วันที่ 21 และ 27-28 ก.พ. 61 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดสืบพยานจำเลยในคดีแจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทก์ฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘ปาล์ม’ วศิน พรหมณี 2 นักศึกษา (ขณะเกิดเหตุ) เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ก่อให้เกิดความวุ่นวายฯ ด้วยการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ฯลฯ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 โดยมีเอกสารของกลางที่ยึดจากจำเลยในที่เกิดเหตุ คือ “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”, “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” และ “ความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ”
ฝ่ายจำเลยมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ จตุภัทร์และวศิน ซึ่งอ้างตัวเองเป็นพยาน และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านนิติศาสตร์ และด้านรัฐศาสตร์ รวม 3 ปาก และตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีก 1 คน
อย่างไรก็ตาม หลังสืบจำเลยที่ 1 เสร็จ ทนายจำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการจัดทำเอกสารจึงไม่ประสงค์จะสืบจำเลยที่ 2 เป็นพยาน รวมทั้งหลังสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเสร็จ 3 ปาก ทนายจำเลยทั้งสองแถลงไม่ติดใจสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย เนื่องจากข้อเท็จจริงที่นำสืบไปนั้นเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่คัดค้าน คดีจึงสิ้นสุดการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มี.ค. 61 โดยศาลระบุว่า เหตุที่นัดฟังคำพิพากษาช้า เพราะศาลติดเรียงคำพิพากษาคดีอื่นหลายคดี และต้องส่งให้ภาคตรวจสำนวนตามระเบียบให้รายงานคดีก่อนอ่าน
‘ไผ่’ ยืนยันแจก “7 เหตุผลไม่รับร่าง รธน.” อยากให้คนภูเขียวได้รับข้อมูลหลายด้าน
จตุภัทร์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุในปี 2559 เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม การทำกิจกรรมของกลุ่มดาวดินมีแนวคิดมาจาก การเรียนนิติศาสตร์ซึ่งศึกษาถึงความยุติธรรมทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติสังคมอาจไม่มีความยุติธรรม จึงได้ออกไปเรียนรู้เรื่องสิทธิทางทรัพยากรในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนา เช่น เหมืองทองคำ เหมืองโปแตช ปิโตรเลียม โรงงานแป้งมัน และให้คำปรึกษาชาวบ้านในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
‘ไผ่ ดาวดิน’ ชี้ว่า จากการทำกิจกรรมทางสังคมและทำกิจกรรมกับชาวบ้านทำให้เขาเห็นข้อเท็จจริงว่า รัฐและนายทุนร่วมมือกันใช้กฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ใช้กฎหมายในการปกป้องทรัพยากร ในช่วงที่เขาทำกิจกรรมนั้นเป็นช่วงใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดเรื่องสิทธิชุมชน คือ ชาวบ้านมีสิทธิที่จะรวมตัวกันปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่กำหนดให้ในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (EHIA) ซึ่งในทางปฏิบัติ กลุ่มดาวดินเรียนรู้ว่า รัฐและนายทุน ไม่ได้จัดทำ EIA และ EHIA ตามข้อเท็จจริง แต่ทำเพื่อให้ผ่านตามกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านก็จะใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญโต้แย้งกับนายทุนและรัฐบาล
จตุภัทร์เบิกความถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่เขาทำกิจกรรมทางสังคมว่า มีการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งของรัฐบาล กลุ่มนักศึกษาซึ่งรวมถึงตัวเขาเองก็ได้ออกไปร่วมเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น รวมทั้งผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ด้วย ทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ผ่านสภา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ซึ่งกลุ่มนักศึกษาก็ได้ยุติการเคลื่อนไหว คงมีแต่ กปปส. และ คปท. ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ โดยประกาศให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง และขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 ซึ่งกลุ่มดาวดินก็ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร รวมถึงฟ้องศาลปกครองว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้น คสช. ก็เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 โดยอ้างเหตุผลว่า มีการชุมนุมของประชาชน 2 กลุ่ม คือ กปปส. และ นปช. ซึ่งพยานเองเห็นว่า ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอ เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมในการเข้ายึดอำนาจเท่านั้น
จตุภัทร์เบิกความอีกว่า ในฐานะนักเรียนกฎหมาย เขาเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร เป็นการตบหน้านักกฎหมาย พยานจึงร่วมกับบุคคลอื่นไปฟ้องศาลอาญา แต่ศาลไม่รับฟ้อง กลุ่มดาวดินจึงเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารตั้งแต่นั้นมา ที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดคือ การไปชู 3 นิ้ว ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ขณะมาตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งใส่เสื้อที่ติดสติ๊กเกอร์ว่า ไม่-เอา- รัฐ-ประ-หาร ทั้งนี้ การชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่พวกพยานนำมาจากหนังเรื่อง The Hunger Game หมายถึง สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ การทำกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ทหารไม่พอใจอย่างมาก และควบคุมตัวพยานกับเพื่อน รวม 5 คน ไปปรับทัศนคติที่ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น
จตุภัทร์เบิกความเป็นพยานให้ตนเองถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารอีกว่า ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร กลุ่มดาวดินได้ออกมาทำกิจกรรมเพื่อบอกว่า เกิดปัญหาและผลกระทบกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง โดยชูป้ายคัดค้านรัฐประหารและพูดถึงปัญหาเหล่านี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ทำให้พยานและเพื่อนถูกทหารและตำรวจควบคุมตัวโดยใช้ ม.44 และถูกดำเนินคดีขัดคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร
เกี่ยวกับผลกระทบจากการรัฐประหารที่มีต่อชาวบ้าน ไผ่เบิกความต่อศาลว่า เช่น ในกรณีที่ดิน เดิมชาวบ้านสามารถใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญต่อสู้จนกระทั่งมีข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมนุม แต่หลังรัฐประหาร คสช. สามารถไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดินได้เลย, ในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งต้องจัดทำ EIA ที่มีขั้นตอนมากมาย ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทำได้ยาก แต่ คสช. ก็ลดขั้นตอนการทำ EIA ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น รวมทั้ง ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยใช้ ม.44 เหล่านี้ชาวบ้านไม่สามารถคัดค้านได้ เนื่องจากถ้าออกมาคัดค้านตั้งแต่ 5 คน ก็จะขัดคำสั่ง คสช.ที่ 7/57 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น 3/58 ถูกนำตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือบุกเข้าค้นบ้าน เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ เคยมีกรณีที่ชาวบ้านไปกินข้าวด้วยกัน ทหารเห็นมีรองเท้าถอดอยู่หน้าบ้านเกิน 5 คู่ ก็เข้าค้นบ้าน
