จำเลยแจกเอกสารประชามติบางพลีขึ้นศาลทหารขอสู้คดี – ศาลอาญายังไม่อนุญาตประกันคดีแชร์โพสต์หมุดคณะราษฎร

จำเลยแจกเอกสารประชามติบางพลีขึ้นศาลทหารขอสู้คดี – ศาลอาญายังไม่อนุญาตประกันคดีแชร์โพสต์หมุดคณะราษฎร

จำเลยคดีแจกเอกสารประชามติที่บางพลี จ.สมุทรปราการ

18 พ.ค. 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดถามคำให้การคดีแจกเอกสารประชามติที่ตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ จำเลยสามคนให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ด้านศาลอาญาไม่อนุญาตประกันตัว ‘รุ่งโรจน์’ (นามสมมติ) บัณฑิตนิติศาสตร์ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการแชร์โพสต์เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร

10.10 น. ตุลาการศาลทหารกรุงเทพออกนั่งพิจารณาคดีที่เตือนใจ แวงคำ, สุมนรัตน์ (นามสมมติ), และกรชนก (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ถูกฟ้องฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นัดนี้เป็นถามคำให้การ ศาลอ่านคำฟ้องลงวันที่ 19 ต.ค. 2559 ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 10 คนร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านการรณรงค์ออกเสียงประชามติฯ ซึ่งเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อ 12 อีกทั้งได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงและแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงในเนื่อหา สาระ ของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และชักชวนประชาชนมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นการร่วมกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่แสดงบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจบัตร ทั้งนี้ อัยการทหารยังได้ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสามเป็นเวลา 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 อีกด้วย

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ และขอต่อสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 3 ส.ค. 2560

ด้านศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่มารดาของ ‘รุ่งโรจน์’ ยื่นระหว่างการฝากขังครั้งที่ 2 โดยใช้หลักประกัน 880,000 บาท พร้อมเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุอีกว่า ‘รุ่งโรจน์’ เป็นผู้มีความประพฤติดี บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีทัศนคติเคารพรัก และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาบรรเทาอาการป่วยทันที และต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำ ไม่สามารถหลบหนีได้

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและความหนักเบาแห่งข้อหาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนคนไทย เป็นเรื่องร้ายแรงและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ประกอบกับชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ อีกทั้งพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว

นอกจากนั้น ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 แม้จะมีคำร้องประกอบมาเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

จนถึงปัจจุบัน ผู้ต้องหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 6 คนที่ถูกนำมาฝากขังในวันเดียวกัน ได้แก่ ประเวศ ประภานุกูล, ดนัย (สงวนนามสกุล), วรรณชัย (สงวนนามสกุล), ‘รุ่งโรจน์’ (นามสมมติ), ‘บรรจง’ (นามสมมติ), และ ‘สถาพร’ (นามสมมติ) ยังไม่มีใครได้รับอนุญาตประกันตัว โดยดนัย และวรรณชัย ยังไม่เคยยื่นขอประกันตัวตั้งแต่ถูกจับกุม

X