ปากคำพยานคดีแจกเอกสาร VOTE NO ภูเขียว ตอกย้ำประชามติที่ไม่แฟร์

29 มี.ค. 61 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาคดีแจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 คดีนี้เป็นที่น่าสนใจเนื่องจากนักศึกษา 2 คน ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ประกาศใช้อยู่ในขณะนั้น โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียง ที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ยิ่งไปกว่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็ผ่านประชามติและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แล้วเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 60 หรือบังคับใช้ไปแล้วเกือบ 1 ปี  การที่ยังคงมีคนต้องขึ้นศาลต่อสู้คดีเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นร่องรอยยืนยันถึงกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่ “Free” และ “Fair” ตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว  ยังตอกย้ำถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิในปัจจุบันภายใต้ยุค คสช. ที่รัฐพยายามใช้กระบวนการทางกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น

โดยนายอนุชิต เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว เป็นโจทก์ฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขณะเกิดเหตุยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ‘ปาล์ม’ วศิน พรหมณี นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในข้อหา ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยการเผยแพร่ข้อความและภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ ใบปลิว “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต”, หนังสือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” และหนังสือ “ความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้” ที่มีลักษณะปลุกระดม ให้กับประชาชนทั่วไป ในบริเวณถนนราษฎร์บำรุงและบริเวณตลาดสดเทศบาลตำบลภูเขียว โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 59 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรค 2 จากกรณีที่ไผ่และปาล์มซึ่งกลับบ้านเพื่อไปลงประชามติ ได้ออกไปแจกเอกสาร Vote No ในตลาดในเย็นวันที่ 6 ส.ค.59 ก่อนวันลงประชามติ 1 วัน (อ่านข่าวการจับกุมที่นี่)

 

นอกจากนี้ โจทก์ยังฟ้องนักศึกษาทั้งสองในข้อหาฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน  อันเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 จากกรณีที่ทั้งสองไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน เนื่องจากยืนยันว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

ไผ่และปาล์มยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล  จึงนำมาสู่การสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยโจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 4 ปาก, ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง จ.ชัยภูมิ 1 ปาก และพนักงานสอบสวนอีก 1 ปาก ส่วนพยานจำเลยมีจตุภัทร์ จำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน และพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าเบิกความอีก 3 ปาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมในข้อหา ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน โดยให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ทำให้ไม่ต้องสืบพยานในประเด็นนี้

ในการสืบพยานมีประเด็นที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเจ้า่หน้าที่ในบริบทของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารที่มุ่งใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ได้ใช้เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ หรือเพื่ออำนวยความยุติธรรม และทัศนคติที่มุ่งความ “สงบเรียบร้อย” ภายใต้การชี้นำจากรัฐ โดยไม่เปิดพื้นที่สำหรับคนที่คิดต่างจากรัฐ ขณะเดียวกันก็ได้เห็นการยืนหยัดยืนยันในเสรีภาพที่ควรได้รับการรับรองตามกฎหมายของจำเลยและพยานนักวิชาการ รายงานนี้จึงได้รวบรวมคำเบิกความของพยานในประเด็นที่น่าสนใจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการฟังคำพิพากษา

 

อ่านคำเบิกความพยานแบบยาว

ปากคำพยานโจทก์คดีประชามติภูเขียว ‘ไผ่-ปาล์ม’ รัฐห้าม ปชช.แสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

พยานจำเลยเห็นพ้อง แจกเอกสาร VOTE NO เป็นเสรีภาพตาม ม.7 ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

 

พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) ประกอบ มาตรา 61 วรรค 2,  วรรค 3 ระบุว่า ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้

 

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 ก.ย. 2549 กำหนดให้ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนถือมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้  ศาลต้องวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ จำเลยแจกเอกสารตามฟ้องโจทก์หรือไม่ และการแจกเอกสารครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 61 (1) วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่

สำหรับจตุภัทร์ จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่านำได้เอกสาร “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ไปแจกให้ประชาชนในวันที่ 6 ส.ค. 59 ที่ตลาดสดเทศบาลภูเขียว ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ 3 ปาก ที่ร่วมจับกุมจตุภัทร์ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นแรก แต่ศาลยังจำเป็นต้องวินิจฉัยว่า วศิน จำเลยที่ 2 ได้ร่วมแจกเอกสารหรือไม่ เนื่องจากวศินไม่ได้ขึ้นเบิกความ หรือแถลงรับว่า ร่วมแจกเอกสาร

หากศาลวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิด นอกจากโทษจำคุกและโทษปรับตามที่กล่าวมาด้านบน โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสองมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี และสำหรับจตุภัทร์ โจทก์ขอให้ศาลนับโทษต่อจากคดีของศาลขอนแก่นที่จตุภัทร์ต้องโทษอยู่ในปัจจุบันด้วย

 

เหตุที่จับกุมและแจ้งข้อหา: แจกเอกสาร Vote No ไม่รับร่าง รธน. ทำให้ประชามติไม่สงบเรียบร้อย

การจับกุมไผ่และปาล์มเกิดขึ้นคนละเวลาและสถานที่ โดยเจ้าหน้าที่จับกุมปาล์ม จำเลยที่ 2 ที่ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อน ต่อมาจึงพบและจับกุมไผ่ จำเลยที่ 1 ที่ตลาดสด เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 4 นาย เบิกความเป็นพยานโจทก์ถึงเหตุในการเข้าจับกุมและแจ้งข้อหา ดังนี้

พ.ต.อ.อร่าม ประจิตร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียว (ในขณะเกิดเหตุ) เบิกความว่า ได้รับแจ้งว่า มีการแจกใบปลิวไม่รับร่างประชามติ จึงออกไปตรวจสอบ พบจำเลยที่ 2 กำลังแจกใบปลิวไม่รับร่างการลงประชามติ จึงเข้าควบคุมตัว ต่อมา เมื่อพิจารณาเอกสารที่ยึดได้ทั้ง 3 ฉบับแล้วสรุปความได้ว่า เป็นการให้ความเห็นว่า ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา

ด้านนายประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากราษฎรว่า มีคนแจกใบปลิว หลังออกตรวจได้เข้าจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งถือใบปลิว Vote No ภายในมีรูปยักษ์ และเอกสารทั้งหมดที่ยึดได้มีข้อความว่า “Vote No ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นการชี้นำประชาชน พยานเบิกความอีกว่า สาเหตุที่มีการแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสอง เนื่องจากทั้งสองแจกใบปลิวที่มีเนื้อหารุนแรง ข่มขู่ คุกคาม ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ

ขณะที่กำนันบุญน่วม ฤาชา เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากปลัดประเสริฐว่า มีคนมาคัดค้านการลงประชามติ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 กำลังแจกใบปลิวให้กับชาวบ้าน ตรวจสอบพบว่าเป็นเอกสารโนโหวต คัดค้านการลงประชามติ จึงร่วมจับกุม พยานโจทก์ที่เป็นชุดจับกุมอีกคน คือ สุขสันต์ ผาจันทร์ อส.ประจำอำเภอภูเขียว เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 เดินแจกแผ่นพับ ซึ่งเขียนว่า “Vote No” จึงได้ร่วมจับกุม สุขสุนต์ยังเบิกความด้วยว่า เหตุที่จับกุม เนื่องจากทำให้การลงประชามติไม่เป็นไปด้วยความไม่สงบเรียบร้อย โดยแจกเอกสารที่มีข้อความว่า “Vote No” ซึ่งหมายถึง ไม่รับประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: แสดงความเห็นได้เฉพาะต่อ กรธ. หรือ กกต. และต้องไม่ชี้นำ?

ในการถามค้านของทนายจำเลยเพื่อให้เห็นว่า พยานซึ่งเป็นชุดจับกุมใช้ดุลพินิจเข้าจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยเข้าใจต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น พ.ต.อ.อร่าม ตอบว่า ทราบมาว่า รัฐห้ามประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าต้องส่งความเห็นไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เท่านั้น การเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องให้ กกต. เป็นผู้เผยแพร่เท่านั้น ถ้ามีคนห่วงกังวลในประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญก็ควรแจ้งไปที่ กรธ. หรือ กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง นอกจากนี้ พ.ต.อ.อร่ามยังระบุว่า ได้รับการกำชับจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าระวังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแสดงออก หรือเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ เช่นเดียวกับปลัดภูเขียวที่ระบุว่า การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติเป็นหน้าที่ของรัฐ ส่วนกำนันเบิกความให้ความเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองแจกใบปลิวคัดค้านการลงประชามติ ถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยก และตอบทนายจำเลยด้วยว่า ทิศทางในการออกเสียงประชามติต้องเป็นไปทางเดียวกัน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.อร่าม และปลัดประเสริฐ รวมทั้งพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ โฉมสะอาด เห็นพ้องกันว่า การที่ประชาชนให้ความรู้กันเองหรือประกาศจุดยืนว่าจะออกเสียงลงประชามติอย่างไร สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การชี้นำ และ พ.ต.อ.อร่าม ก็ระบุด้วยว่า ข้อความ “Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ซึ่งมีความหมายว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการชี้นำ แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่า พยานได้อ่านเอกสารของกลางทั้ง 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 แล้ว พยานเชื่อเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ไม่เชื่อ ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า การชี้นำไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ นายประเสริฐก็ไม่ขอตอบ

