วันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่ สภ.เมืองร้อยเอ็ด เยาวชนและนักกิจกรรมกลุ่ม “สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกิจกรรม ‘แจกก้อย’ 112 จาน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 โดยนักกิจกรรม 12 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 5 ราย ถูกออกหมายเรียกข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีเพียงโทษปรับ วันนี้นักกิจกรรม 11 คน ซึ่งยังเป็นนักเรียน-นักศึกษาถึง 7 ราย จึงตัดสินใจให้การรับสารภาพ และยอมเสียค่าปรับเพื่อให้คดียุติ ส่วนนักศึกษาอีก 1 ราย ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไป เนื่องจากอยู่ระหว่างฝึกงาน และอยู่ในพื้นที่สีแดงของการแพร่ระบาดโควิด -19 ไม่สะดวกที่จะเดินทางมารายงานตัววันนี้
สำหรับกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด แยกผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ 4 ราย ออกไปแจ้งข้อกล่าวหาในอีกห้อง โดยมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมรับฟังกระบวนการด้วย ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนพยายามแจ้งข้อกล่าวหากับเยาวชนนักกิจกรรมทั้งสี่ในคราวเดียวพร้อมกัน แต่นักสังคมสงเคราะห์แย้งว่า ควรแจ้งข้อกล่าวหาทีละคน เพื่อให้ผู้ต้องหาไม่สับสน ได้ยินข้อกล่าวหาและโต้แย้งหรือปฏิเสธสิ่งที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาได้ชัดเจน
คณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด นำโดย พ.ต.ท.สมัย มงคลชู สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีนี้กับผู้ต้องหาทั้งสองกลุ่มว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 กลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก โดยสุทธิพร แดงอินทวัฒน์ กับพวก โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม “ราษฎรเงี่ยนก้อย” (กินก้อย 112 จาน) ที่ลานสาเกตนคร ต่อมามีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวตามที่สุทธิพรกับพวกเชิญทางเฟซบุ๊ก มีการแบ่งหน้าที่การทำดังนี้ สุทธิพร โพสต์ข้อความในเพจกลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกประชาสัมพันธ์กิจกรรม และทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกับเขมิกา ศรีเกาะ ปิดป้ายประกาศ “เงี่ยนก้อย” ที่บริเวณลานสาเกตนคร
โดยเขมิกา, ‘คาเนย์’ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี และ ‘ฟิลลี่’ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี เป็นแกนนำและพิธีกร, ‘นัทจิโกะ’ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี, อินธิราทร ดีจันทร์, ‘ถั่วงอก’ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี และชณัฐดล วีระสอน เป็นแกนนำและร่วมกิจกรรม, วราชัย เฉนียง และชุ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี เป็นแกนนำร่วมกิจกรรม และปรุงอาหาร (ก้อย), พรวิษณุ ศรีโชค เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ขนอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมและร่วมกิจกรรม, ภูมิพัฒน์ ภูมิภาค ร่วมกิจกรรมและช่วยตักก้อยแจกจ่ายให้กับประชาชน
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า
1.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10
2.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4
3.โฆษณาด้วยการปิดแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้ขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 10
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาแต่ละคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่เหมือนกัน สำหรับสุทธิพร ถูกแจ้งทั้ง 3 ข้อหา, เขมิกา ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ส่วนที่เหลืออีก 9 ราย ถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
เนื่องจากทั้งสามข้อหามีเพียงอัตราโทษปรับ เยาวชนและนักกิจกรรมทั้ง 11 คน ซึ่ง 7 คนยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาจึงตัดสินใจให้การรับสารภาพ เพื่อให้คดียุติลงในชั้นตำรวจ ก่อนที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ดจะเปรียบเทียบปรับตามอัตราโทษ ดังต่อไปนี้
สุทธิพร ถูกปรับตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 2,000 บาท, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ 200 บาท และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 500 บาท รวมถูกปรับ 2,700 บาท, เขมิกา ถูกปรับตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 2,000 บาท และตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ อีก 200 บาท รวมเป็น 2,200 บาท ส่วนคนอื่นๆ ทั้ง 9 ราย ถูกปรับตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ คนละ 2,000 บาท รวมทั้ง 11 คน เป็นเงินค่าปรับที่ชำระให้แก่พนักงานสอบสวน 22,900 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ประชาชนร่วมสมทบทุน หลังเพจ “สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก” ประกาศระดมทุนเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี
สำหรับคดีนี้ยังมี ชุ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามหลักสูตรของทางสถานศึกษาอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงและมีการควบคุมสูงสุดในการเดินทางเข้าออก ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด -19 จึงได้ทำหนังสือขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง
เขมิกา ศรีเกาะ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาแสดงความเห็นว่า สำหรับข้อกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดีนั้น ไม่สมเหตุสมผลเพราะการรวมกลุ่มเพื่อแจกลาบก้อย ที่เป็นอาหารอีสาน ไม่น่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองได้ ยิ่งเห็นข้อความที่ผู้ต้องหาบางรายถูกตั้งข้อหาวันนั้นยิ่งชวนฉงน โดยเฉพาะการปรุงอาหาร (ก้อย) หรือการแจกจ่ายอาหารก็กลายเป็นคดีแล้ว ทั้งๆ ที่กลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกต้องการเผยแพร่อาหารอีสานให้เป็นที่รู้จัก ในวันจัดกิจกรรม 26 มกราคม 2564 ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาต่อแถวรับอาหารไปด้วย แต่ไม่ได้มีการตักเตือนหรือแจ้งว่าทางกลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกทำผิดแต่อย่างใด
ส่วนเยาวชนอายุ 15 ปี อย่าง ‘ถั่วงอก’ และ ‘คาเนย์’ ต่างตั้งคำถามกับข้อหาชุมนุมทางการเมืองว่า การที่อยู่ในเหตุการณ์แจกก้อย 112 จาน ทำไมถึงกลายเป็นผู้ต้องหาไปได้ และหากไม่ใช่กรณีนี้ ถ้ารวมกันทำอย่างอื่นจะถือเป็นการชุมนุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาอย่างนี้หรือไม่
ทั้งนี้เหตุในคดีเกิดจากกิจกรรม ‘ราษฎรเงี่ยนก้อย’ กิจกรรมแจกอาหาร ส่งเสริมอาหารอีสานพื้นบ้าน “ก้อยดิบ-สุก” โดยสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก แจกอาหารประเภทก้อย 112 จาน บริเวณลานสาเกตนคร หน้าบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด จัดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 มกราคม 2564 โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับแจกก้อยราว 100 คน