ทนายจำเลยที่ 1 ถามจตุภัทร์ว่า พยานและกลุ่มดาวดินมีความกังวลต่อ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อย่างไร จตุภัทร์ตอบว่า ม. 44 ให้ คสช. มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหา นอกจาก มาตรา 44 แล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังกำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งไม่เหมือนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และปี 2550 ที่มีการรับฟังความเห็นของประชาชน จนเป็นที่มาของการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน ไผ่กล่าวต่ออีกว่า เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา อาจารย์สอนว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็จะร่างเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น
เกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ‘ไผ่ ดาวดิน’ เบิกความว่า มีการประกาศให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 59 โดย พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้ กรธ. และ กกต. ทำหน้าที่เผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติ การให้เฉพาะ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่าง และ กกต. เป็นผู้เผยแพร่ให้ความรู้ ก็ยากที่จะทำให้ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญถูกนำออกมานำเสนอแก่ประชาชน อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็ไม่ได้ถูกจัดส่งให้ประชาชนครบทุกครัวเรือน ต่างจากการทำประชามติในปี 2550
เกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ จตุภัทร์เบิกความว่า การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่ม no vote สามารถจัดเวทีอภิปรายได้อย่างอิสระ ต่างไปจากกระบวนการร่างและลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 อย่างไรก็ตาม พยานได้ใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติ 2559 รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในนาม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเวทีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ถูกทหารเข้ายึดเวที เก็บเก้าอี้ เครื่องเสียง และหลังจากงาน พยานก็ถูกดำเนินคดีข้อหา ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ต้องขึ้นศาลทหาร แต่ไม่มีการดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ
จำเลยที่ 1 เบิกความในฐานะพยานต่อไปว่า สาเหตุที่ NDM ออกมาให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีเนื้อหาเยอะ ตัวพยานซึ่งเป็นนักกฎหมายอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็ยังยากที่จะทำความเข้าใจ สิทธิหลายอย่างถูกตัดไป เช่น สิทธิทางการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ จึงอยากจัดกิจกรรมเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย และไปใช้สิทธิออกเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แม้แต่การจัดกิจกรรมชวนคนมานั่งอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังถูกทหารขู่จะจับ
นอกจากที่กรุงเทพฯ และขอนแก่น NDM ยังจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ราชบุรีและสมุทรปราการ แต่ก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งที่ราชบุรี พยานทราบว่าศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐแจ้งความจับคนที่เผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ ได้สร้างบรรยากาศที่คนคิดต่างมีความผิด ทำให้คนกลัว ไม่สามารถพูดคุยแสดงความเห็นกันได้ ทั้งที่เนื้อหาของเอกสารดังกล่าวก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ และการศึกษาทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ของประชาชน พยานเห็นด้วยที่มีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน สังคมต้องการพื้นที่เพื่อให้คนที่มีหลากหลายความคิดอยู่ร่วมกันได้ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ พยานก็เห็นว่า สามารถทำได้ คนสำคัญหลายคนก็ออกมาแสดงความเห็น เช่น อภิสิทธิ์ สุเทพ ยิ่งลักษณ์ แต่ทั้งนี้ นอกจากเอาความคิดความเชื่อมาพูดกันแล้ว ก็ต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันด้วย
จตุภัทร์เบิกความยืนยันว่า จุดยืนของ NDM คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในเอกสารที่เผยแพร่ก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่ง NDM เอามานั่งวิเคราะห์ แล้วทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีภาพประกอบสวยงาม
เกี่ยวกับเอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นของกลางในคดี จตุภัทร์เบิกความว่า จัดทำขึ้นโดย NDM คำว่า “Vote No” หมายถึง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวคิดว่า ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นจุดยืนของ NDM เนื้อหาในเอกสารแสดงเหตุผล 7 ข้อ ที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุผลข้อแรกกล่าวถึงการได้มาซึ่ง ส.ส. ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เขียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ปรากฏตามมาตรา 83, 87, 90 และ 91 ซึ่งไม่ใช่วิธีใหม่ และไม่ใช่วิธีการที่ดี แต่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะเลือกทั้ง ส.ส. ที่ดี และพรรคที่มีนโยบายเป็นประโยชน์ ซึ่งวิธีการเดิมเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยมากกว่า
เหตุผลข้อที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงทำหน้าที่เป็น ครม.รักษาการ ในกรณีที่ ครม.พ้นตำแหน่งจากการแปรญัตติเรื่องงบประมาณ ปรากฏตามมาตรา 144, 167 และ 168 ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย ที่คนซึ่งจะมาใช้อำนาจบริหารประเทศควรมาจากประชาชน
เหตุผลข้อที่ 3 แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านการลงประชามติ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว คสช. ก็ยังสามารถใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รวมทั้งประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังใช้บังคับอยู่ ปรากฏตามมาตรา 265 ส่วนเหตุผลข้อที่ 4 กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยกรณีดังกล่าว
ไผ่อธิบายต่อว่า ในเหตุผลข้อที่ 5 กล่าวถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังรับรองสิทธิเสรีภาพแต่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ การบัญญัติเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลตีความจำกัดสิทธิประชาชนได้มากขึ้น นอกจากนี้ สิทธิในการเรียน กำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนเดิม แต่แก้ไขให้เริ่มตั้งแต่อนุบาล จึงเรียนได้ถึงแค่ ม.3 ซึ่งลดลงจากเดิมที่เรียนได้ถึง ม.6 ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีควรเพิ่มสิทธิให้กับประชาชน ปรากฏตามมาตรา 25 และ 54
เหตุผลข้อที่ 6 เรื่องที่มาของ ส.ว. ใน 5 ปี แรก กำหนดให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และจากคำถามพ่วงที่ระบุว่า ใน 5 ปีแรก ให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหล่านี้มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ด้วย วิธีการเช่นนี้เป็นการออกแบบให้ คสช. ยึดเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งเนื่องจาก ส.ส.มีวาระ 4 ปี จึงเท่ากับ ส.ว.ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะโหวตเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย บริหารประเทศเป็นเวลา 8 ปี
เหตุผลข้อที่ 7 ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย ที่มาของนายกรัฐมนตรี จตุภัทร์เบิกความว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้นายกฯ อาจมาจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ประชาชนที่ไปใช้สิทธิก็จะไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะได้ใครเป็นนายกฯ NDM ยังห่วงกังวลกรณีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช.วางไว้ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายตามว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและจะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง นโยบายของรัฐบาลควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน
เอกสาร “7 เหตุผลฯ” ยังระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมควบคุมตุลาการและนักการเมือง ปรากฏตามมาตรา 219 ซึ่งจตุภัทร์เบิกความว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของนักการเมือง ไม่ใช่การถ่วงดุลระหว่างกัน
‘ไผ่ ดาวดิน’ เบิกความถึงเอกสารของกลางฉบับต่อไป คือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” ว่า กลุ่ม NDM จัดพิมพ์โดยนำเนื้อหามาจากความเห็นของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนเนื้อหาของเอกสารที่กล่าวว่า “คสช. ถูกเสมอ” ไผ่อธิบายความหมายว่า คสช. เข้ายึดอำนาจ มีความผิดฐานเป็นกบฏ แต่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง และให้ประกาศ คำสั่ง คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2559 เสมอ ตามที่ปรากฏในมาตรา 265 ในส่วนที่มีการกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น ความจริงเป็นเพียงแค่วาทกรรม ไม่สามารถปราบโกงได้จริง เนื่องจากการปราบโกงต้องอาศัยการตรวจสอบของภาคประชาชน และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เนื้อหาอื่น ๆ ในเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ที่พยานเบิกความไปแล้ว ทั้งนี้ คณะนิติราษฎร์มีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติโดยสรุปว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
จำเลยที่ 1 เบิกความอีกว่า เอกสารของกลางฉบับที่ 3 เป็นความเห็นแย้งต่อความเห็นของ กรธ. โดยเนื้อหาในเอกสารชิ้นนี้สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ทั้งนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยกับเอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ก็สามารถโต้แย้งได้
จตุภัทร์กล่าวสรุปว่า NDM ทำการเผยแพร่ข้อมูลความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ โดยจัดทำเอกสารทั้ง 3 ชิ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน ก่อนการลงประชามติ โดยเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณของตนเอง หากได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านจากทั้งสองฝ่าย จะนำไปประกอบการตัดสินใจลงประชามติอย่างมีประสิทธิภาพ คะแนนเสียงที่ได้มาก็มีคุณภาพและมีความสมบูรณ์ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ
ทนายจำเลยถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประเทศเดินหน้าไม่ได้ กลุ่มดาวดินมีข้อเสนออะไร จตุภัทร์ตอบว่า ชาวบ้านก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชน เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญที่ชนชั้นนำและ คสช.ร่าง กับที่ประชาชนร่าง อย่างไหนจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่ากัน เช่น เรื่องสิทธิทางการศึกษา ฉบับสามัญชนให้เรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย ประชาชนไม่ต้องเกณฑ์ทหาร รักษาพยาบาลฟรี เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาสินค้าเกษตร และห้ามไม่ให้มีการรัฐประหาร เป็นต้น มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชนต่อสาธารณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2559
ทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า โจทก์นำเอกสารทั้ง 3 ฉบับมาฟ้อง กล่าวหาว่าเป็นข้อความผิดข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ พยานเห็นว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับมีลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ เพราะข้อมูลก็เอามาจากตัวบทของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยเอามาตีความและอธิบายให้ง่าย โดยจตุภัทร์ยืนยันว่า ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 19 ที่รับรองว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง
“จตุภัทร์ยืนยันว่า ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 19 ที่รับรองว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง”
จากนั้น จตุภัทร์ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า เอกสารที่นำไปแจกให้ประชาชนในวันที่ 6 ส.ค. 59 มีเฉพาะ “7 เหตุผลฯ” เพราะสั้น กะทัดรัด เข้าใจง่ายกว่า ส่วนเอกสารอีก 2 ฉบับ พยานนำติดไปด้วยเท่านั้น โดยเอกสารเหล่านี้เหลือมาจากการจัดงานพบปะพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59
โจทก์ถามจตุภัทร์อีกว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับ พยานได้ดูก่อนแจกแล้วใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ใช่ โดยฉบับแรก มุมบนขวามีข้อความว่า “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” วงกลมสีน้ำเงินตัวใหญ่มีคำว่า “Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต” ตัวใหญ่ เห็นได้ชัดเจนในระยะไกล ด้านหลังมีเหตุผล 7 ข้อ ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่อธิบายไปแล้ว พร้อมทั้งมีกราฟฟิกเป็นรูปทหารกำลังกินพานรัฐธรรมนูญ เป็นภาพใหญ่เห็นได้ชัดเจน โจทก์ถามว่า เอกสารดังกล่าวกับเหตุผลที่พยานอธิบาย แสดงว่าทหารใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ตั้งแต่รัฐประหารมาทหารก็ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมาตลอด
โจทก์ถามค้านเหตุผลที่อธิบายในเอกสารที่ว่า เลือกคนที่ชอบ แต่ได้พรรคที่เกลียด จริง ๆ แล้วเป็นไปได้ที่จะได้ทั้งคนทั้งพรรคที่ชอบใช่มั้ย จตุภัทร์ตอบว่า ความเห็นส่วนตัวคือ เป็นไปไม่ได้ แต่ในอนาคตหากมีการเลือกตั้งก็อาจเป็นไปได้ทั้งสองกรณี
กรณีสิทธิในการศึกษา โจทก์ถามว่า ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้เรียนฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนอนุบาลแพงกว่าใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ รัฐแค่ต้องการลดภาระในการดูแลเรื่องการศึกษาของประชาชน ถ้ารัฐบาลเป็นห่วงว่าชั้นอนุบาลมีค่าใช้จ่ายสูงก็ควรกำหนดให้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 จะเป็นประโยชน์มากกว่า
อัยการถามค้านในประเด็นนายกฯ คนนอกว่า นายกฯ คนนอกก็อาจเป็นคนดี บริหารประเทศเก่งก็ได้ใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ ปัจจุบันก็อ้างวาทกรรมคนดี แต่ไม่มีระบบตรวจสอบ คนดีก็อาจไม่ดีจริง รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องสร้างระบบตรวจสอบ เพื่อให้ตรวจสอบทั้งคนดีและคนไม่ดี โจทก์ถามอีกว่า ที่พยานตอบคำถามค้านมาทั้งหมดนี้มุ่งโจมตี คสช. และทหารใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ คสช. เป็นทหาร แต่เข้ามาทำหน้าที่แทรกแซงการบริหารประเทศ ไม่ทำตามบทบาทหน้าที่ของตนตามปกติ พยานจึงต่อต้าน เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน
เกี่ยวกับเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” จตุภัทร์รับว่า ในแผ่นแรกด้านหลัง ซึ่งเป็นคำนำมีข้อความระบุว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงได้นำข้อความคิดของคณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร มาจัดทำเป็นคู่มือฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างไร” และในย่อหน้าสุดท้ายเขียนว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอแสดงจุดยืนว่า ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง แม้ในวันนี้ประชาชนจะยังไม่สามารถเลือกตัวแทนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเองได้ แต่ประชาชนก็ยังมีช่องทางในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่ความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ก็ควรที่จะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสีย” พร้อมทั้งรับว่า รูปภาพประกอบ NDM ก็ทำขึ้นเอง โดยจัดทำขึ้นจากข้อเท็จจริงที่เห็นปรากฏการณ์ในสังคม