กรณีนี้ พ.ต.ต.เดชพล กอสนาน ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ (ขณะเกิดเหตุ) พยานโจทก์เช่นกัน เบิกความให้ความเห็นไว้ว่า กระบวนการประชามติจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาคกัน การแสดงจุดยืนหรือเหตุผลในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของบุคคลใด หากแม้จะมีผลให้บุคคลอื่นนำไปประกอบการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติ ก็ทำได้ ถือว่าถูกกฎหมาย ตราบเท่าที่ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง กำกวม ข่มขู่  และอยู่ในกรอบของกฎหมาย อีกทั้ง การที่นักวิชาการอย่างคณะนิติราษฎร์ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 

ไม่มีพยานยืนยันเอกสาร Vote No บิดเบือนข้อเท็จจริง รุนแรง ปลุกระดม หรือข่มขู่

พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 กำหนดให้การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ฯที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความผิด ดังนั้น การวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยเผยแพร่ ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ หรือไม่ จึงถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดี

นอกเหนือจากที่ปลัดประเสริฐเบิกความว่า จำเลยทั้งสองแจกใบปลิวที่มีเนื้อหารุนแรง ข่มขู่ คุกคาม ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อทนายจำเลย ให้พยานดูโปสเตอร์ “7เหตุผลฯ” แล้วถามว่า พยานกลัวรูปทหารที่พยานเข้าใจว่าเป็นยักษ์ และกลัวคำว่า “Vote No ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ หรือรู้สึกเหมือนถูกข่มขู่หรือไม่ นายประเสริฐก็ตอบว่า ไม่  รวมทั้งเมื่อเห็นเอกสารของกลางอีก 2 ฉบับ ก็ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือรู้สึกถูกข่มขู่ แล้ว เมื่อทนายจำเลยถามเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทั้ง 4 เกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารของ NDM ซึ่งเป็นของกลางในคดีที่กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ในประเด็นสำคัญ เพื่อยืนยันว่า ข้อความในเอกสารของกลางไม่ได้ผิดไปจากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า 2 ใน 4 ตอบว่า ไม่ได้อ่านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก่อนไปลงประชามติ และไม่ขอตอบที่ทนายจำเลยที่ถามถึงเนื้อหาของเอกสารของกลาง

โดยเฉพาะปลัดประเสริฐซึ่งเบิกความว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และทำความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอย่างไร เป็นไปอย่างที่เอกสาร NDM กล่าวถึงหรือไม่ พยานกลับไม่ขอตอบ ทั้งยังระบุว่า ไม่ได้เปิดดูเอกสารของกลางอีก 2 ฉบับ ด้วย

ขณะที่ พ.ต.อ.อร่าม ผู้กล่าวหาในคดี เบิกความว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเป็นบางส่วน แต่พยานก็ไม่ทราบว่า เอกสารของ NDM หยิบยกเนื้อหามาจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วแสดงความเห็นที่เป็นข้อกังวลว่าจะไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เมื่อทนายจำเลยให้พยานอ่านร่างรัฐธรรมนูญจึงรับว่า สิ่งที่กล่าวอยู่ในเอกสารมีปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ แม้ในบางประเด็นจะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่ก็เห็นด้วยในบางประเด็น และโดยส่วนตัวพยานเห็นว่า เหตุผลที่ปรากฏในเอกสารของกลางเป็นเหตุผลที่ควรรับฟัง

