จำเลยผู้รับสารภาพในคดีนี้ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ขณะที่จำเลยผู้ต่อสู้คดี ยังถูกคุมขังรอคำพิพากษาอยู่ในเรือนจำ…
วันที่ 22 ก.พ.61 นี้ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาในคดี “แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ” ซึ่งมีจำเลยที่ต่อสู้คดีสองราย ได้แก่ นางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย
วันเดียวกับที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา เป็นวันครบรอบ 2 ปี 6 เดือน หรือ “สองปีครึ่ง” พอดิบพอดี ที่ “นพฤทธิ์” หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ถูกคุมขังในเรือนจำมา เขายืนยันตลอดมาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาและไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ โดยที่เขาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีมาจนถึงปัจจุบัน
เราเคยบอกเล่าเรื่องราวของเขาไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2559 ตั้งแต่การสืบพยานในคดียังไม่เริ่มต้นขึ้น (ดูใน “ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ) ผ่านไปปีเศษ การสืบพยานดำเนินไปจนเสร็จสิ้นลง โดยตัวเขายังคงอดทนต่อสู้คดีอันยืดเยื้อ จนถึงวันรอฟังคำพิพากษา
ต่อไปนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งของเรื่องราวการกัดฟันยืนหยัดใน “สังเวียน” นี้ของนพฤทธิ์ อดีตนักมวยสากลในวัยย่าง 31 ปี ผู้ยังไม่ยอมให้ตนถูก “น็อค” ล้มลง
.
ความหลังครั้งหัดเป็นนักมวย
อย่างที่พอรู้ จุดเริ่มต้นแห่งเรื่องราวในคดีนี้ในส่วนของนพฤทธิ์ เริ่มจากการเป็นนักมวยสากลในสมัยมหาวิทยาลัย และได้รู้จักรุ่นพี่นักมวยในชมรม ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง กีฬาหมัดมวยได้เสมือนกลายมาเป็นชีวิตจิตใจของ “เด็กบ้านนอก” คนหนึ่ง
จากเด็กที่วิ่งเล่นตามท้องไร่ท้องนาของครอบครัวเกษตรกรในอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี หลังจบการศึกษาในชั้นประถมและมัธยมต้น เหมือนกับเด็กต่างจังหวัดหลายๆ คนที่พอมีความสามารถทางการศึกษา และครอบครัวอยากให้มีโอกาสในการเข้าถึง “ชีวิตที่ดีกว่า” เขาถูกส่งเข้ามาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดราชบพิธในกรุงเทพฯ และได้อาศัยวัดแห่งหนึ่งใจกลางเมืองหลวงเป็นที่คุ้มหัวนอน
นพฤทธิ์เล่าว่าเขาเริ่มชกมวยตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายนี้เอง เนื่องจากมีเพื่อนคนหนึ่งที่บ้ากีฬามวยมาก จนถึงกับไปซ้อมชกจริงๆ ในค่ายมวยค่ายดัง อย่างค่ายนครหลวงโปรโมชั่น ค่ายซึ่งผลิตแชมป์โลกมวยสากลอาชีพมาแล้ว เขาจึงได้ลองติดตามไปด้วย และค่อยๆ พบกับความสนุกของการออกกำลังประเภทนี้ จนเริ่มไปซ้อมมวยทุกๆ วันหลังเลิกเรียน
“ตอนนั้นนอนที่วัด เป็นเด็กวัด อาศัยวัดเขาอยู่ หลวงพ่อก็ด่า เพราะซ้อมเสร็จก็สองทุ่มแล้ว กลับไปวัดดึก ตอนนั้นก็ยังต้องช่วยทำงานที่วัด ล้างจาน ล้างกุฏิต่างๆ ด้วย กว่าจะได้เข้านอนก็มืดค่ำ แล้วก็ตื่นไปโรงเรียน”
