ปรับ 1,000 บาท ‘ชาตรี’ ชาวสุรินทร์ ติดป้าย “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

วันที่ 9 เมษายน 2564 ที่ สภ.เมืองสุรินทร์ ชาตรี ทองนำ พนักงานกองถ่ายภาพยนตร์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โฆษณาด้วยการปิดทิ้งหรือปล่อยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ  จากกรณีเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ชาตรีเขียนข้อความ “10 ล้าน ควรได้มากกว่าบ่อกากๆ” “ประยุทธ์ออกไป” “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ลงในกระดาษเอสี่  4-5 ใบ ไปแปะตามป้ายจราจร และป้ายประกาศที่ตั้งอยู่ริมถนนตัดผ่านหมู่บ้านในอำเภอเมืองสุรินทร์ โดยชาตรีให้การสารภาพ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท 

ช่วงเช้าของวันที่ 9 เมษายน ชาตรีเดินทางไปที่ สภ.เมืองสุรินทร์ ตามหมายเรียก ตั้งแต่เวลา 9.00 น. แต่เมื่อไปถึง ร.ต.อ.หญิง กันทิมา หวังรวมกลาง รองสารวัตร (สอบสวน) พนักงานสอบสวน ที่ออกหมายเรียกให้เขาไปพบ กลับไม่อยู่ และฝากเรื่องไว้กับร้อยเวร 

ชาตรีรออยู่ใน สภ.เมืองสุรินทร์ ราว 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงถ่ายรูปบริเวณ สภ.เมืองสุรินทร์ ไว้เป็นหลักฐานว่าเขาเดินทางมาถึงแล้ว แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ก่อนออกไปทำธุระในตัวเมืองสุรินทร์ 

เวลา 11.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาตามชาตรีให้กลับไปที่ สภ.เมืองสุรินทร์ พร้อมตำหนิว่าชาตรีหายไปไหน เพราะร้อยเวรกำลังรออยู่ ซึ่งชาตรีก็ได้แย้งว่า เป็นเขาต่างหากที่รอร้อยเวรเรียกตัว ก่อนที่จะเดินทางกลับไปที่สถานีตำรวจ และต้องรออีกราวครึ่งชั่วโมง ร้อยเวรจึงเรียกตัวเขาไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ในข้อหา “โฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ” ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ซึ่งมีเพียงอัตราโทษปรับ ชาตรีจึงตัดสินใจให้การรับสารภาพ โดยพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงินสด 1,000 บาท ทำให้คดีสิ้นสุดลง ชาตรีได้เดินทางกลับบ้านในเวลา 12.00 น.  

ระหว่างชาตรีอยู่ใน สภ.เมืองสุรินทร์ ปรากฎเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คาดว่ามาจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ คอยถ่ายภาพของเขา โดยชาตรีไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวจะถูกส่งไปที่ไหน  

ชาตรีเปิดเผยว่า ที่เขาตัดสินใจรับสารภาพ และยอมเสียค่าปรับเพื่อให้คดีจบไป เหตุเพราะจะได้หมดห่วงว่าแม่ของเขาจะไม่ต้องถูกคุกคามอีก เนื่องจากปกติเขาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ นานๆ จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์สักครั้ง ตามช่วงเทศกาล การที่เขาไปทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจไปที่บ้านของเขาซึ่งมีแม่อยู่ที่บ้านคนเดียว ก่อนจะออกหมายเรียกให้เขาไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุรินทร์ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ชาตรีจึงขอเลื่อนเป็นวันที่ 9 เมษายน 2564

สำหรับเหตุในคดี ย้อนไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ในช่วงเลือกตั้ง อบจ. (20 ธันวาคม 2563) และปีใหม่ เขาได้กลับไปบ้าน ปกติเขากลับบ้านปีละ 2-3 ครั้ง ในช่วงเทศกาล ครั้งนั้นเขาได้เขียนข้อความ “10 ล้าน ควรได้มากกว่าบ่อกากๆ” “ประยุทธ์ออกไป” “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ลงในกระดาษเอสี่จำนวน 4-5 ใบ แล้วไปแปะตามป้ายจราจร และป้ายประกาศที่ตั้งอยู่ริมถนนตัดผ่านหมู่บ้าน หลังจากนั้นไม่นาน ฝ่ายปกครองและกำนันก็มาเก็บไป

ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของชาตรี

ชาตรีให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 แม่ของเขาโทรศัพท์มาบอกว่า ผู้ใหญ่บ้านพาตำรวจมาหาที่บ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  เพื่อขอถ่ายรูปชาตรี แต่แม่บอกตำรวจว่า ชาตรีทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ตำรวจแจ้งเรื่องเกี่ยวกับป้ายและเรื่องให้ไปเสียค่าปรับ ก่อนบอกแม่ว่า เดี๋ยวจะกลับมาใหม่ ชาตรีกล่าวว่า ผู้ใหญ่บ้านรู้ว่า เขาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ที่พาตำรวจไปถ่ายรูปเขา ชาตรีคาดว่าเพื่อจะคุกคามแม่ที่อยู่บ้านคนเดียว เพื่อให้แม่ตกใจกลัว เนื่องจากคุกคามตัวเขาไม่ได้ ปกติที่บ้านจะมีพี่สาว 2 คน พี่เขย และหลานๆ แต่ตอนกลางวันทุกคนออกไปทำงานหมด เหลือเพียงแม่คนเดียว 

ชาตรีเล่าอีกว่า วันที่ไปติดป้ายไม่มีใครเห็น แต่ที่ผู้ใหญ่บ้านและตำรวจมาตามตัวชาตรีถูก เนื่องจากไม่มีใครในหมู่บ้านที่ทำกิจกรรมแบบนี้ ไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องปัญหาต่างๆ พูดเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับน้ำในหมู่บ้านเหมือนเขา 

ก่อนหน้าวันที่ 26 มกราคม 2564 กำนันก็ได้มาคุยที่บ้านแล้ว ตอนนั้นทั้งแม่และพี่สาวก็อยู่ด้วย กำนันบอกว่า เขาไม่รู้หรอกว่าชาตรีจะเป็นคนเขียนกระดาษดังกล่าวหรือไม่ แต่รู้ว่าชาตรีแสดงออกทางการเมืองแบบนี้ จึงมาพูดคุยปรับความเข้าใจและชี้แจงข้อมูล อ้างว่า “เจ้านาย” ไม่สบายใจในสิ่งที่ชาตรีแสดงออก 

สำหรับชาตรี ปัจจุบันอายุ 36 ปี เขาพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยทำงานเป็นพนักงานกองถ่ายภาพยนตร์ และมักแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง 

 

 

X