สัปดาห์ที่ผ่านมา นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรมอย่างน้อย 9 คน จากกลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก และกลุ่มพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยร้อยเอ็ด ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามไปที่บ้านเพื่อถ่ายภาพ ซักประวัติ ตรวจสอบที่อยู่ และสั่งไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่ทุกคนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วเป็นเวลาหลายเดือนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดรอบล่าสุด
เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายได้ให้เหตุผลการติดตามว่า เนื่องจากในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการ และเปิดอาคารหอโหวด 101 บริเวณบึงพลาญชัย จึงไม่อยากให้เยาวชนนักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
จะมีคนมาร้อยเอ็ด งดกิจกรรมการเมือง
ถั่วงอก (นามสมมติ) นักเรียนวัย 15 ปี เล่าว่า หากมีเชื้อพระวงศ์เสด็จมาที่ร้อยเอ็ด พ่อของเธอที่เป็นตำรวจในจังหวัดจะสั่งห้ามไม่ให้เธอออกจากบ้านประมาณ 3-4 วัน โดยครั้งนี้พ่อสั่งไม่ให้เธอออกจากบ้านตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 และถ่ายรูปขณะเธออยู่บ้าน โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากเธอจำเป็นจะต้องออกจากบ้าน พ่อจะให้แม่ออกไปด้วย เพื่อคอยติดตามไม่ให้เธอออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้เธอรู้สึกขาดความเป็นส่วนตัว “รู้สึกไม่ดี ที่ตำรวจมายุ่งวุ่นวายกับชีวิตเกินไป”
จี (นามสมมติ) นักศึกษาวัย 17 ปี เล่าว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม น้าของเธอโทรมาบอกว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด 3 นาย เดินทางมาที่บ้านในอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นบ้านของจีที่อาศัยอยู่กับน้า ทั้งที่ปกติเธออาศัยอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และเข้าไปเรียนในตัวเมืองร้อยเอ็ด
ในคลิปวีดีโอที่น้าบันทึกไว้ ชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามหาตัวเธอ พร้อมบอกว่าจีเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเป็นต้องเฝ้าระวังไม่ให้ออกมาจัดกิจกรรม เพราะช่วงนี้จะมีงานรับเสด็จในจังหวัด ยายของจีจึงตอบว่าเธอไม่ได้อยู่ที่นี่และไปฝึกงานที่ชลบุรี พร้อมบอกว่า “ถ้าจะมาแบบนี้ก็น่าจะบอกกันตั้งแต่แรกว่าเป็นตำรวจเพราะทำให้คนอื่นตกใจ นึกว่ามาจับคนก่ออาชญากรรมหรือมีคนไปฆ่าใครตาย และบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แสดง” การพูดคุยใช้เวลาราว 5 นาที เมื่อทราบว่าจีไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนในครอบครัวของเธอไม่สบายใจ อีกทั้งน้าของจียังกลัวจะกระทบต่อตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของตน และเป็นห่วงความปลอดภัยของจี น้าจึงโทรมาห้ามปรามไม่ให้เธอออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองทุกวัน ทั้งที่เธอไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีกเลย หลังงานชุมนุมแจกก้อย 112 จาน ที่บึงพลาญชัยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งยังมาฝึกงานที่ชลบุรีเกือบ 2 เดือนแล้ว
เต้าหู้ พนักงานขนส่งวัย 21 ปี เล่าว่าเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ธวัชบุรี ขอให้ผู้ใหญ่บ้านพาไปพบเขาและแม่ตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน แต่เต้าหู้มาพักอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งในอำเภอเดียวกัน ไม่ได้อาศัยอยู่บ้านหลังนั้น ตำรวจจึงขอเบอร์โทรติดต่อเต้าหู้จากแม่ โดยที่ไม่ได้แจ้งสาเหตุที่มาติดตามเต้าหู้ให้แม่รู้
วันเดียวกัน เต้าหู้ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจนัดให้เขาไปพบที่ตลาดแห่งหนึ่ง โดยมีตำรวจ 1 นาย มาพบและแจ้งว่า “ผู้ใหญ่ไม่อยากให้ไปยุ่ง หรือไปป่วน เพราะว่าจะมีคนมาหอโหวด แต่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร” ตำรวจพยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเต้าหู้อยู่ประมาณ 10 นาที จนเขารู้สึกว่าตนเองกระทำความผิด จากนั้นก็ถ่ายรูปเขาก่อนเดินทางกลับ “รู้สึกไม่พอใจเพราะเราก็ใช้ชีวิตปกติเรียกร้องในสิ่งที่เราน่าจะได้ เขากลับมาคุกคามเรา ทั้งที่เรายังไม่ได้ทำผิดกฎหมาย รู้สึกเหมือนมีคนคอยตามตลอดเวลาและรู้สึกถูกรบกวน” เต้าหู้กล่าวระบายความรู้สึก