ท่ามกลางการฝึกซ้อมอย่างหนักในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เขากลายเป็นนักกีฬามวยสากลของโรงเรียน และเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 เขาได้ลงแข่งขันชกมวยสากลของกรมพลศึกษา และได้ตำแหน่งชนะเลิศในครั้งนั้น เขาบอกอย่างภาคภูมิใจถึงความสำเร็จว่าตัวเองเป็นคนแรกในรอบ 17 ปี ของโรงเรียนที่ได้เหรียญทองในกีฬานี้ และต่อมายังได้ขึ้นไปรับรางวัลจากผู้อำนวยการของโรงเรียน ต่อหน้านักเรียนคนอื่นๆ ที่หน้าเสาธง
การชกมวยยังทำให้นพฤทธิ์ได้โควตาช้างเผือกในการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระหว่างเรียน เขาได้เข้าชมรมมวยสากล และได้เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย โดยชกในรุ่นไลท์เวท น้ำหนักเกิน 57 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 60 กิโลกรัม
“ตอนนั้นชีวิตมหาวิทยาลัย ผมขึ้นต่อยทุกปี ตอนกลางวันเรียน ตอนหลังยังพยายามมาทำงานกลางคืนไปด้วย เพื่อหารายได้ ก็ทำให้เวลาซ้อมหายไปบ้าง เพราะพออยู่ปี 2 ก็ออกมาจากวัด ไปเช่าห้องอยู่เอง ทำให้ต้องดูแลตัวเอง อายุประมาณ 20 ปี ต้องจ่ายทุกอย่างเอง ทำงานหาเอง แต่ยังดีในส่วนค่าเทอม มีคุณอาช่วยส่ง”
นพฤทธิ์คะแนว่าตลอดชีวิตนักชกในช่วงมหาวิทยาลัย เขาขึ้นชกในไฟท์ที่เป็นทางการมากกว่า 10 ไฟท์ แต่ก็ไม่เคยได้แชมป์ในกีฬามหาวิทยาลัย เหมือนกับตอนได้แชมป์ตอนเป็นนักเรียน เขาบอกถึงแนวทางการชกของตัวเองว่าเป็นมวยขยัน ขยันฝึก ขยันต่อย แม้เทคนิคหรือแทคติกต่างๆ จะสู้คนอื่นไม่ค่อยได้
“สิ่งที่ได้จากการชกมวย คือมันช่วยฝึกสมาธิ ร่างกายแข็งแรงขึ้น และมันได้ฝึกความรู้สึกของตัวเอง คือผมรู้สึกว่า เวลาเรารู้สึกกลัว ก็มักจะแพ้ แต่ถ้าไม่กลัว ก็มักจะไม่แพ้ ตอนชกหลายครั้ง เวลารู้สึกกลัวเมื่อไร มักจะโดนน็อคทุกทีเลย” นพฤทธิ์บอกถึงความรู้สึกที่เขามีต่อการชกมวยสากล
เมื่อเผชิญกับ “หมัดหนัก” ที่เรียกว่าคดีมาตรา 112
เช่นเดียวกับ “เด็กบ้านนอก” ผู้ดิ้นรนสร้างสถานะในชีวิต, นพฤทธิ์เริ่มหารายได้เลี้ยงตนเองตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมหาวิทยาลัย โดยทำงานเป็นดีเจเปิดเพลงในร้านอาหาร เขาใช้เวลาเรียนเพียงสามปีครึ่งก็จบปริญญาตรี และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพฯ ด้วย
ช่วงหลังเรียนจบจนถึงชีวิตการทำงาน นพฤทธิ์ได้ร้างลาจากสนามมวยไป และไม่มีวันคาดคิดว่า “สังเวียน” ใหม่ ที่เขาต้องขึ้นชกนั้น จะแตกต่างออกไปจากสังเวียนหมัดมวยที่เขาเคยชกโดยสิ้นเชิง
หลังจากเรียนจบ เขาก็ยังหารายได้จากงานเปิดเพลงมาอีกหลายปี ทั้งยังทำงานรับจ้างเป็นครูสอนสเก็ตน้ำแข็งเด็กๆ ในช่วงกลางวัน ก่อนจะได้งานประจำเป็นพนักงานขายในบริษัทที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 ด้วยความสามารถภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างดี ทำให้ได้อัตราเงินเดือนค่อนข้างสูง และเขายังทำงานเปิดเพลงในช่วงกลางคืนไปพร้อมกันด้วย