อัยการถามค้านถึงเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” จตุภัทร์เบิกความตอบว่า เป็นความเห็นแย้งกับคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ซึ่งย่อหน้าสุดท้ายมีข้อความว่า “รัฐอาจกล่าวว่าคู่มือฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่เราก็จะขอยืนยันในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” จริง ซึ่งอาจกล่าวว่า ทุกครั้งที่เราใช้เสรีภาพในการแสดงออก รัฐก็กล่าวหาว่าผิดกฎหมาย
โจทก์ถามค้านต่อไปว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับ เป็นการสรุปข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ไผ่ตอบว่า ไม่ใช่ เป็นการสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ โจทก์ถามต่อว่า ไม่ได้พูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเลยใช่หรือไม่ ไผ่ตอบว่า ไม่ได้มองแค่ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่พยายามมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากร่างนี้ผ่าน และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
โจทก์ถามอีกว่า นอกเหนือจากที่กล่าวถึงในเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ดีหมดใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วม เมื่อกระบวนการผิดตั้งแต่ต้นผลที่ได้ก็ไม่ดี เมื่อต้นไม้เป็นพิษ ผลไม้ก็เป็นพิษ ถ้าปล่อยให้กระบวนการผิด ๆ เดินต่อไปก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ดี
อัยการตั้งคำถามต่อว่า ที่พยานไปแจกเอกสารเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ พยานเป็นลูกหลานของภูเขียวจะมาลงประชามติที่บ้านก็อยากเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้เขาได้รับข้อมูลหลายด้าน
โจทก์ถามคำถามสุดท้ายว่า พยานไม่มีเหตุขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ที่จับกุมใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า มีเหตุขัดแย้งกับกำนันบุญน่วมเรื่องการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ตามที่กำนันเบิกความไปแล้ว แต่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
ต่อมา จตุภัทร์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติงเกี่ยวกับที่เบิกความตอบโจทก์ไปว่า เลือกคนที่ชอบได้พรรคที่เกลียด หมายถึงวิธีกาบัตรและวิธีการคำนวณตามมาตรา 91 ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เลือกคนแต่ไม่ได้พรรคโดยแปรผกผันกัน ส่วนที่โจทก์ถามเรื่องนายกฯ ว่าอาจจะได้คนดีก็ได้ ที่จริงคนที่จะตัดสินว่า เป็นคนดีหรือไม่ดีคือประชาชน ดังนั้น คนที่อ้างว่าเป็นคนดีถ้าอยากเป็นนายกฯ ก็ควรมาลงเลือกตั้ง ส่วนที่พยานตอบโจทก์ไปว่า NDM เป็นผู้ทำภาพประกอบในเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์” เองนั้น ที่จริงเอกสารสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญของ กกต. ก็มีภาพวาดที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เอกสารที่ กกต. จัดทำแจกจ่ายแม้ไม่มีข้อความบอกให้รับร่างหรือบอกว่าเป็นข้อดี แต่อ่านรวมๆ แล้ว เอกสารนี้ก็บอกแต่ข้อดีซึ่งแปลความได้ว่า ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ
จตุภัทร์ตอบทนายจำเลยอีกว่า การทำประชามติครั้งนี้เป็นการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เฉพาะบางมาตรา การเลือกว่าจะรับหรือไม่รับต้องดูที่มา ประกอบกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ดูแค่ว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียหรือไม่ ซึ่งข้อกำหนดเรื่องที่มาของ ส.ส., ส.ว., นายกฯ, องค์กรอิสระ และสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ
เอกสาร VOTE NO ให้ความเห็นประชาชน ไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริง
พยานผู้เชี่ยวชาญที่ทนายจำเลยนำเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรก คือ นายชำนาญ จันทร์เรือง อายุ 60 ปี อาชีพ ข้าราชการบำนาญ มีประสบการณ์การสอนด้านการเมืองและกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ประเทศไทยของมหาวิทยาลัยโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน เคยเป็นประธานกรรมการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ปัจจุบันพ้นวาระแล้วแต่ยังเป็นที่ปรึกษา มีประสบการณ์ศึกษาดูงานการทำประชามติในต่างประเทศหลายประเทศ ที่สำคัญคือ ได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2555
ชำนาญเบิกความถึงการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยว่า แบ่งเป็นการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางตรง การทำประชามติในทางสากล รัฐจะใช้ในการสอบถามประชาชนว่าคิดเห็นอย่างไรในเรื่องที่เป็นนโยบายหรือกฎหมายสำคัญ เช่น รัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงส่วนใหญ่ชี้ขาด ทั้งนี้ กระบวนการและบรรยากาศในการทำประชามตินั้น ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่ประชาชนมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รัฐจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คอยอำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่ายได้รณรงค์อย่างเต็มที่ หากเป็นการทำประชามติเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ เช่น เบร็กซิท รัฐก็จะหาเสียง รวมทั้งเปิดให้ประชาชนรณรงค์หาเสียงและให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยหลักทั่วไปประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เหตุผลของทั้งสองฝ่าย แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งรณรงค์ต่อสาธารณะด้วย
พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความต่อว่า ในประเทศไทยมีการบัญญัติเรื่องการทำประชามติไว้ในกฎหมายตั้งแต่ปี 2492 แต่เพิ่งมีการทำประชามติครั้งแรกเมื่อปี 2550 และครั้งที่ 2 ในปี 2559 ในปี 2550 บรรยากาศเปิดกว้างกว่าปี 2559 มาก มีการรณรงค์อย่างเต็มที่ เผยแพร่ทางโทรทัศน์ถ่ายทอดสดทั่วประเทศ รวมทั้งทางสื่ออื่น ๆ ขณะที่ในปี 2559 มีข้อจำกัดมาก ทั้งในทางพฤตินัย ที่การออกสื่อต่าง ๆ ทำได้จำกัด และในทางนิตินัยก็มี พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่จำกัดการแสดงความเห็นค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย
นายชำนาญเบิกความถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ปรากฏในเอกสารของกลางว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดเรื่องการได้มาซึ่ง ส.ส. ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 และต่างจากที่อื่นในโลก เนื่องจากกำหนดให้มีการเลือก ส.ส. 2 ประเภท คือแบบแบ่งเขต และแบบปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยบัตรใบเดียวกัน และกาได้ครั้งเดียว ซึ่งสะท้อนความต้องการของประชาชนได้น้อยกว่าเดิม และยังขัดกับความเป็นจริง เพราะผู้ใช้สิทธิอาจจะชอบพรรค แต่ไม่ชอบ ส.ส. ของพรรคนั้น ซึ่งเขาก็มีสิทธิที่จะเลือกไม่เหมือนกัน ถ้าจะกาได้ครั้งเดียวก็ควรจะให้มี ส.ส. ประเภทเดียว แบบแบ่งเขตหรือปาร์ตี้ลิสต์ทั้งสภา
ทนายจำเลยถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ใน 5 ปีแรก ส.ว. มีที่มาอย่างไร นายชำนาญตอบว่ามาจาก คสช. แต่งตั้งทั้งหมด โดย 6 คน เป็นโดยตำแหน่ง 194 คน คสช. แต่งตั้ง อีก 50 คน เลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพ แต่ขั้นตอนสุดท้าย คสช. ก็เป็นคนเลือก สรุปแล้ว ส.ว. 250 คนใน 5 ปีแรกมาจาก คสช.