ปั๊ก กราฟิกดีไซเนอร์ วัย 30 ปี เล่าว่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โพนทอง 5 นายติดตามไปที่บ้านโดยไม่มีหมายใดๆ พร้อมสำเนาทะเบียนราษฎร์ที่ระบุที่อยู่ของปั๊ก พวกเขามีท่าทีสังเกตพฤติกรรมของปั๊ก และพูดคุยเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมืองว่าอาจผิดกฎหมาย ทั้งยังบอกว่าพระเทพฯ จะเสด็จมาร้อยเอ็ดในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้
หลังจากตำรวจกลับไปแล้ว ได้ติดต่อปั๊กมาทางไลน์อีก ทั้งที่เขาไม่เคยให้ไอดีไลน์กับตำรวจ มีการสอบถามว่าขณะนี้ปั๊กอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร แต่เขาปฏิเสธที่จะให้คำตอบ และนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมเป็นต้นมา พ่อของปั๊กเล่าให้ฟังว่า ตำรวจหนึ่งในนั้นมาสอบถามความเคลื่อนไหวของปั๊กจากพ่อทุกเช้า
โฟล์ค วัย 21 ปี เล่าว่าขณะที่อยู่บ้านกับยายและแฟนที่อำเภอจตุรพักตรพิมานในวันที่ 16 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนนอกเครื่องแบบ 3 นายจาก สภ.จตุรพักตรพิมาน เดินทางมาที่บ้านของเขา พร้อมบอกว่า ตำรวจภูธรภาค 4 มีคำสั่งให้มาติดตามนักกิจกรรมในจังหวัด เพราะกลัวจะไปจัดกิจกรรมชูสามนิ้วในวันที่พระเทพฯ เสด็จมาร้อยเอ็ด
เจ้าหน้าที่ยังถ่ายรูปไปเป็นหลักฐานยืนยันว่า โฟล์คอยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปทำกิจกรรม พร้อมแจ้งว่าในวันที่ 20 พฤษภาคม จะมาอยู่ที่บ้านด้วยทั้งวันเพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของโฟล์คให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกชั่วโมง เขาตอบกลับว่า “มาได้ แต่ไม่ต้อนรับ ให้ยืนดูห่างๆ ถ้าอยู่ได้ก็อยู่” ไม่นานเจ้าหน้าที่ก็เดินทางกลับ
ตำรวจพร้อมกับผู้ใหญ่บ้านเดินทางมาที่บ้านของโฟล์คระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม วันละ 2 ครั้ง ในเวลาเช้าและเย็น มีการพูดคุยครั้งละประมาณ 10 นาที ซึ่งทำให้เพื่อนบ้านสงสัยว่าทำไมตำรวจจึงมาที่บ้านของเขาบ่อยครั้ง ส่วนวันที่ 20 พฤษภาคม ตำรวจไม่ได้เดินทางมาที่บ้านอย่างเคย มีเพียงตำรวจนายหนึ่งขับมอเตอร์ไซค์วนมาดูว่าเขาอยู่บ้านหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเขาไม่ได้ออกไปไหน ตำรวจก็ขับรถกลับไป
ฮอต รับจ้างซ่อมโทรศัพท์มือถือในห้าง วัย 27 ปี เล่าว่าวันที่ 15 พฤษภาคม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปที่บ้านในอำเภอธวัชบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน แต่ไม่พบเขา เพราะเขาย้ายมาอยู่ในอำเภอเมือง เจ้าหน้าที่จึงถ่ายรูปย่าและหลานของเขาที่อยู่ในบ้านดังกล่าวไปแทน โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุการมา ย่าจึงโทรศัพท์บอกเขา
ช่วงเที่ยงของวันที่ 18 พฤษภาคม ตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 นาย มาพบเขาขณะทำงาน เจ้าหน้าที่แสดงบัตรตำรวจและแจ้งว่า “จะมีคนมาร้อยเอ็ด ขอความร่วมมือไม่ให้จัดกิจกรรมทางการเมือง” ขณะที่เขาเองก็รู้สึกงง เพราะช่วงนี้ทำงานอยู่ตลอดและไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองแล้วระยะหนึ่ง จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ขอเบอร์ติดต่อพร้อมถ่ายรูป ทั้งยังพยายามขอที่อยู่ แต่ฮอตปฏิเสธ การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก่อนกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจย้ำว่า “อย่าทำกิจกรรมเพราะนายจะไม่ชอบ”
หยุดการเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงคุกคามครอบครัวนักกิจกรรม
อังกอร์ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดและนักดนตรีในนามวงสก๊อยปฏิวัติ เล่าว่าช่วงบ่ายของวันที่ 14 พฤษภาคม ตาและยายที่อาศัยอยู่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร โทรมาบอกว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาที่บ้านและสอบถามหาเธอว่าอยู่ที่ไหน เรียนอยู่หรือไม่ และถ่ายรูปคนที่บ้านไปก่อนเดินทางกลับ
ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม ระหว่างอยู่หอพักละแวกมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสลภูมิ 2 นาย เดินลัดเลาะและถามหาเธอจากคนในพื้นที่ เมื่อพบเธอที่หอพัก ตำรวจได้พูดคุยซักประวัติของเธออยู่ราว 5 นาที โดยไม่บอกสาเหตุที่มาพบ “ตกใจกลัวเพราะเจ้าหน้าที่มาแบบไม่ได้ตั้งตัว เราเองก็ไม่ได้ถามไปว่ามาทำไม” ก่อนกลับตำรวจได้ถ่ายภาพเธอและหอพักไว้
ช่วงวันที่ 18-19 พฤษภาคม มีโทรศัพท์เบอร์หนึ่งโทรเข้า เธอรับสายแต่ไม่มีคนตอบรับ เมื่อโทรกลับก็เป็นเสียงคอลเซนเตอร์ระบุว่า หมายเลขนี้ยังไม่เปิดให้บริการ เธอจึงกังวลใจว่ากำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดักฟังโทรศัพท์หรือไม่
กบ (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดอีกราย เล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบที่หอพักหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาไม่พบเธอ เพราะเธอออกไปเรียนและทำงาน ครั้งหนึ่งในวันที่ 7 พฤษภาคม เจ้าของหอพักโทรแจ้งว่ามีตำรวจตามหา เธอจึงขอเบอร์โทรศัพท์ของตำรวจจากเจ้าของหอ เมื่อโทรไปสอบถามพบว่าเป็นสารวัตรที่ สภ.เสลภูมิ ซึ่งกล่าวกับเธอว่า “ไม่มีอะไรหรอก เพราะพระเทพฯ จะเสด็จร้อยเอ็ด อยากรู้ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรกัน?”
ต่อมา ช่วงเที่ยงวันที่ 14 พฤษภาคม ตำรวจนายหนึ่งไม่ระบุสังกัดมาคุยกับพ่อแม่ของเธอที่บ้านในสกลนคร สอบถามว่าขณะนี้กบกำลังทำอะไร พ่อจึงตอบไปว่าไปเล่นดนตรีในที่ชุมนุมทางการเมือง และเขียนข่าวให้สำนักข่าวแห่งหนึ่งในภาคอีสาน จากนั้นตำรวจก็แสดงไฟล์เอกสารระบุว่าเธอเป็นบุคคลเฝ้าระวัง เพราะเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองในภาคอีสาน ก่อนกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า “ช่วงนี้ให้อยู่นิ่งๆ ไว้ก่อน อย่าเพิ่งทำอะไร” โดยพ่อกบก็รับปากกับตำรวจว่าจะช่วยดูแลพฤติกรรมของเธอ และเป็นเหตุให้แม่ขอให้เธอเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
คิว นักศึกษาปี 4 คณะครุศาสตร์ บอกว่าช่วงบ่ายแก่ของวันที่ 14 พฤษภาคม มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย ไปบ้านที่อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อคุยซักประวัติของเขาจากพ่อ พร้อมถ่ายภาพพ่อและบริเวณบ้านก่อนเดินทางกลับ จากนั้นก็มาอีกครั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งก็ไม่ได้แจ้งสาเหตุการมาเช่นเดิม แต่พยายามถามหาความเชื่อมโยงของคิวกับกลุ่มเคลื่อนไหวของนักศึกษาในร้อยเอ็ด ซึ่งเขามองว่าการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการคุกคามความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว “ตำรวจห้ามนักกิจกรรมให้หยุดเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงไปคุกคามครอบครัวแทน”
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เขาได้ข่าวจากประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ดว่า มีการเตรียมรับเสด็จกรมสมเด็จพระเทพฯ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ตำรวจไปติดตามเขาที่บ้าน ซึ่งคล้ายคลึงกับการที่ตำรวจไปพบนักศึกษาและนักกิจกรรมเมื่อปลายปีที่แล้ว (2563) ในช่วงที่มีหมายกำหนดการว่ารัชกาลที่ 10 จะเสด็จมาที่วัดเจดีย์ชัยมงคล ในจังหวัดร้อยเอ็ด
เช่นเดียวกับนักกิจกรรมและประชาชนในจังหวัดสกลนครอย่างน้อย 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามไปที่บ้านก่อนหน้านี้ (ต้นเดือนพฤษภาคม) โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” คาดว่าเป็นเพราะกระแสข่าวการเสด็จของพระเทพฯ ด้วยเช่นกัน
สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำหากมีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ไปในต่างจังหวัด
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
จนท.ติดตามความเคลื่อนไหว นร.-น.ศ.-นักกิจกรรมจำนวนมาก ก่อนการเสด็จถวายผ้าพระกฐินที่อุบลฯ
ตำรวจอุดรฯ เกรงนักเรียน-นักกิจกรรม ชู 3 นิ้ว ระหว่างเสด็จ ปรามถึงโรงเรียน-บ้าน