ปากคำพยานโจทก์คดีประชามติภูเขียว ‘ไผ่-ปาล์ม’ รัฐห้าม ปชช.แสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

13-16 และ 20 ก.พ. 61 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดสืบพยานโจทก์ในคดีแจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทก์ฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘ปาล์ม’ วศิน พรหมณี 2 นักศึกษา (ขณะเกิดเหตุ) เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ก่อให้เกิดความวุ่นวายฯ ด้วยการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ฯลฯ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 โดยมีเอกสารของกลางที่ยึดจากจำเลยในที่เกิดเหตุ คือ “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”, “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” และ “ความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ”

โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลที่จะเข้าเบิกความรวม 7 ปาก ประกอบด้วยผู้จับกุมจำเลยทั้งสองรวม 4 ปาก ซึ่ง 1 ในจำนวนนี้คือ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียวในขณะเกิดเหตุ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีด้วย, ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง จ.ชัยภูมิ 1 ปาก และพนักงานสอบสวน 2 ปาก แต่เมื่อสืบพยานปากพนักงานสอบสวนเสร็จ 1 ปาก แล้ว โจทก์แถลงว่า พยานอีก 1 ปาก เป็นพนักงานสอบสวนที่ร่วมทำการสอบสวนในคดีนี้ และหากเบิกความก็จะเบิกความไปในทิศทางเดียวกัน หากทางฝ่ายจำเลยทั้งสองรับได้ว่า พยานโจทก์อีก 1 ปาก เป็นพนักงานสอบสวนที่ร่วมทำการสอบสวนในคดีนี้ และสอบสวนไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็จะไม่ติดใจสืบพยานปากที่เหลือนี้ ฝ่ายจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงแถลงหมดพยาน

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมในข้อหา ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน โดยให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ทำให้ไม่ต้องสืบพยานในประเด็นนี้

ขณะไผ่ถูกจับกุมในตลาดเทศบาลภูเขียว

ผู้กล่าวหาในคดีระบุ รัฐห้ามประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

พยานโจทก์ปากแรกที่เข้าเบิกความ คือ พ.ต.อ.อร่าม ประจิตร อายุ 62 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียว เป็นผู้จับกุมวศิน จำเลยที่ 2 และเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งสองในคดีนี้

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 เวลาสาย ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.ภูเขียว ได้รับแจ้งข่าวว่า มีคนมาแจกใบปลิวชวนให้ไม่รับร่างประชามติในเขตเทศบาลภูเขียว จึงได้ประสานฝ่ายปกครองอำเภอภูเขียว และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยภูมิ พร้อมทั้งแจ้งให้ตำรวจในบังคับบัญชาสืบหาข่าว ต่อมา เวลา 16.45 น. ได้รับแจ้งว่า มีผู้มาแจกใบปลิว จึงขับรถออกไปตรวจสอบ พบวศิน กำลังแจกใบปลิวบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงเข้าตรวจค้นและควบคุมตัว พบเอกสารใบปลิวมีข้อความว่า ไม่รับร่างเกี่ยวกับการลงประชามติ จำนวนหลายแผ่น ซึ่งวศินถืออยู่ในมือ (เป็นเอกสาร “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ตามที่ีโจทก์เอาให้ดู) จึงควบคุมตัววศินไปที่ สภ.ภูเขียว

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่อว่า ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. พยานเห็นตำรวจและฝ่ายปกครองควบคุมตัวจตุภัทร์มาส่งที่ สภ.ภูเขียว โดยชุดจับกุมระบุว่า เห็นจตุภัทร์แจกเอกสาร ได้แก่ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ, แถลงการณ์นิติราษฎร์ และความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนหลายแผ่น พยานจำข้อความในเอกสารไม่ได้ เมื่อโจทก์เอาให้ดู พยานจึงระบุได้ว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับ มีข้อความโดยสรุปว่า ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่อว่า หลังจากพิจารณาเอกสารแล้วจึงได้แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการเผยแพร่ข้อความ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เกี่ยวกับการลงประชามติ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

ไผ่-ปาล์ม ขณะถูกควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหา

ต่อมา อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ตอบคำถามที่ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน รับว่าการลงประชามติในปี 2559 มีที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง และ คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พ.ต.อ.อร่ามเห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง แต่ไม่ขอออกความเห็นว่า การที่ คสช. แต่งตั้ง กรธ. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่น่ากังวลหรือไม่ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า ทราบมาว่า รัฐห้ามประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ต้องส่งความเห็นไปให้ กรธ. เท่านั้น พยานเองได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก่อนที่จะไปลงประชามติ และมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรสนับสนุน ผลักดันให้ผ่านการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม เอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ก็เป็นเหตุผลที่ควรรับฟัง

ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารของกลางชิ้นแรก คือ “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ในประเด็นการได้มาซึ่ง ส.ส. พยานไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. เปลี่ยนไปจากที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างไร ทนายจึงนำร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ให้พยานอ่าน พร้อมทั้งถามว่า ในมาตรา 90 และ 91 กำหนดว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ จะมีผลให้ได้ ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราไปเลือก ส.ส.ที่เรารัก แต่เราจะได้พรรคการเมืองที่เราไม่ชอบใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ และเห็นว่า การเลือก ส.ส.ในลักษณะเช่นนี้ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนจะสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอออกความเห็น แต่ถ้ามีคนแสดงความห่วงกังวลในเรื่องนี้ก็ควรรับฟัง

ทนายจำเลยที่ 1 ถามในประเด็นต่อมา กรณีที่ ครม.พ้นตำแหน่งจากการเสนอญัตติเรื่องงบประมาณ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ข้าราชการ คือ ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวง ทำหน้าที่เป็น ครม.รักษาการ พยานทราบหรือไม่ อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ตอบว่าไม่ทราบ แต่เห็นว่า คณะบุคคลที่บริหารบ้านเมืองควรมาจากประชาชน และหากมีคนที่ีเป็นห่วงในประเด็นนี้ก็ควรแจ้งไปที่ กรธ. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง ส่วนกรณีดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ พ.ต.ต.อร่ามไม่ขอออกความเห็น

ทนายถามต่อว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ คสช. มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเรียกว่าเป็นเผด็จการหรือไม่ พ.ต.ต.อร่ามไม่ขอออกความเห็น แต่เห็นว่า การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ทนายถามอีกว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คสช. และ ม. 44 จะยังคงอยู่จนกว่าจะมี ครม.ใหม่ ใช่หรือไม่ พยานดูร่างรัฐธรรมนูญแล้วรับว่า ใช่ แต่ คสช. จะสามารถใช้ ม.44 ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้หรือไม่ พยานไม่ทราบ

ทนายจำเลยที่ 1 ยังคงถาม พ.ต.ต.อร่าม ตามเนื้อหาในเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ว่า กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 7 กำหนดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในมาตรา 5 กำหนดให้มีองค์กรอิสระมาวินิจฉัยกรณีดังกล่าวใช่หรือไม่ อดีต ผกก.สภ.ภูเขียวดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติแล้วรับว่า ใช่ กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมควบคุมนักการเมืองมากขึ้น พยานก็ไม่ทราบ แต่เมื่อดูร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 แล้ว พ.ต.อ.อร่าม ก็รับว่า ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นจริง แต่หากมีคนห่วงกังวลควรแสดงความเห็นให้ กรธ.รับฟัง ไม่ควรแสดงความเห็นกันเอง

