เพลงมาร์ชราชวัลลภก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักถูกต้องหรือไม่ พยานดูแล้วเบิกความว่าเป็นไปตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอที่ให้ดู 

นอกจากนี้พยานเบิกความว่า เหตุที่เปลี่ยนเพลงก่อนเข้าข่าวในพระราชสํานักเพราะต้องการให้มีความทันสมัยและมีความเป็นไทย 

.

คณะพนักงานสอบสวนฯ เห็นว่าจำเลยผิดตาม ม.112 แต่ไม่ได้เรียกพยานที่มีแนวความคิดทางการเมืองหลากหลายมาให้การ

พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ พนักงานสอบสวน เบิกความว่าตนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ให้จําเลยทราบ โดยได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบก่อนแล้ว ในขณะแจ้งข้อกล่าวหามีบิดา มารดา และที่ปรึกษากฎหมายของจําเลยร่วมฟังด้วย 

จําเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาโดยไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน และขอให้การในชั้นศาล เมื่อทําบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนเสร็จ ให้จําเลยลงลายมือชื่อ จําเลยไม่ลงลายมือชื่อของตนเอง แต่เขียนว่า “เสรีภาพ ยกเลิก 112” 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจําเลยถามค้าน พ.ต.ท.อินศรเบิกความโดยสรุปว่า ตนปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้ตามคําสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนและสอบสวน ซึ่งได้ส่งคําสั่งให้พนักงานอัยการประกอบสํานวนคดีนี้แล้ว แต่พนักงานอัยการจะส่งต่อศาลประกอบคดีหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

หลังจําเลยลงข้อความในช่องที่จะต้องลงลายมือชื่อว่า “เสรีภาพ ยกเลิก 112” เจ้าพนักงานตํารวจไม่ได้ดําเนินคดีใดๆ กับจําเลยในเรื่องนี้

พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เบิกความโดยสรุปว่า พฤติการณ์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 “มายด์” ภัสราวลี ได้ออกรายการโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมกันที่บริเวณวัดแขก ถนนสีลม ในวันที่ 29 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลาบ่ายโมง 

หลังจากนั้นเมื่อถึงวันเวลานัดหมาย มีกลุ่มประชาชนมาร่วมชุมนุมกันที่ถนนสีลมทั้งขาเข้าและขาออก เมื่อประชาชนเข้ามามากขึ้นทําให้การจราจรติดขัด ไม่สามารถสัญจรได้ ตํารวจ สน.ยานนาวา จึงเข้าไปดูแลพื้นที่ โดยแบ่งกําลังเป็น 3 ชุด มีฝ่ายปราบปราม ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายจราจร โดยได้ขอกําลังไปยังกองบังคับการควบคุมฝูงชนด้วย

หลังจากนั้นเวลาประมาณ 17.30 น. เมื่อมีผู้มาชุมนุมมากขึ้น เจ้าหน้าที่ได้อ่านประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติตามคําประกาศและได้ตะโกนโห่ร้องและชุมนุมต่อไป ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดการจราจรบริเวณถนนสีลมทั้งขาเข้าและขาออก มีการปูพรมแดงบนถนน ขึงป้ายผ้ามีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ส่วนถนนสีลมขาออกมีการปูพรมแดงบนถนนเช่นเดียวกัน มีป้ายผ้าข้อความว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ) SIRIVANNAVARI 13 ล้าน” 

ต่อมาเวลา 18.00 น. ได้มีการจัดเดินแฟชั่นโชว์ พบจําเลยในคดีนี้ออกมาเดินบนพรมแดง โดยแต่งกายชุดครอปท็อปสีดํา นุ่งกางเกงยีนส์ขายาว ที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังของจําเลยเขียนข้อความว่า “พ่อกูชื่อมานะ” ก่อนจําเลยจะออกมาเดิน มีพิธีกรประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบ กราบ” ขณะจําเลยเดินออกมามีผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” และแสดงอาการจะใช้มือจับที่เท้า โดยจําเลยไม่ได้แสดงอาการขัดขืนหรือปฏิเสธไม่ให้กระทําการดังกล่าว 

หลังจากวันเกิดเหตุ วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์จําเลย พยานได้ทำการสอบปากคำไว้ รวมไปถึงพยานที่มาให้ความเห็นคนอื่นๆ ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้

