29 ก.ค. 2564 สมคิด (นามสมมติ) นักศึกษา ปวส.ปี 1 วิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งในอุดรฯ ได้รับการบอกเล่าจากพ่อขณะกลับถึงบ้านในเวลาประมาณ 3 ทุ่มว่า ช่วงเย็นผู้ใหญ่บ้านโทรมาบอกว่า มีตำรวจมาขอพบสมคิด แต่เมื่อพ่อบอกว่า สมคิดไม่อยู่บ้าน ตำรวจจึงแจ้งผ่านผู้ใหญ่บ้านว่าจะมาหาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น แต่ไม่ได้ระบุเวลา
วันต่อมา ก่อนเที่ยงเล็กน้อย สมคิดอยู่บ้านเนื่องจากเรียนออนไลน์ ผู้ใหญ่บ้านโทรศัพท์หาพ่อของสมคิด แจ้งว่าตำรวจกำลังเข้าไปหาสมคิด พร้อมนายกเทศมตรี จากนั้นไม่กี่นาที รถกระบะ 2 คัน ก็มาจอดหน้าบ้าน กลุ่มชาย 7-8 คน แต่งชุดไปรเวท เดินเข้ามาในบ้าน คนที่พ่อและสมคิดพอจะรู้จัก คือ ผู้ใหญ่บ้าน, นายกเทศมนตรี, สมาชิกสภาเทศบาล อีกคนเป็นผู้ใหญ่ในเทศบาล ส่วนคนที่เหลือซึ่งไว้ผมสั้นเกรียนคาดว่าเป็นตำรวจ ไม่ได้แนะนำตัวเอง จนกระทั่งสมคิดสอบถาม จึงบอกว่า มาจากกองบังคับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี
พ่อและสมคิดสอบถามสาเหตุที่มาพบ ครั้งแรก ตำรวจที่คาดว่าเป็นหัวหน้าชุดกล่าวว่า ไม่มีอะไร มาเยี่ยมเฉยๆ แต่แล้วก็พูดต่อว่า มาสอบถามว่า สมคิดได้แชร์รูปคนยืนหันหลังชู 3 นิ้ว หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 หรือไม่ ก่อนกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ตำรวจก็มีหน้าที่เสาะแสวงหาข้อเท็จจริง
สมคิดจึงกล่าวกับตำรวจว่า ถ้ามีการสนทนาเกี่ยวกับทางกฎหมาย ผมขอใช้ทนาย ชุดสืบคนเดิมตอบทันควันว่า เรียกมาเลย ทำให้ตำรวจอีกคนรีบชี้แจงว่า พวกพี่มีหน้าที่มาสอบถามว่า คนชื่อนี้ นามสกุลนี้ มีตัวตนอยู่ที่บ้านเลขที่นี้จริงหรือไม่ เท่านั้น ก่อนจะสอบถามข้อมูลส่วนตัวของสมคิดด้วยว่า ตอนนี้เรียนอยู่ที่ไหน
สมคิดถามด้วยความสงสัยอีกว่า การมาของเจ้าหน้าที่แบบนี้ต้องมีหมายเรียกหรือหมายศาลมั้ย ตำรวจตอบว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น แค่มายืนยันว่ามีตัวตนอยู่จริง พ่อจึงถามชุดสืบต่อว่า หลังจากนี้จะมาอีกมั้ย ถ้ามาอีกจะถือว่าคุกคามกันหรือไม่ ชุดสืบกล่าวในทรรศนะตัวเองว่า ตำรวจหรือรัฐบาลมีหน้าที่ การทำหน้าที่ไม่น่าจะถือเป็นการคุกคาม ผู้นำชุมชนก็มาด้วย พ่อจึงกล่าวโต้ว่า มันก็มองได้หลายแง่ เพราะผมไม่เคยเจอแบบนี้ ด้านนายกเทศมนตรีก็รีบอธิบายว่า ผมมาด้วย ไม่มีอะไรหรอก
ขณะพูดคุย สมคิดได้บันทึกวีดิโอไว้ ทำให้ตำรวจคนที่ทำหน้าที่พูดคุยกล่าวทำนองขู่ว่า ไม่ได้ว่าอะไรถ้าจะถ่ายวีดิโอไว้เป็นหลักฐาน หรือเอาไปโพสต์ในโซเชียล แต่ถ้าโพสต์แล้วมีการพูดจาให้พวกพี่เสียหายก็ต้องเป็นเรื่องของกฎหมายต่อไป โดยตลอดการพูดคุยมีการกล่าวย้ำไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ขณะที่ตำรวจนายหนึ่งก็ถ่ายรูปสมคิดและพ่ออยู่เป็นระยะ
ใช้เวลาพูดคุยราว 10 นาที ทั้งหมดก็กลับออกจากบ้านของสมคิดไป แต่อีกประมาณ 10 นาทีต่อมา ผู้ใหญ่บ้านก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมรถกระบะของตำรวจ สภ.โนนสูง ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย และนอกเครื่องแบบในชุดซาฟารีอีก 1 นาย เข้ามาพูดคุยกับสมคิดและพ่อในบ้าน โดยคนในชุดซาฟารีแนะนำตัวว่าเป็นหัวหน้า สภ.โนนสูง ซึ่งเป็นสถานีตำรวจย่อยของ สภ.เมืองอุดรธานี
