ย้อนดู 4 ปี คดีแจกใบปลิว Vote No ประชามติบางเสาธง ก่อนคำฟังพิพากษา 

30 ต.ค. 63 ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 281/2559 ซึ่งนักกิจกรรมและนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พร้อมทั้งสมาชิกสหภาพแรงงาน รวม 12 ราย ตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 โดย 8 ราย ถูกฟ้องในข้อหา ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ฉบับที่ 25  ด้วย รวมทั้งมี 2 ราย ที่ถูกฟ้องข้อหา ไม่แสดงบัตรประชาชนอีก 1 ข้อหา 

นักกิจกรรมและนักศึกษาทั้งสิบสองถูกอัยการทหารและอัยการพลเรือนเป็นโจทก์ฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเดินแจกเอกสารใบปลิว “Vote No ไม่รับกับอนาคตที่เลือกไม่ได้”, หนังสือความเห็นแย้งและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้, ใบปลิว “ก้าวข้าม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”, เอกสารแนะนำและแบบฟอร์มคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิประชามตินอกเขตจังหวัด ให้กับพ่อค้า คนเดินจับจ่าย และคนงานที่เพิ่งเลิกงาน ที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงเย็นของวันที่ 23 มิ.ย. 59 

คำฟ้องของอัยการศาลทหารระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง เพื่อต่อต้านการรณรงค์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นอกจากนี้ จำเลยยังพูดผ่านเครื่องขยายเสียงและแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และชักชวนประชาชนมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นการก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 4 ปีก่อน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 เวลาประมาณ 17.30 น. ที่บริเวณหลังตลาดสดหมู่บ้านการเคหะบางพลี เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าจับกุมนักกิจกรรมรวม 13 คน ซึ่งมีทั้งนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นักศึกษา ม.รามคำแหง และสมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ ขณะกำลังแจกแผ่นพับใบปลิว ทั้งหมดถูกควบคุมตัวขึ้นรถกระบะโดยทหารนาวิกโยธินในเครื่องแบบ ถูกนำตัวไป สภ.บางเสาธง และถูกควบคุมตัวไว้ที่นั่น 1 คืน แล้วจึงถูกนำตัวไปศาลทหารเพื่อขอฝากขังในวันที่ 24 มิ.ย. 59 

ต่อมา อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องจำเลย 11 ราย ก่อนที่ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว แต่เมื่อคดีนี้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารสู่ศาลพลเรือนหลังการสิ้นสุดอำนาจของ คสช. ในเดือนกรกฎาคม 2562 พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการยังคงมีการสั่งฟ้องในข้อหาดังกล่าว  และยังฟ้องจำเลยเพิ่มเข้ามาอีก 1 ราย ก่อนที่ศาลจะนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 21-23 ส.ค., 15-16 ก.ย. และวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา 

จำเลยที่ 1-12 ตามลำดับ ได้แก่ เตือนใจ (สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), กรชนก (สงวนนามสกุล), รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ, รังสิมันต์ โรม, กรกช แสงเย็นพันธ์, อนันต์ โลเกตุ, ธีรยุทธ นาขนานรำ, ยุทธนา ดาศรี, สมสกุล ทองสุกใส, นันทพงศ์ ปานมาศ และวรวุฒิ บุตรมาตร

ทั้ง 12 คน ยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยมีข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติตามที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งข้อหาร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนความผิดฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ฉบับที่ 25 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

การอ่านคำพิพากษาจะมีขึ้นหลังเวลาล่วงผ่านมากว่า 4 ปี ในคดีที่ไม่ควรเป็นคดี เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านประชามติ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสมตามเจตนารมณ์ของ คสช. รวมทั้งได้รับการพิสูจน์ในทางปฏิบัติว่าเป็นปัญหาจนกลายเป็น 1 ในข้อเรียกร้องของการชุมนุมในแทบทุกวันนี้ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากศาลพิพากษาให้จำเลยในคดีนี้มีความผิด อาจมีโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี 

ทั้งนี้ คดีประชามติบางเสาธงถือเป็นคดีแรกในบรรดาคดีซึ่งประชาชนที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ต้องถูกดำเนินคดีและตกเป็นจำเลย แต่เป็นคดีที่ดำเนินไปอย่างล่าช้าที่สุด โดยคดีอื่นที่ถูกตั้งข้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน ศาลพลเรือนมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งสิ้น เช่น คดี ‘ลุงสามารถ’ แปะใบปลิวโหวตโนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่, คดี ‘ไผ่ ดาวดิน และวศิน’ แจกเอกสารประชามติที่ศาลจังหวัดภูเขียว และคดีสติ๊กเกอร์โหวตโนที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ย้อนทวน ปากคำพยานโจทก์จำเลย ก่อนสู่คำพิพากษา

