ตำรวจอ้างเหตุสั่งฟ้องวิชาญผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ เพราะยุยงไม่ให้คนไปลงประชามติ จำเลยเผยตำรวจเชิญไปกินกาแฟ แต่นำตัวไปโรงพัก ชี้แค่แสดงความเห็นส่วนตัวและแนวทางพรรค ไม่ได้ชวนประชาชนไม่ลงประชามติ ศาลพิพากษา 7 พ.ย. นี้
15-18 ส.ค. 60 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดสืบพยานคดีประชามติ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิชาญ ภูวิหาญ สมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ เป็นคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 2419/2559 ในข้อหา ก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยการเผยแพร่ข้อความ ปลุกระดม โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 จากกรณีที่จำเลยยืนพูดคุยในตลาดสด อ.พิบูลมังสาหาร โดยตำรวจชุดจับกุมระบุว่า จำเลยมีพฤติการณ์แสดงเอกสารและพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และพูดจาไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จำเลยให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล (อ่านข่าวก่อนหน้านี้ที่นี่)
หลังถูกจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหาว่า ก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย วิชาญได้อดอาหารประท้วง เพื่อให้ยกเลิกประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งไม่ยื่นประกันตัว อย่างไรก็ตาม วิชาญได้ยุติการอดอาหารในเรือนจำ หลังอดเป็นเวลา 12 วัน ต่อมา ทนายความของวิชาญได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายวิชาญโดยไม่มีเงื่อนไข ศาลจังหวัดอุบลฯ ได้ยกคำร้อง แต่อนุญาตให้ประกันตัว เมื่อวันที่ 8 ก.ย.59 โดยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันในวงเงิน 60,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
บรรยากาศในระหว่างสืบพยานได้มีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่มาร่วมรับฟังตลอดการพิจารณา ก่อนหน้านี้โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลรวม 8 ปาก ส่วนจำเลยยื่นบัญชีพยานบุคคลรวม 4 ปาก แต่หลังจากสืบพยานโจทก์ได้ 6 ปาก พยานจำเลย 3 ปาก โจทก์-จำเลยได้แถลงหมดพยาน ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 พ.ย. 60 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ หากศาลตัดสินว่า จำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้ ผู้กระทำความผิดฐานก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษ “จําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้” ซึ่งในคำขอท้ายคำฟ้อง นอกจากอัยการจะขอให้ศาลยึดเอกสารของพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติที่จำเลยถือในวันเกิดเหตุแล้ว ยังขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วย
แม้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไปโดยเรียบร้อย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 60 แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับประชามติยังไม่จบ ยังมีผู้ต้องหาและจำเลยอีกมากที่ยังต้องถูกดำเนินคดี และถูกพิพากษา (อ่านเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี) เช่นเดียวกับคดีนี้ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า คำพิพากษาจะออกมาอย่างไร กับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ
สรุปคำให้การของพยานโจทก์
ด.ต.ภพชัย จันทร์สืบ ผู้บังคับหมู่จราจร สภ.พิบูลมังสาหาร และ พ.ต.ท.พิีระศักดิ์ สุระมะณี สารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.พิบูลฯ ชุดจับกุมจำเลย ให้การสอดคล้องกันว่า วันเกิดเหตุ ขณะ ด.ต.ภพชัย ปฏิบัติหน้าที่บริเวณตลาดสด อ.พิบูลฯ ได้เห็นจำเลยยืนอยู่หน้าร้านขายไข่ พูดคุยกับเจ้าของร้านและคนในตลาด ชักชวนให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากยืนดูอยู่ประมาณ 5 นาที ด.ต.ภพชัย จึงเดินเข้าไปตักเตือนให้จำเลยหยุดพูด แต่จำเลยได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญวิปริตจะให้ไปเข้าร่วมได้อย่างไร ด.ต.ภพชัยเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีความผิด จึงได้แจ้งให้ พ.ต.ท.พิีระศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบ
เมื่อ พ.ต.ท.พิีระศักดิ์ ไปถึงที่เกิดเหตุ ก็เห็นจำเลยถือเอกสารกำลังพูดคุยกับคนในตลาดที่เดินผ่านไปมา มีคนยืนฟังพอสมควร แต่พอฟังแล้วก็เดินหนี พ.ต.ท.พิีระศักดิ์ยืนฟังประมาณ 5 นาที จับใจความได้ว่า จำเลยชักชวนคนไม่ให้ไปลงประชามติ และพูดถึงรัฐธรรมนูญว่า เป็นเผด็จการ จึงได้เข้าไปตักเตือน และกล่าวกับจำเลยว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ควรเก็บไว้ในใจ ไม่ควรจะเอามาพูดให้ประชาชนทราบ แต่จำเลยยังไม่หยุด พยานทั้งสองจึงเข้าจับกุม และยึดเอกสารที่จำเลยถือจำนวน 2 ชุด เป็นของกลาง แต่เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาชักจูงประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติ
หลังจับกุมพยานได้นำตัวจำเลยไปสอบสวนที่ สภ.พิบูลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทหารอยู่ด้วย จำเลยให้การกลับไปกลับมาคล้ายท่องจำมา และเหมือนมีสภาพจิตใจไม่ปกติ จึงได้พาจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ แพทย์มีความเห็นว่า จำเลยเพียงแค่มีสภาวะทางอารมณ์แปรปรวน พยานจึงนำตัวจำเลยกลับมาทำบันทึกการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.พิบูลฯ จำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม
นายไกรศรี ต้นทอง เจ้าของร้านขายไข่ ที่เกิดเหตุในคดีนี้ ให้การว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยได้มาพูดคุยกับตนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญวิปริต และเขาจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นมีลูกค้าที่มาซื้อของและประชาชน 4-5 คน ยืนฟัง บริเวณดังกล่าวมีผู้คนผ่านไปมาตลอด แต่จำเลยไม่ได้แจกเอกสารแต่อย่างใด ทั้งนี้ พยานไม่เคยได้ยินใครพูดว่า รัฐธรรมนูญวิปริตเหมือนที่จำเลยพูด
นายทอง มาริษา ผู้ใหญ่บ้านค้อใต้ อ.พิบูลฯ และนายอุทิศ แสงคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ให้การสอดคล้องกันว่า ได้รับการประสานจากตำรวจว่า มีลูกบ้านถูกจับกุมที่ตลาดสด อ.พิบูลฯ จำเลยเพิ่งย้ายมาอยู่กับภรรยาซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านค้อใต้ ได้ประมาณ 2 ปี ลักษณะนิสัยของจำเลยเป็นคนพูดเก่งและชอบพูดเรื่องแนวทางพรรคการเมืองของตน จำเลยยังได้เคยแจกเอกสารที่เป็นของกลางในคดีนี้ให้พยานและคนในหมู่บ้าน ซึ่งพยานเห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาปลุกระดมไม่ให้ไปลงประชามติ
ในช่วงการลงประชามติ จำเลยได้พูดชี้นำคนในหมู่บ้านไม่ให้ไปลงประชามติ โดยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญวิปริตบิดเบือน พยานคิดว่า จำเลยมีสภาพจิตใจปกติดี เพียงแต่พูดเรื่องการเมืองบ่อย
พยานโจทก์ปากสุดท้ายคือ ร.ต.อ.พิทยา บัวลา พนักงานสอบสวน สภ.พิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้สอบปากคำจำเลย และพยาน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้อง เนื่องจากจำเลยได้พูดกับคนในตลาด ในลักษณะที่เป็นการยุยงประชาชนไม่ให้ไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
สรุปคำให้การของพยานจำเลย
