หนุ่มโรงงานย่านสมุทรปราการ ถูกบีบให้ออกจากงาน หลัง ศชอ. ส่งข้อมูลให้บริษัทกรณีแสดงความเห็นต่อปาฏิหาริย์ของ ร.9 ในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานที่กิ่งแก้ว

16 กรกฎาคม 2564 เอ (นามสมมติ) หนุ่มโรงงานย่านสมุทรปราการ ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายควาเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เขาถูกบริษัทเลิกจ้างงาน โดยอ้างว่าทำผิดหลักการบริษัท หลังสมาชิกศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ได้ส่งข้อมูลมาทางกล่องข้อความของเฟซบุ๊กส่วนตัวของเอ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ในลักษณะข่มขู่จะแจ้งความเอาผิด ม.112 โดยแนบไฟล์ประวัติส่วนตัวและโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเอ

ซึ่งเป็นโพสต์ที่เขาแชร์มาจากบุคคลอื่นที่ล้อเลียนความเห็นในโลกโซเชียลกรณีการดับเพลิงจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้วว่าเป็นปาฏิหาริย์จากรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้กลุ่ม ศชอ. ยังส่งข้อมูลเดียวกันนี้ไปที่อีเมลฝ่ายบุคคลของโรงงานที่เอทำงานอยู่ด้วย

เป็นผลให้ในวันที่ 16 กรกฎาคม ขณะที่เอกำลังจะเข้างานในกะเช้า เวลาประมาณ 7.30 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโรงงานเรียกเอไปพบ พร้อมแจ้งว่ามีคนส่งเอกสารรวบรวมหลักฐานการกระทำหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนโซเชียลมีเดีย ปรากฏชื่อและนามสกุลของเอ อยู่ในเอกสารดังกล่าว

เจ้าหน้าที่กล่าวกับเอว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเกิดขึ้นนอกโรงงาน และไม่ทราบว่าเอไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะเหตุใด แต่มันผิดหลักการของบริษัท จึงต้องขอให้เอออกจากการทำงาน

ท่ามกลางความสงสัยของเอว่า เขากระทำผิดหลักการของบริษัทในเรื่องใด เพราะในสัญญาจ้างงานไม่ได้ระบุว่า ห้ามแสดงออกทางการเมือง มีเพียงระบุว่าพนักงานต้องประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อยู่ในระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคม

ฝ่ายบุคคลจึงกล่าวอีกว่า เพราะเอไปเกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญา และกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่นี่ไม่ใช่การไล่ออก แต่เป็นการเชิญให้ออก เมื่อเอทวงถามถึงเงินชดเชยและใบผ่านงานเพื่อจะได้ไปสมัครงานที่อื่นต่อ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวบอกกับเอว่า จะจ่ายเงินชดเชยให้ตามธรรมเนียมบริษัท และจะออกใบเอกสารผ่านงานให้ตามปกติ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า เอจะไม่สามารถสมัครงานในโรงงานของบริษัทเครือเดียวกันได้อีก ซึ่งทางบริษัทนัดให้เอมารับทราบรายละเอียดเงินชดเชยและเอกสารอีกครั้งวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564

ปัจจุบัน เอ อายุ 22 ปี พื้นเพเป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด หลังเรียนจบ ปวส.ด้านอิเล็คทรอนิกส์ จึงเข้ามาทำงานในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์แห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการตั้งแต่ปี 2563 โดยอาศัยอยู่ลำพังในห้องพักย่านเคหะบางพลี สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น เอตกใจ และคิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้แล้ว เพราะเป็นเพียงพนักงาน sub-contractor ที่มีอายุงาน 1 ปี กำลังจะมีสิทธิสอบเป็นพนักงานประจำ ที่จะได้มีเงินเดือนและสวัสดิการเพิ่ม เพราะก่อนหน้านี้ 1 ปีที่ผ่านมาเอไม่ได้ขาดการทำงานเลย ทำให้เขามีคุณสมบัติในการบรรจุเป็นพนักงาน

เอวางแผนชีวิตต่อจากนี้ว่า คงต้องเริ่มต้นหาทำงานใหม่ในพื้นที่สมุทรปราการต่อไป เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้การเดินทางจากสมุทรปราการกลับไปบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นไปได้ยาก

ส่วนข้อความอันเป็นเหตุให้เอถูกคุกคามข้อมูลส่วนบุคคล และถูกบีบบังคับให้ออกจากงาน มาจากช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟม ย่านกิ่งแก้ว-บางพลี สมุทรปราการ อันส่งผลกระทบต่อวงกว้าง จากนั้นโซเชียลมีเดียก็มีการแสดงความเห็นและแชร์โพสต์เกี่ยวกับการที่เพลิงดับว่าเป็นเพราะปาฏิหาริย์ของรัชกาลที่ 9 ก่อนที่จะมีคนโพสต์ลงกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ และเอไปแชร์โพสต์ดังกล่าวมาที่เฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมทั้งเขียนแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นดังกล่าวว่า ไร้สาระ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากว่า สมาชิกของ (ศชอ.) ส่งเอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวมาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่า จะดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยมีผู้ถูกคุกคามจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสมาชิก ศชอ. จะใช้เฟซบุ๊กอวตาร ส่งไฟล์เอกสารเป็น PDF ที่มีรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตกเป็น “เป้าหมาย”, ข้อความหรือการแชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และข้อมูลของบุคคลนั้นที่กลุ่มรวบรวมได้จากสาธารณะ เช่น การค้นหาเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน, การนำชื่อบุคคลไปค้นหาในแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อยืนยันข้อมูลส่วนบุคคล, การรวบรวมถ่ายภาพบุคคลหรือเอกสารอื่นๆ ที่เคยมีการโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ดี แม้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ทางกลุ่ม ศชอ. อ้างว่า ได้นำหลักฐานส่งกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีประชาชน 1,275 รายชื่อ (รวมกับที่ส่งไปแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง เป็น 1,400 รายชื่อ) ศูนย์ทนายความฯ มีข้อสังเกตว่า การดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แม้บุคคลภายนอกจะรวบรวมหลักฐานไว้เบื้องต้นเพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนก่อนว่า มีการโพสต์หรือแชร์ข้อความ หรือคอมเมนท์ในลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ และข้อความนั้นเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่

สอดคล้องกับที่ พ.ต.อ.สุณัฐพล นิรมิตศุภเชษฐ์ ผู้กำกับ (สอบสวน) บก.ปอท. ชี้แจงขั้นตอนว่า จะนำหลักฐานส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคงพิจารณาว่า บัญชีใดเข้าข่ายกระทำความผิดฐานใดบ้าง หลังจากนั้นจะทำการพิสูจน์ตัวตนเจ้าของบัญชีนั้นๆ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

X