สันติบาลไปหา นร.ม.ปลาย ข่มขู่ให้ลบโพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อ้างเจตนาดี

วานนี้ (23 ก.พ. 64) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ไผ่ (นามสมมุติ) นักเรียนมัธยมปลายในจังหวัดหนึ่งของภาคกลางถูกเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นายไปหาที่บริษัทของครอบครัว แจ้งให้ลบโพสต์เฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน พร้อมข่มขู่ว่าจะถูกจัดการหากไม่ให้ความร่วมมือหรือนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ 

ราว 11.00 น. ญาติที่อยู่ที่บริษัทโทรมาแจ้งไผ่ว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย มาที่บริษัทเพื่อขอพบไผ่ และให้ไผ่ไปที่บริษัททันที หลังตนเดินทางไปถึง พบเจ้าหน้าที่ 2 นาย ไม่ทราบสังกัดนั่งรออยู่ภายในบริษัท โดยมีเพียง 1 นาย แจ้งชื่อ ยศ และสังกัด โดยระบุว่า เป็นสันติบาลของจังหวัดนั้น

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สอบถามว่า ชื่อไผ่หรือไม่ และแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันฯ ในเฟซบุ๊กบ้างหรือไม่ จากนั้นจึงบอกให้ไผ่ลบโพสต์ที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ดังกล่าวทิ้ง โดยไม่ได้ระบุว่าโพสต์หรือข้อความใดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท และไม่ได้นำภาพของโพสต์เฟซบุ๊กที่ต้องการให้ลบมาให้ดูหรือลงลายมือชื่อ 

เจ้าหน้าที่ยังสอบถามถึงเหตุผลที่ไผ่โพสต์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ พร้อมระบุว่าถ้าไม่ชอบสถาบันฯ สามารถเลือกที่จะไม่แสดงออกได้ แต่เมื่อไผ่เลือกแสดงออก จึงมีความผิด  ทั้งยังเกลี้ยกล่อมให้ไผ่ให้ความร่วมมือ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่มาขอความร่วมมือโดยสันติ มีเจตนาดี และต้องปฏิบัติเช่นนี้เพราะได้รับคำสั่งมาจากหน่วยงานตำรวจในกรุงเทพฯ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี

แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกอีกว่า ถ้าไผ่ไม่ปฏิบัติตาม ต่อไปอาจมีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่บ้านและอาจถูกจับตัวไปได้ และหากนำเรื่องนี้ไปเล่าต่อ จะจัดการกับไผ่ โดยไม่เกรงใจครอบครัว

ไผ่เผยว่า เนื่องจากระหว่างการพูดคุยมีครอบครัวและพนักงานของบริษัทอยู่ในละแวกนั้น ตนจึงยอมตกลงว่าจะลบและไม่โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายภาพไผ่และครอบครัว พร้อมกับรูปบัตรประชาชน โดยไม่ระบุว่าจะนำไปใช้อะไร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำเอกสารข้อตกลงหรือเอกสารใดๆ มาให้ไผ่ลงลายมือชื่อ

“ไม่เข้าใจว่าทำผิดอะไร” 

ไผ่เล่าความรู้สึกหลังเจ้าหน้าที่มาหาว่า เขาไม่เข้าใจว่าการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ นั้นมีความผิดอย่างไร เพราะเขามักแชร์ข้อความหรือโพสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงสถาบันฯ บนฐานของเหตุผล เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจ ไม่เคยใช้คำพูดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทแต่อย่างใด ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ครอบครัวค่อนข้างกังวลเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับทั้งครอบครัวและบริษัท 

ทั้งนี้ การที่เจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านถือเป็นมาตรการนอกกฎหมายที่ใช้กดดันไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง (อ่านวิธีรับมือเมื่อเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้าน: “ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง”)

X