สัปดาห์ที่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11-13 สิงหาคม 2564 เยาวชนนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ไปที่บ้านตามที่อยู่ทะเบียนบ้านและพยายามสอบถามหาแต่ละรายผ่านชื่อจริงและนามสกุลจริง โดยอ้างว่ามีเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้การเข้าไปพยายามหาตัวถึงบ้าน เกิดขึ้นหลังการชุมนุมหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เป็นกิจกรรมชูป้าย และเผาศพจำลอง สะท้อนถึงความล้มเหลวการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน
มอส (นามสมมติ) อายุ 17 ปี นักศึกษา ปวช.ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งในนครราชสีมา เล่าว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ช่วงเย็นๆ ราว 17.00 น. หลังกลับบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตัวเมือง ซึ่งเขาอยู่กับตา พี่ชาย และน้องชาย คนแถวบ้านได้มาบอกว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย ขับรถเก๋งสีขาว มาถามหามอสกับคนในหมู่บ้าน โดยระบุชื่อจริงและนามสกุล ขณะนั้นมอสทำธุระอยู่ในตัวเมือง เมื่อตำรวจไม่พบเจอตัวมอสจึงขับรถกลับไป
ก่อนหน้านี้มอสเคยเข้ากิจกรรมกับกลุ่ม Korat Movement เพราะเห็นปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาทางการเมืองจึงอยากเปลี่ยนแปลงสังคม การมาติดตามถามหาเขาก็น่าจะมาจากสาเหตุนี้ แต่มอสไม่ได้รู้สึกหวาดกลัว และยังตั้งคำถามว่าการออกมาเรียกร้องสิทธิ ทำไมถึงต้องมาตามหรือมาคุกคามที่บ้าน
“ทำไมถึงส่งคนมาแบบนี้ เพราะปกติผมก็ติดต่อกับตำรวจโคราชผ่านทางไลน์อยู่แล้ว รอบนี้สงสัยว่าทำไมไม่ติดต่อกันเอง แต่มาถึงบ้านเลย ผมเพิ่งทราบจากคนในกลุ่มว่า มีการอ้างว่ามีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในโคราชอย่างแน่นอน”
เจน (นามสมมติ) อายุ 15 ปี นักเรียน ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งในนครราชสีมา เข้าร่วมหลายกิจกรรมกับกลุ่ม Korat Movement มาได้ราว 8 เดือนแล้ว เจนเล่าว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00 น. ขณะอยู่ที่หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง พ่อของเจนโทรมาบอกว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 3 นาย มาขอดูกล้องวงจรปิดในหมู่บ้าน ก่อนหน้านั้นก็ขับรถวนๆ เวียนๆ ในโครงการหมู่บ้าน แต่ไม่ทราบว่าไปดูอะไรบ้าง และมีการไปตามหาเพื่อดูกล้องวงจรปิดที่บ้านคนอื่นๆ ด้วย โดยเจนไม่ทราบว่าตำรวจรู้พิกัดบ้านของเขาได้อย่างไร
เจนคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่ตำรวจจะติดตามจากป้ายทะเบียนรถ ตั้งแต่ไปทำกิจกรรมที่หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนเรื่องขอดูกล้องวงจรปิด เจนทราบภายหลังว่าตำรวจอ้างว่า สืบหาเบาะแสการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ก็ไม่พบหลักฐานใด
ทางด้านพ่อของเจนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเขา ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วจึงให้เจนอยู่บ้าน ยังไม่ต้องออกไปไหน นี่เป็นครั้งแรกที่เจนเจอเหตุการณ์แบบนี้
“รู้สึกผิดปกติ ตอนที่ตำรวจอยู่หน้าบ้านก็รู้สึกหวาดกลัวและเป็นห่วง กลัวว่าจะโดนจับหรือถูกกระทำนอกกฎหมาย”
ฟ้า (นามสมมติ) อายุ 18 ปี นักเรียน ม.6 หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Korat Movement เล่าว่าวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. มีรถกระบะสีขาว และเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 4 นาย ไปจอดที่บ้านในตัวเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของเขา แต่ฟ้าไม่ได้อยู่ที่นั่น และไม่มีใครอยู่ เมื่อไม่พบตัวฟ้าจึงคุยกับคนละแวกนั้นสักพักก่อนขับรถออกไป
ขณะนั้นลุงกับน้องข้างบ้านอยู่บ้านจึงเห็นเหตุการณ์ และทราบจากการพูดคุยกับกลุ่มคนที่มาว่า เป็นตำรวจมาตามหาฟ้า เพื่อสืบหาคนที่เผาพระบรมฉายาลักษณ์ โดยฟ้าคาดว่าตำรวจมุ่งมาที่กลุ่มนักกิจกรรม Korat Movement เพราะเป็นกลุ่มที่แสดงออกทางการเมือง
ฟ้าให้ข้อมูลอีกว่า หนึ่งในสมาชิกได้โทรไปถามผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา จึงทราบว่ามีการประสานจาก สภ.โพธิ์กลาง ว่ามีคนไปเผาภาพ ร.10 แต่เท่าที่ทางกลุ่มทราบไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น และเมื่อขับรถไปดูแถวๆ ถนนโพธิ์กลาง ก็พบพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ครบทุกภาพ และไม่ปรากฏว่า มีป้ายใดถูกไฟไหม้เลย
ฟ้าเปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ตำรวจมาที่บ้าน ก่อนหน้านี้มีแค่การโทรศัพท์หา โดยที่บ้านทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นห่วงความปลอดภัยของเขา รวมทั้งกังวลว่าเขาจะถูกดำเนินคดี
ฟ้า ในฐานะตัวแทนกลุ่ม ยังกล่าวอีกว่า การพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวของภาครัฐต่อประชาชน เป็นสิ่งเลวร้ายที่รับไม่ได้ ตำรวจที่มีหน้าที่ปกป้องประชาชน กลายเป็นเครื่องมือให้กับเผด็จการ แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวเลย เรายังยืนยัน ยืนหยัด สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิที่ทุกคนจะต้องสามารถกระทำได้โดยปลอดภัยปราศจากการคุกคาม ข่มขู่
สำหรับกลุ่ม Korat Movement เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 รวบรวมสมาชิกที่เคยจัดกิจกรรมทางการเมืองร่วมกันในนครราชสีมา เพื่อเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมการเมืองระดับประเทศ และประเด็นท้องถิ่นในจังหวัดโดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดนครราชสีมาเอง
โดยกิจกรรมครั้งหลังสุดคือ ปฏิบัติการทางศิลปะ Project Red Road ที่ถนนหน้าตำรวจภูธรภาค 3 จัดขึ้นเพื่อสะท้อนการที่รัฐใช้อำนาจสลายการชุมนุมประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ภายหลังกิจกรรมยุติ กลุ่มเดินรถมาที่รถมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้ พบว่า กระดาษปิดป้ายทะเบียนรถถูกถอดและมีคนถ่ายรูปป้ายทะเบียนไป เมื่อถามหาว่า ใครมาถอดป้าย ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา รับว่าเป็นคำสั่งตนเอง จะรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวเอง หากมีใครถูกคุกคามหลังกิจกรรมให้มาแจ้งความ