ในห้วงเวลานั้น นพฤทธิ์กลายเป็นความหวังและเสาหลักของครอบครัว เขาทำงานหนัก มีเงินส่งกลับบ้านให้พ่อและแม่ที่อุบลฯ ทุกๆ เดือน เขาวางแผนจะซื้อบ้านให้พ่อและแม่ใหม่ เขายังพบรักกับสาวชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อายุอ่อนกว่าตัวเอง 1 ปี หลังคบหาดูใจ ทั้งสองเลือกจะเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยกัน
ต้นเดือนมีนาคม 2558 เขาจัดงานแต่งงานกับภรรยาชาวญี่ปุ่น ในงานนั้นเอง รุ่นพี่จากชมรมมวยสากลนามว่า “วิเศษ” ได้เข้ามาแสดงความยินดีในงานมงคลสมรส และเกริ่นๆ ว่าจะชักชวนนพฤทธิ์ไปร่วมทำบุญ อันเป็นที่มาของเรื่องราวในคดีนี้
นพฤทธิ์เล่าถึงรุ่นพี่รายนี้ว่าเป็นรุ่นพี่ที่ “ซิ่ว” คือย้ายมาจากมหาวิทยาลัยอื่น และกลายมาเป็นคู่ฝึกซ้อมชกในชมรมมวยสากลของมหาวิทยาลัย โดยเขานับถือรุ่นพี่คนนี้ในฐานะที่ชกมวยเก่งกว่า เทคนิคดีกว่า แต่หลังจบการศึกษา ก็แทบไม่ได้พบกันอีก มีได้พบบ้างก็งานเลี้ยงรุ่นของชมรม แต่ก็นานๆ ที
ปลายเดือนมีนาคมปีนั้น เขายังเดินทางไปจัดงานแต่งงานกับภรรยาที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนกลับมาในช่วงต้นเดือนเมษายน หลังจากนั้น วิเศษได้โทรศัพท์มาชวนไปร่วมทำบุญที่จังหวัดกำแพงเพชร ในวันที่ 26 เม.ย. ทั้งยังเดินทางมาชักชวนด้วยตัวเองที่ร้านที่เขาทำงานอยู่เมื่อใกล้ถึงวันอีกด้วย โดยบอกเขาว่าไม่มีเพื่อนไปร่วมทำบุญ อยากให้ได้ทำบุญในหลังมงคลสมรส จนนพฤทธิ์ใจอ่อน และยินยอมไปเป็นเพื่อนด้วย
ก่อนหน้านั้น เขาไม่เคยแม้แต่ไปจังหวัดกำแพงเพชรมาก่อน ไม่รู้ว่าวัดที่จะไปว่าชื่ออะไร ไม่รู้ว่าเป็นการทำบุญในโอกาสอะไรของวัด และไม่เคยทราบเรื่องการไปแอบอ้างว่าเขาเป็น “หม่อมหลวง” กับทางวัด ระหว่างการไปร่วมทำบุญวันนั้น ก็ยังไม่ได้มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น แต่ต่อมา วันที่เขาไปร่วม “ทำบุญ” วันนั้น จะกลับกลายเป็นวัน “พลิกเปลี่ยนชีวิต” เขาไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง (ย้อนดูเรื่องราวในวันนั้นในรายงานข้างต้น)
ผ่านไปสามสี่เดือน นพฤทธิ์ยังใช้ชีวิตไปตามปกติ จนวันที่ 20 สิงหาคม 2558 นพฤทธิ์กับภรรยาไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรัก พร้อมกับมีเพื่อนคนหนึ่งที่ไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
ถัดจากนั้นเพียงวันเดียว เขาถูกเจ้าหน้าที่นำหมายจับไปแสดง ณ ที่ทำงาน โดยไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีคดีและมีหมายจับ เขาถูกพาตัวไปที่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นครั้งที่สอง แต่คราวนี้ไม่ได้ไปทำบุญ แต่กลับถูกกล่าวหาดำเนินคดีด้วยข้อหาหนักหน่วง และถูกคุมขังในเรือนจำของจังหวัดมานับแต่นั้น…
‘สังเวียนใหม่อันยืดยาว’ ในห้องพิจารณาคดี
จากคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยศึกษาเรื่องคดีมาตรา 112 ไม่เคยคิดฝันว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องลักษณะนี้ ไม่เคยรู้จักกระบวนการยุติธรรมเท่าไรนัก ไม่เคยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทาง “การเมือง”…ถึงวันนี้เขาต้องทำความรู้จักสิ่งเหล่านี้ โดยแลกด้วยอิสรภาพของตนเอง