นายชำนาญเบิกความตอบทนายจำเลยในประเด็นที่มาของนายกฯ ว่า รัฐธรรมนูญ 2559 กับให้อำนาจ ส.ว. ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือก มีสิทธิโหวตเลือก นายกฯ เท่ากับ ส.ส. ซึ่งผิดหลักประชาธิปไตย ซึ่งนายกฯ อันเป็นประมุขของฝ่ายบริหารต้องมาจากประชาชน ตามหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พยานยังระบุต่ออีกว่า ที่แย่กว่านั้นคือ หากรายชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไปพรรคละ 3 คน ไม่ผ่าน พรรคยังสามารถเสนอคนที่ไม่มีในรายชื่อมาเป็นนายกฯ ได้แม้ไม่ใช่ ส.ส. เรียกว่าเป็นก๊อก 2 ภาษาชาวบ้านเรียกว่า นายกฯ คนนอก
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์เบิกความต่อในประเด็นอำนาจของ คสช. และอำนาจตาม ม. 44 จะหมดไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่ แต่ปัญหาคือ ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ยาก จะเกิดภาวะ dead lock ทำให้ คสช. อยู่ต่อไป นอกจากนี้ นายกฯ ในขณะนั้นอาจใช้อำนาจยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นวงจรไม่รู้จักจบสิ้น คสช. ก็ยังอยู่ในอำนาจโดยไม่มีกรอบเวลา ส่วนบรรดาประกาศ คำสั่งของ คสช. ตามร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องมีกฎหมายลำดับศักดิ์เท่ากันมายกเลิก เช่น ถ้าเป็น พ.ร.บ. ก็ต้องออก พ.ร.บ.มายกเลิก ทำให้ประกาศคำสั่งของ คสช. ยังเป็นกฎหมายอยู่ต่อไป แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้แล้ว
กรณีไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ นายชำนาญเบิกความว่า เดิมต้องตีความไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 5 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย มีมติอย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้น อย่างไรก็ตามเมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติแล้วก็มีการแก้ไขให้ใช้เหมือนเดิม
ในส่วนของสิทธิเสรีภาพ พยานก็เบิกความว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินี้ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดให้ประชาชนเสนอ พ.ร.บ.เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และแนวนโยบายของรัฐได้ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ประชาชนเสนอ พ.ร.บ. ได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเสรีภาพโดยทั่วไป และหน้าที่ของรัฐ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเสนอกฎหมายเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้อยู่ในหน้าที่ของรัฐได้ และทำให้ส่วนท้องถิ่นอ่อนแอลง โดยสรุปแล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีวัตถุประสงค์มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพและลดทอนอำนาจของประชาชน เพิ่มอำนาจรัฐและราชการ
ใน 2 ประเด็นสุดท้ายที่นายชำนาญเห็นว่ามีความร้ายแรง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก ทำให้ รัฐธรรมนูญมีความตายตัว ไม่ยืดหยุ่น อีกประเด็นคือแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ร่างโดย คสช. และกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนำไปปฏิบัติ ซึ่งขัดกับความเป็นจริง ทำให้นักการเมืองหรือ ส.ส.ไม่สามารถหาเสียงได้ ต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ ถ้าไม่ทำก็มีโทษ ในความเป็นจริงแผนยุทธศาสตร์ควรกำหนดจากผู้ได้รับฉันทามติ ไม่ใช่ คสช. ซึ่งไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเลย
ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ ว่า การเผยแพร่ความเห็นรับหรือไม่รับ รวมทั้งเหตุผลทำได้หรือไม่ นายชำนาญตอบว่า ทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด พยานเองใส่เสื้อโหวตโนและโพสต์ Facebook ทุกวัน พ.ร.บ.ประชามติฯ ห้ามเรื่องปลุกระดม ปลุกเร้า ใช้ข้อความที่เป็นเท็จ เกินความจริง พยานเคยไปเป็นพยานในคดีประชามติของศาลเชียงใหม่ และราชบุรี ซึ่งศาลยกฟ้อง ที่เชียงใหม่จำเลยใช้ถ้อยคำที่แรงกว่านี้ด้วยว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ศาลยังวินิจฉัยว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งมีอายุมากกว่า 18 ปี ย่อมมีวิจารณญาณ เอกสารที่จำเลยแจกไม่สามารถชักจูงได้ พยานเห็นว่า เอกสารของรัฐยังเผยแพร่ได้ การรณรงค์ให้ไม่รับย่อมทำได้ และทำให้เกิดการเรียนรู้ ค้นคว้า เป็นผลดีกับประชาธิปไตย
นายชำนาญยังให้ความเห็นว่า เนื้อหาในเอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ได้มีลักษณะผิดความจริง แต่เป็นความจริงในขณะนั้น ไม่ได้ก้าวร้าว ปลุดระดม ข่มขู่ แต่เป็นการให้ความรู้และความเห็นต่อประชาชนว่า ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีเหตุผลอย่างนี้ หากมีคนไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งได้ พยานเห็นว่ามีคนโต้แย้งจำนวนมากด้วย ซึ่งประชาชนสามารถใช้เป็นความเห็นประกอบการลงประชามติ คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถใช้วิจารณญาณ ไม่ต้องเชื่อแต่เอกสารดังกล่าว
จากนั้น นายชำนาญเบิกความตอบอัยการถามค้านว่า ที่พยานเป็นประธานองค์กร Amnesty International ประเทศไทย เป็นเรื่องที่สมาชิกในประเทศไทยเป็นผู้เลือกตั้ง ไม่ใช่ต่างประเทศแต่งตั้งมา ตัวพยานไม่ได้เป็นกรรมการใน กรธ. ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เพียงแต่ได้รับเชิญจากเวทีวิชาการหรือสื่อหลายเวทีในช่วงแรก ๆ ให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็น
โจทก์ถามค้านในประเด็นที่พยานเบิกความว่า บัตรใบเดียว เลือก ส.ส. เขต และปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีใช้ในโลก พยานยืนยันว่า บัตรใบเดียวมีที่เยอรมัน แต่กาได้ 2 ครั้ง เลือก ส.ส. และเลือกพรรค ที่ กรธ. ชอบอ้างว่า การใช้บัตรใบเดียวเอามาจากเยอรมัน แต่ความจริงไม่ใช่ โจทก์ถามอีกว่า การเลือก ส.ส. โดยใช้บัตรใบเดียวเป็นเรื่องในอนาคต เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจถูกใจประชาชน นายชำนาญยืนยันว่า โดยหลักการแล้วไม่มีทางเป็นไปได้ ในรัฐธรรมนูญ 2559 ยังกำหนดให้ ส.ส. จะสมัครเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องส่ง ส.ส.เขตก่อนเป็นการจำกัดสิทธิประชาชนไปอีก พรรคเล็กก็เกิดไม่ได้ เจตนาของผู้ร่างคือต้องการทำลายพัฒนาการของพรรคการเมือง
โจทก์ถามพยานผู้เชี่ยวชาญอีกว่า ที่พยานเบิกความว่า คสช. จะหมดไปเมื่อได้รัฐบาลใหม่ แต่ก็จะติดล็อค ก็เป็นไปได้ว่า คสช. จะหมดไปใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่า แม้เป็นไปได้ว่าตัว คสช. จะหมดอำนาจเมื่อได้รัฐบาลใหม่ แต่การได้รัฐบาลใหม่ก็ยากตามที่ได้เบิกความไปแล้ว ขณะที่อำนาจของ คสช. ยังคงมีอยู่ในประกาศ คำสั่ง ต่างๆ โจทก์ถามต่อไปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พยานเบิกความว่าทำได้ยาก แต่ก็ทำได้ใช่หรือไม่ นายชำนาญยืนยันว่า ทำได้แต่ยากมาก เพราะต้องให้พรรคฝ่ายค้านเห็นด้วย ซึ่งพรรคฝ่ายค้านย่อมต้องไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล นอกจากนี้ยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โจทก์ถามถึงเอกสารที่โจทก์ฟ้อง “7 เหตุผลฯ” ว่า มีข้อความด้านขวาว่า “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อประชาชนได้รับใบปลิวดังกล่าวแล้วก็เข้าใจได้เลยว่า กล่าวถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าใจด้วยว่าให้ไปโหวตโนใช่หรือไม่ นายชำนาญตอบว่า ถ้าเห็นด้วยกับเหตุผลก็ไปโหวตโน ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย
โจทย์ถามอีกว่า ที่พยานเบิกความว่า ศาลยกฟ้องในคดีที่ราชบุรี ข้อเท็จจริงคือเจ้าหน้าที่ตรวจค้นเจอสติ๊กเกอร์ในรถ แต่จำเลยไม่ได้แจกใช่หรือไม่ นายชำนาญตอบว่า ทราบว่าไม่ได้แจก แต่เมื่อเป็นเอกสารที่ไม่ผิดกฎหมาย แจกหรือไม่แจกก็ไม่ใช่เรื่องผิด