สอดคล้องกับคำให้การของพนักงานสอบสวนที่ระบุว่า ไม่มีพยานบุคคลใดที่ให้การยืนยันว่า ข้อความในเอกสารของกลางผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีข้อความในทางปลุกระดม

 

พนักงานสอบสวนรับไม่ได้สอบสวนเนื้อหาเอกสารของกลาง และไม่ได้หารือ กกต.กลาง

นอกจากนี้ ในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสั่งฟ้องคดี พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ตอบทนายจำเลยว่า ไม่ได้สอบสวนประชาชนผู้รับแจกแผ่นพับใบปลิว อีกทั้งในสำนวนการสอบสวนไม่มีภาพเคลื่อนไหว มีแต่ภาพถ่ายของกลางทั้งหมดยึดได้จากตัวจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตาม พยานให้ความเป็นธรรมกับจำเลยทั้งสองด้วยโดยให้โอกาสนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม และพยานเองก็ได้พยายามขวนขวายหาพยานเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ พยานก็ไม่ได้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับเนื้อหาของเอกสารของกลางทั้ง 3 ฉบับ, ไม่ได้หารือไปที่ กกต.กลาง รวมทั้งไม่ได้สอบสวนผู้เชี่ยวชาญทางภาษาเพื่อให้ความหมายของคำว่า “ปลุกระดม” แต่ได้เคยศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เกี่ยวกับคำว่า “ปลุกระดม”

พ.ต.ท.ยุติวิชญ์ ยังระบุอีกว่า ไม่แน่ใจว่าได้สอบ พ.ต.อ. อร่าม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสอง รวมทั้งตัวแทนของ กกต. หรือไม่ว่า เอกสารของกลางมีข้อความใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง และไม่ได้ทำการสอบสวนผู้แทนของ กรธ. เพื่อยืนยันในประเด็นดังกล่าวด้วย อีกทั้งไม่ได้ทำการสอบสวนพยานคนกลางที่อ่านข้อความในเอกสารของ NDM แล้วมีความรู้สึกโกรธ เกลียดชิงชังร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนและอัยการใช้เวลาสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพียง 14 วัน ก็ส่งฟ้องคดีต่อศาล

 

พยานโจทก์ไม่ขอตอบคำถามทนายจำเลย: เจตนาปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ได้รับโทษหรือไม่

การสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจว่า พยานโจทก์ที่เป็นข้าราชการ หรือเจ้าพนักงานมักจะไม่ขอตอบคำถามของทนายจำเลยในอันที่จะเป็นการแสดงความเห็นต่อการรัฐประหาร หรือหลักการประชาธิปไตย เช่น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดย กรธ. ที่แต่งตั้งโดย คสช. โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลหรือไม่ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่, การฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มรัฐสภาจะเป็นความผิดฐานเป็นกบฎในราชอาณาจักรหรือไม่, มาตรา 44 จะขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น วิธีการเลือกตั้งกาได้ครั้งเดียวเลือกทั้งพรรคและคน, สว.ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ขัดหรือสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่

นอกจากไม่ขอตอบถึงทัศนคติทางการเมืองแล้ว พยานโจทก์ในคดีนีี้ยังไม่ขอตอบในประเด็นที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่น ไม่ขอตอบว่า ข้อความ “ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” เป็นความเห็นที่คนทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นหรือไม่, คณะนิติราษฎร์จะประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่, การให้ประชาชนได้เผยแพร่ความรู้ถือเป็นประโยชน์ในการทำประชามติหรือไม่, ประชาชนโดยทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชม และประกาศจุดยืนของตนเองว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของคนอื่นได้หรือไม่ ซึ่งการไม่ตอบในประเด็นเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย

รวมถึงไม่ขอตอบคำถามในประเด็นข้อเท็จจริงที่เป็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ กรณีปลัดอำเภอภูเขียว ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ จบปริญญาโททางด้านรัฐศาสตร์ และเบิกความว่า พยานได้อ่านและทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี แต่ไม่ขอตอบทนายจำเลยแม้ในประเด็นที่เป็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ทนายจำเลยตั้งคำถามว่า เมื่อพยานได้อ่านและทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติดีแล้ว การที่พยานไม่ตอบคำถามทนายจำเลย เป็นไปเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ได้รับโทษ ไม่ได้เบิกความตามความจริงใช่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ไม่ขอตอบ