พยานโจทก์ปากนี้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ในประเด็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพว่า ทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ ป.1 – ม.6 แต่ไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดในมาตรา 54 ให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนเดิม แต่เริ่มตั้งแต่อนุบาล และครอบคลุมถึงแค่ ม.3 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นที่ว่านี้พยานเห็นว่า ไม่น่าห่วง แต่ควรรับฟังไว้ การให้และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร พ.ต.อ.อร่าม ก็ไม่ทราบ แต่เมื่อได้ดูรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 29  เปรียบเทียบกับมาตรา 25 ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พ.ต.อ.อร่ามยอมรับว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใช้คำว่า เพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าข้อความที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามไม่ขอตอบ

พยานผู้จับกุมจำเลยตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ต่อว่า พยานไม่ทราบว่าตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส.ว. มีที่มาอย่างไร เมื่อได้ดูมาตรา 269 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ทนายฯ นำมาให้ดู พยานจึงรับว่า ส.ว.ชุดแรกมีที่มาจากการการแต่งตั้งของ คสช. โดยกำหนดล็อคให้ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ, ผบ.สส., และปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง พ.ต.อ.อร่ามยังทราบว่า สว.ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งมีจำนวนเท่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย ส่วนกรณีเช่นที่ว่านี้จะขัดหลักประชาธิปไตยหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามไม่ขอตอบ ส่วนคนที่ห่วงกังวลในประเด็นนี้ รวมทั้งประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญเปิดให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นนายกฯ ได้ พยานเห็นว่า ควรไปแสดงความกังวลกับ กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง

ทนายจำเลยที่ 1 ถาม พ.ต.อ.อร่าม ว่า ข้อความ “ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” เป็นความเห็นที่คนทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ทนายถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ต่อไปถึงเนื้อหาของเอกสารของกลางฉบับที่ 2 คือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” ซึ่ง พ.ต.อ.อร่าม ไม่เคยได้ยินหรือทราบว่า คณะนิติราษฎร์ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทนายถามว่า เนื้อหา ข้อ 1.1 แสดงความกังวลต่อเรื่องการจำกัดสิทธิ สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ” หรือไม่ พยานดูเอกสารแล้วรับว่า สอดคล้องกัน

ทนายจำเลยถามต่อไปว่า ในข้อ 1.2 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 279 รับรองการกระทำของ คสช. โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ใช่หรือไม่ เท่ากับ คสช.อยู่เหนือกฎหมาย ขัดกับหลักการประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบหรือออกความเห็น ทนายถามว่า ที่ข้อ 1.3 ระบุว่า คสช. ยังมีอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นเรื่องจริงหรือไม่ อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ตอบว่า ตามที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ

พ.ต.อ.อร่ามเบิกความรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ถูกตั้งชื่อว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ในความเป็นจริงการปราบโกงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน พยานทราบด้วยว่า มาตรา 162 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช.วางไว้ แต่พยานไม่ขอตอบว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่

เอกสารของกลางในคดี

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า ทราบว่าตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส.ว.จะมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เมื่อทนายฯ นำร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคแรก ให้อ่าน พ.ต.อ.อร่ามก็รับว่า ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง โดยให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพเลือกกันเองเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับที่พยานเข้าใจ พยานไม่ทราบด้วยว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ส.ว.จะมีอำนาจมากน้อยเพียงใด  ทนายถามต่อว่า หากจะมีคนที่ห่วงกังวลว่า การที่ ส.ว.ชุดแรกจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะถูกครอบงำโดย คสช. เขาสามารถแสดงความเห็นได้หรือไม่ พยานตอบว่า ควรไปแสดงผ่าน กกต.

ทนายจำเลยที่ 1 ถามต่อไปในข้อ 4.4 ซึ่งกล่าวถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าต้อง “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายกว้างใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่รับว่าถ้อยคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 160(4) ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ  

ข้อ 5 ของ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” ซึ่งกล่าวถึงการเลือกตั้งหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ โดยต้องมีการร่างกฎหมายต่าง ๆ พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบที่ทนายจำเลยที่ 1 ว่าเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอย่างไร ส่วนข้อ 6 ที่กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองและสร้างความปรองดองต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ยอมรับว่า เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง แต่ในข้อ 7 ซึ่งกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น พยานไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดระเบียบขั้นตอนตามกฎหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร

ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า การทำประชามติควรกระทำในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หรือในช่วงที่ คสช.ปกครองประเทศ อดีตนายตำรวจไม่ขอตอบ ส่วนการทำประชามติควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นได้เต็มที่หรือไม่นั้น พยานเห็นว่า กกต.มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ประชาชนไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง แต่หากให้ความรู้กันเองโดยไม่ชี้นำคนอื่นให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้ ทนายถามว่า คณะนิติราษฎร์จะประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ พ.ต.อ.อร่าม ไม่ขอตอบ

ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ต่อไปเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารของกลางฉบับสุดท้าย “ความเห็นแย้ง คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งคำอธิบายของ กรธ.ที่ได้อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งคำอธิบายของ กรธ. ไม่ได้ระบุข้อห่วงกังวล หรือข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญตามที่ทนายได้ถามมาแล้วใช่หรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ใช่

ในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิ พ.ต.อ.อร่าม ตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 โดยรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 279 รับรองคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง ลัดขั้นตอนอีไอเอ ตามสำเนาคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/59, 4/59 และ 47/60 ที่ทนายเอาให้ดู ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะไม่สามารถโต้แย้ง ฟ้องศาลได้

ในประเด็นสิทธิทางสาธารณสุข พ.ต.อ.อร่าม ดูรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 51 เปรียบเทียบกับมาตรา 55 ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แล้วตอบคำถามทนายจำเลยว่า มีการตัดถ้อยคำว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขออกจริง แต่มีการบัญญัติว่า รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งส่วนตัวพยานเห็นว่า มีความหมายกว้างกว่า คนที่กังวลว่าจะเป็นการยกเลิกหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ไม่ควรแสดงความกังวลโดยไม่มีข้อเท็จจริง

ประเด็นที่มาของ ส.ส., ส.ว. และการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า เนื้อหาของ “ความเห็นแย้งฯ” จะขัดกับมาตรา 91 และมาตรา 107 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 หรือไม่ พยานโจทก์ปากแรกตอบว่า ไม่ทราบ แต่หากมีคนกังวลว่า ที่มาของ ส.ว.จะไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่มในสังคมอย่างทั่วถึง ก็ควรไปแสดงความเห็นต่อ กกต.

