คดีประชามติบางเสาธง ศาลพลเรือนกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน มีนาคม 2563 : ซีรีย์ศาลทหารโอนย้ายคดี

วานนี้ (20 ม.ค.2563) –  ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้นัดพร้อมใน คดี ‘ประชามติบางเสาธง’ ซึ่งจำเลย 11 ราย ถูกดำเนินคดีจากการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน หลังพักการพิจารณาคดีเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และโอนย้ายคดีจากศาลทหารกรุงเทพเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการกำหนดวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 2 มี.ค. 2563 เวลา 13.30 น.

ในวันเดียวกันนี้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการสั่งให้จำเลยทั้งหมดทำสัญญาประกันใหม่ โดยใช้หลักทรัพย์และเงื่อนไขข้อกำหนดตามสัญญาประกันเดิมที่ได้ยื่นไว้ที่ศาลทหารกรุงเทพ ทั้งนี้ กรชนก (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3 มีอาการป่วยหนักจึงขอเลื่อนทำสัญญาประกันภายในหนึ่งเดือน

ล่าสุด (4 ก.พ.2563) กรชนกได้ทำสัญญาประกันใหม่ ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยหลักทรัพย์เดิมที่โอนมาจากศาลทหารเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท

คดีแรกสุดของชุดการรณรงค์ประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แต่ล่าช้าที่สุด   

คดีประชามติบางเสาธงถือเป็นคดีความแรกในชุดคดีการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2559 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 นักกิจกรรมและนักศึกษาในชื่อกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และแรงงาน 13 คน รณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมดำเนินคดี โดยคดีอื่นที่ถูกตั้งข้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน ศาลพลเรือนมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งสิ้น เช่น คดี ‘ลุงสามารถ’ แปะใบปลิวโหวตโนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่, คดี ‘ไผ่ ดาวดิน และวศิน’ แจกเอกสารประชามติที่ศาลจังหวัดภูเขียว, และคดีสติ๊กเกอร์โหวตโนที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ตั้งข้อหาชุมนุมผิดทางการเมือง – ปลุกระดมขัดกฎหมายประชามติ – ไม่แสดงบัตรประจำตัว – ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องคดีจำเลย 11 คน ข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม ต่อจำเลยทั้งหมด รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ

อัยการศาลทหารระบุว่า จำเลยได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงและแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และชักชวนประชาชนมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นการร่วมกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่แสดงบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจบัตร

ทั้งนี้ อัยการทหารยังได้ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยเป็นเวลา 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 อีกด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1-11 ตามลำดับมีดังนี้ เตือนใจ (สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), กรชนก (สงวนนามสกุล), รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ, รังสิมันต์ โรม, กรกช แสงเย็นพันธ์, อนันต์ โลเกตุ, ธีรยุทธ นาขนานรำ, ยุทธนา ดาศรี, สมสกุล ทองสุกใส, และนันทพงศ์ ปานมาศ

ทั้งนี้ คดีประชามติบางเสาธง ยังมีผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งคน คือ วรวุฒิ บุตรมาตร ซึ่งอัยการกำหนดนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ในเหตุแจกใบปลิวตลาดการเคหะบางพลี ในวันที่ 3 ก.พ. 2563 เวลา 9.00 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่ง อัยการให้เหตุผลว่ารอให้คดีประชามติหลักที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดพร้อมและกำหนดวันนัดให้เรียบร้อยก่อนมาฟังคำสั่ง

กระบวนการในศาลทหารกว่า 3 ปี 3 เดือน ยังไม่เริ่มสืบพยานแม้เพียงปากเดียว

23 มิ.ย. 2559 นักกิจกรรมและนักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และพี่น้องแรงงาน รวมกว่า 13 คน ได้ไปเดินแจกใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ต่อมาในช่วงปี 2559 – 2561 อัยการศาลทหารสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 11 คนเป็น 4 คดี  โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ 26 พ.ย. 2561 ศาลทหารกรุงเทพได้สั่งรวมคดี 4 คดี ตามคำขอของอัยการศาลทหารโจทก์ เนื่องจากจำเลยร่วมกระทำความผิดในคราวเดียวกัน มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกันทั้งหมด

ต่อมา 11 ก.พ. 2562 ศาลทหารกรุงเทพสั่งพักการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล เนื่องด้วยจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารจำหน่ายคดีเพราะข้อหาชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 แล้ว ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ในฐานความผิดอื่นที่เหลือด้วย เนื่องจากไม่ใช่ฐานความผิดที่กำหนดให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนได้ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการ  จนกระทั่ง 9 ส.ค. 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งโอนย้ายคดีนี้ให้ศาลพลเรือน คือ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เหตุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้โอนย้ายคดีทางการเมืองต่าง ๆ ที่ คสช. เคยประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ให้ไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร และนำมาสู่นัดพร้อมในศาลจังหวัดสมุทรปราการวานนี้ซึ่งผ่านเหตุการณ์มากว่าสามปีแล้วแต่คดียังไม่ได้สืบพยานสักปากเดียว

X