หลังถูกจับกุมดำเนินคดี ครอบครัวของนพฤทธิ์เคยพยายามยื่นประกันตัวมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตตลอดมา จนทั้งนพฤทธิ์และครอบครัวถอดใจ และเลือกจะต่อสู้คดีไปให้ถึงที่สุดภายใต้การถูกของจำ เพื่อพยายามจะพิสูจน์ “ความบริสุทธิ์” ของตนให้ได้
คดีนี้มีจำเลย 4 ราย ถูกส่งฟ้องต่อศาลกำแพงเพชรเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ในข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ นพฤทธิ์เป็นจำเลยที่ 4 โดยตัวเขารู้จักเพียงวิเศษ เพื่อนรุ่นพี่ ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 เพียงคนเดียว แต่จำเลยร่วมอีกสองคน เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน
นพฤทธิ์เคยระบายถึงความรู้สึกของการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีเอาไว้ว่า “ผมเองก็ยังเป็นแค่คนที่ถูกกล่าวหา แต่กลับถูกปฏิบัติราวกับเป็นนักโทษ เหมือนผมถูกพิจารณาตัดสินไปแล้ว ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินเลย แต่เรากลับถูกคุมขังไว้ เวลาก็ผ่านไปทุกวัน สิ่งที่เราคิดไว้ แผนการในชีวิตต่างๆ ที่เคยวางไว้ อายุเท่าไรจะทำอะไร ที่เคยมองเห็น มันก็หายไป มองไม่เห็นแล้ว”
“วิเศษ” รุ่นพี่ของนพฤทธิ์ และ “กิตติภพ” จำเลยอีกรายหนึ่ง ต่อมายินยอมรับสารภาพ และศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกรวม 7 ปี 4 เดือน แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 3 ปี 8 เดือน
การมีจำเลยร่วมในคดีให้การรับสารภาพ ทำให้ในส่วนของจำเลยที่ยังต่อสู้คดี ต้องรอให้อัยการโจทก์แยกสั่งฟ้องเป็นคดีใหม่เข้ามา และเริ่มต้นกระบวนการถามคำให้การใหม่ ซึ่งกินระยะเวลาเพิ่มเข้าไปอีก 3-4 เดือน
ต่อมา ศาลนัดเริ่มสืบพยานในคดีของจำเลยสองรายที่ยังต่อสู้คดีอยู่ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นมา แต่พอถึงเวลา ก็ต้องเลื่อนนัดออกไปอีก เนื่องจากอัยการได้มีการยื่นฟ้องคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชน เพิ่มเติมก่อนหน้าการสืบพยานเพียงไม่กี่วัน โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนเคยมีการแจ้งข้อหานี้ต่อผู้ต้องหาทั้งสี่คนมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน แต่การทำสำนวนในข้อหาดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอให้ส่งฟ้องคดี แต่เมื่อได้มีการสอบพยานเพิ่มเติมแล้ว จึงได้มีการสั่งฟ้องเข้ามา และขอให้ศาลพิจารณาร่วมกับคดีที่ฟ้องมาเดิม
การฟ้องข้อหาใหม่เข้ามา ทำให้ศาลต้องกลับมาถามคำให้การในข้อหานี้ของจำเลยทั้งสี่คนใหม่ เมื่อ “วิเศษ” และ “กิตติภพ” ให้การรับสารภาพเช่นเดิม ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ และศาลได้พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยไปแล้ว จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับโทษอีก
ในส่วนนพฤทธิ์และอัษฎาภรณ์ ที่ยังยืนยันจะต่อสู้คดีในข้อหาที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด ทำให้อัยการต้องแยกฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก ต้องถามคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และนัดสืบพยานกันใหม่หมด กระบวนการกลับมาวนซ้ำ และทำให้คดีต้องล่าช้าออกไปอีกราว 8 เดือน กว่าจะมีนัดเริ่มสืบพยานอีกครั้ง ก็เดือนกรกฎาคม 2560
หลังจากคดียืดเยื้อยาวออกไป พ่อและพี่น้องคนอื่นๆ ของนพฤทธิ์ ก็ไม่ค่อยได้เดินทางจากอุบลราชธานีมาที่กำแพงเพชรเท่าไรนัก เนื่องจากใช้ระยะเวลาเดินทางนาน ไหนจะต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักอาศัย ค่ากินอยู่อื่นๆ ทั้งพ่อและแม่เองก็ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยพ่อมีช่วงที่ต้องเข้าผ่าตัดไส้เลื่อน ส่วนแม่ก็ต้องผ่าตัดเข่า ทั้งแม่ยังทำใจยอมรับสภาพการถูกคุมขังของลูกชายไม่ได้เลย มีเพียง “อภิชาติ” พี่ชายคนโต ที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ที่พอจะสะดวกเดินทางมาที่จังหวัดกำแพงเพชรได้บ้างในบางนัดของคดี และต้องเป็นคนคอยตอบคำถามญาติพี่น้องว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับนพฤทธิ์
“พ่อแกก็กังวล ถามทำไมมันนาน ทำไมไม่เสร็จซักที ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ขั้นตอนอย่างไร สืบพยานคืออะไร ส่วนแม่ยิ่งไม่เข้าใจเลย เราก็ต้องพยายามอธิบายด้วยภาษาของเราเอง ก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง อย่างผมเองก็มาศาลครั้งแรกในชีวิต เพราะคดีของน้องเหมือนกัน” อภิชาติ พี่ชายของนพฤทธิ์ เล่าถึงสถานการณ์ในครอบครัว
ภาวะถูก “ชก” ต่อเนื่อง จนหลังติดเชือก
กรกฎาคม 2560 การสืบพยานนัดแรกเพิ่งได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากนพฤทธิ์ถูกคุมขังมาจวนจะครบ 2 ปีพอดี และเนื่องจากเป็นคดีค่อนข้างใหญ่ มีพยานจำนวนมาก และคิวนัดคดีของศาลค่อนข้างแน่น ทำให้มีการกำหนดระยะเวลาการสืบพยาน 20 นัด สืบได้ราวเดือนละ 2-4 นัด กำหนดนัดสืบจึงใช้ระยะเวลายาวไปจนถึงเดือนธันวาคม
“มีผู้ต้องขังที่เข้าออกจากเรือนจำสามครั้งแล้ว ในคดีทำผิดเล็กๆ น้อยๆ กลับมาก็ยังเจอผมอยู่ในเรือนจำทุกครั้ง เขาก็ถามว่าผมยังอยู่อีกหรือเนี่ย” เรื่องเล่านี้กลายเป็น “โจ๊ก” ที่ขำไม่ค่อยออก ที่นพฤทธิ์เล่าให้ฟัง
ภาวะที่ปะเดปะดังกันเข้ามา ยังทำให้ความอดทนในการรอคอยการต่อสู้คดีมีลดน้อยลง จนดูเหมือนจะกลายเป็นการถูกคู่ต่อสู้ชกอยู่ฝ่ายเดียวซ้ำๆ จนหลังพิงเชือก โดยเฉพาะเรื่องของภรรยา ที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ทั้งอุปสรรคในเรื่องของภาษา ความซับซ้อนของทั้งเรื่องราวและกระบวนการในคดีที่เกิดขึ้น หลังจากมาเยี่ยมและมาที่ศาลในช่วงไม่กี่เดือนแรกของคดีอยู่ช่วงหนึ่ง หล่อนก็ค่อยๆ เงียบหายไป นพฤทธิ์ได้แต่บอกตัวเองว่าต้อง “ทำใจ” โดยไม่ได้ถือโทษโกรธอีกฝ่ายหนึ่ง