ประเด็นนายกฯ คนนอก ทนายจำเลยถาม อดีต ผกก.สภ.ภูเขียวว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประชาชนจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่า จะได้ใครเป็นนายกฯ เนื่องจากอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ก็ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ส่วนประเด็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรบ้างนั้น พยานไม่ทราบ

ประเด็นสุดท้ายของเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” เรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีข้อความว่า  ควรให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้อง มิใช่กำหนดรายละเอียดมากมายให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม เท่ากับเป็นเพียงการปฏิรูปตามความต้องการของ คสช. ไม่ใช่ปฏิรูปตามความต้องการของประชาชน พ.ต.อ.อร่ามไม่ขอตอบว่า มีความเห็นอย่างไรต่อข้อความดังกล่าว  

เอกสารของกลางในคดี

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อได้อ่านเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ในวันที่ 6 ส.ค. 59 แล้ว พยานไม่เชื่อเนื้อหาในเอกสารดังกล่าว พ.ต.อ.อร่ามทราบว่า เอกสารดังกล่าว จัดทำโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ แต่ไม่ทราบว่า กลุ่มประชาธิปไตยใหม่เป็นใคร พยานทราบว่า การเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงก่อนลงประชามติไม่สามารถทำได้ ต้องให้ กกต.เป็นผู้เผยแพร่เท่านั้น ส่วนการออกเสียงลงประชามติ ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่อไปว่า ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารขอนแก่น จากการจัดเวทีอภิปรายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินี้ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แต่ไม่ทราบรายละเอียด

ทนายจำเลยที่ 1 ถามอดีต ผกก.สภ.ภูเขียวว่า ก่อนลงประชามติมีคำสั่งให้ อปท. ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.อ.อร่าม ตอบว่า ไปรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติ โดยไม่ได้ชี้ว่าดีหรือไม่ ทนายถามต่อไปว่า ความเห็นของ กรธ. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่ปรากฏข้อท้วงติงดังที่มีปรากฏในเอกสารที่ยึดได้จากจำเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยสรุปว่า ดังนั้น เอกสารของ กรธ. ที่ให้เจ้าหน้าที่แจกประชาชนเพื่อรณรงค์ให้ไปออกเสียงประชามติจึงบอกแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความรับว่า ก่อนการออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่ได้รับการกำชับจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าระวังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแสดงออก หรือเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ

อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว เบิกความอีกว่า นายอำเภอภูเขียวไปร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมกับพยาน แต่จำไม่ได้ว่า นายประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว ได้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่

จากนั้น ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน พ.ต.อ.อร่าม นายตำรวจชุดจับกุมจำเลยที่ 2 ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่อยมา รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ประกาศใช้อยู่ขณะเกิดเหตุใช่หรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยที่ 2 ถามต่อไปว่า เหตุที่เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นรากฐานประชาธิปไตย เพราะถือหลักว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญของประเทศ และการที่ประชาชนจะตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน การออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาของบ้านเมืองตลอดไปจนกว่าจะมีการรัฐประหารครั้งใหม่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

พ.ต.อ.อร่ามเบิกความตอบทนายอีกว่า มีโอกาสได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งส่งมาให้ที่บ้าน เป็นบางส่วน เนื่องจากมีเนื้อหายาว เยอะ และเป็นภาษากฎหมายที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ พยานทราบว่า ตำรวจใน สภ.ภูเขียว ได้รับทุกคน พยานยังได้รับฉบับย่อ เป็นคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดทำโดย กรธ. นอกจากนี้ พยานยังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเข้าร่วมเวทีของ กกต. ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ส่วนที่ กรธ.จัด พยานไม่ได้เข้าร่วม

ทนายจำเลยที่ 2 ถาม พ.ต.อ.อร่าม ว่า เวทีของ กกต.ที่พยานเข้าร่วม ได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือไม่ อดีตนายตำรวจตอบว่า ผู้จัดแจ้งว่า จะมีเวทีในระดับอำเภอที่จะเปิดให้ประชาชนมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็น

ทนายจำเลยที่ 2 ถามเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารของ กรธ. ว่า สื่อสารด้วยถ้อยคำสั้น ๆ เช่น รัฐธรรมนูญคุ้มครองทั้งชีวิต ตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า เมื่อพยานได้ฟัง คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดีหรือแย่ พยานตอบว่า คิดว่าดี ทนายถามต่อว่า ในข้อ 6 ที่กล่าวว่า ปราบโกงอย่างจริงจัง ทำให้เข้าใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ปราบปรามคอร์รัปชั่นใช่หรือไม่ ผู้ที่ได้อ่าน ย่อมอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติใช่หรือไม่ พ.ต.อ.อร่าม ยอมรับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากนี้ต่อไปอีกว่า พยานเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เคยได้ยินว่า คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 ให้นักการเมืองท้องถิ่นพ้นตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ชี้แจง รวมทั้งออกกฏหมายในลักษณะกำหนดความผิดทางอาญา เช่น กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองมีโทษทางอาญา หรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า เคยได้ยิน ทนายถามอีกว่า เอกสารของ กรธ. มีการชี้แจงหรือไม่ว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านประชามติ อำนาจของ คสช. ตาม ม.44 จะยังคงมีอยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ อดีตนายตำรวจตอบว่า ไม่จำเป็นต้องชี้แจง เนื่องจากมีในกฎหมายอยู่แล้ว ทนายถามต่ออีกว่า กรธ. ก็ไม่เคยชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติห้าม คสช.ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และห้าม คสช.สนับสนุนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคยได้ยิน

ทนายจำเลยถามอีกว่า เอกสารของ กรธ. และเอกสารที่แจกจ่ายในคดีนี้ เป็นเอกสารที่มีลักษณะให้ข้อมูล และแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถทำให้ผู้อ่านตัดสินใจทางใดทางหนึ่งได้ใช่หรือไม่ อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ตอบว่า เข้าใจว่าเอกสารของกลางในคดีนี้ มีคำว่า Vote No ซึ่งมีความหมายว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการชี้นำ แต่จะเป็นการประกาศจุดยืนของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

อดีตนายตำรวจตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 2 อีกว่า ไม่เคยทราบว่า ก่อนการลงประชามติ มีคนที่มีชื่อเสียงหลายท่านประกาศจุดยืนผ่านสื่อมวลชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น พล.อ.ประยุทธ์แถลงและให้สัมภาษณ์ว่าจะไปรับร่างรัฐธรรมนูญ นายสุเทพประกาศผ่านสื่อว่าจะลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ และนายอภิสิทธิ์แถลงจุดยืนว่าไม่รับ แต่พยานเคยได้ยินข่าวว่าพรรคเพื่อไทยแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า การที่นักวิชาการออกมาประกาศ Vote No ทำได้ ไม่ผิดกฎหมายนั้น พยานไม่เคยได้ยินข่าว ทนายจำเลยที่ 2 ถาม พ.ต.อ.อร่ามว่า การที่คนเหล่านี้แถลงผ่านสื่อมวลชน ย่อมมีคนรับรู้ในวงกว้างใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ติดตามข่าว ส่วนการประกาศจุดยืนว่าจะออกเสียงลงประชามติอย่างไร จะผิดกฎหมายหรือไม่ พยานเห็นว่า ถ้าเป็นการบอกความเห็นของตัวเอง ไม่ผิด แต่ถ้าชี้นำคนอื่นให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิด

