ศาลทหารอุดรฯ ลงโทษอีก 20 ชาวบ้านสกลนคร ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ปรับ 2,500 รอลงอาญา 1 ปี

ศาลทหารอุดรฯ ลงโทษอีก 20 ชาวบ้านสกลนคร ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ปรับ 2,500 รอลงอาญา 1 ปี

ศาล มทบ.24 จ.อุดรฯ พิพากษาคดีถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ สกลนคร ฝ่าฝืน 3/58 จำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 2,500 บาท รอลงอาญา 1 ปี หลังชาวบ้านทั้ง 20 คน รับสารภาพ เหตุผู้เฒ่าลำบากเดินทาง

6 มี.ค.60 ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (ศาล มทบ.24) จ.อุดรธานี นัดสอบคำให้การนายลำไพ พาเสน่ห์ กับพวกรวม 20 คน จำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป กรณีถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกง จ.สกลนคร หมายเลขคดีดำที่ 101/2559

ศาลได้อ่านคำฟ้องของอัยการศาล มทบ.24 (โจทก์) ให้จำเลยฟังโดยสรุปว่า จำเลยทั้ง 20 กับพวก ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมกับบุคคลอื่นอีกหลายคนในบริเวณสวนยางพาราของจำเลยที่ 17 โดยมีการจัดตั้งและเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. อันเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยมิได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12

จากนั้น จำเลยทั้ง 20 ให้การรับสารภาพ ไม่ขอต่อสู้คดี พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงเกษตรกร ประกอบอาชีพสุจริต และเป็นเสาหลักของครอบครัว ประกอบกับให้การช่วยเหลืองานในสังคมด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้ โจทก์ไม่คัดค้าน และไม่ประสงค์สืบพยาน

ศาล มทบ.24 จึงอ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 20 คนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 2,500 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนดคนละ 1 ปี

จำเลยในคดีนี้ 20 คน เป็นชาย 13 หญิง 7 โดยที่ 8 คน มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป หลังศาลตัดสินนายนราสิทธิ์ ฤทธิธรรม หนึ่งในจำเลยเปิดเผยว่า เหตุที่รับสารภาพ ทั้งที่จริงแล้วทั้งหมดไม่ได้ชุมนุมทางการเมือง ในชั้นสอบสวนก็ปฏิเสธมาโดยตลอด ก็เพราะการมาขึ้นศาลแต่ละครั้งต้องใช้ค่าจ่ายมาก ค่ารถเหมามาครั้งละหลายพันบาท เนื่องจากต้องเดินทางมาจาก อ.ส่องดาว จ.สกลนคร มาขึ้นศาลทหารที่ จ.อุดรฯ ถ้าเป็นศาลพลเรือนที่สกลนครก็ไม่เป็นไร ส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้องคดีก็เป็นผู้เฒ่า บางคนมีโรคประจำตัว เดินทางไกลก็ทรมาน นอกจากนี้ ถ้าคดียังไม่จบก็เป็นภาระต่อการทำมาหากิน บางคนอยากไปทำงานต่างจังหวัด ก็ไปไม่ได้ ทำไร่ทำนาก็เป็นห่วงกังวลต้องมาขึ้นศาล ดูจากคดีของจังหวัดอื่นที่รับสารภาพไปแล้วมีแค่โทษปรับ พอหาจ่ายได้ ก็เลยตัดสินใจรับสารภาพให้จบๆ ไป พอศาลตัดสินแล้วก็รู้สึกโล่ง แต่ยังมีคดีฉีกเอกสารของ 7 คน ซึ่งพ่วงมาจากคดีนี้ ซึ่งตอนอยู่สถานีตำรวจ ชาวบ้านเปลี่ยนคำให้การแล้วตำรวจเอาคำให้การเดิมมาให้เจ้าตัวฉีก ถ่ายรูป ต่อมากลับเอามาดำเนินคดี ก็ยังต้องไปขึ้นศาลพลเรือนที่ อ.สว่างแดนดิน เป็นภาระที่ยังต้องสู้คดีต่อไป ส่วนของคดีนี้ที่ศาลรอลงอาญา 1 ปี ก็คิดว่า ใน 1 ปี นี้คงไม่ได้ชุมนุมอะไร รอช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อน  

นราสิทธิ์กล่าวด้วยว่า หลังถูกดำเนินคดีนี้ เขาและชาวบ้านกลายเป็นคนที่ถูกทหารจับตา ทหารมักจะมาหาพวกเขาเป็นประจำ มาครั้งละ 2 นาย สอบถามข่าว ถ่ายรูป แรกๆ ก็อาทิตย์ละครั้ง แล้วก็ห่างออกเป็นเดือนละครั้ง แต่เวลาไปไหนก็ต้องส่งไลน์บอกทหาร ช่วงหลังนี้มาตอนมีเหตุการณ์สำคัญ  ล่าสุดก็มาถามเรื่องวัดธรรมกาย ว่าเขาได้เกี่ยวข้องด้วยมั้ย ศรัทธามั้ย เคยไปหรือเปล่า หรือจะระดมคนไปชุมนุมมั้ย ซึ่งเขาปฏิเสธไป นอกจากนี้ ที่ค่ายทหารในจังหวัดสกลนครก็มีรูปพวกเขา รวมทั้งคนอื่นๆ ติดบอร์ดอยู่ด้วย