ขณะเดียวกัน “วิเศษ” เพื่อนรุ่นพี่ ภายหลังการลดหย่อนโทษให้นักโทษคดีถึงที่สุดในโอกาสวันสำคัญแล้ว ทำให้ได้รับโทษจำคุกจริงไปเป็นระยะเวลา 2 ปี กับ 1 เดือน และได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 ก่อนที่คดีของนพฤทธิ์จะสืบพยานแล้วเสร็จด้วยซ้ำ
ถ้าไม่ใช่คนใกล้ชิดสนิทสนม คงจะมีคำถามต่อนพฤทธิ์ไปแล้วว่า ทำไมเขาถึงไม่ยินยอมรับสารภาพ เมื่อการเลือกรับสารภาพน่าจะหมายถึงการรีบรับๆ โทษ และสามารถได้รับการปลดปล่อยได้รวดเร็วกว่า ดีกว่าติดคุกไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้กำหนดโทษ ไม่สามารถได้รับโอกาสการขออภัยโทษได้ ทั้งคดีอย่างมาตรา 112 จะมีใคร “สู้” ชนะสักกี่ราย
“ในสองสามปีที่ผ่านมา มีแว่บขึ้นมาในหัวบ้างว่าอยากออกไป อยากกลับบ้าน แต่ในใจไม่เคยคิดอยากรับสารภาพเลย แต่เพราะความยาวนานของมัน ทำให้มีคิดขึ้นมาในบางแว่บ โดยเฉพาะช่วงที่รู้สึกท้อ เช่น ช่วงที่เรือนจำบังคับให้ทำนู้นทำนี่เยอะๆ ทำให้คิดว่าถ้าได้อยู่ข้างนอกเราได้ทำอย่างที่อยากทำมากกว่านี้ แต่เมื่อคิดว่ายังไงเราก็ไม่ได้ทำผิดแบบนั้น เราก็ไม่เคยคิดรับสารภาพเลย”
นพฤทธิ์เล่าว่าส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงการต่อสู้ของเขา คือการได้อ่านหนังสือในเรือนจำ เนื่องจากมีเวลาว่างพอสมควร ทำให้แต่ละวันเขาเข้าไปหยิบจับหนังสือในห้องสมุดของเรือนจำ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเก่าหน่อย และมากกว่าครึ่งเป็นหนังสือธรรมะ
“อ่านไปเรื่อยๆ แทบหมดห้องสมุด โดยเฉพาะหนังสือธรรมะ ตอนแรกก็ไม่อ่าน แต่ส่วนใหญ่ในห้องสมุดมันเป็นหนังสือพวกนี้ บางท่อนบางข้อความของหนังสือพวกนี้ มันก็ช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น ช่วยให้กลับมาสังเกตตัวเอง ว่ามีอะไรเข้ามาในความคิด ได้จับสังเกตตัวเอง จิตเราคิดไปเองแล้วทำให้เกิดทุกข์ เกิดความเครียด ก็พยายามว่าอย่าไปคิด พยายามไม่เผลอไปคิด แค่แน่วแน่ว่าเราต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเรา”
ข้างในเรือนจำ ในช่วงระยะปีแรก นพฤทธิ์ต้องทำงานทำอิฐบล็อก โดยใช้แบบบล็อกมาอัดดิน ต่อมาได้ทำงานเป็นผู้ล้างอ่างล้างมือ ตกบ่ายพอมีเวลาให้ได้อ่านหนังสือเข้าห้องสมุด ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ก็มีเวลาให้ได้ออกกำลังโดยการยกดัมเบล เขาค่อยๆ ผอมลงจากสภาพในเรือนจำ
“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในเรือนจำ คือการมีผ้าห่มสามผืนในฤดูหนาว คือผืนที่ใช้ปูพื้น หนุนหัวนอน และห่มอีกหนึ่งผืน ไม่มีหมอนให้ ถ้าหนาวก็ไม่ไหว เสื้อหนาวมีแจกให้เป็นรายปี แต่หลายคนก็ไม่ได้รับ ทำให้ดึกๆ นอนไม่หลับเลย”
เขายังเคยคิดจะลงเรียนปริญญาตรีหรือปริญญาโทอีกสักใบ เพื่อใช้เวลาที่ต้องอยู่ในเรือนจำให้เกิดประโยชน์ แต่ก็พบว่าเรือนจำมีกฎระเบียบที่ให้เฉพาะผู้ต้องหาที่คดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ที่จะลงทะเบียนเรียนได้ ทำให้ตัวเขาเองไม่สามารถลงเรียนปริญญาใดๆ ได้ กลายเป็นว่าสิทธิของผู้ต้องขังที่ยังไม่ถูกพิจารณาพิพากษานั้น มีน้อยกว่าผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้วเสียอีก