หรือกรณีของ อส.สุขสันต์ ไม่ขอตอบที่ทนายจำเลยถามถึงเนื้อหาของเอกสารของกลาง ที่กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งไม่ขอตอบว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ดีหรือไม่ เนื่องจากพยานไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญในรายละเอียด  ทนายจำเลยจึงตั้งคำถามว่า ที่พยานไม่ขอตอบ เพราะไปตระเตรียมมากับปลัดประเสริฐ และกำนันบุญน่วมใช่หรือไม่ และที่ไม่ขอตอบก็เพื่อต้องการปรักปรำให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษ หรือเพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อหน้าที่การงาน ซึ่งพยานก็ไม่ขอตอบเช่นกัน

 

กกต. แจกจ่ายร่าง รธน.หมู่บ้านละ 3 ฉบับ พร้อมคำอธิบายในด้านดี

นอกจากนี้ สถานการณ์การรณรงค์และให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติของฝ่ายรัฐในช่วงก่อนการลงประชามติก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำได้ทั่วถึงแค่ไหน โดยเฉพาะในอำเภอภูเขียว  

ในส่วนการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ พ.ต.ต.เดชพล ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ รับว่ามีการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้เพียงหมู่บ้านละ 3 ฉบับ หากผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องไปขอจากผู้ใหญ่บ้าน หรือเข้าไปดูทางเว็บไซต์ ส่วนกำนันตำบลผักปัง ซึ่ง กกต. มอบหมายให้ไปเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ กำนันได้นำไปติดไว้ในหมู่บ้าน แต่ไม่เคยไปเผยแพร่เนื้อหาให้ชาวบ้านฟัง

เอกสารที่ กกต. แจกให้ประชาชนอีกชิ้นคือ “คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” จัดทำโดย กรธ. ซึ่ง ผอ.กกต.ระบุว่า ไม่ปรากฏข้อความให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่ออ่านคำอธิบายดังกล่าวโดยรวมแล้ว พยานเห็นว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้ เนื่องจากให้เสรีภาพ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย สอดคล้องกับ ผกก.สภ.ภูเขียว ซึ่งตอบทนายจำเลยว่า เอกสารดังกล่าวสื่อสารด้วยถ้อยคำสั้น ๆ ในด้านดี พยานดูแล้ว คิดว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ดี ผู้ที่ได้อ่านย่อมอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านประชามติ

สำหรับกิจกรรมการรณรงค์ของ กกต. พ.ต.ต.เดชพล เบิกความว่า กกต.กลางกำหนดให้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดชัยภูมิจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติรวม 6 กิจกรรม ได้แก่ อบรมกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.), อบรม รด.จิตอาสา, ประสานครูโรงเรียนประถมและมัธยมเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน, Big Day และปั่นจักรยาน รณรงค์ให้ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิออกมาใช้สิทธิลงประชามติ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 3 ส.ค. 59 ที่โรงแรมเลิศนิมิต อ.เมืองชัยภูมิ

ทั้งนี้ ผอ.กกต.รับว่า กิจกรรม 5 อย่างแรก มุ่งให้ประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียง ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง กิจกรรมรณรงค์ขนาดใหญ่ทำเฉพาะในอำเภอเมืองชัยภูมิ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ ซึ่งเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอละ 10 คน และหัวหน้าส่วนราชการ รวม 300 คน วันจัดเวทีจริงมีประชาชนมาเข้าร่วมมากกว่าที่กำหนดไว้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านจากอำเภอภูเขียว พ.ต.ต.เดชพล ยอมรับว่า ตามรายชื่อเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ทราบว่าเอกสารตกหล่นหรือไม่

 

ฟังเสียง ‘ไผ่’ ยืนยันใช้สิทธิตามมาตรา 7แจก “7 เหตุผลไม่รับร่าง รธน.”