ช่วงตอบคำถามที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ เบิกความโดยสรุปว่า คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าก่อน ขณะ และหลังเกิดเหตุ จําเลยได้ไปร่วมประชุมวางแผนหรือตกลงแบ่งทํางานในวันเกิดเหตุกับบุคคลใด มีแต่พยานแวดล้อม และไม่มีภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอว่าจําเลยไปช่วยจัดกิจกรรมหรือซักซ้อมการแสดงแฟชั่นโชว์

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานไม่ได้สอบสวนผู้ทําหน้าที่เป็นพิธีกรและผู้ชุมนุมที่ทําท่าจะจับข้อเท้าในขณะจำเลยเดินแฟชั่นโชว์ ทั้งรับว่าตํารวจได้เคยร้องขอศาลออกหมายจับ แต่ศาลไม่ได้ออกให้ตามที่ขอ ในส่วนของผู้ที่เดินกางร่มและถือพานขณะที่จตุพรเดินแฟชั่นโชว์ก็ได้มีการขอศาลออกหมายจับ แต่ศาลไม่ออกหมายจับให้ตามขอเช่นกัน 

ในส่วนของภัสราวลี เจ้าพนักงานตํารวจได้แจ้งข้อกล่าวหาและเรียกมาสอบสวนเป็นอีกคดีหนึ่ง ในการสอบสวนนั้นไม่ได้สอบถามว่าผู้ที่ทําหน้าที่พิธีกร หรือผู้หญิงสองคนที่ใส่ชุดดําที่ทําท่าจะใช้มือจับเท้าของจตุพรและจําเลยนั้น เป็นใคร และไม่ได้สอบสวนว่าผู้ที่เปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ผู้ที่ตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” เป็นใคร ซึ่งคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อภัสราวลี คือข้อหาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในวันดังกล่าวเท่านั้น

ในการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้เชี่ยวชาญในด้านแฟชั่นหรือการแต่งกายมาสอบสวนประกอบสํานวนด้วย และพนักงานสอบสวนไม่ได้ทําการสอบสวนว่าชุดครอปท็อปมีจําหน่ายทั่วไปในท้องตลาดและบุคคลทั่วไปใช้ในการสวมใส่ด้วยหรือไม่ 

ในเรื่องประเด็นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานไม่ได้ทําหนังสือสอบถามไปถึงศูนย์บริหารแก้ไขสถานการณ์โควิด (ศบค.) ว่าหลังจากมีการชุมนุมในวันเกิดเหตุแล้ว เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไม่ 

สำหรับพยานบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น จะเชิญพยานที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นกลุ่มบุคคลจากหลากหลายอาชีพ แต่ไม่ได้เลือกเฉพาะจากบุคคลที่มีแนวคิดปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น พยานไม่ทราบว่ากลุ่มพยานที่มาให้ความเห็นส่วนใหญ่จะมีแนวคิดปกป้องสถาบันฯ รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบแนวคิดทางการเมืองของบุคคลนั้นว่ามีแนวคิดอย่างไร

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุ หลังการตรวจสอบไม่พบการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

พ.ต.ท.ชลิต จันทะพันธุ์ สารวัตรทำงานธุรการ สน.ยานนาวา เบิกความว่า ในช่วงเกิดเหตุทำงานธุรการการเงินและวัสดุ มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับหนังสือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง หลังวันเกิดเหตุพยานได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีคนอนุญาตขอใช้เครื่องขยายเสียงก่อนในกิจกรรมตามฟ้องครั้งนี้

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พ.ต.ท.ชลิต เบิกความว่าพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมถึงไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ใครจะเป็นผู้ใช้เครื่องขยายเสียงอย่างไร พยานก็ไม่มราบ

สำหรับตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ นั้น ทางสำนักงานเขตจะเป็นผู้รับผิดชอบ พยานเข้าใจว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตจะมาเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้พยานไม่ได้เข้าไปตรวจสอบว่าได้มีการขออนุญาตทางเขตหรือไม่

พยานจากราชบัณทิตยสถานระบุคำว่า “ทรงพระเจริญ” ไม่ปรากฎในพจนานุกรม ด้านเจ้าพนักงานฝ่ายทะเบียนพระนามของสถาบันฯ แจง ประชาชนไม่สามารถตั้งชื่อใกล้เคียงกับพระปรมาภิไธย

กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร รับราชการที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตำแหน่งนักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ มีหน้าที่ศึกษาหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเบิกความว่า คำว่า “ทรงพระเจริญ” นั้นไม่ปรากฎในพจนานุกรม แต่ปรากฎแยกคำกัน ในการแปลความจะต้องอาศัยการตีความของบริบท แต่สำหรับพฤติการณ์การชุมนุมนั้น เป็นการใช้เพื่อถวายพระพรพระมหากษัติรย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 

ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน พยานเบิกความว่า คำว่า “ทรงพระเจริญ” มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการละครและลิเก ทั้งนี้ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านว่า ทำไมคำว่า “ทรงพระเจริญ” ถึงไม่มีในพจนุกรม ในประเด็นนี้พยานได้ตอบว่า ทางราชบัณฑิตยสถานจะมีการรวบรวมคำและเลือกสรรคัดคำ หลักเกณฑ์คือคำๆ นั้น จะต้องถูกใช้มาอย่างยาวนานและฟังแล้วเข้าใจ

เชษฐา แก้วขาว เจ้าพนักงานปกครองฝ่ายทะเบียนของสำนักงานเขตสาทร เบิกความว่า หลักเกณฑ์การตั้งชื่อบุคคลนั้น จะมี พ.ร.บ.ชื่อบุคคลฯ ในมาตรา 6 และมาตรา 8 กำหนดว่าชื่อบุคคลต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี

สุธาสินี เชาว์วิศิษฐ กองเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ มีหน้าที่เป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.การค้าฯ ตามอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ เบิกความเกี่ยวกับคำว่า “SIRIVANNAVARI” ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้อื่นจะนำไปใช้ไม่ได้ 

.

สายน้ำ” ยืนยันตั้งใจแต่งกายเลียนแบบ “จัสติน บีเบอร์” ไม่เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 10 สวมชุดครอปท็อปมาก่อน 

สายน้ำ นักกิจกรรม อายุ 19 ปี เบิกความว่าตนได้ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมในคดีนี้ แต่เป็นเพียงผู้เข้าร่วม อีกทั้งไม่ได้เป็นกลุ่มสมาชิกราษฎร 2563 เพียงรู้จักกลุ่มผ่านทางเฟซบุ๊กเท่านั้น ในการจัดเตรียมการชุมนุม สถานที่ การติดป้ายเกี่ยวกับสถาบันกษัตรย์ พยานไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมจัดแต่อย่างใด 

สายน้ำทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมทางเฟซบุ๊กที่หน้าวัดแขก แต่จำไม่ได้ว่าเห็นจากช่องทางเพจไหน รวมถึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด ขณะนั้นสถานการณ์การเมืองไม่ดี มีทั้งการสลายการชุมนุม มีประเด็นการแจกจ่ายงบประมาณอย่างไม่เท่าเทียม

สายน้ำเบิกความว่า ระหว่างการชุมนุมมีประชาชนหลายคนที่แต่งกายหลากหลาย ทั้งชุดไทย ชุดจีน ชุดแฟนตาซี และชุดทั่วๆ ไป ส่วนตัวจำเลยใส่เสื้อยืดสีดำ กางเกงยีนส์ และรองเท้าแตะ เข้าไปร่วมงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งตอนนั้นพยานได้แวะซื้อเสื้อที่ร้านค้า เห็นรูปนักร้อง “จัสติน บีเบอร์” ใส่เสื้อครอปท็อปวางขายอยู่ จำเลยซื้อและเปลี่ยนใส่ตรงนั้น 

กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบในหลวงรัชกาลที่ 10 สายน้ำเบิกความว่าไม่เคยเห็นในหลวงแต่งกายในลักษณะนี้ จึงไม่ใช่การแต่งกายเลียนแบบแต่อย่างใด ส่วนข้อความด้านหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ” เป็นเพื่อนที่พยานพบเจอในระหว่างร่วมงาน เป็นผู้เขียนให้ เพราะต้องการเลียนแบบจัสตินที่สวมใส่ครอปท็อปและมีรอยสัก ซึ่งพยานไม่ได้ทำการลบข้อความออก เพราะไม่เห็นว่าข้อความเป็นความผิด และก็ไม่มีคำหยาบคาย 

คนที่พยานเดินแบบด้วยกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้มีการซักซ้อมก่อนเดิน จำเลยได้ยินเสียงเพลงที่เปิด แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพลงอะไร รวมถึงไม่ได้ยินคนตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” เพราะเสียงรอบตัวดัง 

.