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ พร้อมกันทุกจังหวัดในวันที่ 19 มิ.ย.59 เพื่อตรวจสอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปโดยโปร่งใส แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารปิดกั้น เข้า “ขอเจรจา-ห้าม-ตรึงกำลังกดดัน-เข้าค้น-เชิญตัวไปโรงพัก-ปิด” โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ส่วนใหญ่ต้องยกเลิกกิจกรรมไป รวมทั้งที่จังหวัดสกลนคร แต่ชาวบ้านที่อำเภอส่องดาวได้มารวมตัวกันแล้วจึงถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ข้อความว่า “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” ร่วมกันสนุกๆ แล้วแยกย้ายกันกลับ แต่ทหาร ตำรวจ ซึ่งมาถึงทีหลัง ได้ให้นราสิทธิ์ เจ้าของสวนยาง และเพื่อนที่มาส่งไก่ย่าง ไปพบที่ที่ว่าการอำเภอส่องดาว แม้การพูดคุยในวันนั้นจะมีข้อสรุปว่า ไม่มีการชุมนุมที่สวนยาง แต่หลังจากนั้น ทหารก็เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีชาวบ้านที่อยู่ในภาพถ่าย พร้อมทั้งนายนราสิทธิ์และเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ในภาพถ่าย ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป (อ่านรายละเอียดที่นี่)

รูปที่เป็นเหตุดำเนินคดี

นอกจากคดีนี้แล้ว กรณีการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. ทั่วประเทศ พบว่า มีการดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป อย่างน้อย 8 จังหวัด จำนวน 143 ราย ปัจจุบัน คดีใน 5 จังหวัด เสร็จสิ้นลง โดยส่วนหนึ่งผู้ต้องหายอมรับเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ รับสารภาพ แล้วเข้ารับการอบรม หรือปรับทัศนคติ พร้อมทั้งเซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก เพื่อให้คดียุติในชั้นสอบสวน ไม่ต้องถูกส่งฟ้องต่อศาล ตามเงื่อนไขในคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 รวม 73 ราย

อีกส่วนหนึ่งคดีถูกส่งฟ้องศาลทหาร และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี รวมทั้งหมด 27 ราย ยังคงเหลือเพียงคดีของแกนนำ นปช. 19 ราย ซึ่งอัยการทหารส่งฟ้องศาลทหารกรุงเทพฯ แล้ว, คดีศูนย์ปราบโกงฯ บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาล มทบ.16 แต่อัยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนกลับมาทำสำนวนใหม่โดยแจ้งข้อหาเพิ่มเติม และคดีศูนย์ปราบโกงฯ จ.นครพนม ซึ่งไม่ทราบสถานะคดีที่ชัดเจน

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 ส.ค.59 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ผ่านหน้าเฟซบุ๊ก UN Human Rights – Asia เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อนักกิจกรรมการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยพลัน รวมทั้งขอให้ปล่อยตัวทุกคนที่ขณะนี้ถูกคุมขังจากการแสดงความเห็นต่างในร่างรัฐธรรมนูญก่อนวันลงประชามติ

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ ความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” ระบุว่า กฎหมายที่รัฐบังคับใช้กับประชาชนที่แสดงออกเกี่ยวกับการลงประชามติทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ นั้น ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การแสดงออกและเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสงบสันติต้องได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ การดำเนินคดีผู้ต้องหาทั้งหลายเกี่ยวกับการทำประชามติที่ผ่านพ้นไปด้วยความสงบ ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ให้แก่สาธารณะ ทั้งยังไม่เป็นการสร้าง “ความยุติธรรม” และ “ความปรองดอง” ในสังคม ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความฯ เสนอให้ผู้ดำเนินการใน “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งหมด ยุติการดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาประชามติทั้งหลาย โดยพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวมาไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ รัฐบาล คสช. ยังคงไม่มีนโยบายยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหาประชามติ รวมทั้งผู้ดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมยังคงเดินหน้าดำเนินคดี โดยการทยอยส่งฟ้องต่อทั้งศาลพลเรือนและศาลทหาร ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีบางส่วนตัดสินใจรับสารภาพ เนื่องจากความยากลำบากในการเดินทางมาขึ้นศาล โดยเฉพาะศาลทหารที่อยู่คนละจังหวัดเช่นในคดีนี้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ส่งฟ้องศาลทหาร 20 ชาวบ้าน-แกนนำ นปช.สกลนคร ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ-ส่งไก่ย่าง

ปรับ 2,500 รอลงอาญา 1 ปี 3 ผู้เฒ่าจำเลยศูนย์ปราบโกงหนองบัวลำภู

ความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ”

 

X