 

ปลัดอ้างเอกสารที่จำเลยแจกจ่ายมีลักษณะรุนแรง น่ากลัว

พยานโจทก์ปากที่สอง คือ นายประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว อายุ 48 ปี เป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 และร่วมจับกุมจำเลยที่ 1

นายประเสริฐเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 เวลา 11.00 น. ขณะพยานไปแจกหีบลงคะแนนเสียงประชามติที่หอประชุมอำเภอภูเขียว ได้รับแจ้งจากราษฎรในตำบลผักปังว่า มีคนมาแจกใบปลิวในเขตเทศบาลตำบลภูเขียว พยานจึงได้พาผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ออกตรวจหาข่าว พบเอกสาร 1 แผ่น ที่ร้านส้มตำ ทางเข้า บขส. ต.ผักปัง เป็นเอกสารรณรงค์ Vote No ภายในมีรูปคล้ายยักษ์ (อัยการนำเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ให้ดู นายประเสริฐยืนยันว่าใช่)  จากนั้น เวลา 16.40 น. พยานออกเดินหาข่าวมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบวศินกำลังถือใบปลิว ผกก.สภ.ภูเขียว จึงได้ขอตรวจค้น พบว่าเป็นเอกสารลักษณะเดียวกับที่พบที่ร้านส้มตำ และที่เป้ด้านหลังมีเอกสารคล้ายกันอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยหนังสือ นายประเสริฐไม่ได้เห็นวศินแจกเอกสาร แต่เมื่อตรวจสอบร้านค้าในบริเวณดังกล่าว พบเอกสารเช่นเดียวกับที่วศินถือ วางอยู่ที่หน้าบ้านประมาณ 5 หลัง เจ้าของร้านแจ้งว่า วัยรุ่นชายเป็นผู้มาแจกเอกสาร แต่นายประเสริฐไม่ได้นำตัววศินไปให้ร้านค้าดูว่า เป็นผู้แจกเอกสารดังกล่าวหรือไม่

นายประเสริฐเบิกความต่ออีกว่า เมื่อควบคุมตัววศินไปที่ สภ.ภูเขียว ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า พบนายจตุภัทร์กำลังเดินแจกเอกสารในตลาดสดเทศบาลภูเขียว พยานจึงออกจาก สภ.ภูเขียว ไปที่ตลาดดังกล่าว พบชุดสืบ สภ.ภูเขียว และกำนันตำบลผักปัง กำลังเข้าควบคุมตัวจตุภัทร์ ซึ่งถือเอกสารใบปลิว Vote No ลักษณะเดียวกับที่พบที่วศิน และหนังสือมีข้อความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และหนังสือคณะราษฎร์ (เป็นเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ, แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ และความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์เอาให้ดู) จึงทำการควบคุมตัวจำเลยที่ 1 มาส่งที่ สภ.ภูเขียว

พยานผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความต่อไปว่า พยานอยู่ร่วมด้วยว่า ขณะ ผกก.สภ.ภูเขียว แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่า เผยแพร่โปสเตอร์ ใบปลิว ข้อความ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน มีข้อความในลักษณะรุนแรง น่ากลัว ข่มขู่ คุกคาม ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

เอกสารของกลางในคดี

จากนั้น ปลัดอำเภอภูเขียวตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัวพยานมีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายประเสริฐตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า รู้จักจตุภัทร์ผ่านสื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับคณะรัฐประหาร แต่ไม่ขอตอบว่า พฤติการณ์ไม่ยอมรับรัฐประหารสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เนื่องจากม่ทราบว่า การต่อต้านรัฐประหารผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่  นายประเสริฐไม่ขอตอบด้วยว่า ยอมรับรัฐประหารหรือไม่, การฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มรัฐสภาจะเป็นความผิดฐานเป็นกบฎในราชอาณาจักรหรือไม่, มาตรา 44 จะขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และการที่ คสช. แต่งคณะบุคคลขึ้นมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่

นายประเสริฐตอบคำถามทนายจำเลยต่อไปว่า การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติ เป็นหน้าที่ของรัฐ ประชาชนสามารถให้ความรู้กันเองได้ แต่ต้องไม่ชี้นำ เมื่อทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า การชี้นำไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ นายประเสริฐไม่ขอตอบ และไม่ตอบด้วยว่า การให้ประชาชนได้เผยแพร่ความรู้ถือเป็นประโยชน์ในการทำประชามติหรือไม่

ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านปลัดอำเภอภูเขียวถึงเนื้อหาในเอกสารของกลาง “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส., กรณีที่ ครม.พ้นตำแหน่งจากการเสนอญัตติเรื่องงบประมาณ ข้าราชการประจำจะทำหน้าที่แทน ครม., การคงอยู่ของ ม.44, การวินิจฉัยกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ, สิทธิในการเรียนฟรีและสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. และสุดท้าย ประเด็นนายกฯ คนนอก แต่พยานผู้จับกุมจำเลยทั้งสองในคดีนี้ไม่ขอตอบว่า ประเด็นเหล่านี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดไว้อย่างไร แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอย่างไร ขัดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งไม่ขอตอบว่า 7 เหตุผลที่อธิบายอยู่ในโปสเตอร์เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง และน่านำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงประชามติหรือไม่

ทนายจำเลยให้นายประเสริฐดูกราฟฟิครูปทหารคายพานรัฐธรรมนูญแล้วถามว่า เป็นรูปทหาร ไม่ใช่ยักษ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เด็กเห็นแล้วกลัว แต่ตัวพยานไม่กลัว ส่วนบุคคลที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปจะกลัวหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายถามต่อไปอีกว่า หากมีคนยื่นรูปนี้ให้พยานดู จะรู้สึกเหมือนถูกข่มขู่หรือไม่ นายประเสริฐตอบว่า ไม่ นอกจากนี้ นายประเสริฐยังตอบทนายว่า ไม่กลัวคำว่า Vote No ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในโปสเตอร์ “7 เหตุผลฯ” ด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเห็นโปสเตอร์แล้วตกใจกลัวหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ทนายจำเลยที่ 1 จะถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 2 ถึงเนื้อหาในเอกสารของกลางอีก 2 ฉบับ แต่ปลัดอำเภอภูเขียวกล่าวว่า พยานไม่ได้เปิดดูเนื้อหาด้านในเอกสาร ดูแต่เพียงหน้าปกเท่านั้น จึงไม่ขอตอบคำถามค้านที่ถามเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพยานเห็นเอกสารดังกล่าวก็ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือรู้สึกถูกข่มขู่ เจ้าหน้าที่ที่ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองก็ไม่มีใครกลัว

นายประเสริฐตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 ด้วยว่า ข้อกล่าวหาที่แจ้งจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ หมายถึงเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ฉบับเดียว อีก 2 ฉบับ นำมาประกอบการแจ้งข้อหาเท่านั้น เนื่องจากพยานไม่ได้เปิดดู รวมทั้งไม่ได้มีการปรึกษากับ ผกก.สภ.ภูเขียว เกี่ยวกับเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าว

