หญิงสาวถูกเรียกตัวไปสถานีตำรวจ อ้างให้เป็นพยาน เหตุกดไลค์รูป “ยกเลิก 112” บนเฟซบุ๊ก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากปริยา (นามสมมติ) ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาหา แจ้งว่าให้ไปที่สถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคกลาง เพื่อยืนยันตัวตนของหญิงสาวอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนกับปริยาบนเฟซบุ๊ก และปริยาได้ไปกดไลค์รูปภาพที่มีข้อความ “ยกเลิก 112” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564 เวลา 11.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรระบุว่าเป็นรองผู้กำกับจากสถานีตำรวจในจังหวัด และต้องการให้ปริยาเดินทางไปพบที่สถานี โดยไม่ได้มีการออกหมายเรียก แต่บอกเพียงว่าต้องการให้ไปเป็นพยานยืนยันตัวตนของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง

เวลา 11.30 น. ปริยาได้ตัดสินใจเดินทางไปถึงสถานีตำรวจ และถูกแยกตัวไปสอบปากคำในห้องสอบสวนเพียงลำพัง ภายในห้องนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ปริยาแสดงบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง เพื่อยืนยันว่าตนเป็นเพื่อนกับหญิงสาวคนนั้นบนเฟซบุ๊กจริงๆ

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้หยิบภาพถ่ายใบหนึ่งขึ้นมา ปรากฏภาพถนนเส้นหนึ่ง ซึ่งมีสเปรย์สีขาวพ่นลงบนพื้นถนนเป็นคำว่า “ยกเลิก 112” เมื่อดูเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับปริยาว่าหญิงสาวคนนั้นเป็นผู้พ่นสีสเปรย์ และถูกแจ้งความเพราะกระทำการเช่นนั้น ปริยาจึงเข้าไปตรวจดูในหน้ากระดานข้อความเฟซบุ๊กของหญิงรายดังกล่าว และพบว่ามีการลงรูปดังกล่าวในเฟซบุ๊ก แต่เธอไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พ่นสีสเปรย์

หลังจากให้ดูภาพถ่ายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มตั้งคำถามกับปริยา โดยมีรองผู้กำกับและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งเป็นผู้สอบสวนและบันทึกปากคำ ตำรวจระบุว่าได้สังเกตเห็นว่าปริยาร่วมกดถูกใจให้กับรูปถ่ายที่มีข้อความพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112” จึงต้องการถามถึงเหตุผลที่ทำเช่นนั้น ปริยาจึงตอบว่าตนเองเห็นด้วยกับข้อความที่ปรากฏในรูป

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ตำรวจพยายามชวนคุยต่อว่าทำไมถึงเห็นด้วย สอบถามความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 112 และยังสอบถามพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กของปริยา อาทิเช่น เล่นเฟซบุ๊กตั้งแต่ตอนไหน ใช้เพื่อทำอะไรบ้าง รู้จักกับหญิงสาวผู้โพสต์ข้อความเป็นการส่วนตัวไหม โดยปริยาระบุว่าไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กเท่านั้น ไม่เคยพบปะหรือพูดคุยเป็นการส่วนตัวใดๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ถามปริยาในทำนองว่า “เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 จริงๆ หรือ คดีความช่วงนี้เยอะ รู้สึกหนักใจ เพราะตำรวจเป็นคนกลาง” เมื่อปริยาถามกลับว่าใครเป็นคนแจ้งความหญิงสาวที่พ่นสเปรย์เป็นคำว่า “ยกเลิก 112” เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบว่าตนไม่ได้ทราบเรื่องทั้งหมด แต่บุคคลธรรมดาน่าจะเป็นผู้แจ้งความ

หลังจากสอบถามเรื่องหญิงสาวในเฟซบุ๊กแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรายชื่อบัญชีเฟซบุ๊กที่กดถูกใจให้กับรูปถ่าย “ยกเลิก 112” มาให้ดู ซึ่งมีประมาณ 30 บัญชี และขอให้ปริยายืนยันว่าตนคือหนึ่งในผู้กดถูกใจให้กับรูปดังกล่าวจริงๆ

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำรูปถ่ายใบหน้าจากเฟซบุ๊ก และรูปถ่ายบัตรประชาชนของหญิงสาวรายนั้นมาเทียบกัน โดยให้ปริยายืนยันว่าบุคคลในภาพทั้งสองคือคนเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังนำหมายเลขของบัญชีเฟซบุ๊กของหญิงสาวคนนั้นมาให้ปริยาดูอีกด้วย ตำรวจได้ขอให้ปริยาเซ็นรับรองว่ารูปจากเฟซบุ๊กและรูปถ่ายบัตรประชาชนคือหญิงสาวคนนั้น และรูปถ่าย “ยกเลิก 112” มาจากเฟซบุ๊กของหญิงสาวรายนี้

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการบันทึกปากคำของพยาน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ปริยาพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าหญิงสาวคนนั้นโดนดำเนินคดีอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบกลับมาว่าในเบื้องต้นอาจจะเป็นคดี พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ แต่ไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่านี้ เพราะเพิ่งสอบปากคำพยานไปเพียง 2-3 คน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าปริยาจะไม่โดนดำเนินคดีใดๆ จากการกดถูกใจให้กับรูปถ่ายนั้น

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่าในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายน ในพื้นที่ภาคกลาง มีรายงานเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้แสดงความเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์หลายราย คาบเกี่ยวกับการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ ไปยังพื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 อาทิกรณีของ “ป้าเอียด” ในจังหวัดชัยนาท ซึ่งถูกตำรวจเดินทางมาสอบถามข้อมูลส่วนตัวถึงบ้าน

>>>หญิงชัยนาทวัย 61 ถูกตร.ไปหาถึงบ้าน อ้างติดตามเพราะมีขบวนเสด็จ

X