ปรับ 2 หมื่น รอลงอาญา 2 ปี กับตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี คดีโนโหวต

ปรับ 2 หมื่น รอลงอาญา 2 ปี กับตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี คดีโนโหวต

ศาลอุบลฯ พิพากษาคดีประชามติ วิชาญ ภูวิหาร สมาชิกพรรคการนำใหม่ จำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี ระบุแม้จำเลยอ้างไม่ได้ชวนคนโนโหวต แต่คุยในตลาด มีคนผ่านไป-มา ได้ยิน

7 พ.ย. 60 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดอ่านคำพิพากษาคดีประชามติ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2419/2559  ซึ่งนายวิชาญ ภูวิหาร สมาชิกพรรคการนำใหม่ปฏิวัติสันติ ถูกฟ้องในข้อหา ก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยการเผยแพร่ข้อความ ปลุกระดม โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 จากกรณีที่จำเลยยืนพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญในตลาดสด อ.พิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 59 ซึ่งเป็นช่วงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย  พยานโจทก์ให้การตรงกันว่า จำเลยได้พูดในตลาดสดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญวิปริต บิดเบือน และตนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งชักชวนคนไม่ให้ไปลงประชามติ แม้ว่าจำเลยจะอ้างว่า ตนยืนพูดคุยกับพ่อค้าในตลาดสด เรื่องรัฐธรรมนูญ และพูดถึงแนวทางของพรรคฯ ว่า จะไม่เข้าร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ชวนให้ไม่ไปลงประชามติ แต่ขณะที่จำเลยพูด มีคนเดินผ่านไป-มาได้ยิน จึงเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามคำฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 2 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากวิชาญเคยถูกจำคุกระหว่างสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. – 8 ก.ย. 59 รวม 45 วัน ก่อนได้ประกันตัว แต่สุดท้ายศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุก คิดเป็นเงินชดเชยที่เขาจะได้รับวันละ 500 บาท รวม 22,500 บาท ซึ่งเกินกว่าค่าปรับแล้ว วิชาญจึงไม่ต้องเสียค่าปรับอีก

ทั้งนี้ ทนายความของนายวิชาญให้สัมภาษณ์ว่า ตนเห็นว่าการนำสืบของจำเลยในการถามค้านพยานโจทก์หลายประเด็นที่ทำให้เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง (อ่านเพิ่มเติมการสืบพยานโจทก์ ที่นี่ )  อีกทั้งตนเห็นว่าจำเลยก็ไม่ได้มีท่าทีกระด้างกระเดื่อง หรือปลุกระดม ซึ่งจะต้องมีการตระเตรียมหรือทำให้คนมีอารมณ์คล้อยตาม ขณะที่นายวิชาญ กล่าวว่า ตนเคารพในคำตัดสินของศาล แต่เขายังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์และจะยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อไป

ด้านสมาน ศรีงาม หัวหน้าพรรคการนำใหม่ปฏิวัติสันติและพยานจำเลยในคดีนี้ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ไม่ปกติ เนื่องจาก คสช. จะร่างรัฐธรรมนูญและอยากให้รัฐธรรมนูญเกิดความราบรื่นจึงเกิดคดีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เราเรียกท่านมาเพื่อให้ คสช. สร้างสภาประชาชน แต่วิธีการของท่านคือเผด็จการ ในสภาที่เขาเลือกมีแต่ทหาร ไม่เห็นมีประชาชนธรรมดาสักคน

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 59  ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอพิบูลมังสาหารเข้าจับกุมตัวนายวิชาญ โดยอ้างว่าวิชาญ ปั่นจักรยานไปที่ตลาดสด จากนั้นได้พูดจากับประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ พร้อมกับชูเอกสารและพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และพูดจาไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐธรรมนูญ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวมาที่ สภ.พิบูลมังสาหาร และมีการแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61

หลังจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 59 วิชาญได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 12 วัน เพื่อให้ยกเลิกประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งไม่ยื่นประกันตัว ต่อมาทนายได้ยื่นประกันตัวเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 59 โดยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันในวงเงิน 60,000 บาท ซึ่ง และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ทั้งนี้ แม้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไปโดยเรียบร้อย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 60 แต่รัฐยังคงดำเนินคดีคนที่ออกมาแสดงความเห็นและแสดงออกในช่วงประชามติ โดยมีคดีที่ถูกฟ้องว่า กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ อย่างน้อย 8 คดี (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลมีคำพิพากษา และนายวิชาญ ภูวิหาร นับเป็นจำเลยคนที่ 2 ที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ โดย 2 คดี ที่มีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้คือ คดีแปะใบปลิวโหวตโน ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีฉีกบัตรประชามติ ศาลพิพากษาลงโทษนายปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง (พ.ร.บ.ประชามติฯ) และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (ป.อ.ม.358) ถือเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักสุด คือ ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ปรับ 4,000 บาท จำคุก 4 เดือน รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ส่วนข้อหาส่วนข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ พิพากษายกฟ้อง นายปิยรัฐและจำเลยอีก 2 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ได้ชวนคนโนโหวต จำเลยประชามติอุบลฯ ยืนยัน

คดีโนโหวต อุบลฯ นัดสืบพยานสิงหา จำเลยยื่นคำให้การชี้อัยการกล่าวหาผิดหลัก ปชต.

 

X