ปลัดอำเภอภูเขียวระบุอีกว่า ในการลงประชามติพยานได้รับข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ โดยได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มที่ กรธ.พิมพ์แจก รวมทั้งอ่านและทำความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ไม่ขอตอบทนายว่า ได้รับคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำหรือไม่ และเอกสารดังกล่าวกล่าวถึงเฉพาะข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อทนายฯ นำมาให้ดู พยานก็ไม่เปิดอ่าน ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานปากนี้ว่า เมื่อพยานได้อ่านและทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติดีแล้ว การที่พยานไม่ตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 เป็นไปเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ได้รับโทษ ไม่ได้เบิกความตามความจริงใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

นายประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอที่ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสอง ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า พยานเข้าใจว่าเอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” จัดทำโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ส่วนข้อความ “Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” จะแสดงถึงจุดยืนของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่พยานเห็นแล้วทราบว่า กลุ่มประชาธิปไตยใหม่มีเจตนาจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐรับว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้ปรากฏข้อความเชิญชวนให้ประชาชนไม่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญ มีเพียงเหตุผลที่ชี้แจงเท่านั้น

ทนายจำเลยที่ 2 ถามนายประเสริฐในประเด็นการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการลงประชามติว่า ประชาชนโดยทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมหรือไม่ และบุคคลจะประกาศจุดยืนของตนเองว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของคนอื่นได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

 

กำนันชี้จำเลยแจกเอกสารโนโหวตคัดค้านการลงประชามติสร้างความแตกแยก

พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองอีกปาก คือ นายบุญน่วม ฤาชา ขณะเกิดเหตุเป็นกำนันตำบลผักปัง อ.ภูเขียว ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552- 2 ก.พ. 61 

นายบุญน่วมเบิกความว่า วันที่ 6 ส.ค. 59 เวลา 16.30 น. ขณะพยานอยู่ที่บ้านได้รับแจ้งจาก ปลัดอำเภอภูเขียวให้มาที่ สภ.ภูเขียวโดยด่วน เนื่องจากมีคนมาคัดค้านการลงประชามติ เมื่อพยานมาถึง สภ.ภูเขียวได้เดินทางไปที่ ถ.ราษฎร์บำรุงร่วมกับปลัดประเสริฐ เห็นจำเลยที่ 2 กำลังแจกใบปลิวให้กับชาวบ้าน เป็นเอกสารโนโหวต คัดค้านการลงประชามติ จึงร่วมกับ พ.ต.อ.อร่าม ควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไปที่ สภ.ภูเขียว หลังจากนั้น พยานร่วมออกตรวจสอบบริเวณตลาดสดเทศบาลภูเขียว พบจำเลยที่ 1 กำลังแจกแผ่นพับ ให้กับแม่ค้าในตลาด จึงได้ขอตรวจค้นตัวพบเอกสารอีกหลายฉบับอยู่ในเป้สะพายหลัง จึงได้นำตัวไปที่ สภ.ภูเขียว เมื่อไปถึง ตรวจสอบเป้พบ แถลงการณ์นิติราษฎร์ และความเห็นแย้ง ่ตามที่โจทก์ให้ดู แตพยาน่ไม่ได้ดูในรายละเอียดของเอกสาร

พยานให้ความเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองแจกใบปลิวคัดค้านการลงประชามติ ถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยก พยานรู้จักจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เล็ก ๆ และสนิทสนมกับบิดาของจำเลยที่ 1 แต่ไม่รู้จักจำเลยที่ 2 และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง

ต่อมา กำนันบุญน่วมตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก และไม่ทราบว่า คำว่าโหวตโน มีความหมายว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

เหตุที่พยานรู้จักกับบิดาจำเลยที่ 1 เนื่องจากขณะที่พยานกำลังประชุมชาวบ้านเกี่ยวกับการสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บิดาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับพวก ได้เข้าไปคัดค้านการประชุม ทำให้การประชุมยกเลิกไป และเสาโทรศัพท์ก็ไม่ได้มีการจัดสร้าง

ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า ในการลงประชามติ ทิศทางการออกเสียงต้องเป็นไปทางเดียวกัน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ กำนัน ต.ภูเขียว รับด้วยว่า กกต. เคยมอบหมายให้พยานไปเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยให้นำไปติดไว้ในหมู่บ้าน ในที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้ แต่พยานไม่เคยไปเผยแพร่เนื้อหาให้ชาวบ้านฟัง

นายบุญน่วมตอบทนายจำเลยที่ 1 อีกว่า ไม่ได้อ่านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก่อนไปลงประชามติ และไม่ขอตอบที่ทนายจำเลยที่ 1 ที่ถามถึงเนื้อหาของเอกสารของกลาง “7 เหตุผลฯ” ที่กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า ที่พยานตอบว่าไม่ขอตอบ เพราะปลัดอำเภอบอกเช่นนั้นใช่หรือไม่ อดีตกำนันก็ไม่ขอตอบเช่นเดิม

ทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า ก่อนเกิดเหตุ พยานเคยไปที่บ้านของจำเลยที่ 1 เพื่อขอร้องให้หยุดเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ แต่ไปเพื่อถามข่าวคราว โดยไม่ขอตอบว่า เกี่ยวกับการชู 3 นิ้วหรือไม่ และเห็นด้วยหรือไม่ที่ลูกบ้านไปคัดค้านการรัฐประหาร

กำนันบุญน่วมไม่ขอตอบทนายจำเลยที่ 2 ที่ถามว่า ก่อนการออกเสียงประชามติ มีการเฝ้าระวังไม่ให้คนมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ใช่หรือไม่รวมทั้งปลัดอำเภอและนายอำเภอกำชับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าใช่หรือไม่

อส.ระบุ แจกเอกสาร Vote No ทำให้การลงประชามติไม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

ชุดจับกุมจำเลยคนสุดท้ายที่เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ คือ หมู่ตรีสุขสันต์ ผาจันทร์ กองอาสารักษาดินแดน (อส.) เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็น อส.ประจำอำเภอภูเขียว วันเกิดเหตุเวลา 11.00-12.00 น.  ได้รับโทรศัพท์จากชาวบ้าน จึงโทรศัพท์ประสานกับปลัดประเสริฐ ว่ามีคนทำผิดเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ และเดินทางพร้อมกับปลัดไปที่ สภ.ภูเขียว จากนั้นได้รับมอบหมายจากปลัดให้ออกตรวจสอบที่ตลาดสดเทศบาลภูเขียว จนถึงเวลา 17.00 น. จึงเห็นจำเลยที่ 1 เดินแจกแผ่นพับ ซึ่งเขียนว่า “Vote No” ใช่เอกสาร “7 เหตุผลฯ” ตามที่โจทก์ให้ดู ให้กับพ่อค้าประชาชน ในกระเป๋ามีหนังสือและแผ่นพับ (ความเห็นแย้งคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญ ใช่ตามที่โจทก์ให้ดู) พยานกับตำรวจจึงได้เชิญตัวจำเลยที่ 1 ไปที่ สภ.ภูเขียว และได้เห็นจำเลยที่ 2 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ภูเขียวแล้ว ทราบว่าเนื่องจากแจกเอกสารโหวตโน “7 เหตุผลฯ” เช่นเดียวกัน