สมคิดได้ทำการบันทึกวีดิโอโดยตลอดตั้งแต่ตำรวจเดินเข้ามาในบ้าน ก่อนพูดคุยตำรวจจึงถามว่าไม่อัดคลิปได้มั้ย ไม่อยากให้เอาไปเผยแพร่ แต่สมคิดชี้แจงว่า บันทึกไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น
ตำรวจนอกเครื่องแบบแจ้งวัตถุประสงค์ที่เดินทางมาว่า เนื่องจากมีภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมปรากฏในโซเชียล ผู้บังคับบัญชาไม่สบายใจจึงให้มาพูดคุยทำความเข้าใจ ก่อนออกตัวว่า ตนเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีเหตุผล และมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เพียงแต่ข้อความบางข้อความมันไม่เหมาะสม ค่อนข้างหมิ่นเหม่
จากนั้น หัวหน้า สภ.โนนสูง ซึ่งเป็นคนพูดคุยเพียงคนเดียว ได้เปิดโทรศัพท์ให้พ่อดู เป็นรูปคนชู 3 นิ้วหน้ารูป ร.10 และมีบทกวีที่พาดพิงถึง ร.10 โดยบอกว่าสมคิดเป็นคนโพสต์ สมคิดจึงชี้แจงว่า เขาเป็นเพียงผู้แชร์เท่านั้น นายตำรวจพยายามถามว่า ใครเป็นแอดมินเพจ แต่สมคิดปฏิเสธว่า ไม่ทราบ ตำรวจจึงกล่าวทำนองตักเตือนสมคิดว่า ถ้าแสดงออกทางการเมืองไม่เป็นไร แต่เรื่องหมิ่นเหม่สถาบันฯ อยากให้พิจารณาหน่อย รวมทั้งถ้าสามารถติดต่อแอดมินเพจให้ลบโพสต์ได้ก็อยากขอให้ลบ ก่อนเดินทางกลับไปหลังจากใช้เวลาพูดคุยมากกว่า 5 นาที
ระหว่างการพูดคุย พ.ต.ท.ศิริมงคล บุญหนุน หัวหน้า สภ.โนนสูง ยังได้ระบุว่า เมื่อวานก็ไปที่บ้านน้องอีกคนหนึ่ง ไปชี้แจงทำความเข้าใจเช่นกัน ไม่ได้ข่มขู่
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า บุคคลที่ตำรวจ สภ.โนนสูง ไปพบดังกล่าว คือ แดนดิน (นามสมมติ) นักศึกษาอาชีวะอีกราย โดยตำรวจได้ติดต่อผ่านผู้ใหญ่บ้านเช่นกัน และผู้ใหญ่บ้านได้ติดตามให้พี่สาวไปพูดคุยกับตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ต่อหน้ารองนายก อบต. ขณะที่แดนดินไม่อยู่บ้าน
เนื้อหาการพูดคุยส่วนใหญ่เป็นการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของแดนดิน พร้อมทั้งขอให้พี่สาวห้ามปรามไม่ให้แดนดินแสดงออกในทางที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ โดยตำรวจอีกนายทำหน้าที่บันทึกภาพในระหว่างการพูดคุย
นอกจากนี้ ในวันต่อมา ตำรวจยังได้โทรศัพท์แจ้งพี่สาวให้บอกแดนดินลบโพสต์ที่แชร์ภาพพร้อมข้อความวิจารณ์กษัตริย์โพสต์เดียวกับที่สมคิดแชร์
จากการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วง 2 วัน แม้ไม่ได้เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย แต่สร้างความกังวลให้ครอบครัวของนักศึกษาทั้งสอง ทำให้แดนดิน รวมทั้งสมคิดตัดสินใจลบโพสต์ที่แชร์ไปดังกล่าว
ก่อนหน้านี้มีประชาชนหลายรายในหลายพื้นที่ เช่น หนองบัวลำภู ขอนแก่น สุรินทร์ เชียงราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ สันติบาล บางกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด หรือแม้กระทั่งฝ่ายปกครอง เข้าไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว และพูดถึงการแชร์โพสต์ต่างๆ จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค”, เยาวชนปลดแอก และเพจอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์หรือรัฐบาล ก่อนขอหรือสั่งให้ลบโพสต์เหล่านั้น รวมถึงห้ามไม่ให้โพสต์ แชร์ หรือแสดงออกในลักษณะเดียวกันอีก และบางรายถูกข่มขู่ว่าอาจจะถูกดำเนินคดี หากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งถือเป็นการคุกคามและปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงนี้