ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ ปอ.ม.217 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดหลักนิติธรรม ก่อนนัดพิพากษาคดี 112 “แอมมี่-ปูน” กรณีวางเพลิงรูป ร. 10 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

15 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดพร้อมเพื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในคดีของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues และ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 จากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่แอมมี่และปูนส่งคำร้องว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 ทำให้ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 26 มี.ค. 2567 

ก่อนหน้านี้ ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 แอมมี่และปูนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ระบุว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

และมาตรา 34 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

ดูฐานข้อมูลคดีนี้>> คดี 112 “แอมมี่-ปูน” วางเพลิงรูป ร. 10 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 217 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ระบุเป็นบทบัญญัติที่ชัดเจนแน่นอน มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

ที่ห้องพิจารณา 903 เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกไชยอมรและธนพัฒน์มาที่หน้าห้องพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ฟัง มีใจความโดยสรุปว่า 

ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองที่ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนแน่นอน เนื่องจากไม่ได้บัญญัติถ้อยคำว่า “อันเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” อันแสดงถึงคุณธรรมที่เป็นมูลฐานที่กฎหมายต้องการคุ้มครองอย่างชัดแจ้ง เปิดช่องให้เกิดการตีความที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง และบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะคุ้มครองทรัพย์ของบุคคลมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์อยู่แล้ว ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำเช่นใดจะเป็นความผิดกฎหมายบทใดระหว่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 กับมาตรา 358  

ทั้งเมื่อพิจารณาการเผาทรัพย์ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะหรือการประท้วงเรียกร้อง เป็นการแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้สัดส่วนและเกินสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้ บทกำหนดโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ยังไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เมื่อเทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นการทำลายหรือทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียไปเช่นเดียวกัน กลับมีบทกำหนดโทษต่ำกว่าและเป็นความผิดอันยอมความได้อีกด้วย 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามหลักนิติธรรมกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้น และโดยที่การลงโทษทางอาญาเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล ต้องมีหลักประกันว่ากฎหมายอาญาต้องบัญญัติถ้อยคำที่เป็นองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจนแน่นอนไม่คลุมเครือ เพื่อให้ประชาชนรู้ได้ว่าการกระทำใดกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและต้องรับโทษเช่นใด 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาญาอาจบัญญัติถ้อยคำเพียงเท่าที่ชัดเจนแน่นอนพอควรและอาศัยการตีความตามบริบทของเรื่องประกอบกับบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติถ้อยคำให้อยู่ในระดับที่ระบุเฉพาะเจาะจงลงไปอย่างละเอียด เพราะบางกรณีอาจเป็นการเหลือวิสัยที่กฎหมายจะบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนแน่นอนจนปราศจากการต้องตีความโดยสิ้นเชิง ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาเพื่อลงโทษบุคคลนั้น นอกจากการตีความตามตัวอักษรเพื่อค้นหาเจตนารมณ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณธรรมทางกฎหมายที่ถือเป็นประโยชน์หรือคุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองซ่อนอยู่ภายใต้บทบัญญัติที่ผู้ตีความต้องค้นหาเพื่อใช้ประกอบการตีความด้วยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น…” กับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 358 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย…” ประกอบกับการจัดลักษณะความผิดของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายมุ่งจะคุ้มครองแล้ว เห็นได้ว่า ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติในลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันอันตรายต่อประชาชน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน 

เนื่องจากการนำเพลิงไปวางเพื่อเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดที่ก่ออันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน เพราะโดยสภาพและธรรมชาติของไฟนั้น หากเกิดเพลิงไหม้แล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น ความเสียหายจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ยังเป็นความเสียหายที่ยากแก่การควบคุม ไม่อาจกำหนดขอบเขตความเสียหายไว้เพียงแค่ทรัพย์ที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำ และความเสียหายนั้นอาจลุกลามแผ่ขยายออกไปได้อีกอย่างรวดเร็วและไม่มีขอบเขตจำกัดจนไม่อาจประเมินได้ ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้อื่นและประชาชน 

ฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้ภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้น จึงบัญญัติความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ขึ้น โดยหากผู้กระทำรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นและต้องการวางเพลิงเผาทรัพย์นั้น ผู้นั้นกระทำโดยมีเจตนาวางเพลิง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท และด้วยเหตุที่เป็นการกระทำที่มีความร้ายแรงต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป จึงบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินหรือความผิดอันยอมความไม่ได้ และลงโทษการกระทำที่แม้เป็นเพียงการตระเตรียมกระทำความผิด 

ดังนั้น แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 จะมิได้มีถ้อยคำที่บัญญัติว่า “อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” ก็ตาม แต่โดยสภาพของการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและเป็นภยันอันตรายต่อประชาชนอยู่ในตัว บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่มีความชัดแจนแน่นอนพอควร และเนื่องจากความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์มีผลกระทบที่ร้ายแรงมากกว่าความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ กล่าวคือ มิได้ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญาหนักกว่าและบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หรือความผิดอันยอมความไม่ได้ จึงได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดแล้ว

ส่วนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 นั้น เสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่เสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่รัฐไม่อาจจำกัดได้ หากแต่เป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขให้จำกัดได้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เมื่อประมวลกฎหมายอาญ ามาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 

ส่วนการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ จะตกอยู่ภายใต้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้หรือไม่ หรือการแสดงออกนั้นจะเข้าข่ายความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน กับผลกระทบจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้ว เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ มาตรา 34 

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 

ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ได้กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 มี.ค. 2567 

X