อส.สุขสันต์เบิกความอีกว่า ที่มีการจับกุมจำเลยทั้งสอง เนื่องจากทำให้การลงประชามติไม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยเอกสารที่แจกมีข้อความว่า โหวตโน หมายถึง ไม่รับประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานรู้จักจำเลยที่ 1 จากสื่อมวลชน แต่ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2

พยานไม่ขอคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ที่ถามว่า การไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย หรือผิดกฎหมายใช่หรือไม่ แต่รับว่า ก่อนไปลงประชามติพยานได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เฉพาะในส่วนของคำปรารภ ไม่ได้อ่านเนื้อหารายละเอียด

ส่วนเอกสาร “7 เหตุผลฯ” พยานดูเฉพาะคำว่า Vote No โดยพยานไม่ได้รู้สึกกลัว รวมทั้งไม่ได้เห็นว่าหยาบคาย พยานไม่ขอตอบที่ทนายจำเลยที่ 1 ถามถึงเนื้อหาของเอกสารของกลาง “7 เหตุผลฯ” ที่กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งไม่ขอตอบว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ดีหรือไม่ พยานไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า ที่พยานตอบว่าไม่ขอตอบข้อซักค้านของทนายจำเลยที่ 1 เพราะไปตระเตรียมมากับปลัดประเสริฐ และกำนันบุญน่วมใช่หรือไม่ และที่ไม่ขอตอบก็เพื่อต้องการปรักปรำให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษ หรือเพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อหน้าที่การงานใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ

 

ปากคำ กกต.: คนห่วงกังวลในร่าง รธน. มีสิทธิแสดงความเห็นและจุดยืนไม่รับร่างฯ

นอกจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม โจทก์ยังได้อ้าง พ.ต.ต.เดชพล กอสนาน อายุ 48 ปี ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดชัยภูมิิ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดปทุมธานี เข้าเบิกความเป็นพยานด้วย

พ.ต.ต.เดชพล เบิกความว่า ก่อนถึงวันลงประชามติ กกต.กลางกำหนดให้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดชัยภูมิจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติรวม 6 กิจกรรม ได้แก่ อบรมกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.), อบรม รด.จิตอาสา, ประสานครูโรงเรียนประถมและมัธยมเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน, Big Day รณรงค์ให้ประชาชนในเขตจังหวัดชัยภูมิตื่นตัวออกมาใช้สิทธิออกเสียง, ปั่นจักรยานประชาสัมพันธ์ กิจกรรมสุดท้ายจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ในวันที่ 3 ส.ค. 59 ที่โรงแรมเลิศนิมิต อ.เมืองชัยภูมิ โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ผ่านผู้นำชุมชน

อดีต ผอ.กกต.ชัยภูมิ เบิกความอีกว่า มีการแจกสำเนาร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และประเด็นคำถามพ่วง ให้กับส่วนราชการในจังหวัดชัยภูมิทุกแห่ง รวมทั้ง ศส.ปชต. การทำหน้าที่ของ กกต. เป็นการรณรงค์ เผยแพร่ สร้างความรู้ให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติ  ส่วนประชาชนจะไปใช้สิทธิอย่างไรนั้น เป็นสิทธิส่วนบุคคล

พ.ต.ต.เดชพล เบิกความเกี่ยวกับเอกสารของกลางในคดีทั้ง 3 ฉบับว่า มีข้อความว่า “Vote No” และ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ส่วนเอกสารที่ กกต. แจกให้ประชาชน คือ ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ปรากฏข้อความให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานระบุด้วยว่า การแสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติต้องทำโดยสุจริตและเป็นไปตามกฎหมาย

พยานตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า พยานจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย ประเทศไต้หวัน จากนั้นศึกษาต่อนิติศาสตร์บัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม เริ่มทำงานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2549

อดีต ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ ตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า เหตุที่ไม่พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญแจกประชาชนให้ทั่วถึง เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบอกเหตุผลที่ไม่รับ ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิระบุว่า ประชาชนสามารถทำได้

ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับกิจกรรมเผยแพร่และรณรงค์ของ กกต. พ.ต.ต.เดชพล ตอบว่า จัดอบรมสมาชิก ศส.ปชต. ให้ทุกตำบล ๆ ละ 1 ศูนย์ ๆ ละอย่างน้อย 10 คน เนื้อหาที่อบรมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและวิธีการออกเสียงลงประชามติ ส่วนกิจกรรมอบรม รด.จิตอาสา คือจัดอบรมให้เด็กมัธยมที่เรียน รด. กิจกรรมประสานงานครู คือ การอบรมครูเพื่อไปให้ความรู้นักเรียน แล้วให้นักเรียนไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง กิจกรรมทั้งหมดมีการบันทึกภาพไว้เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา แต่พยานไม่ได้ส่งภาพถ่ายกิจกรรม เทปบันทึกเสียง ให้กับพนักงานสอบสวนในคดีนี้

ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานโจทก์ปาก กกต. นี้ถึงเนื้อหาของเอกสาร ”คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ กกต. จัดส่งพร้อมร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนและผู้นำองค์กร ในประเด็นสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของรัฐ พยานอ่านแล้วมีความเห็นว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่ พ.ต.ต.เดชพลตอบว่า ส่วนตัวเห็นว่าใช้ได้ ในประเด็นที่กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคุ้มครองชีวิตตั้งแต่คลอดจนแก่เฒ่า ส่วนตัว พ.ต.ต.เดชพลก็เห็นว่า เป็นมาตรฐาน ส่วนในประเด็นการได้มาซึ่ง สส., สว. พยานเห็นว่า เป็นวิธีการใหม่ จึงเปรียบเทียบไม่ได้ว่าดีหรือแย่กว่าวิธีการเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเมื่อพยานอ่านคำอธิบายโดยรวมแล้วเห็นว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้ เนื่องจากให้เสรีภาพ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

อดีต ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 ด้วยว่า ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ามีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ อยากโต้แย้ง ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล สามารถทำได้

ทนายจำเลยที่ 1 ถามเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารของกลาง “7 เหตุผลฯ”  ในประเด็นที่มาของ ส.ส. ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร พ.ต.ต.เดชพล ตอบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกบุคคลและเลือกพรรค ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกคนได้พรรคด้วย ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ ยังตอบไม่ได้ว่าดีกว่าหรือไม่  แต่คนที่ไม่เห็นด้วยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย

ในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ปลัดกระทรวงเป็น ครม.รักษาการ, อำนาจตาม ม. 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ยังมีผลใช้บ้งคับอยู่ แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านการลงประชามติแล้ว, ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยกรณีไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ,  ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองเพิ่มขึ้น, นักการเมืองต้องกำหนดนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ, เริ่มเรียนฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงแค่ ม.3, ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งใน 5 ปีแรก และ ส.ว. 250 คน ที่ คสช. แต่งตั้ง และมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย เหล่านี้พยานทราบดี แต่หลักการที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ จะเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่าน ม.44 หรือไม่ พ.ต.ต.เดชพล เห็นว่าแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่ประชาชนเป็นห่วงกังวลในเรื่องนี้มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้

