ชาวบ้านหนองบัวลำภู 12 ราย ถูกส่งเข้า ‘อบรม’ หลังถูกติดตามเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เหตุถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงในวัด อีก 3 ราย ยืนยันปฏิเสธ ตำรวจนัดรายงานตัวอีก 10 วัน
4 ก.ค.59 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองบัวลำภู นัดหมายให้ผู้ต้องหา กรณีขึ้นป้ายเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่วัดอุทมพรพิชัย ต.โนนทัน อ.เมือง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59 จำนวน 15 ราย เข้ารายงานตัวพร้อมกัน จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหา 12 คน ที่ให้การรับสารภาพว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวจริง เข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดงที่ 1 จ.หนองบัวลำภู มีกำหนดเวลา 1 วัน ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 ราย ที่ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ค.59
การดำเนินคดีดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 19 มิ.ย.59 โดยในหลายจังหวัดแกนนำ นปช. ถูกทหารสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินการก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็ได้มีความพยายามเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ขึ้นในหลายพื้นที่ และตามมาด้วยการถูกแจ้งความดำเนินคดี
เจ้าหน้าที่สอบพระ-ตามหาคนในรูป หลังชูป้ายถ่ายรูปในศาลาวัด
สำหรับจังหวัดหนองบัวลำภูนั้น ในวันดังกล่าว กลุ่มสตรีศรีหนองบัว ได้ทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ที่ศาลาวัดอุทุมพรพิชัย บ้านห้วยเดื่อ ต.โนนทัน อ.เมือง โดยในเวลาประมาณ 07.00 น. กลุ่มฯ ได้ใส่เสื้อของศูนย์ปราบโกงที่มีข้อความ “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” ประชาสัมพันธ์ให้คนที่มาทำบุญในวัดไปลงประชามติ พร้อมทั้งชักชวนให้ ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ที่มีข้อความเดียวกัน จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ
หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หลายนายมาที่ศาลาวัดดังกล่าว และเข้าไปสอบถามพระครูอุบล อุปะจันโทร เจ้าอาวาสวัด เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตอนเช้า จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ไปติดตามหาป้าย และคนที่อยู่ในรูปถ่ายกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ซึ่งมีประมาณ 20-30 คน ยึดป้าย และควบคุมตัวมาได้จำนวนหนึ่ง นำไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองบัวลำภู เพื่อทำการสอบปากคำ ขณะที่คนที่เหลือ ตำรวจได้โทรศัพท์ติดตาม รวมทั้งออกหมายเรียกให้เข้าไปรายงานตัวในวันต่อๆ มา รวมทั้งสิ้น 24 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าอาวาสวัดอุทุมพรพิชัยด้วย
แจ้งข้อกล่าวหา 15 ราย แม้บางคนไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ตามที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.หนองบัวลำภูเข้าแจ้งความ จำนวน 15 ราย ว่า “มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” อันเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 โดยในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า “เนื่องจากการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงฯ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง” ขณะที่พระครูอุบล เจ้าอาวาส และชาวบ้าน อีก 8 ราย ถูกสอบปากคำในฐานะพยาน
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ปรากฏในภาพถ่าย และไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนที่เหลือยอมรับว่า อยู่ร่วมในกิจกรรมจริง พนักงานสอบสวนจึงแจ้งว่า จะนำตัวผู้ต้องหาที่รับสารภาพเข้าไปปรับทัศนคติกับทหารไม่เกิน 7 วัน ก็จะถือว่าคดีเลิกกัน จากนั้นจึงปล่อยตัวผู้ต้องกลับโดยไม่ต้องประกันตัว และนัดหมายให้มารายงานตัวในวันที่ 4 ก.ค.59
ส่ง 12 ผู้ต้องหาที่รับสารภาพเข้ารับการอบรม ก่อนเซ็นเงื่อนไขไม่ทำผิดอีก และถือว่าคดีเลิกกัน