ในการสืบพยาน อัยการได้นำพยานบุคคลเข้าเบิกความรวม 10 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ผู้จับกุม, พนักงานสอบสวน, ตำรวจสืบสวน, เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และพยานประชาชน 5 ปาก ด้านจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก ได้แก่ ปีใหม่, เตือนใจ และรังสิมันต์ โรม จำเลยที่ 1, 2 และ 5 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน และพยานผู้เชี่ยวชาญอีก 1 ปาก

 

ผู้กล่าวหาในคดีระบุ เชิญกลุ่มนักศึกษาไปสถานีตำรวจ ขณะคลิปวิดีโอยืนยัน ล็อกคอขึ้นรถ

เรือเอกทองจันทร์ ทาวันละ ทหารเรือผู้กล่าวหาและผู้จับกุมเบิกความต่อศาลว่า ขณะเกิดเหตุพยานได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดประสานงานประจำพื้นที่ฐานทัพเรือที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่บางเสาธง 

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พยานเคยเข้ารับการอบรมที่ อ.บางเสาธง โดยเป็นวิทยากรเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญในระดับ ข. คือระดับอำเภอ ในช่วงที่ทำหน้าที่วิทยากรยังไม่ได้รับเอกสารจาก กกต. แต่สิ่งที่พยานต้องทำ คือ เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นที่สำคัญ 10 ประเด็น หลังจากเป็นวิทยากรในครั้งนั้น พยานได้รับคำสั่งจาก กกต. ห้ามทหารเข้าไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรเกี่ยวกับการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญอีก

ทองจันทร์เบิกความว่า วันที่ 23 มิ.ย. 59 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ข่าวของตำรวจ แจ้งว่าจะมีกลุ่มนักศึกษาจำนวน 13 คน มาแจกเอกสารและประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่บางเสาธง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ใด พยานจึงประสานกับตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองให้ช่วยการตรวจสอบ ดูแลพื้นที่ว่าจะมีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่ ต่อมาพยานได้จัดส่งชุดหาข่าวไปทุกตำบลใน อ.บางเสาธง เพื่อตรวจสอบว่า นักศึกษาจะไปทำกิจกรรมที่ใด

ในเวลาประมาณ 16.00 น. ได้รับแจ้งข่าวจากตำรวจว่า กลุ่มนักศึกษาจะมาที่หลังตลาดเคหะบางพลีเพื่อแจกเอกสาร และใช้โทรโข่งพูดประชาสัมพันธ์ จึงได้สั่งการทหารชุดเคลื่อนที่เร็ว 1 ชุด รวม 6 นาย เข้าไปที่จุดดังกล่าว โดยพยานเดินทางไปด้วย

เมื่อพยานไปถึงก็พบนักศึกษา 13 คน ถือเอกสารนั่งอยู่บริเวณขอบสะพาน  และแจกเอกสารให้ชาวบ้านที่ผ่านไปมา  พยานได้เข้าไปพูดคุยรังสิมันต์ โรมว่าทำอะไร รังสิมันต์บอกว่า มาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ และแจกเอกสารให้ประชาชน พยานจึงขอดูเอกสารที่จะแจก โดยมีตำรวจและฝ่ายปกครองร่วมกันตรวจสอบเอกสาร พบว่าเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่ กกต.แจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมกับเอกสารแนะนำการลงประชามตินอกเขต พยานเห็นว่าเป็นเอกสารที่สามารถแจกจ่ายได้ รวมทั้งการพูดประชาสัมพันธ์ผ่านโทรโข่งก็เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนไปลงประชามติ พยานจึงอนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาดำเนินกิจกรรมได้ 

แต่เมื่อกลุ่มนักศึกษาแจกเอกสารต่อไป พยานพบว่ามีการแจกเอกสารอื่นเพิ่มเติมด้วย ได้แก่ หนังสือความเห็นแย้งฯ แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ และเอกสารใบปลิวขนาดใหญ่ เมื่อพยานเปิดดูเนื้อหาภายใน พบว่ามีลักษณะโจมตี คสช. และเป็นความเห็นแย้งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พยานจึงเชิญเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย และรังสิมันต์มาชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวแจกไม่ได้ ให้เลิกการแจก เพราะว่าจะเริ่มเป็นการผิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 แล้ว แต่รังสิมันต์ยืนยันว่าจะไม่เลิกแจก ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ 5 โมงเย็น โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมกำลังจะเลิก ซึ่งจะมีคนงานออกมายังพื้นที่เกิดเหตุจำนวนมาก พยานจึงพูดคุยกับตำรวจและฝ่ายปกครองว่า ถ้าไม่หยุดแจก จะต้องดำเนินคดี ประกอบกับเห็นว่า กลุ่มนักศึกษามี 13 คน เข้าข่ายความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 จึงได้เชิญกลุ่มนักศึกษาไปที่ สภ.บางเสาธง 

ทองจันทร์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า สาเหตุที่พยานจับกุมจำเลย เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีเอกสาร 2 ชิ้นนอกเหนือไปจากที่ตกลงกันไว้ ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีผู้นำ และสร้างความแตกแยก โดยเนื้อหาที่พยานอ่านแล้วเห็นว่าสร้างความแตกแยก คือคำว่า โนโหวต (No Vote) เมื่อทนายถามว่า พยานรู้ความแตกต่างระหว่างคำว่า โนโหวต (No Vote) กับ โหวตโน (Vote No) หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พยานยังเบิกความตอบทนายจำเลยโดยยืนยันว่า  การเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่แย้งกับ กกต. เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ จะมีความเห็นแย้งไม่ได้ และห้ามเผยแพร่ เมื่อทนายจำเลยให้พยานดูใบปลิวใหญ่ “Vote No ร่วมกัน” พร้อมกับถามว่าใบปลิวนี้ คือการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยยังถามพยานถึงเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมรังสิมันต์ โรม พยานตอบว่า พยานเข้าไปคุยก่อน และผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้เข้าจับกุม โดยใช้กำลังพอประมาณ คือดึงแขนขึ้นรถ ไม่ได้ล็อกคอและไม่ได้ทำร้ายร่างกาย 

ทนายจำเลยจึงเปิดคลิปเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม และถามว่า ที่พยานเบิกความว่าใช้กำลัง 3 คน แต่จากในคลิปมีนาวิกโยธิน 5 นาย เข้าล็อกคอรังสิมันต์ โรม จับยัดใส่รถ โดยไม่มีการพูดคุย ขัดกับที่พยานเบิกความว่า ไปถึงก็คุย เจรจาบอกให้หยุด ใช่หรือไม่ นอกจากนี้ ในบันทึกจับกุมระบุว่า ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินของผู้ถูกจับกุมสูญหาย แต่ในความเป็นจริงมีของหายคือ แว่นตาของรังสิมันต์ ใช่หรือไม่

ทองจันทร์ยังคงยืนยันว่ามีการพูดคุยก่อน ไม่ได้ใช้กำลังเกินความจำเป็น ส่วนจะมีทรัพย์สินตกหล่นในที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

 

ผู้ร่วมจับกุมรับ ไม่มีข้อความปลุกระดม

พันตำรวจโทกานตภณ วรรณา ตำรวจผู้ร่วมจับกุม ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการ (สืบสวน) สภ.บางเสาธง

กานตภณเบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวของตำรวจสันติบาล ทหาร ให้ข่าวมาว่าจะมีกลุ่มนักศึกษามาแจกเอกสารเชิญชวนให้ โนโหวตในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ที่บางเสาธง

หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกันระหว่างตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เพื่อจัดกำลังไปหาข่าวว่าจะมีกลุ่มนักศึกษามาแจกเอกสารโนโหวตในพื้นที่จริงหรือไม่ ต่อมาประมาณ 16.00 น. ตำรวจที่ไปหาข่าวได้ข่าวมาว่า จะมีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาในพื้นที่ในบริเวณตลาดเคหะบางพลี ต.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

เมื่อพยานไปถึงที่เกิดเหตุ พบรังสิมันต์ โรม ซึ่งพยานเคยเห็นมาก่อนตามสื่อ เดินทางมากับนักศึกษาและชาวบ้าน โดยนำเอกสารมาจำนวนมาก พยานพร้อมทั้งทหารและฝ่ายปกครองจึงเข้าตรวจสอบเอกสารดังกล่าว เบื้องต้นกลุ่มนักศึกษาชี้แจงว่าเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ ซึ่ง กกต.ตรวจสอบแล้วไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้แจก แต่ต่อมาพบว่ากลุ่มนักศึกษาสอดแทรกเอกสารอื่นแจกไปด้วย ได้แก่ เอกสารโนโหวต ความเห็นแย้ง, เอกสารล้อเลียนนายกฯ ประกอบกับกลุ่มที่มามีเกินกว่า 5 คน ทหารแจ้งว่าขัดคำสั่ง คสช. จึงขอให้ตำรวจร่วมกันดำเนินการจับกุม

เบื้องต้นขอให้ยุติกิจกรรมก่อน แต่ทางกลุ่มยืนยันแจกต่อไป ทหารจึงขอให้ตำรวจและฝ่ายปกครองร่วมกันเชิญตัวกลุ่มนักศึกษาไปที่ สภ.บางเสาธง ทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง” แต่กลุ่มรังสิมันต์ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่เซ็นชื่อ 

นอกจากจับกุมจำเลยทั้งสิบสอง พยานยังยึดของกลาง ได้แก่ ใบปลิวขนาดใหญ่ 253 แผ่น, หนังสือความเห็นแย้งและคำอธิบายสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 150 เล่ม, ใบปลิวขนาดใหญ่ 125 ชุด และเอกสารแนะนำการยื่นคำร้องขอออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด 

ในการตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามค้าน พยานยอมรับว่า ไม่มีข้อความใดๆ ในเอกสารที่เป็นการปลุกระดมมวลชน หยาบคาย หรือก้าวร้าว และจำเลยรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้พูดเชิญชวนให้ประชาชนไม่ไปใช้สิทธิ ส่วนการรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่าง คำว่า “ไม่รับร่าง” ภาษาอังกฤษคืออะไร พยานไม่ทราบ 

เมื่อทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุผู้ที่วินิจฉัยว่าเอกสารที่แจกผิดกฎหมาย คือตำรวจหรือทหาร พยานตอบว่า ได้สอบถามไปที่ กกต.จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับแจ้งว่า เอกสารที่ไม่ใช่เอกสารของ กกต. ผิดกฎหมายทั้งหมด ประกอบกับนายทหารซึ่งผู้กล่าวหาวินิจฉัยเนื้อหาว่าผิดกฎหมาย และจำนวนคนที่มาแจกเอกสารเกินกว่า 5 คน จึงเข้าจับกุม


“No Vote หรือ Vote No เป็นคำกำกวม”: ปากคำเจ้าหน้าที่ กกต.

โจทก์ยังนำนายสิรวิชญ์ ง๊ะสมัน ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งกลาง ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคดี 3 สำนักกฎหมายและคดี เข้าเบิกความเป็นพยาน

สิรวิชญ์เบิกความว่า ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้นำเอกสารมามอบให้ 1 ชุด เป็นเอกสารใบปลิวรวมถึงหนังสือความเห็นแย้งฯ โดยขอให้ตรวจสอบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของ กกต.หรือไม่ 

เมื่อพยานตรวจสอบแล้วพบว่า เอกสาร 3 ฉบับแรก ได้แก่ ใบปลิว Vote No, ใบปลิว “ก้าวข้าม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” และความเห็นแย้งฯ ไม่ใช่เอกสารของ กกต. ส่วนที่เป็นเอกสารของ กกต. คือ เอกสารแนะนำการขอใช้สิทธินอกเขต

เอกสารที่ไม่ใช่ของ กกต. หากพิจารณาว่ามีเนื้อหาไม่ขัดกับกฎหมายก็สามารถแจกได้ ซึ่งพยานได้ดูใบปลิว “Vote No” แล้ว เห็นว่า คำว่า No Vote หรือ Vote No เป็นคำกำกวม เนื่องจากระบุความหมายที่แน่ชัดไม่ได้ จึงยังตอบไม่ได้ว่าขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนการจะแจกได้ไหมก็ต้องดูว่าเจตนาสุจริตไม่ขัดกับกฎหมาย ประกอบกับ กกต.มีมติให้ประชาชนลงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ กกต. ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยยอมรับว่า ที่พยานเบิกความว่า คำว่า “Vote No” เป็นคำกำกวม เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพยาน ไม่ได้ปรึกษากับ กกต. อีกทั้งพยานเพียงแต่ให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนเป็นถ้อยคำเท่านั้น ไม่ได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร

เมื่อทนายจำเลยถามว่า ข้อกำหนดของ กกต. ไม่มีระบุว่า ห้ามรณรงค์หรือชี้นำ ใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่า ในความเห็นของพยาน การรณรงค์และชี้นำให้ประชาชนออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งทำไม่ได้ แต่ถ้าประชาชนทั่วไปพูดว่า จะไปรับร่าง ไม่ถือว่าผิด แต่หากประชาชนออกไปพูดว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นความผิด

พยานยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่า Vote แปลว่า ออกเสียง, No แปลว่า  ไม่, คำว่า “Vote No” จึงแปลว่า ไม่ออกเสียง แต่ในเอกสารมีตัวหนังสือภาษาไทยด้วยว่า ไม่รับ(ร่างรัฐธรรมนูญ) ทำให้ความหมายไม่ตรงกัน  เมื่อทนายถามว่า คำว่า “Vote Yes” มีความหมายว่าอย่างไร พยานตอบว่า ไม่ทราบ

สิรวิชญ์รับว่า  ในชั้นสอบสวนไม่เคยให้การในประเด็นว่า Vote No / No vote เป็นคำกำกวม อีกทั้งกฎหมาย ไม่ได้กำหนดให้คำที่กำกวมเป็นความผิด ส่วนคำว่ารับร่าง/ไม่รับร่าง ไม่มีตามข้อกำหนดของ กกต. มีแต่คำว่า เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ เท่านั้น และไม่ได้ระบุโทษทางอาญาไว้


จำเลยยืนยัน ช่วยแจกเอกสารเพราะเห็นเป็นประโยชน์

ปีใหม่ และเตือนใจ (สงวนนามสกุล) สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ จำเลยที่ 1,2 เบิกความถึงสาเหตุที่ไปยืนแจกเอกสารเชิญชวนให้ลงประชามตินอกเขตว่า ในวันเกิดเหตุพยานเลิกงานและเดินผ่านตลาดเคหะบางพลี พบนักศึกษาซึ่งพยานไม่รู้จักยื่นเอกสารชุดนี้ให้ เมื่ออ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนพนักงานและตัวพยานซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด 

พยานเห็นว่ากลุ่มนักศึกษามาประชาสัมพันธ์เรื่องการลงประชามตินอกเขต และมีการพูดถึงอำนาจของนายกฯ ในการเลือก ส.ว. 250 คน ซึ่งพยานเห็นว่าไม่เชื่อมโยงกับประชาชน โดยกลุ่มนักศึกษาพูดประชาสัมพันธ์อย่างสุภาพและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป 

พยานทั้งสองฟังการประชาสัมพันธ์และช่วยแจกเอกสาร โดยไม่ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ใดๆ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไปพร้อมกลุ่มนักศึกษาและเพื่อนอีก 2 คน ชายแต่งกายธรรมดาแจ้งว่าจะพาไปลงชื่อที่อำเภอ แต่กลับถูกพาไปที่ สภ.บางเสาธง ปีใหม่ยังเบิกความว่า ตนเองพกบัตรประชาชนไป แต่ไม่ได้แสดงให้เจ้าหน้าที่ดู เนื่องจากไม่แน่ใจว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่เพราะไม่ได้แต่งเครื่องแบบ 

 

นักวิชาการชี้ รัฐธรรมนูญ 60 บกพร่อง ประชาชนไม่มีส่วนร่วม การลงประชามติไม่เสรี 

ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลย

ชำนาญเริ่มต้นเบิกความว่า การทำประชามติจะใช้ในโอกาสสำคัญในการที่รัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งมีผลต่อการออกกฎหมายสำคัญหรือทำกิจกรรมสำคัญของประเทศ หลักการสำคัญในการทำประชามติคือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก่อนที่จะลงประชามติประชาชนต้องได้รับฟังข้อมูลอย่างครบถ้วนและการรณรงค์ก็ต้องทำได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด โดยตามหลักสากลข้อห้ามในการรณรงค์ก่อนการออกเสียงประชามติ คือห้ามให้ข้อมูลเป็นเท็จ ห้ามบังคับขู่เข็ญ หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ชำนาญเบิกความต่ออีกว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มีที่มาจากการทำรัฐประหาร 2557 และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแทบจะไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งไม่มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนอ่านก่อนการลงประชามติ ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเมื่อปี 2550  

พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความให้ความเห็นต่อเอกสารที่จำเลยในคดีนี้นำไปแจก ได้แก่ เอกสาร “Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” โดยระบุว่า Vote No หมายถึง การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 