ทนายจำเลยยังถามถึงเนื้อหาในเอกสาร “7 เหตุผลฯ” อีกว่า ในประเด็นที่มาของนายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เปิดทางให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้ลงสมัครเป็น ส.ส. ได้ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.เดชพล รับว่าใช่ แต่จะขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในปี 2535 หรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะช่วงนั้นอยู่ต่างประเทศ แต่กล่าวได้ว่าประชาชนที่ไปเลือกตั้งจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะได้ใครเป็นนายกฯ

อดีต ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ ตอบทนายจำเลยที่ 1 อีกว่า เคยได้ยินชื่อกลุ่มที่มีจุดยืนว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และรู้จักนายโคทม อารียา อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่ทราบว่า นายโคทมมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร พยานยังรู้จักคณะนิติราษฏร์ ซึ่งเป็นคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ และเห็นว่า การที่นักวิชาการอย่างคณะนิติราษฎร์ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ  เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พยานเองเคยอ่านแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์แบบผ่าน ๆ เห็นว่า เป็นความเห็นที่น่ารับฟัง แต่ใครจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของแต่ละคน

พ.ต.ต.เดชพล ตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมและกล่าวหาจำเลยทั้งสองในคดีนี้ พยานเคยได้ยินชื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเห็นว่า การที่คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่ดี

ต่อมา พ.ต.ต.เดชพล ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน โดยรับว่า กระบวนการทำประชามติในสากลมักใช้ในการตัดสินในประเด็นปัญหาที่สำคัญของบ้านเมือง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ กระบวนการประชามติจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาคกัน ส่วนตัวพยานได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

อดีต ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ ตอบคำถามทนายจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับกิจกรรมรณรงค์ 6 กิจกรรม ในจังหวัดชัยภูมิ ว่า เป็นกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง การให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของ กรธ. ซึ่งจัดทีมวิทยากรลงให้ความรู้โดยตรงอยู่แล้ว กิจกรรมที่ 4 และ 5 ก็รณรงค์เฉพาะในอำเภอเมืองชัยภูมิ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งออกหนังสือเชิญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอละ 10 คน และหัวหน้าส่วนราชการ รวม 300 คน ทนายจำเลยที่ 2 ถามว่า แสดงว่าไม่ได้เชิญเป็นการทั่วไป เพราะแต่ละอำเภอต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมากกว่าอำเภอละ 10 คน อดีต กกต.จ.ชัยภูมิ ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามอีกว่า ตามตารางรายชื่อไม่ปรากฏว่ามีการเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านจากอำเภอภูเขียว พ.ต.ต.เดชพล ยอมรับว่า ใช่ แต่ไม่ทราบว่าเอกสารตกหล่นหรือไม่ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง

พ.ต.ต.เดชพล ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ในการทำประชามติปี 2550 กกต.ได้จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนทุกครัวเรือน แต่ในการทำประชามติปี 2559 มีการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้เพียงหมู่บ้านละ 3 ฉบับ ทนายจำเลยถามว่า หมายความว่าหากผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องไปขอจากผู้ใหญ่บ้านใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

พ.ต.ต.เดชพล ดูคลิปวีดิโอที่ทนายจำเลยเปิดให้ดู  แล้วตอบคำถามว่า บุคคลที่แถลงข่าวรับร่างรัฐธรรมนูญในคลิป คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการประกาศจุดยืนและเหตุผลที่ต้องการให้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ แต่งเครื่องแบบทหารเต็มยศยืนหน้าโพเดียม ลักษณะเช่นเดียวกับการแถลงข้อราชการที่ทำเนียบ ทนายจำเลยถามว่า ช่วงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ซึ่งในฐานะนายกฯ ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทุกหน่วย ส่วนในฐานะหัวหน้า คสช. ก็มีอำนาจตาม ม.44 เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมทั้งเคยใช้ ม.44 ปลดข้าราชการผู้ใหญ่มาแล้วหลายราย ยุบองค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ต.เดชพลรับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามอีกว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันทั่วประเทศ มีผลต่อการตัดสินใจลงประชามติของข้าราชการไปในทางเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ พยานตอบว่า ส่วนตัวคิดว่าคงไม่มีผล เป็นดุลพินิจส่วนบุคคล และจะออกเสียงอย่างไรก็ไม่มีผู้ใดรู้

อดีต ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ ตอบทนายจำเลยด้วยว่า การที่บุคคลใดจะไปออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิตามกฎหมาย การแสดงจุดยืนหรือเหตุผลในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของบุคคลใด หากแม้จะมีผลให้บุคคลอื่นนำไปประกอบการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติ ก็ทำได้ ถือว่าถูกกฎหมาย ตราบเท่าที่ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง กำกวม ข่มขู่  และอยู่ในกรอบของกฎหมาย

 

พงส.ไม่แน่ใจได้สอบผู้กล่าวหาและ กกต. ว่า เอกสารของกลางผิดข้อเท็จจริงหรือปลุกระดมหรือไม่

โจทก์นำพนักงานสอบสวน สภ. ภูเขียว พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ โฉมสะอาด เข้าสืบในฐานะที่เกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวนในคดี โดย พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 19.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวรอยู่ที่ สภ. ภูเขียว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ควบคุมตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาส่งมอบให้ พร้อมของกลาง 3 รายการ คือ 1. ใบปลิว 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 128 แผ่น 2. แถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ จำนวน 16 เล่ม 3. หนังสือความเห็นแย้ง 1 เล่ม

พยานเบิกความต่อว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันเผยแพร่ข้อความและภาพแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ทำให้เกิดความวุ่นวาย และปลุกระดม โดยเผยแพร่เอกสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยมุ่งหวังให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไปออกเสียงประชามติในทางใดทางหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การ

พนักงานสอบสวนเบิกความต่อไปอีกว่า ต่อมา วันที่ 8 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 09.00 น. ได้มีการจัดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พิมพ์ลายพิมพ์มือเพื่อจัดทำประวัติทะเบียนอาชญากร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยินยอม พยานจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน เป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 25 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ไม่ได้สอบสวนประชาชนผู้รับแจกแผ่นพับใบปลิว อีกทั้งในสำนวนการสอบสวนไม่มีภาพเคลื่อนไหว มีแต่ภาพถ่ายของกลางทั้งหมดที่ยึดได้จากตัวจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตาม พยานให้ความเป็นธรรมกับจำเลยทั้งสองโดยให้โอกาสนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม และพยานเองก็ได้พยายามขวนขวายหาพยานเพิ่มเติม