ในการสืบพยานจำเลย จตุภัทร์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความตั้งแต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เห็นที่มาของการออกมาแจกเอกสาร ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นี้ร่างโดย กรธ. และประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งพยานเห็นว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็จะร่างเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น และการให้เฉพาะ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่าง และ กกต. เป็นผู้เผยแพร่ให้ความรู้ ก็ยากที่จะทำให้ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญถูกนำออกมานำเสนอแก่ประชาชน อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ถูกจัดส่งให้ประชาชนครบทุกครัวเรือน พยานจึงได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ 2559, ICCPR ข้อ 19 รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในนามกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเวทีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ถูกทหารเข้ายึดเวที และพยานก็ถูกดำเนินคดีข้อหา ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 แต่ไม่มีการดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ

 

พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 7 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

 

‘ไผ่ ดาวดิน’ เบิกความอีกว่า สาเหตุที่ NDM ออกมาให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีเนื้อหาเยอะ ยากที่จะทำความเข้าใจ สิทธิหลายอย่างถูกตัดไป เช่น สิทธิทางการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ จึงอยากจัดกิจกรรมเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย โดยเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณของตนเอง หากได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านจากทั้งสองฝ่าย จะนำไปประกอบการตัดสินใจลงประชามติอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การจัดกิจกรรมก็ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ทหารอยู่เสมอ แม้แต่การจัดกิจกรรมชวนคนมานั่งอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังถูกทหารขู่จะจับ

NDM ยังจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ราชบุรีและสมุทรปราการ แต่ก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ แม้ที่ราชบุรีศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน แต่การที่รัฐแจ้งความจับคนที่เผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ ได้สร้างบรรยากาศที่คนคิดต่างมีความผิด ทำให้คนกลัว ไม่สามารถพูดคุยแสดงความเห็นกันได้ ทั้งที่เนื้อหาของเอกสารดังกล่าวก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ และการศึกษาทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ของประชาชน พยานเห็นด้วยที่มีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ พยานก็เห็นว่า สามารถทำได้ แต่ก็ต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันด้วย

จตุภัทร์เบิกความยืนยันว่า จุดยืนของ NDM คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในเอกสารที่เผยแพร่ก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่ง NDM เอามานั่งวิเคราะห์ แล้วทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีภาพประกอบสวยงาม โดยเอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” คำว่า “Vote No” หมายถึง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวคิดว่า ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นจุดยืนของ NDM เนื้อหาแสดงเหตุผล 7 ข้อ ที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” จัดพิมพ์โดยนำเนื้อหามาจากความเห็นของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นคณาอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “ความเห็นแย้งต่อความเห็นของ กรธ.” ซึ่งเนื้อหาสอดคล้องกับ “7 เหตุผลฯ” ทั้งนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยกับเอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ก็สามารถโต้แย้งได้

ไผ่ตอบโจทก์ด้วยว่า ในวันเกิดเหตุ พยานออกไปแจกเอกสารเพราะพยานเป็นลูกหลานของภูเขียวจะมาลงประชามติที่บ้านก็อยากเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้เขาได้รับข้อมูลหลายด้าน โดยแจกเฉพาะ “7 เหตุผลฯ” เพราะสั้น กะทัดรัด เข้าใจง่ายกว่า ส่วนเอกสารอีก 2 ฉบับ พยานนำติดไปด้วยเท่านั้น

 

3 นักวิชาการเห็นสอดคล้อง การประกาศจุดยืน หรือชักจูงโน้มน้าวให้ไม่รับร่าง รธน. โดยไม่้บิดเบือนข้อเท็จจริง รุนแรง ปลุกระดม ข่มขู่ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

นอกจากตัวไผ่แล้ว ทนายจำเลยนำพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าสืบเพื่อยืนยันเนื้อหาในเอกสาร Vote No และเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดย นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และกฎหมาย และมีประสบการณ์ศึกษาดูงานการทำประชามติในต่างประเทศ ได้เบิกความยืนยันว่า กระบวนการการทำประชามตินั้น โดยหลักทั่วไปประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เหตุผลของทั้งสองฝ่าย แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งรณรงค์ต่อสาธารณะด้วย และในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ว่า การเผยแพร่ความเห็นรับหรือไม่รับ รวมทั้งเหตุผลทำได้หรือไม่ ก็สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด เนื้อหาในเอกสารก็ไม่ได้มีลักษณะผิดความจริง ไม่ได้ก้าวร้าว ปลุกระดม ข่มขู่ แต่เป็นการให้ความรู้และความเห็นต่อประชาชนว่า ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีเหตุผลอย่างนี้ หากมีคนไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งได้ พยานเห็นว่า เอกสารของรัฐยังเผยแพร่ได้ การรณรงค์ให้ไม่รับย่อมทำได้ และทำให้เกิดการเรียนรู้ ค้นคว้า เป็นผลดีกับประชาธิปไตย  

สอดคล้องกันกับคำเบิกความของนายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ ซึ่งออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความเห็น จุดยืน และเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ อ.ธีระเบิกความว่า เหตุผลที่คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ เป็นร่างที่เกิดมาจากการรัฐประหารปี 2557 ล้มรัฐธรรมนูญเดิม ส่วนเนื้อหาก็ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ทั้งนี้ อ.ธีระเห็นว่า ถ้าเรายืนยันว่าประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามที่ ICCPR รับรอง แม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 รวมทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 7 ก็รับรอง การประกาศจุดยืน หรือเผยแพร่ความเห็น ตลอดจนเหตุผลในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็มีความสำคัญ

อ.ธีระ เบิกความยืนยันด้วยว่า เอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” ที่เป็นของกลางในคดีนี้ ผลิตโดย NDM ซึ่งเป็นลูกศิษย์ในคณะนิติศาสตร์ มธ. มาขออนุญาตเผยแพร่ให้ประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยพยานได้อ่านตรวจสอบว่าเนื้อหาสาระสำคัญตรงกับข้อเท็จจริงที่คณะนิติราษฎร์แถลง แม้จะมีการวาดรูปเพิ่มเติมเขียนว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” รวมทั้งเขียนคำนำ และสรุปในย่อหน้าสุดท้ายเอง แต่ก็เป็นการเขียนแสดงเจตนาเหมือนกับนิติราษฎร์ว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าว จะไปออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ แล้วแต่ดุลพินิจของผู้ไปใช้สิทธิ

อ.ธีระ ตอบคำถามโจทก์ว่า การใช้เสรีภาพต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งถ้ารัฐต้องการจำกัดสิทธิก็สามารถทำได้ แต่จะจำกัดสิทธิได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งต้องจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็น ซึ่งการลงประชามติรัฐธรรมนูญ เป็นสภาวะปกติ พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงไม่ได้ใช้จำกัดสิทธิเพื่อรักษาความสงบของรัฐ

เช่นกันกับคำเบิกความของนายโคทม อารียา อดีต กกต. ในปี 2540 – 2544 ซึ่งเบิกความในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในช่วงการทำประชามติว่า ประชาชนต้องได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างเต็มที่ มีสิทธิรับ แสดงออก และเผยแพร่ความเห็น ทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ความเห็นของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ เป็นไปตามมาตรา 4 โดยอ้างอิงมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งบังคับใช้อยู่ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ปฏิญญาสากล  ส่วน พ.ร.บ.ประชามติก็ใช้มาตรา 7 เป็นหลัก เพื่อที่ประชาชนจะได้ออกเสียงประชามติอย่างเท่าทัน ดังนั้น การแสดงความเห็นและให้ข้อมูลก็ทำได้

ส่วนบทจำกัดเสรีภาพตามมาตรา 61 พยานเห็นว่าต้องตีความตามสาระหลักของกฎหมาย คือ ต้องเคารพเสรีภาพ อะไรที่ไม่วุ่นวายก็ ไม่ควรนำมาตรา 61 มาใช้ การเผยแพร่ข้อมูลโดยการแจกเอกสารแม้จะเป็นการชักจูงหรือโน้มน้าว แต่หากไม่มีพฤติการณ์อื่นที่เป็นการ “ปลุกระดม” ซึ่งหมายถึงการยุยงเร้าใจให้ประชาชนลุกฮือขึ้น หรือผิดจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ข่มขู่ จึงยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 61

 

อ่านข่าวก่อนหน้า:

แจ้งข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ 2 นักกิจกรรม NDM อีสาน หลังแจกเอกสารโหวตโนในตลาดสด

ไผ่ NDM อีสานไม่ขอประกันตัวหลังศาลอนุญาตฝากขัง กรณีแจกเอกสารโหวตโนที่ภูเขียว พร้อมอดข้าวในเรือนจำ

อัยการยื่นฟ้องคดี’ไผ่ และเพื่อน’ทันที ก่อนศาลให้ประกันตัวด้วยใบอนุญาตทนายของบิดา+เงินสด3หมื่นบาท

เปิดหนังสือขอความเป็นธรรม !!! คดี พ.ร.บ.ประชามติ ไผ่ดาวดินและพวกรณรงค์ “โหวตโน” ให้ถอนฟ้องคดี

 

X