พิพากษาจำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา “ไบร์ท ชินวัตร” คดี ม.112 แห่ขันหมากหน้าสน.บางเขน

7 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยที่หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ระหว่างกิจกรรมแห่ขันหมากไปให้กำลังใจผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ในอีกคดีหนึ่ง โดยการปราศรัยได้กล่าวถึงประเด็น “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และการแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระองค์

สำหรับที่มาที่ไปของคดีนี้ เกิดจาก เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 นักกิจกรรมได้จัดขบวนแห่ขันหมากไปให้กำลังใจ 8 ผู้ต้องหา ที่เข้ารับทราบข้อหาในคดี #ม็อบ29พฤศจิกาไปราบ11 ที่หน้า สน.บางเขน ต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการกิจกรรมนี้จำนวน 7 คน โดยแยกเป็นคดีข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ส่วนที่เหลือถูกกล่าวหาเฉพาะข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีของอานนท์-เพนกวิน-ไบรท์ ต่อศาลอาญา โดยหลังจากศาลนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว ได้นัดสืบพยานในวันที่ 5-8 มี.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นนัดสืบพยานโจทก์วันแรก ชินวัตรตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในส่วนของชินวัตรเป็นวันนี้ พร้อมให้พนักงานอัยการโจทก์แยกฟ้องคดีของอานนท์และพริษฐ์เข้ามาใหม่ภายในวันที่ 25 มี.ค. 2567

.

ช่วงเช้าวันนี้ ชินวัตรถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำพิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวมาที่ห้องพิจารณา 808 โดยมีครอบครัวมาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาโดยสรุป เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับ 200 บาท

อย่างไรก็ตาม จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 100 บาท  และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษในคดีที่พิพากษาไปก่อนหน้านี้

ต่อมาเวลา 10.00 น. ทนายความแจ้งว่าได้ยื่นขอประกันตัวชินวัตรระหว่างอุทธรณ์แล้ว  โดยนายประกันของชินวัตรขอวางหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกชินวัตร 3 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ชินวัตรไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ในคดีนี้ ทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 8 วันแล้ว 

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ชินวัตรยังถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในคดีมาตรา 112 เช่นกัน จากปราศรัยในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัวชินวัตรระหว่างอุทธรณ์ 

หากนับโทษจำคุกในสามคดีที่ไม่รอลงอาญานี้ ชินวัตรมีโทษจำคุกจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รวม 7 ปี 6 เดือน 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงปัจจุบัน (7 มี.ค. 2567) มีผู้ถูกคุมขังในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งระหว่างพิจารณาและสิ้นสุดแล้วอย่างน้อย 42 คน โดยมีชินวัตรเป็นรายล่าสุด จำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 25 คน

.

X