พยานตอบทนายจำเลยที่ 1 โดยรับว่า ไม่ได้สอบสวนเกี่ยวกับเนื้อหาของเอกสารของกลางทั้ง 3 ฉบับ ที่กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ, ไม่ได้สอบสวนหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ทำเอกสารของกลาง, ไม่ได้ทำหนังสือหารือไปที่ กกต.กลาง รวมทั้งไม่ได้สอบสวนผู้เชี่ยวชาญทางภาษาเพื่อให้ความหมายของคำว่า “ปลุกระดม” ทั้งนี้ พยานเคยศึกษาคำพิพากษาของศาลฎีกา เกี่ยวกับคำว่าปลุกระดม แต่ไม่แน่ใจว่าเคยศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับที่ทนายจำเลยที่ 1 ให้ดูหรือไม่ ทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า การที่ผู้นำท้องถิ่นให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการปลุกระดมหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่

พยานยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงเจตนาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชนทั่วไปได้ รวมทั้งก็น่าจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ ตามที่ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 7 ระบุไว้ว่า บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย และตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 รับรองสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคที่ชนชาวไทย เคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในประเทศไทยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ รวมทั้งตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดไว้ในข้อ 19 ว่าบุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ตอบทนายจำเลยที่ 1 อีกว่า ในชั้นสอบสวน ผู้กล่าวหา คือ พ.ต.อ. อร่าม ไม่ได้ให้ถ้อยคำเหมือนที่เบิกความในศาลนี้ว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้ ต้องไปแสดงต่อ กกต. เท่านั้น ส่วนนายประเสริฐปลัดอำเภอภูเขียว ก็น่าจะมีความรู้ทางด้านการเมืองการปกครองและกฎหมาย แต่กำนันบุญน่วมจะมีปัญหาขัดแย้งกับครอบครัวของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานว่า ในชั้นสอบสวนที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ว่าจำเลยทั้งสองก่อความวุ่นวายรวมทั้งปลุกระดมตามมาตรา 61 แต่ในชั้นที่พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวฟ้องพยานทราบหรือไม่ว่ามีการตัดข้อความทั้งหมดออกเหลือเพียงข้อความว่าจำเลยทั้งสองทำการปลุกระดม พยานตอบว่าไม่ทราบ

พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า พยานรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนมาประมาณ 10 กว่าปี เคยรับแจ้งความในข้อหา การแจ้งความเท็จ ซึ่งต้องสอบให้ได้ความว่า ข้อความที่มีการแจ้งว่าแจ้งความเท็จนั้นมีข้อความว่าอย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร แต่พยานไม่แน่ใจว่าในคดีนี้ ได้สอบ พ.ต.อ. อร่าม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองหรือไม่ว่า เอกสารของกลางมีข้อความใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้ ตามคำให้การของ พ.ต.อ.อร่าม ไม่ได้มีการยืนยันว่าข้อความใดในเอกสารของกลางที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง และข้อความใดที่เป็นการปลุกระดม

ทนายจำเลยที่ 2 ถามต่อไปว่า นอกจากคำให้การของ พ.ต.อ.อร่าม มีพยานบุคคลใดที่ให้การยืนยันหรือไม่ว่า ข้อความในเอกสารของกลางผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีข้อความในทางปลุกระดมหรือไม่ พยานตรวจดูคำให้การแล้วตอบว่า ไม่มี พยานตอบทนายจำเลยด้วยว่าผู้มีหน้าที่เผยแพร่และอธิบายร่างรัฐธรรมนูญ 2559 คือ กรธ. แต่พยานไม่ได้สอบสวนผู้แทนของ กรธ. ว่าเอกสารของกลางในคดีนี้มีข้อความผิดไปจากข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 หรือไม่ อย่างไร และจำไม่ได้ว่าได้สอบตัวแทนของ กกต. หรือไม่ว่า ข้อความใดในเอกสารของกลางที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีการปลุกระดม อีกทั้งไม่ได้ทำการสอบสวนพยานคนกลางที่อ่านข้อความในเอกสารของกลางแล้วมีความรู้สึกโกรธ เกลียดชิงชังร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ทนายจำเลยที่ 2 เปิดคลิปวีดิโอให้ พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ ดู จากนั้น พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ ได้ตอบเกี่ยวกับคลิปวีดีโอดังกล่าวว่า บุคคลที่แถลงข่าวในคลิป คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแถลงว่าจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นประเทศจะเดินหน้าต่อไม่ได้ ทนายจำเลยที่ 2 ถามว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประเทศชาติจะเกิดความวุ่นวายใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ตอบว่า เป็นเรื่องอนาคตไม่สามารถตอบได้พยานตอบเกี่ยวกับคลิปวีดิโอต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนแถลงจะไปรับร่างรัฐธรรมนูญบนโพเดียม ลักษณะเช่นเดียวกับการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะแถลงข่าวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และยังเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจใช้ ม.44 นอกจากนี้ ยังมีคนอื่นอีกหลายคนที่ออกมาแสดงความเห็นว่า จะออกเสียงรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ตอบคำถามติงของโจทก์ว่า แม้จะไม่ได้สอบประชาชนที่ได้รับเอกสารจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้สอบชุดจับกุม 4 นาย แล้วได้ความว่า จำเลยทั้งสองไปแจกเอกสารของกลางต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงอันเป็นการปลุกระดม โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ได้รับแจกใบปลิวไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการชี้นำ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงลงประชามติได้ แต่ต้องไม่เป็นการชี้นำ พล.อ.ประยุทธ์สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งไม่เป็นการชี้นำ

พนักงานสอบสวนตอบโจทก์ต่อไปว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 7 ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เอกสารของกลาง 3 ฉบับ มีเนื้อหาให้ไปไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปลุกระดมและก่อความวุ่นวายหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล

พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ เบิกความด้วยว่า ในการสอบสวนได้ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยทั้งสอง โดยได้สอบถามว่าจะให้การในชั้นสอบสวนอย่างไร จะอ้างอิงพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การว่า ประสงค์จะให้การและอ้างพยานหลักฐานในชั้นศาล

ทนายจำเลยที่ 1 ขออนุญาตศาลถามอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ 2559 มาตรา 61 ไม่ปรากฏว่ากำหนดให้การชี้นำเป็นการผิดกฎหมาย การชี้นำจะเป็นความผิดต่อเมื่อผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่เท่านั้นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ตอบว่า ใช่

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ ตอบโจทก์ว่า จากการสอบสวนพยานหลักฐานได้ความว่าข้อความในเอกสารของกลางเป็นลักษณะปลุกระดม ผิดไปจากข้อเท็จจริง และชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงเข้าองค์ประกอบของความผิดตามที่ฟ้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แจ้งข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ 2 นักกิจกรรม NDM อีสาน หลังแจกเอกสารโหวตโนในตลาดสด

ไผ่ NDM อีสานไม่ขอประกันตัวหลังศาลอนุญาตฝากขัง กรณีแจกเอกสารโหวตโนที่ภูเขียว พร้อมอดข้าวในเรือนจำ

อัยการยื่นฟ้องคดี’ไผ่ และเพื่อน’ทันที ก่อนศาลให้ประกันตัวด้วยใบอนุญาตทนายของบิดา+เงินสด3หมื่นบาท

เปิดหนังสือขอความเป็นธรรม !!! คดี พ.ร.บ.ประชามติ ไผ่ดาวดินและพวกรณรงค์ “โหวตโน” ให้ถอนฟ้องคดี

 

X