โจทก์ถามถึงคดีประชามติซึ่งพยานเบิกความว่าศาลเชียงใหม่ยกฟ้องว่า ศาลวินิจฉัยว่าข้อความไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เลยใช่หรือไม่ นายชำนาญตอบว่า ไม่ใช่ แผ่นป้ายมีข้อความเล็ก ๆ แต่อ่านออกว่า 7 สิงหาไม่รับ ซึ่งวิญญูชนย่อมเข้าใจว่า 7 สิงหาคือวันอะไร โจทก์ถามย้ำว่า แต่ไม่มีข้อความว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายชำนาญตอบว่า เท่าที่จำได้ไม่มี แต่การไม่มีคำว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เหตุผลที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากศาลระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีวิจารณญาณ ข้อความในเอกสารย่อมไม่สามารถโน้มน้าวให้คนที่เห็นเอกสารแล้วเชื่อแล้วไปออกเสียงตามนั้นได้ ที่จริงแล้วการโน้มน้าวก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย
นิติราษฎร์ยืนยัน เสรีภาพการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ
พยานผู้เชี่ยวชาญปากที่ 2 คือ นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุ 53 ปี อยู่ที่ 19/42 ซ.กาญจนาภิเษก003 หลักสอง บางแค กรุงเทพฯ
นายธีระ สุธีวรางกูร เบิกความว่าจบการศึกษาระดับปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาที่สอน ได้แก่ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี, ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 จนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ธีระเบิกความต่อว่า รู้จักกับคณะนิติราษฎร์โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง คณะนิติราษฎร์ประกอบด้วยอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกอบด้วย ตัวพยาน, นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, อาจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, นายปูนเทพ และนายฐาปนันท์ วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์มาจากเหตุผลหลักที่เห็นว่าตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 กฎเกณฑ์และกฎหมายในประเทศไทยถูกทำลายสิ้น ห่างไกลจากนิติธรรมและนิติรัฐเป็นอันมาก คณะนิติราษฎร์ต้องการชี้ว่าหลักนิติธรรมและนิติรัฐเป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร จึงแสดงความเห็นเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ว่าสถานการณ์ประเทศเป็นอย่างไร
หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์เบิกความอีกว่า ในช่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 คณะนิติราษฎร์ได้แสดงจุดยืน โดยออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรผ่านทางเว็บไซต์ แสดงความเห็น จุดยืน และเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการเผยแพร่ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์หลายช่อง ไม่ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ซึ่งสื่อที่ได้รับก็เอาไปกระจายต่อ เหตุผลที่คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ เป็นร่างที่เกิดมาจากการรัฐประหารปี 2557 ล้มรัฐธรรมนูญเดิม ส่วนเนื้อหาเมื่อดูจากเอกสารต่าง ๆ พอสรุปได้ว่า แม้มีการรับรองสิทธิเสรีภาพแต่ก็มีการจำกัดอย่างมากและเขียนเป็นนามธรรม ทำให้มีการตีความกว้างขวาง ผิดไปจากจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้
ประการที่ 2 การได้มาซึ่ง ส.ส. การเลือกตั้งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ แต่ลงคะแนนได้ครั้งเดียว จึงไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนการได้มาของ ส.ว. ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ กกต. และกรรมการสรรหา ซึ่งแต่งตั้งมาจาก คสช. และ คสช. เลือกในท้ายที่สุดจึงไม่ใช่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่มาจาก คสช. ซึ่งทำให้สืบทอดอำนาจของ คสช. ได้ง่ายใน 5 ปีแรก
อาจารย์ธีระยังเบิกความถึงเหตุผลที่คณะนิติราษฎร์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ว่า เนื่องจากมาตรา 265 วรรค 2 กำหนดให้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 ที่อยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ยังคงอยู่ บรรดาประกาศ คำสั่ งยังได้รับการรับรองให้ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เมื่อเลือกตั้งแล้วมาตรา 279 ยังรับรองให้อำนาจ คสช. ยังได้รับการรับรอง คำสั่งชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักนิติรัฐเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อใช้อำนาจแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้
อาจารย์คณะนิติราษฎร์เบิกความต่อถึงเหตุผลในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักประชาธิปไตยนโยบายในการบริหารประเทศจะมาจากรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญมักกำหนดกว้าง ๆ เพื่อให้พรรคเสนอต่อประชาชน และประชาชนเลือกนโยบาย ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งแม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งแต่นโยบายจะตกอยู่ใต้แผนยุทธศาสตร์ แม้รัฐบาลมีสิทธิกำหนดนโยบายแต่ขัดแผนไม่ได้ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องประสบความยากลำบากในการกำหนดนโยบายตามความต้องการของประชาชนทำได้แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแผนการปฏิรูป 20 ปี
อาจารย์ธีระเบิกความอีกว่า ที่ กรธ. สื่อสารว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและปรองดองนั้น เป็นวาทกรรมของ กรธ. ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะรัฐธรรมนูญจะกำหนดอำนาจสูงสุด องค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุด สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเท่านั้น การปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบต้องกำหนดในพระราชบัญญัติ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว อาจมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ไม่สามารถปราบโกงได้ เป็นการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนมารับร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวต่อถึงเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้ยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ของประเทศ เหตุผลก็คือ มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นอกจากต้องได้เสียงรับรองจาก ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ต้องได้เสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จึงจะผ่านในวาระแรก ขั้นรับหลักการ ยิ่งไปกว่านั้นในวาระที่ 3 นอกจากจะต้องมีเสียง ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แล้ว จะต้องมีพรรคที่ไม่ร่วมรัฐบาลรวมแล้วไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ให้ความเห็นชอบด้วย จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐธรรมนูญจะผ่านการแก้ไขในวาระที่ 3 เพราะธรรมชาติของการเมืองเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แม้ ส.ส. 500 คน จะลงให้ผ่านก็ผ่านความเห็นชอบไม่ได้เพราะขาดเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 เจตจำนงของ ส.ส. ทั้งสภาก็ไม่สามารถทัดทาน ส.ว. 70 คน เป็นความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมาก ประกอบกับ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ถ้าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารจึงเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย
ทนายจำเลยที่ 2 ถามว่า มีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้นิติราษฎร์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์ธีระตอบว่า เท่านี้ก็เพียงพอที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ทนายจำเลยถามอีกว่าหลังคณะนิติราษฎร์แสดงจุดยืนมีใครมาขออนุญาตไปเผยแพร่หรือไม่ หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ตอบว่ามีหลายกลุ่มที่ขออนุญาตพิมพ์และเผยแพร่ ซึ่งคณะนิติราษฎร์ก็อนุญาต ทนายจำเลยนำเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” ที่โจทก์ฟ้องมาให้พยานดูแล้วถามว่าเคยเห็นหรือไม่ ใครเป็นคนขออนุญาตนำมาจัดพิมพ์ อาจารย์ธีระตอบว่า เคยเห็นผลิตโดย NDM ซึ่งเป็นลูกศิษย์ในคณะนิติศาสตร์ มธ. มาขออนุญาตเผยแพร่ให้ประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยพยานได้อ่านตรวจสอบว่าเนื้อหาสาระสำคัญตรงกับข้อเท็จจริงที่คณะนิติราษฎร์แถลง