หลังเข้ารายงานตัวตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย ตำรวจจึงส่งตัวทั้ง 12 ราย เข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ทหารที่กองร้อยอาสารักษาดินแดงที่ 1 จ.หนองบัวลำภู การกระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่อาศัยเงื่อนไขตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ซึ่งระบุว่าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป) ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ด้านผู้ต้องหาที่ถูกส่งเข้าอบรมกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย อายุมากกว่า 50 ปี เปิดเผยหลังผ่านอบรมแล้วว่า มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายมาพูดคุย ทั้งรองผู้การกองกำลังฯ ปลัดจังหวัด นายอำเภอเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้ง กกต.จังหวัด บรรยากาศแม้จะไม่ตึงเครียด แต่เนื้อหาที่พูดเป็นการห้ามปรามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับศูนย์ปราบโกงฯ และการชุมนุมใดๆ อีก หากพบว่าทำผิดอีก จะดำเนินคดีทันที โดยไม่มีการส่งเข้าอบรมอีกแล้ว พร้อมทั้งจะระงับไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ตรวจสอบบัญขีธนาคาร และไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ
นอกจากการห้ามกระทำความผิดซ้ำอีก ก็เป็นการเชิญชวนให้ไปลงประชามติ ใช้เวลาในการเข้ารับการอบรมประมาณ 3 ชั่วโมง พอถึงเวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ก็ต้องรีบปิดการอบรม เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมมีภาระต้องกลับไปดูแลหลาน หรือคนป่วยทางบ้าน โดยให้ทุกคนเซ็นเงื่อนไขการปล่อยตัว ที่ระบุว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี
ผู้เข้ารับการอบรมรายหนึ่งเล่าความรู้สึกว่า รู้สึกถูกยัดเยียดข้อหา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วก็มาห้ามทำทุกอย่าง ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม จำกัดเสรีภาพของเรา
ก่อนหน้าที่จะมีการจัดกิจกรรมจัดตั้งศูนย์ปราบโกงฯ ในศาลาวัดดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.59 นายสนิท สมงาม และนายสุวาจิตร คำป้อง แกนนำ นปช.จ.หนองบัวลำภู ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวเข้าพบกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.หนองบัวลำภู ประกอบด้วย นายทหารระดับผู้บัญชาการ, ผู้กำกับ สภ.เมืองหนองบัวลำภู, ปลัดอำเภอเมือง รวมทั้ง กกต.จ.หนองบัวลำภู โดยเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในวันที่ 19 มิ.ย.59 และห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และให้ทั้งสองเซ็นข้อตกลง ก่อนที่จะปล่อยตัว เป็นเหตุให้ทั้งสองไม่ได้จัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของจังหวัดหนองบัวลำภู และให้การปฏิเสธเมื่อถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา นอกจากนี้ พ.ต.ต.เกษม บุญวิจิตร นายตำรวจเกษียณราชการ หนึ่งในแกนนำ นปช.จ.หนองบัวลำภู ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวเข้าไปห้ามไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ เช่นกัน
กรณีการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ นี้ นอกจากแกนนำ นปช. ส่วนกลาง 19 คน ที่ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แล้วพบว่า ในจังหวัดต่างๆ มีการเรียกชาวบ้านเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเดียวกันแล้ว ดังนี้ จ.หนองบัวลำภู 15 ราย, จ.สุรินทร์ 17 ราย, จ.อุดรธานี 4 ราย, จ.สกลนคร 1 ราย, จ.ราชบุรี 10 ราย และ จ.แพร่ 5 ราย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ทหารแจ้งความชุมนุมการเมือง 5 หญิงเสื้อแดงเปิดศูนย์ปราบโกงเด่นชัย ก่อนผู้ต้องหายินยอมรับ’การอบรม’
แกนนำ นปช.อีสาน หลายจังหวัดถูกทหารสั่งระงับเปิดศูนย์ปราบโกง
ทหารเรียกคุย-ยึดป้าย-ขู่ใช้ข้อหาชุมนุม คุมเปิด ‘ศูนย์ปราบโกง’ หลายจังหวัดในภาคเหนือ