นายวิชาญ ภูวิหาร จำเลย ให้การเป็นพยานตนเอง ระบุว่า ตนเองมีอาชีพ ชาวนา มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ จำเลยได้ศึกษาการเมืองกับสถาบันปฏิวัติสันติพุทธอหิงสาธรรม ของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก่อนหน้านี้จำเลยเคยลงสมัครผู้แทนราษฎรของพรรคความหวังใหม่ เคยเข้าร่วมคณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร และร่วมก่อตั้งพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ ซึ่งเป็นพรรคที่สร้างโดยประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่ได้จดทะเบียน
จำเลยให้การอีกว่า ตนเห็นว่าลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาของประเทศไทย การยึดอำนาจแล้วร่างรัฐธรรมนูญ แล้วยึดอำนาจอีกคือวงจรอุบาทว์ทางการเมืองมา 85 ปีแล้ว จึงได้รณรงค์ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ โดยได้อธิบายว่า รัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย เป็นคนละเรื่องกัน และได้พูดสิ่งเหล่านี้ในตลาดสด อ.พิบูลฯ
เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุนั้น จำเลยเบิกความว่า ตนได้ขี่จักรยานไปขายข้าวที่ตลาดสด อ.พิบูลฯ ก่อนกลับบ้านได้แวะหาเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายไข่ (นายไกรศรี) พูดคุยชักชวนให้เข้าร่วมพรรคฯ และไปประชุมที่ จ.นครนายก โดยได้พูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญตามแนวทางของพรรคฯ คือ ไม่ทำ ไม่เข้าร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ไม่ได้ชวนให้ไม่ไปลงประชามติ เพราะว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดพังอยู่แล้ว ตนไม่จำเป็นต้องไปรณรงค์ ขณะที่ตนยืนพูดกับนายไกรศรี ได้สะพายย่ามซึ่งบรรจุเอกสารของพรรค และมีประชาชนเดินผ่านไปมา แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจในสิ่งที่ตนพูด ต่อมา ด.ต.ภพชัย ก็เดินเข้ามาซื้อของใกล้กับที่ตนยืนอยู่ แล้วกลับออกไป จากนั้น เมื่อตนเดินกลับไปที่รถจักรยานเพื่อกลับบ้าน ก็มีตำรวจหลายนายเดินมาหา ขอเชิญไปกินกาแฟ แต่แล้วตำรวจกลับพาไปที่ สภ.พิบูลฯ ค้นกระเป๋า ยึดโทรศัพท์มือถือ และตรวจปัสสาวะ ทำให้ตนติดต่อใครไม่ได้
ส่วนผู้ใหญ่บ้านค้อใต้ จำเลยระบุว่า รู้จักกันมาหลายปีแล้ว และมักจะพูดเรื่องแนวทางของพรรคฯ ให้ฟัง แต่ไม่ได้ห้ามไปลงประชามติ เช่นเดียวกับที่คุยกับชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่จำเลยไม่เคยพูดคุยกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
พยานจำเลยอีก 2 ปาก คือ นายภิเศก อาจทวีกุล ทนายจำเลย และนายสมาน ศรีงาม สื่อมวลชน/รักษาการหัวหน้าพรรคการนำใหม่ฯ พยานทั้งสองคนเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยเป็นคนที่ทำงานอย่างเสียสละ แข็งขัน โดยพยานมีแนวคิดทางการเมืองเช่นเดียวกับจำเลย เอกสารของพรรคทั้ง 2 ชุด ที่ถูกตำรวจยึดเป็นของกลางในคดีนี้นั้น ไม่มีเนื้อหาปลุกระดมหรือชักจูงให้ประชาชนไม่ไปออกเสียงประชามติแต่อย่างใด นอกจากนี้ พยานเคยไปบ้านของจำเลยที่หมู่บ้านคอใต้ พบจำเลยพูดคุยเรื่องการเมืองกับชาวบ้านบ้าง แต่เป็นไปในลักษณะวิชาการ พยานเห็นว่าการกระทำของจำเลยและพรรคนั้น ไม่มีอะไรทำให้เกิดความขัดแย้ง มีแต่ไปยุติความขัดแย้ง
**ข้อมูลเพิ่มเติม วันที่ 25 เม.ย. 60 นายวิชาญ ภูวิหาร เดินทางไปยังศูนย์บริการประชาชน สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งก.พ.) อ้างตัวว่าเป็นผู้ถอนหมุดคณะราษฎร ตำรวจได้สอบปากคำว่า กระทำจริงหรือไม่ โดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ หิ้ว ‘วิชาญ ภูวิหาร’ อ้างถอนหมุดคณะราษฎร ส่งสน.ดุสิต )
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คดีโนโหวต อุบลฯ นัดสืบพยานสิงหา จำเลยยื่นคำให้การชี้อัยการกล่าวหาผิดหลัก ปชต.