อาจารย์คณะนิติราษฎร์เบิกความต่อในประเด็นการทำประชามติว่า การประกาศจุดยืน หรือเผยแพร่ความเห็น ตลอดจนเหตุผลในการรับหรือไม่รับมีความสำคัญ ถ้าเรายืนยันว่าประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญก็มีความสำคัญ ประชาชนต้องติชมต่อนโยบายของรัฐได้ จึงจะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐนี้เป็นรัฐที่เคารพและรับฟังความเห็นของประชาชน นอกจากนี้ถ้ารัฐยืนยันที่จะเคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรมก็ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน
ศาลถามว่าการเสรีภาพในการแสดงความเห็นต้องอยู่ภายใต้อะไรหรือไม่ อาจารย์ธีระเบิกความตอบว่า เสรีภาพการแสดงความเห็นเป็นเสรีภาพสำคัญ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ ICCPR รับรอง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็รับรอง แม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็รับรองผ่านมาตรา 4 ซึ่งนอกจากจะรับรองว่า จะปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เราเป็นภาคี ก็ยังรับรองว่าบรรดาสิทธิที่เคยมีต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 7 ก็รับรองว่าประชาชนแสดงความเห็นติชมโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายได้ ประชาชนจึงควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นซึ่งทำให้เป็นมนุษย์เป็นมนุษย์ คนเป็นคน
โจทก์ถามค้าน อ.ธีระ หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นเอกสารที่คณะนิติราษฎร์แถลง และ NDM ซึ่งเป็นลูกศิษย์ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ โดยเอาไปวาดรูปเพิ่มเติมเขียนว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเขียนคำนำ และสรุปในย่อหน้าสุดท้ายเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอแสดงจุดยืนว่า ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง แม้ในวันนี้ประชาชนจะยังไม่สามารถเลือกตัวแทนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเองได้ แต่ประชาชนก็ยังมีช่องทางในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่ความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ก็ควรที่จะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสีย” ใช่หรือไม่ อ.ธีระตอบว่า ใช่ NDM เขียนเอง แต่เขียนแสดงเจตนาเหมือนกับนิติราษฎร์ว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
โจทก์ถามต่อว่า ผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าว จะไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ใช่หรือไม่ นายธีระตอบว่า ไปออกเสียงรับหรือไม่รับก็ได้ แล้วแต่ดุลพินิจของผู้ไปใช้สิทธิ ถ้าเขาใช้ดุลพินิจ ใช้เหตุผลเห็นพ้องกับพวกผมก็ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้
โจทก์ยังถามค้านต่อไปอีกว่า ที่พยานเบิกความว่า การใช้เสรีภาพต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็ต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่นด้วยใช่หรือไม่ พยานจำเลยตอบว่า ตามรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องว่ากันตามเหตุผลของกฎหมาย ถ้ารัฐต้องการจำกัดสิทธิก็สามารถทำได้ แต่จะจำกัดสิทธิได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือต้องไม่กระทบความมั่นคง สิทธิของบุคคลอื่น ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือสุขภาพอนามัยของประชาชน นอกจากนี้ แม้รัฐจะมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ก็ต้องจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็น
อาจารย์คณะนิติศาสตร์เบิกความตอบคำถามค้านของอัยการอีกว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 1 วรรค 2 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อความมั่นคง รัฐต้องอธิบายให้ได้ว่า เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอย่างไร ถ้าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เกิดจลาจล แล้วมีการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นจนเกินไป รัฐอาจออกกฎหมายจำกัดสิทธิ ประกาศกฎอัยการศึก ภาวะฉุกเฉิน ห้ามแสดงความเห็นที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบได้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สงคราม ไม่ใช่สถานการณ์ไม่ปลอดภัย เป็นเรื่องการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสภาวะปกติ พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงไม่ได้ออกมาเพื่อรักษาความสงบของรัฐ
อัยการถามค้านพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในท้ายที่สุดว่า ถ้าเช่นนั้น มาตรา 61 ก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในการลงประชามติใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าเพื่อความสงบเรียบร้อยในการลงประชามติก็ใช่
ทั้งนี้ ทนายจำเลยที่ 2 ถามติง อ.ธีระว่า ข้อความของ NDM ใน “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” สอดคล้องกับความเห็นของคณะนิติราษฎร์หรือไม่ รวมทั้งภาพประกอบ และสาระสำคัญในเอกสารเป็นไปตามแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์หรือไม่ อ.ธีระตอบว่า เท่าที่ดูเป็นบทสะท้อนตามแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เป็นบทสรุปที่ไม่ผิดไปจากสาระสำคัญที่นิติราษฎร์แถลง
ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความในคำนำของเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอแสดงจุดยืนว่า ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง แม้ในวันนี้ประชาชนจะยังไม่สามารถเลือกตัวแทนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเองได้ แต่ประชาชนก็ยังมีช่องทางในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่ความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ก็ควรที่จะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสีย” เป็นลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงการแสดงความเห็น สมาชิกคณะนิติราษฎร์ตอบว่า เป็นการแสดงความเห็นเพื่อให้ผู้รับสารมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจรับหรือไม่รับ ไม่ได้มีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือชวนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ
อดีต กกต.ชี้ ควรใช้มาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นหลัก เพื่อประชามติอย่างเท่าทัน แจกเอกสารชักจูงไม่เข้าองค์ประกอบ ม.61
พยานผู้เชี่ยวชาญปากสุดท้ายคือ นายโคทม อารียาอายุ 74 ปี อาชีพข้าราชการบำนาญและได้รับแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นที่ปรึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา อยู่ที่ 9/2 ซอย 4 วงเล็บซอยประพันธ์ศักดิ์ ถนนนางลิ้นจี่ ทุ่งมหาเมฆ สาทร กรุงเทพฯ พยานเบิกความว่า เริ่มรับราชการในปี 2512 โดยเป็นอาจารย์คณะวิศวะ จุฬาฯ ได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. ในปี 2540 – 2544 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
พยานเบิกความต่อไปอีกว่า คดีนี้ฟ้องตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ คำว่า “ประชามติ” แปลว่า การลงมติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเรื่องสำคัญของประเทศ ซึ่งในทุกประเทศ หลักการประชาธิปไตยทางตรง คือ การคืนอำนาจตัดสินใจให้กับประชาชนเจ้าของอำนาจ ดังนั้น ประชาชนต้องได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างเต็มที่ มีสิทธิรับ แสดงออก และเผยแพร่ความเห็น ทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ความเห็นของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่
อ.โคทม ระบุว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 การใช้เสรีภาพในการแสดงออก เป็นไปตามมาตรา 4 โดยอ้างอิงมาตรา 5 ด้วย โดยสาระสำคัญคือ รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