.

ทั้งนี้ สายน้ำเบิกความว่า กิจกรรมส่วนมากที่ไปร่วมชุมนุมคือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง พยานเคยไปทำกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขและสถานทูตอเมริกาเพื่อขอวัคซีนให้กับเยาวชนที่ขาดแคลน 

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน สายน้ำเบิกความโดยสรุปว่า ตนทราบว่าขณะเกิดเหตุมีการประกาศห้ามทำกิจกรรมรวมกลุ่ม เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 พยานเห็นว่าการปฎิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้น 

ขณะเดินแฟชั่นโชว์สายน้ำได้โบกมือให้กับมวลชน และมีบางคนที่พยายามจะจับข้อเท้า แต่ตนได้พยายามชักออกและเดินต่อไป

นักวิชาการนิติศาสตร์ให้ความเห็น การล้อเลียนเสียดสีไม่เท่ากับหมิ่นประมาท-ดูหมิ่น

สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่าได้ทราบพฤติการณ์คดีนี้จากทางสื่อมวลชน เมื่อได้อ่านเอกสารคำฟ้อง และดูคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวแล้ว ในความเห็นของพยานมองว่า แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 จะกำหนดไว้ว่ากษัตริย์อยู่ในสถานะล่วงละเมิดมิได้ แต่ไม่ได้มีการห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แต่อย่างใด และการแสดงความคิดเห็นเป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย 

เมื่อมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ การตีความบังคับใช้ จะต้องไม่ทำลายหลักคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ใช่การยกเลิกสถาบันฯ สามารถทำได้ ที่สำคัญมาตรา 112 คุ้มครองแค่ 4 บุคคล ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่เป็นเพียงแค่การล้อเลียนเสียดสี จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 112 

สำหรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศได้ให้การรับรองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่สำคัญ แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การจำกัดเสรีภาพจะต้องเป็นไปตามหลักได้สัดส่วนและจำเป็น

.

ก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายคดี เช่น คดีที่ศาลจังหวัดพะเยาและศาลจังหวัดลพบุรีได้วางแนวคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า การชุมนุมหากจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องเป็นสถานที่แออัด หากเป็นสถานที่เปิดโล่งหรือแออัดเฉพาะส่วน จะไม่ถือว่าเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้ยังไม่ปรากฎว่ามีผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยยะสำคัญในคดีนี้

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน สมชายเบิกความโดยสรุปว่า การใช้สิทธิจะต้องไม่ละเมิดสิทธิคนอื่นและไม่กระทำผิดกฎหมาย  พยานไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยถือเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์หรือไม่ แม้จะมีการตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” ขณะเดินแฟชั่นโชว์ แต่นั่นไม่ใช่การกระทำของจำเลย 

ดูความเห็นของสมชายโดยละเอียดใน “พ่อกูชื่อมานะ”: ความเห็นของพยานคนหนึ่งต่อความผิดตามมาตรา 112

.

นักวิชาการชี้เสื้อครอปท็อปเป็นแฟชั่นยุค 70 ทุกคนสามารถสวมใส่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ 

ภาสกร อินทุมาร นักวิชาการด้านการละคร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการเดินแฟชั่นโชว์ นำเสนอเครื่องแต่งกายของแต่ละคน ซึ่งมีหลายคน หลายชุด พยานไม่เห็นคอนเซปต์ใดๆ ของการแสดงโชว์ชุดนี้ เพราะการแต่งกายของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป สำหรับการตีความ ผู้ชมแต่ละคนมีอำนาจการตีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ วัย การศึกษา ความเชื่อ ศาสนา การเมืองและอื่นๆ 

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน ภาสกรเบิกความว่า ในปี 1970 เสื้อครอปท็อปเป็นแฟชั่นชนิดหนึ่งที่มีความนิยม กระแสการนิยมขึ้นลงแล้วแต่ช่วงเวลาขณะนั้นๆ และการที่จำเลยใส่เสื้อครอปท็อปก็อาจถือเป็นความชอบส่วนตัวของจำเลย ซึ่งเสื้อครอปท็อปเป็นแฟชั่นที่ทุกคนใส่ได้ ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ 

.

X