ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคุกคามประชาชน 2 ราย ที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ สืบเนื่องจากการเผยแพร่โพสต์บนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ฯ
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ราว 3 นาย ไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของจิ (นามสมมุติ) ในตัวอำเภอเมืองสุรินทร์ ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีเอกสารหรือหมายใดๆ มีเพียงหลักฐานเป็นภาพที่บันทึกด้วยมือถือจากโพสต์ที่แชร์บนเฟซบุ๊กของจิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 โดยเป็นโพสต์ที่แชร์จากเพจ ‘KTUK – คนไทยยูเค’ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ
จิเล่าว่า วันเกิดเหตุตัวของเธอไม่ได้อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ มีเพียงพี่สาวที่ได้พบกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกลุ่มนั้น ซึ่งกล่าวพร้อมแสดงหลักฐานว่า จิแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว
แต่การที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีข้อมูลของที่อยู่ปัจจุบันของจิ ทำให้พี่สาวตั้งคำถามกลับว่า “ข้อมูลมันไม่ตรงแบบนี้ พวกคุณทำงานผิดพลาดกันหรือเปล่า?” ชายกลุ่มนั้นได้แต่นิ่งไป ไม่ได้มีคำตอบใดๆ
ก่อนสอบถามพี่สาวว่า จิไม่ได้อยู่ที่บ้านแห่งนี้จริงใช่หรือไม่ และกล่าวต่อว่า ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้จะมาทำอะไร แค่จะมาสอบถามเรื่องการแชร์ข้อมูลเหล่านั้นเฉยๆ เมื่อไม่ได้พบจิและไม่ได้รับคำตอบจากพี่สาว กลุ่มชายไม่ทราบสังกัดจึงกลับออกไป ทิ้งท้ายด้วยคำพูดเชิงข่มขู่ว่า “ยังไงก็จะให้คนของทางการหาตัวจิให้เจอ”
หลังเหตุการณ์ในวันนั้น พี่สาวของจิจึงเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสุรินทร์ เพื่อให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวอาจจะไปพบเป้าหมายผิดตัว หรือมีการยัดข้อหากัน เพราะที่อยู่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเธอ
พี่สาวจิให้ข้อมูลอีกว่า ได้โทรไปสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสุรินทร์ กลับได้รับคำแนะนำมาว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่ที่ไปพบไม่มีเอกสาร หรือไม่ได้แสดงหมายใดๆ ถือว่าเป็นการตักเตือนของเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องไปหวาดกลัว แต่ด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกลุ่มนั้นพูดทิ้งท้ายไว้ว่า “ยังไงก็จะให้คนของทางการหาตัวจิให้เจอ” ทำให้จิรู้สึกว่า ตนเองกำลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ทำให้เกิดความหวาดกลัว
เหตุการณ์ที่สอง เอ (นามสมมุติ) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ เอเปิดเผยว่าตัวเขาแชร์โพสต์การเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ทราบจากที่บ้านว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบไปตามหาตัวเขา โดยไปพบผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับเอกสารปึกหนึ่งที่มีข้อมูลของเขา วัตถุประสงค์คือต้องการให้เอลบโพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เขาแชร์จากเพจ ‘KTUK – คนไทยยูเค’ และเปิดการมองเห็นเป็นโพสต์สาธารณะรวม 2 โพสต์
เมื่อตำรวจทราบว่าเอไม่ได้อยู่ที่บ้านจึงกลับไปพร้อมกับเอกสารที่นำมา เอเล่าต่อว่าผู้ใหญ่บ้านได้รับเรื่องจากตำรวจ แล้วจึงพยายามติดต่อเขา แต่ตนไม่ได้รับโทรศัพท์ ผู้ใหญ่บ้านจึงโทรไปแจ้งพี่ชายของตนแทน โดยให้พี่ชายบอกเขาให้ลบโพสต์ออก จากนั้นพี่ชายจึงโทรแจ้งให้เอทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น
เอเผยความรู้สึกหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ตามตัวว่า “ไม่ได้แปลกใจ เพราะเราแชร์โพสต์แบบนี้มาเรื่อยๆ และคิดว่าสักวันคงจะโดน แต่ก็ตกใจที่เหตุการณ์แบบนั้นมาถึงเราจริงๆ”
เอยังเล่าความกังวลว่า การที่เจ้าหน้าที่ตรงไปที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน แทนที่จะมาบ้านของเขา ถือว่าเป็นการสร้างความกดดันต่อครอบครัวและคนในพื้นที่ เขาคิดต่อว่าหากตำรวจตามตัวเขาถึงกรุงเทพฯ ได้ เขาคงใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น
เอเล่าเพิ่มเติมว่า เขาไม่ได้สังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองใด ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาก่อน แต่ติดตามข่าวสารและแชร์จากเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊กแทน ทั้งเพจของกลุ่มที่จัดกิจกรรมชุมนุม และพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา โดยสุดท้ายเอตัดสินใจไม่ลบโพสต์ตามที่เจ้าหน้าที่เรียกร้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่เองยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อีก หลังจากพยายามไปหาเอถึงบ้านเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเข้าติดตามถึงบ้านที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ใช่กระบวนการที่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติการได้ จนอาจไปถึงขั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว โดยมากบุคคลเหล่านั้นไม่สวมใส่เครื่องแบบ ไม่ระบุชื่อสังกัด และไม่แสดงบัตรประจำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจเป็นใครแอบอ้างมากระทำการดังกล่าวก็ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง