“7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่เข้าข่ายปลุกระดม ศาลยกฟ้อง ‘ไผ่-ปาล์ม’ ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ

29 มี.ค. 61 ศาลจังหวัดภูเขียวอ่านคำพิพากษาคดีแจกเอกสารประชามติ ซึ่ง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรม และ ‘ปาล์ม’ วศิน พรหมมณี นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวฟ้องในข้อหา ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยการเผยแพร่ข้อความและภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรค 2 และข้อหา ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน  อันเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และรับสารภาพก่อนเริ่มการสืบพยานในข้อหา ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

ศาลพิพากษา ยกฟ้อง ข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันแจกเอกสารใบปลิว “7 เหตุผลฯ” ฟังไม่ได้ว่า เป็นความผิดตามฟ้อง เนื่องจากข้อความในใบปลิว “7 เหตุผลฯ” เป็นการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งก็ล้วนนำมาจากที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการแสดงความเห็นในสิ่งที่บุคคลนั้นไม่เห็นด้วย และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่อาจรับฟังได้ชัดแจ้งว่าเป็นการ “ปลุกระดม” ตามที่โจทก์ฟ้อง

และพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 500 บาท  

หลังศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลได้ออกหมายปล่อยตัวจตุภัทร์ส่งไปที่เรือนจำอำเภอภูเขียวในทันที โดยเรือนจำภูเขียวก็ดำเนินการส่งตัวจตุภัทร์กลับไปทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ตามหมายขังในคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่นในทันทีเช่นกัน ส่วนวศินได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาอยู่แล้ว ซึ่งต้องดำเนินการถอนเงินประกันจำนวน 150,000 บาท ที่วางไว้กับศาลต่อไป

อัพเดตคดีไผ่

สำหรับสถานะทางคดีของไผ่ จตุภัทร์ หลังมีคำพิพากษาในคดีนี้ ยังคงเหลือคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาอีก 3 คดี เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล มทบ.23 ในข้อหา ชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 รวม 2 คดี  คือ คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร และคดีจากการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพก่อนการประชามติ อีก 1 คดี เป็นคดีจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในปี 2558 ซึ่งถูกแจ้งข้อหา ชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน ยังไม่มีการส่งฟ้อง

ในส่วนของการรับโทษตามคำพิพากษาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีแชร์บทความของสำนักข่าว BBC Thai ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน นับถึงปัจจุบันไผ่ถูกจำคุกมาแล้วกว่า 1 ปี 3 เดือน และอยู่ระหว่างดำเนินการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล  

 

รายละเอียดคำพิพากษา

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองได้แจกเอกสารใบปลิว “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีข้อความและเหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และตรวจยึดได้หนังสือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” และ “หนังสือความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่ต้องรู้” ในกระเป๋าสะพายของจำเลยทั้งสอง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำที่จะเป็นการร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความและภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการร่วมกันกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันจะเป็นความผิดตามฟ้องนั้น คงได้ความพยานโจทก์ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองว่า เอกสารที่จำเลยทั้งสองแจกมีลักษณะเนื้อหารุนแรง ข่มขู่ คุกคาม ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นการสร้างความแตกแยก และก่อความวุ่นวาย ทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น ล้วนแต่มีลักษณะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพยานเอง

เมื่อพิจารณาข้อความในใบปลิว “7 เหตุผลฯ” ว่าเป็นการปลุกระดมหรือไม่ ทั้งนี้ คำว่า “ปลุกระดม” ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ได้ให้คำอธิบายหรือคำจำกัดความไว้ จึงต้องแปลความจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งคำว่า “ปลุกระดม” ให้ความหมายไว้ว่า “เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น” ดังนี้ การกระทำอย่างใด ๆ จะเป็นการปลุกระดมต้องเป็นการกระทำที่ทำให้เป็นที่เร้าใจของประชาชน และต้องยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น ประกอบกับการกระทำที่จะบ่งชี้ว่าเป็นการปลุกระดม ต้องเป็นพฤติการณ์ที่กระทำการอย่างใด ๆ ไม่ว่าพูดหรือวิธีการอื่นใดที่เร้าใจประชาชน และต้องการให้ประชาชนลุกฮือขึ้นในทางที่ไม่สุจริตผิดกฎหมาย ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920439207/2559

เมื่อพิจารณาข้อความในใบปลิว “7 เหตุผลฯ” ก็มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า เป็นการแสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีข้อกำหนดอย่างไรบ้างที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และข้อความ 7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ล้วนนำมาจากที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กรณีจึงเป็นการแสดงความเห็นในสิ่งที่บุคคลนั้นไม่เห็นด้วย และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่มีข้อกำหนดเช่นว่านั้น ยังมิอาจรับฟังได้ชัดแจ้งว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความเร้าใจอย่างไร และทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นอย่างไรในการจะกระทำสิ่งที่ไม่สุจริตหรือผิดกฎหมาย

ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการ “ปลุกระดม” อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประชามติ มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” ส่วน มาตรา 61 เป็นบทที่มีโทษทางอาญาจึงต้องตีความตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายบทกฎหมายให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินเจตนารมณ์แห่งกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้

การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันแจกเอกสารใบปลิว “7 เหตุผลฯ” จึงฟังไม่ได้ว่า เป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนเอกสารหนังสือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” และหนังสือ “ความเห็นแย้งฯ” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ตรวจพบจากกระเป๋าสะพายด้านหลังของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดพบเห็นจำเลยทั้งสองได้แจกจ่ายหนังสือของกลางดังกล่าว อันจะเข้าองค์ประกอบการกระทำความผิด ดำเนินการ “เผยแพร่” ตามความในมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ประชามติฯ กรณีจึงเป็นเพียงการตระเตรียมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการลงมือกระทำที่จะเข้าองค์ประกอบของความผิด และไม่จำต้องวินิจฉัยเนื้อหาของเอกสารดังกล่าว เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 500 บาท ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คืนของกลางทั้งหมดให้แก่เจ้าของ

 

คดีที่ 4 ที่ศาลยกฟ้อง

นับเป็นการพิพากษาคดีที่ถูกฟ้องตาม มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ คดีที่ 5 โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นคดีที่ 4

ก่อนหน้านี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง ลุงสามารถแปะใบปลิวโหวตโน ชี้ข้อความไม่เข้าองค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ

ต่อมา ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาคดีฉีกบัตรประชามติ ยกฟ้อง 3 นักกิจกรรม ข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสันติ ไม่ส่งผลต่อการออกเสียงประชามติแต่อย่างใด

และเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดราชบุรี ยกฟ้อง 5 นักกิจกรรม-นักข่าว คดีสติ๊กเกอร์ Vote No เหตุพยานโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าแจกจริง

ส่วนคดีที่พิพากษาลงโทษ คือ คดีวิชาญ ภูวิหาร ชวนคนโนโหวต ซึ่งศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเข้าข่ายยุยง มุ่งหวังไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียง ลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี

 

จะเยียวยาผลกระทบจากการสร้างความหวาดกลัวด้วยคดีประชามติอย่างไร

แม้จะนับได้ว่าจำเลยประชามติส่วนใหญ่ได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะในคดีนี้ซึ่งศาลได้พิพากษารับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็น “ไม่เห็นด้วย” ต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยศาลวินิจฉัยในเนื้อหาของเอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ว่า ไม่มีลักษณะ “ปลุกระดม” ซึ่งจะส่งผลดีต่อคดีอื่นที่ยังไม่มีการพิพากษา

มองในมุมกลับ การยกฟ้องคดีประชามติเป็นส่วนใหญ่ข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าจับกุม ดำเนินคดี ประชาชนที่แค่แสดงความเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการบังคับใช้กฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ และกฎหมายอื่น ๆ ที่จงใจสร้างความหวาดกลัวที่จะเผยแพร่หรือรับข้อมูลข่าวสารให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่เพียงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการเข้าจับกุมเท่านั้น กรณีของคดีประชามตินี้ พนักงานอัยการก็ควรถูกตั้งคำถามต่อการอำนวยความยุติธรรม คดีประชามติซึ่งมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 212 คน ทั้งอัยการพลเรือนและอัยการทหารส่งฟ้องต่อศาลหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วทั้งสิ้น สวนทางข้อเรียกร้องของ UN และแอมเนสตี้ที่ออกแถลงการณ์ให้ไทยปล่อย ‘ผู้ต้องหาประชามติ-นักกิจกรรม’

นอกจากนี้ จำเลยคดีประชามติที่ราชบุรีและภูเขียวได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด ขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดี เนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย อีกทั้งการฟ้องคดีไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐ สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งจำเลยประชามติราชบุรีว่า “อัยการจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาทั้ง 5 ชอบแล้ว และได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 เป็นจำเลยต่อศาลแล้วจึงมีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรม” ส่วนจำเลยประชามติภูเขียว อธิบดีอัยการภาค 3 ไม่ดำเนินการส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด คงมีหนังสือให้จำเลยไปยื่นหนังสือคำร้องต่ออัยการสูงสุดโดยตรง

ทั้งนี้ หากชั้นอัยการเห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานที่จับกุมดำเนินคดี และเห็นว่าการดำเนินคดีต่อไปไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็อาจพิจารณายุติการดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาประชามติทั้งหลาย  ดังที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำความเห็นทางกฎหมาย และข้อเสนอเพื่อยุติการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” แต่อัยการก็ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้ “ความเป็นธรรม” ตามสมควรแก่จำเลย คงปล่อยให้จำเลยแสวงหา “ความยุติธรรม” จากศาลเอง ซึ่งในคดีของจตุภัทร์และวศินนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงได้รับความยุติธรรม

โดยหลังจากนี้ไปก็ยังมี “คดีประชามติ” และ “จำเลยประชามติ” ที่ยังต้องแสวงหาความยุติธรรมอีกหลายคดีไม่ว่าจะเป็น คดีส่งจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญ, คดีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ, คดีแจกเอกสารประชามติบางพลี

ผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของรัฐบาล คสช. เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติโดยที่ประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือมีข้อมูลด้านเดียว ตลอดจนภาระในการแสวงหาความยุติธรรมของบรรดาจำเลยประชามติทั้งหลายเหล่านี้ จะได้รับความเป็นธรรมด้วยการชดเชยเยียวยาอย่างไร

 

เปิดเนื้อหา “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

สำหรับเอกสาร “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียววินิจฉัยว่า เนื้อหาไม่เข้าข่ายปลุกระดม แต่หากย้อนไปในช่วงประชามติ เอกสารฉบับนี้ “กกต. และ กรธ. ได้มีความเห็นร่วมกันว่ามีข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่สามารถแจกจ่ายในที่สาธารณะได้ ผู้ที่ทำการแจกจ่ายถือว่ามีความผิด” ซึ่งมีข้อมูลว่า เอกสารฉบับนี้ถูกเผาทำลายไปจำนวนหนึ่ง เนื่องจากประชาชนเกิดความหวาดกลัวเกรงว่าจะถูกดำเนินคดี

สำหรับเนื้อหาในเอกสารประกอบด้วยเหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ดังนี้

7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา ประชามติเพื่ออนาคต

VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก

คสช. ยังเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ คสช. จะยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลเลือกตั้ง คสช. จึงสามารถล้มเลือกตั้งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

เลือกคนที่ชอบแต่ได้พรรคที่เกลียด

นำคะแนนที่เลือก ส.ส. แบ่งเขตไปคิดให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย หากประชาชนอยากเลือกผู้สมัครที่ใช่  ก็ต้องจำใจเลือกพรรคของผู้สมัครนั้นโดยที่อาจไม่ได้ชอบพรรคนั้นเลย คะแนนที่พรรคได้จึงไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนจริง ๆ

องค์กรแต่งตั้งอยู่เหนือประชาชน

องค์กรแต่งตั้งอยู่เหนือประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจตีความประเพณีการปกครองประเทศเพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อควบคุมนักการเมือง รัฐบาลกลายเป็นเพียงหุ่นเชิดขององค์กรเหล่านี้

สถาปนารัฐข้าราชการเป็นใหญ่

สถาปนารัฐข้าราชการเป็นใหญ่ หาก ครม.พ้นตำแหน่งจากเหตุแปรญัตติงบประมาณ ปลัดกระทรวงจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีรักษาการแทน แล้วเลือกนายกฯ จากปลัดด้วยกันเอง โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน

ทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพ

ลดทอนสิทธิที่ประชาชนเคยมี เช่น เรียนฟรีถึง ม. 6 ลดเหลือแค่ ม. 3 เพิ่มถ้อยคำที่คลุมเครือเพื่อใช้จำกัดสิทธิ เช่น การสร้างความมั่นคงของรัฐในทุก ๆ เรื่อง

ส.ว.ทหารตั้งโดยทหาร

ส.ว.ชุดแรก 250 คนแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด โดยมี 6 ตำแหน่งมอบให้ปลัดกลาโหม ผบ. สส. และ ผบ. ทั้ง 4 เหล่าทัพโดยเฉพาะ

นายกฯ คนนอก

การเลือกนายกฯ สามารถนำคนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาชิงตำแหน่งได้ เป็นช่องทางให้ คสช. นำคนของตัวเองเข้ามาสืบทอดอำนาจต่อไป

 

อ่านประมวลการสืบพยานที่ ปากคำพยานคดีแจกเอกสาร VOTE NO ภูเขียว ตอกย้ำประชามติที่ไม่แฟร์

อ่านข่าวการดำเนินคดีย้อนหลังที่

แจ้งข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ 2 นักกิจกรรม NDM อีสาน หลังแจกเอกสารโหวตโนในตลาดสด

อัยการยื่นฟ้องคดี ไผ่และเพื่อน’ ทันที ก่อนศาลให้ประกันตัวด้วยใบอนุญาตทนายของบิดา+เงินสด3หมื่นบาท

X