ตำรวจไปบ้านนักกิจกรรม บุรีรัมย์-สุรินทร์ 4 ราย หวั่นชูป้าย-ยื่นฎีกาช่วงพระเทพฯ เสด็จส่วนพระองค์ กำชับเชิงขู่ “ระวังมือที่สามจะทำร้าย”

ปลายเดือนมิถุนายน 2564 เพจท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โพสต์ประชาสัมพันธ์การเตรียมการรับเสด็จพระเทพฯ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 5 – 9 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการเสด็จทางเครื่องบิน ลงเครื่องที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ (เป็นการส่วนพระองค์) หลังจากนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลจากนักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์รวม 4 ราย ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาที่บ้านเพื่อสอบถามข้อมูลและปรามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเจาะจงไปที่คนที่เคยชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในนามกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอด และกลุ่มคนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ 

เมื่อเหล่านักกิจกรรมคาดคั้นถึงเหตุผลในการไปตามหาพวกเขาขณะมีการเสด็จ จึงได้คำตอบว่าไม่อยากให้มีการถือป้ายชุมนุมประท้วง และเกรงจะไปยื่นฎีกากับพระเทพฯ มีบางรายที่เจ้าหน้าที่มาเพียงถ่ายภาพและขับรถออกไปโดยไม่ได้แจ้งว่ามีวัตถุประสงค์อะไร

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ติดตามถึงบ้านระหว่างมีการเสด็จ ตั้งแต่ปี 2564 เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดมาแล้วที่จังหวัดสกลนคร จังหวัดร้อยเอ็ด และ จังหวัดขอนแก่น  

ไม่อยากให้ไปไหน แต่หากจะไปให้ระวังมือที่สาม

เป็ด (นามสมมติ) นักศึกษาปี 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 1 นาย จาก สภ.บ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ไปหาพ่อกับแม่ของเป็ดที่บ้านซึ่งเปิดเป็นร้านค้าด้วย เพื่อสอบถามหาเป็ด ก่อนพ่อและแม่ของเป็ดจะพาตำรวจไปที่บ้านอีกหลัง ซึ่งเป็ดแยกไปอยู่คนเดียว 

เมื่อได้พบเป็ด ตำรวจนายนั้นกล่าวกับเป็ดต่อหน้าพ่อแม่ว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาติดตาม เนื่องจากเป็ดเป็นหนึ่งในแกนนำจัดชุมนุมในบุรีรัมย์ตั้งแต่ปี 2563 อีกทั้งตอนนี้จังหวัดบุรีรัมย์กำลังจะเตรียมเปิดจังหวัดหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นช่วงการเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ จึงไม่อยากให้มีการถือป้ายชุมนุมประท้วง และขอความร่วมมือว่า ไม่อยากให้ไปไหนในช่วงนี้

ตำรวจ สภ.บ้านกรวด ยังสอบถามอีกว่า เป็ดจะไปทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่พระเทพฯ เสด็จหรือไม่ ก่อนกำชับด้วยถ้อยคำปริศนาคล้ายคำขู่ว่า เป็ดจะไปไหนให้ระวังมือที่สามจะทำร้าย ใช้เวลาพูดคุยอยู่ราว 10 นาที ตำรวจจึงกลับไป แต่คำพูดของตำรวจเรื่องมือที่สามกลับทิ้งความกังวลอย่างมากไว้กับครอบครัวของเป็ด โดยเฉพาะแม่ 

เป็ดเล่าว่า นอกจากเขาจะทำกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกแล้ว ยังเคยไปร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศที่กรุงเทพฯ ด้วย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเป็ดก็ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเลย แต่ยังคงติดตามข่าวสารการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แล้วยังเป็นช่วงที่เขาเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย    

ไปบ้านสองพ่อลูกนักกิจกรรม WeVo ถ่ายภาพก่อนขับออกไปไม่บอกกล่าวถึงการมา

โสภา สิริ อายุ 44 ปี ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า บ่ายวันเดียวกับที่มีตำรวจไปหาเป็ด ขณะที่เขาอยู่บ้านกับครอบครัว ได้สังเกตเห็น รถกระบะสี่ประตูสีบรอนซ์คันหนึ่งวิ่งผ่าน โดยชะลอความเร็วลงขณะที่ผ่านหน้าบ้าน ก่อนที่คนในรถจะเปิดกระจกลงและถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้าน แล้วขับออกไป โสภาคาดว่า เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

ในตอนนั้นเขายังไม่รู้สาเหตุที่เจ้าหน้าที่มาติดตามถ่ายรูป แต่ได้โทรเล่าเหตุการณ์ให้ จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ ฟัง กระทั่งได้ทราบข่าวจาก เพจท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โพสต์ประชาสัมพันธ์ว่า ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 พระเทพฯ จะเสด็จไปสุรินทร์ แต่จะมาลงเครื่องที่สนามบินบุรีรัมย์ โสภาจึงเข้าใจว่า ที่เจ้าหน้าที่มาตามหาและถ่ายรูปบ้านของเขาไป เพราะจะมาตามเช็คว่า เขาจะอยู่ที่ไหนในระหว่างที่พระเทพฯ เสด็จผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ 

โสภาเคยทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะย้ายกลับมาประกอบอาชีพที่บ้าน ต่อมาในช่วงที่มีการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งในบุรีรัมย์ กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในภาคอีสาน โสภาได้ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่ม “บุรีรัมย์ปลดแอก” และร่วมเป็นมวลชนอาสากับกลุ่ม We Volunteer หรือ WeVo โดยกิจกรรมที่โสภาเข้าร่วมครั้งหลังสุดคือ “จิตวิญญาณคณะราษฎรไม่มีวันตาย” ในโอกาสรำลึกอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 

นอกจากโสภา อิ๊กคิว ลูกชายวัย 19 ปี ของโสภา ก็ร่วมทำกิจกรรมในกลุ่ม WeVo เช่นกัน ทำให้โสภาคาดว่า เจ้าหน้าที่คงมาติดตามทั้งเขาและลูกชาย เมื่อสอบถามไปยังอิ๊กคิวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัว เขาให้ข้อมูลว่า “เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่มีกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ จนผมรู้สึกระแวงว่า เจ้าหน้าที่จะมาทำอะไร รู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย”

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาตามหาโสภาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนเดือนตุลาคม 2563 หลังการชุมนุม “อีสานลั่นกลองรบ” ที่จังหวัดมหาสารคาม ครั้งต่อมาในช่วงมกราคม 2564 ขณะนั้นโสภาไม่อยู่บ้าน ไปที่ร่วมกิจกรรมขายกุ้งกลางสนามหลวงของกลุ่ม WeVo ก่อนจะมาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งโสภาไม่ทราบมาก่อนว่า พระเทพฯ จะเสด็จผ่านบุรีรัมย์

หวั่นนักกิจกรรมสุรินทร์ไปยื่นฎีกา แต่ก็ไม่ทราบว่าจะไปยื่นฎีกาด้วยสาเหตุอะไร

ไม่เพียงแต่ที่บุรีรัมย์ วิษณุพร นาสม ชายวัย 38 ปี พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเคยเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “สุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ” ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ขณะที่เขาทำงานอยู่ ทราบจากพ่อว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ มาถามหาเขา และถ่ายรูปบริเวณบ้าน เมื่อไม่พบตัววิษณุพรที่บ้าน ตำรวจนายนั้นจึงโทรมาหาเขาพร้อมสอบถามว่า ช่วงที่กรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จจังหวัดสุรินทร์ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ทางกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในสุรินทร์มีแผนจะไปถวายฎีกากับพระเทพฯ หรือไม่ วิษณุพรตอบไปว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการเสด็จ และคงไม่ได้คิดจะทำกิจกรรมอะไร 

วิษณุพรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเขาย้อนถามไปในรายละเอียดเรื่องการยื่นฎีกา ตำรวจนายนั้นก็ไม่ทราบว่า จะมีการยื่นฎีกาจากสาเหตุอะไร ตำรวจยังแจ้งกับวิษณุพรด้วยว่าจะเข้าไปหาในที่ทำงาน เพื่อถ่ายภาพยืนยันสถานที่อยู่ของวิษณุพรส่งให้กับผู้บังคับบัญชา แต่เมื่อวิษณุพรรออยู่ทั้งวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวก็ไม่ได้ไปหาเขาที่ที่ทำงานแต่อย่างใด

สำหรับวิษณุพรแม้ก่อนหน้านี้ในปี 2563 หากมีการจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในจังหวัดสุรินทร์ เขาจะเข้าร่วมทุกครั้ง และเป็นผู้ร่วมจัดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2564 วิษณุพรยังไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 และทางกลุ่มสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการก็ไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมมากนัก 

การติดตามนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่แสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นประจำในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนมากมีการระบุว่าพวกเขามีชื่อเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ของฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่มักให้เหตุผลเมื่อถูกตั้งคำถามถึงสาเหตุในการติดตามว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง สะท้อนกรอบคิดของเจ้าหน้าที่และรัฐที่ไม่ได้มองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่มีตามรัฐธรรมนูญ

ในหลายครั้งการเข้าติดตามถึงบ้านของเจ้าหน้าที่ไม่สวมใส่เครื่องแบบ ไม่แสดงบัตรเจ้าหน้าที่ หลายครั้งมีพฤติการณ์ข่มขู่คุกคามให้ผู้ถูกติดตามหรือบุคคลใกล้ชิดเกิดความหวาดกลัว ไม่ใช่กระบวนการตามกฎหมาย ทั้งยังเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ใช้เจ้าหน้าที่แอบอ้างเข้าคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ทหาร-ตำรวจขอนแก่น ติดตาม-เฝ้าบ้าน 3 นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม กลัวไปยื่นฎีกากับพระเทพฯ ระหว่างเสด็จ

นร.-นศ.-นักกิจกรรมร้อยเอ็ด 9 คน “ถูกปรามจัดกิจกรรม-ห้ามออกนอกบ้าน” ก่อนพระเทพฯ เสด็จเปิดหอโหวด 101

นอกเครื่องแบบติดตามประชาชนในสกลนคร 4 ราย อ้างเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ถือวิสาสะเข้าบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต

X