ส่วนเอกสาร “ความเห็นแย้งและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้” พยานได้ให้ความเห็นในถึงเนื้อหาในแต่ละประเด็น ได้แก่ ปัญหาบัตรเลือกตั้งใบเดียว, คำถามพ่วงซึ่งเป็นคำถามลวงให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. สามารถเลือกนายกฯ ได้ถึง 8 ปี, เปิดให้คนนอกที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ได้, สถาปนารัฐราชการ, ลดทอนสิทธิหรือสวัสดิการของประชาชนลง, การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้เลย พยานสรุปว่า เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ไม่มีส่วนไหนที่ไม่เป็นความจริง 

ชำนาญยังเบิกความอีกว่า ในช่วงที่มีการรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีประชาชนถูกดำเนินคดีในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ราชบุรี ชัยภูมิ ซึ่งพยานได้ไปเบิกความเป็นพยานในทุกคดี และต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ที่เชียงใหม่มีการติดใบปลิว “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่ชัยภูมิจำเลยคือจตุภัทร์และเพื่อนก็แจกเอกสารเช่นเดียวกับในคดีนี้ 

จำเลยในคดีเหล่านี้เป็นคนที่มีความเห็นว่า ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส่วนบุคคลที่เห็นควรรับร่างไม่ปรากฏว่าถูกดำเนินคดี และยังได้เปรียบมีโอกาสใช้สื่อมวลชนทั้งของรัฐและเอกชนในการให้ความเห็นสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายที่คัดค้านแทบไม่มีโอกาสใช้สื่อในการสนับสนุนฝ่ายของตน

พยานเบิกความถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกรรมาธิการวิสามัญได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อสภาและสภาให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา รายงานดังกล่าวมีข้อสรุปให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เว้นไว้เฉพาะหมวด 1 และหมวด 2 แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความบกพร่องมาก 

 

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 59 ถูกผูกขาด การจับกุมดำเนินคดีคุกคามการใช้เสรีภาพของประชาชน

รังสิมันต์ โรม จำเลยที่ 5 เบิกความต่อศาลใน 5 ประเด็นดังนี้

  1. บรรยากาศการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ถูกผูกขาดการนำเสนอข้อมูลโดยฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่สามารถนำเสนอข้อมูลได้ แต่กลับถูกดำเนินคดีตลอด
  2. จำเลยแค่แจกเอกสารโน้มน้าว ส่วนประชาชนจะเห็นด้วย และลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จำเลยไม่สามารถไปบังคับได้
  3. เนื้อหาในเอกสารที่ถูกกล่าวหาสรุปมาจากสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จึงไม่เป็นการบิดเบือน
  4. การที่จำเลยไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการควบคุมตัวและกระบวนการดำเนินคดี ซึ่งคุกคามการใช้เสรีภาพที่จำเลยเห็นว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 25 ยกเลิกแล้ว 
  5. จำเลยยืนยันว่า นับตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. มา 1 ปี พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาจริงๆ 

 

อ่านข่าวก่อนหน้านี้

ย่ำรุ่งที่หมุดคณะราษฎร สู่พลบค่ำในเรือนจำ: ประมวลสถานการณ์สิทธิฯ วัน 84 ปีอภิวัฒน์สยาม

ถ้อยแถลงการไต่สวนฝากขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่จากห้องพิจารณาคดี

บันทึกถ้อยแถลงจากห้องพิจารณาฝากขังผัด2ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ศาลทหารยกคำร้องฝากขัง 7 นักกิจกรรม คดีรณรงค์ประชามติ ปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษ กท. เช้าพรุ่งนี้

ทนาย 13 ผู้ต้องหาคดีแจกเอกสารโหวตโนสมุทรปราการ ร้องพสส.ให้สอบ ‘สมชัย’ และนักวิชาการเพิ่มเติม

จับ “โรม” กลางห้องสมุด กทม. ใช้หมายจับคดีแจกเอกสารประชามติปี 59

นัดถามคำให้การคดีประชามติบางเสาธง ศาลทหารพยายามไม่บันทึกคำแถลงของจำเลย

รอความเห็นเขตอำนาจศาลคดีประชามติบางเสาธง เหตุไม่ผิดชุมนุมทางการเมือง

เกือบ 4 ปี คดีประชามติบางเสาธง อัยการยื่นฟ้องจำเลยเพิ่มอีก 1 ราย

เกือบ 4 ปี คดีแจกใบปลิวประชามติบางเสาธง เริ่มนัดสืบพยาน 7 นัด ช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 63

 

X