อดีต กกต. เบิกความเกี่ยวกับประเพณีการปกครองของไทยที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492, 2511, 2517 โดยบัญญัติให้ทำประชามติในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2534 แก้ไขปี 2539 ก็มีบัญญัติไว้ แต่ที่ชัดเจนมากโดยขยายขอบเขตให้ทำประชามติในเรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 214 โดยบัญญัติให้รัฐทำในหลายเรื่อง แต่ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้กำหนดไว้ในวรรค 4 ว่า รัฐต้องดำเนินการให้ฝ่ายเห็นชอบและไม่เห็นชอบแสดงความเห็นได้โดยเท่าเทียมกัน ทนายจำเลยอ้างส่งรัฐธรรมนูญ 2540 ศาลรับไว้เป็นหมาย ล.20
อดีต กกต. ยังเบิกความต่อไปอีกว่า นอกจากรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกันโดยบัญญัติไว้ในมาตรา 165 วรรค 4 หรือวรรค 5 ระบุว่า นอกจากรัฐต้องให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแล้ว ต้องสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน อ.โคทมกล่าวเสริมอีกว่า มีการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการทำประชามติปี 2541 และปี 2552 โดยนำข้อความในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาบัญญัติไว้มีข้อความคล้ายคลึงกันนี้ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2541 ได้นำมาใช้ในการทำประชามติปีร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
อดีต กกต. เบิกความถึงบรรยากาศในการทำประชามติปี 2550 ว่ามีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปกสีเหลืองแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวน 1 ล้านเล่ม ทั่วประเทศ การเผยแพร่ข้อมูลครอบคลุมพอสมควร มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประชามติมีการบัญญัติเพิ่มเติม เรื่องการห้ามซื้อสิทธิขายเสียง และก่อความวุ่นวายด้วย เพื่อให้การทำประชามติเป็นไปโดยเรียบร้อย ทำให้บรรยากาศในการลงประชามติไม่คึกคักเท่าที่ควร
ส่วนบรรยากาศในการทำประชามติปี 2559 ประชาชนมีความตื่นตัวน้อย เข้าถึงข้อมูลได้น้อย แม้ว่ารัฐบาลจะจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ และมีการลงพื้นที่อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งผลิตสื่อวิทยุโทรทัศน์ แต่การตื่นตัว ไม่ต่างจากปี 2550 เท่าใดนักเนื่องจากรัฐบาลให้หน่วยราชการในท้องที่ ไปอธิบายสาระสำคัญซึ่งมีหลายร้อยมาตราโดยทั้งคนอธิบายและคนฟังยังไม่เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลไม่พอ ที่จริงแล้วควรใช้อาสาสมัครที่สมัครใจ ลงไปอธิบายสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการสื่อสารในแนวราบมากกว่าสื่อสารในแนวตั้ง อีกทั้งมีความไม่แน่นอนเนื่องจากความเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้คนสงสัยว่า ขอบเขตการแสดงความเห็นจะทำได้แค่ไหน คนทั่วไปก็จะยึดตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นหลัก ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการแสดงความเห็น แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการกลับยึดมาตรา 61 ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เน้นสิ่งที่ไม่อนุญาต ไม่ได้เน้นสิ่งซึ่งอนุญาตหรือสนับสนุนให้เกิดการแสดงความเห็น หากยึดมาตรา 61 โดยไม่คำนึงถึงมาตรา 7 ก็จะตีความกฎหมายในทางแคบ ส่วนตัวพยานเห็นว่าควรใช้มาตรา 7 เป็นหลัก รวมทั้งต้องยึดรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากล เพื่อที่ประชาชนจะได้ออกเสียงประชามติอย่างเท่าทัน
ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานผู้เชี่ยวชาญว่า เสรีภาพตามมาตรา 7 หมายความว่าอย่างไร อ.โคทมตอบว่าเข้าใจว่าเสรีภาพเป็นข้อผูกพันของรัฐ ที่จะต้องให้หลักประกันและพึงสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยรู้เท่าทัน นี่คือสาระที่จะทำให้การออกเสียงมีคุณภาพและรู้เท่าทัน ดังนั้น ตามมาตรา 7 การแสดงความเห็นและให้ข้อมูลก็ทำได้ ถ้ามีเสรีภาพก็ต้องหลากหลาย ถ้าไม่มีเสรีภาพก็จะอยู่ในเบ้าหลอมเดียวกัน
ทนายจำเลยที่ 1 ถาม อดีต กกต. อีกว่า บทจำกัดเสรีภาพที่เป็นความผิดตามมาตรา 61 ต้องอ่านและตีความอย่างไรในลักษณะที่เสริมสร้างเสรีภาพ นายโคทมตอบว่า ในวรรคหนึ่งเข้าใจว่ามีสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก่อน ๆ ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดความไม่เรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ใน พ.ร.บ. ประชามติฯ ฉบับนี้เกรงว่าการนำไปปฏิบัติจะเกิดความไม่ชัดเจนว่า อย่างไรคือความวุ่นวาย จึงขยายความไว้ในวรรค 2 ความเห็นของพยานเห็นว่าต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามสาระหลัก คือ ต้องเคารพเสรีภาพ อะไรที่ไม่วุ่นวายก็ไม่เข้าข่าย ไม่ควรนำมาตรา 61 มาใช้
ทนายจำเลยถาม ถึงองค์ประกอบความผิดในมาตรา 61 ว่า ต้องมีการปลุกระดม คำว่า “ปลุกระดม”หมายความอย่างไร อดีต กกต. ตอบว่า องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 61 คือ 1. ต้องมีลักษณะที่ผิดจากข้อเท็จจริง 2. มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ไปออกเสียง ความเห็นของพยานคำว่า “ปลุกระดม” อ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า เร้าใจให้ประชาชนลุกฮือขึ้น ลำพังการเผยแพร่ข้อมูลโดยการแจกเอกสารโดยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่เป็นการยุยงเร้าใจให้ประชาชนลุกฮือขึ้นจึงยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 61
นายโคทม อารียา เบิกความอธิบายถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติว่า สามารถทำได้หลายแบบ แบบแรกเป็นแบบที่ กรธ.และบุคลากรลงพื้นที่ดำเนินการซึ่งจะอธิบายถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ แบบที่ 2 เป็นการแสดงความเห็นแย้งว่า รัฐธรรมนูญมีข้อเสียอย่างไร แบบที่ 3 เป็นการอธิบายทั้งข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบเป็นทางเลือกให้ผู้ออกเสียงไปคิดเองใช้วิจารณญาณเอง ซึ่งการเผยแพร่ความรู้ทำได้ทั้ง 3 แบบ แล้วแต่ผู้ออกเสียงจะใช้ข้อมูลไปอย่างไร ใช้ดุลพินิจอย่างไร
นายโคทม อารียา ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ และจบเรียนปริญญาโทและเอกด้านวิทยาศาสตร์ โดยไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายหรือนิติศาสตร์ นายโคทมยืนยันว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 7 รับรองให้ประชาชนแสดงความเห็นได้แต่โดยสุจริตไม่ขัดต่อกฎหมาย หากมีผู้แสดงความเห็น โดยมุ่งหวังชักจูงให้ไปรับร่าง หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญพยานก็เห็นด้วย ทั้ง 2 แบบ ถ้าเรายึดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เราก็ต้องเห็นด้วยกับการแสดงความเห็น มีนักปรัชญาฝรั่งเศสกล่าวว่า ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต
โจทก์ถามอีกว่า พยานเห็นด้วยกับการแสดงความเห็นของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้ใดผู้ใช้สิทธิไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความผิดตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ใช่หรือไม่ นายโคทมตอบว่า ไม่ใช่ ตามมาตรา 61 มีองค์ประกอบอื่นว่า การเผยแพร่ข้อมูลต้องผิดจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ปลุกระดม ข่มขู่ ไม่ใช่ว่าการโน้มน้าวคนอื่น การคุยกันธรรมดาแลกเปลี่ยนความเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะเป็นความผิด โจทก์ถามย้ำอีกว่า แล้วต้องมีองค์ประกอบโดยมุ่งหวังให้ผู้ใช้สิทธิออกเสียงไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใช่หรือไม่ อดีต กกต. ตอบว่า มุ่งหวังอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่นที่กล่าวมาแล้วด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แจ้งข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ 2 นักกิจกรรม NDM อีสาน หลังแจกเอกสารโหวตโนในตลาดสด
ไผ่ NDM อีสานไม่ขอประกันตัวหลังศาลอนุญาตฝากขัง กรณีแจกเอกสารโหวตโนที่ภูเขียว พร้อมอดข้าวในเรือนจำ
อัยการยื่นฟ้องคดี’ไผ่ และเพื่อน’ทันที ก่อนศาลให้ประกันตัวด้วยใบอนุญาตทนายของบิดา+เงินสด3หมื่นบาท
เปิดหนังสือขอความเป็นธรรม !!! คดี พ.ร.บ.ประชามติ ไผ่ดาวดินและพวกรณรงค์ “โหวตโน” ให้ถอนฟ้องคดี
ปากคำพยานโจทก์คดีประชามติภูเขียว ‘ไผ่-ปาล์ม’ รัฐห้าม ปชช.แสดงความเห็นต่อร่าง รธน.