ถ้าหากเราเชื่อนพฤทธิ์ว่าเขาไม่ได้กระทำความผิดจริงและเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วย้อนมามองกระบวนการที่เกิดขึ้น ผู้ยืนยันต่อสู้คดียังคงติดคุกยืดยาวออกไป แต่ผู้รับสารภาพว่ากระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวออกไปแล้ว ไม่ต้องเป็นนักกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็เกิดคำถามขึ้นได้เช่นเดียวกัน ว่ามันต้องมีความผิดเพี้ยนอะไรสักอย่างในสิ่งที่ถูกเรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” …
เสียงระฆังหมดยก กับการรอคอย “คำตัดสิน”
“ต่อยมวยชิงแชมป์ ยังไม่รู้สึกตื่นเต้นขนาดนี้เลย” นั่นเป็นความรู้สึกภายหลังการขึ้นเบิกความในศาลของนพฤทธิ์ ในฐานะที่อ้างตนเองเป็นพยาน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 วันท้ายๆ ของการสืบพยาน
วันนั้นเขาได้เบิกความบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคดี…ที่ตัวเองเฝ้ารออยากบอกต่อศาลมานานนับสองปี พร้อมยืนยันต่อศาลว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ตามที่มีการกล่าวหา
นพฤทธิ์บอกด้วยความโล่งใจหลังเบิกความเสร็จว่าจากพยานหลักฐานและสิ่งที่ได้ต่อสู้คดีไป เขาหวังว่าศาลจะเห็นว่าตนไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด จนถึงตอนนี้สองปีเศษ แม้จะพยายามทำใจ และยอมรับการต่อสู้ในกระบวนการนี้แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกตลอดว่ามันเนิ่นนานอยู่ดี
เมื่อถามถึงอนาคตถ้าหลุดพ้นคดี นพฤทธิ์บอกว่ายังต้องรอดูว่าบริษัทเดิมของเขายังยินดีรับกลับเข้าไปทำงานต่อหรือไม่ ในช่วงที่ถูกจองจำ บริษัทไม่ได้ไล่เขาออกและยังไม่ได้ให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เพียงแต่ไม่จ่ายเงินเดือนให้ในช่วงที่ขาดงาน โดยบริษัทมีระเบียบว่าถ้าไม่ได้กระทำความผิดจริง ก็ยังยินดีจะรับกลับเข้าทำงาน
“คงกลับไปทำงานเก็บเงิน ตอนอยู่ข้างในเรือนจำนี้ มีการนำเอาเรื่องเกษตรไอดอลมาให้ดู มีเกษตรกรปลูกผักเอง เลี้ยงสัตว์เอง แต่ทำตลาด และขายได้ เราก็เกิดความสนใจ ออกไป อาจจะจับธุรกิจสักอย่าง แต่เรื่องครอบครัวนั้น ผมก็ยังไม่รู้อนาคตเลยเหมือนกัน”
ถึงวันนี้ การสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว คล้ายกับเสียงระฆังหมดยกดังขึ้นไปแล้ว ไม่มีฝ่ายใดออก “หมัด” ได้อีก อดีตนักมวยผู้ตกเป็นจำเลยรอคอยและจดจ่อไปที่ “คำพิพากษา” ของ “กรรมการ” ที่กำลังจะมาถึง
เมื่อเราถามว่าถ้าคำพิพากษาไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง เขาจะทำอย่างไร
“ก็คิดว่าจะสู้ไปให้สุด เพราะตัดสินใจมาขนาดนี้แล้วว่าจะสู้” อดีตนักมวยคนหนึ่งคิดไว้เช่นนั้น
อ่านเพิ่มเติม
สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบ ม.112: ย้อนดูคดีในอดีต ก่อนเริ่มสืบพยานคดีแอบอ้างที่กำแพงเพชร
กฤษฎีกาไม่ส่งเอกสารความเห็นเรื่องสถานะสมเด็จพระเทพฯ ตามหมายเรียกศาล ระบุเป็นเอกสารลับ-มีผลต่อสถาบันฯ