ตำรวจลพบุรีคุกคามประชาชนถึงบ้าน! เหตุแชร์โพสต์เชื่อมโยงพระราชินีกับ ศชอ. – ลั่นจะแจ้ง 112 หากไม่ยอมลบ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจาก วิทวัส อุดมธนารักษ์ ชายวัย 22 ปี ว่ามีตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบจำนวน 4 คน มาตามหาตนที่บ้านใน จ.ลพบุรี และข่มขู่ให้เขาลบโพสต์ที่แชร์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ออกไปจากบัญชีเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 เวลาประมาณ 16.30 น. ในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ได้มีชายจำนวน 6 คน เดินทางมาที่บ้านของครอบครัววิทวัส ประกอบด้วยทั้งผู้ใหญ่บ้าน น้องชายของผู้ใหญ่บ้าน และผู้ชายอีก 4 คน ทราบภายหลังว่าเป็นตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยคนที่ 1 เป็นชายวัยกลางคนไว้ผมทรงสั้นเกรียน ห้อยจี้สีเงิน และใส่เสื้อสีเทาและกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน คนที่ 2 เป็นผู้ชายย้อมผมสีทอง ใส่เสื้อสีแดงอมส้มและกางเกงดำ คนที่ 3 เป็นชายสูงอายุ วัยราว 50 – 60 ปี และคนสุดท้ายดูเยาว์วัยกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ ทั้งหมดใส่หน้ากากอนามัยปิดครึ่งใบหน้าของตัวเอง

ตำรวจนายที่ 1 ได้ตรงเข้ามาพูดคุยกับวิทวัส บิดา และตา ซึ่งอยู่ในบริเวณหน้าบ้านพร้อมกัน เจ้าหน้าที่ได้ถามหาตัววิทวัส และสอบถามเขาว่า ปัจจุบันเขาเรียนที่ไหน ทำงานอะไร และปัจจุบันยังใช้เฟซบุ๊กอยู่ไหม 

หลังจากนั้นตำรวจถามเขาต่อว่า ทราบไหมว่าสิ่งที่แชร์บนเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และหยิบกระดาษ A4 แผ่นหนึ่งออกมาจากแฟ้ม ปรากฏภาพและข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 ซึ่งวิทวัสแชร์มาบนบัญชีของตัวเอง  โพสต์ดังกล่าวได้ระบุว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ และสถาบันกษัตริย์เป็นผู้สนับสนุน “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) รวมทั้งเผยแพร่ภาพที่เป็นแผ่นป้ายของกลุ่ม ศชอ. และมีข้อความให้กำลังใจ พร้อมลายเซ็น “สุทิดา” บนป้ายดังกล่าว

เมื่อแสดงหลักฐานแล้ว ตำรวจกล่าวว่า ตนมาประชาสัมพันธ์ให้วิทวัสทราบว่าโพสต์ดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมาย และสั่งให้เขาลบโพสต์ดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊ก เมื่อวิทวัสถามว่าผิดกฎหมายมาตราอะไร ตำรวจที่สูงอายุได้ตอบว่า “ผิดอยู่แล้วล่ะน้อง ผิดพ.ร.บ.คอมฯ กับผิดมาตรา 112”

หลังจากนั้นตำรวจนายที่ 1 ขอดูบัตรประชาชนของวิทวัส ส่วนตำรวจที่สูงอายุสั่งให้เขาส่งโทรศัพท์มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เมื่อได้ยินดังนั้น วิทวัสขอตัวออกมาโทรศัพท์หาเพื่อน เพื่อขอคำปรึกษา เพื่อนของเขาแจ้งว่าให้ขอดูเอกสารจากตำรวจ เขาจึงขอให้ตำรวจแสดงหมายสำหรับตรวจค้นดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ตอบว่า พวกตนเข้ามาแจ้งให้วิทวัสทราบถึงสิ่งที่ผิดกฎหมายเท่านั้น หากวิทวัสต้องการหมาย จะดำเนินการให้ต่อไป 

หลังจากวิทวัสปฏิเสธที่จะส่งบัตรประชาชนและโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจนายเดิมได้แสดงท่าทีที่แข็งกร้าว และพูดข่มขู่เขาเป็นทำนองว่า “เคสแบบนี้เจอมาเยอะแล้ว จะไม่ลบใช่ไหม จะไม่ทำตามไม่ให้ความร่วมมือใช่ไหม  จะได้ส่งเรื่องให้ ‘หน่วยเหนือ’ จัดการดำเนินคดีเรื่องที่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ต่อไป” 

ในขณะที่วิทวัสปลึกตัวไปคุยโทรศัพท์กับเพื่อน ตำรวจได้ขอให้ตา บิดา และมารดาที่ตามมาสมทบภายหลังช่วยกดดันเขาให้ลบโพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ออกไปจากบัญชีเฟซบุ๊ก เมื่อตำรวจพูดคุยกับวิทวัส ตาของเขาได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่าจะขอให้หลานทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ส่วนบิดาได้บอกให้วิทวัสตั้งใจฟังสิ่งที่ตำรวจพูด

หลังจากที่วิทวัสวางสายจากเพื่อน เขาเริ่มบันทึกเหตุการณ์ด้วยการถ่ายคลิปวีดิโอและถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 เอาไว้ เขาถามหาคนที่แจ้งความกับตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบมาเพียงว่า “น้องไม่จำเป็นต้องรู้หรอก” เมื่อเขาถามถึงคนอื่นที่แชร์โพสต์เดียวกัน เจ้าหน้าที่กล่าวว่าวิทวัสอยู่ในเขตลพบุรี พวกตนเลยจำเป็นต้องมาหา

ในขณะที่ตำรวจนายที่ 1 กำลังข่มขู่วิทวัส เจ้าหน้าที่ที่ไว้ผมสีทองคอยบันทึกภาพเหตุการณ์ด้วย โดยเขาถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้านของวิทวัส และช่วงเวลาเจ้าหน้าที่พูดคุยกันเป็นระยะๆ

เหตุการณ์นี้เสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ต้นจนจบบทสนทนา ตำรวจนอกเครื่องแบบทั้ง 4 นายไม่ได้แจ้งชื่อนามสกุล ยศตำรวจ และสภ.ที่สังกัด หรือแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ ตำรวจนายที่ 1 เพียงแต่แจ้งปากเปล่ากับวิทวัสว่าทั้ง 4 คนคือตำรวจ 

ต่อมาในวันที่ 13 ก.ค. วิทวัสโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดของเจ้าหน้าที่กับผู้ใหญ่บ้าน และได้คำตอบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบเพียงคนเดียวเท่านั้นที่แสดงบัตรเจ้าหน้าที่ให้ผู้ใหญ่บ้านดู และเพียงแต่ระบุว่าพวกตนเป็นตำรวจสันติบาลในจังหวัดลพบุรี 

หลังจากตำรวจเข้ามาข่มขู่ดำเนินคดี สมาชิกในครอบครัวของวิทวัสต่างรู้สึกหวาดกลัว เขาถูกขอให้เลิกลบโพสต์ที่ถูกกล่าวหาออกไปจากเฟซบุ๊ก สำหรับวิทวัส เขามีความกังวลว่าตำรวจจะเข้ามาหาที่บ้านอีก นอกจากนี้ ในบริเวณที่พักอาศัยยังเป็นพื้นที่เปลี่ยว ทำให้เขารู้สึกหวาดระแวงว่าจะมีเหตุอันตรายเกิดขึ้นกับตน

ในรอบปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าข่มขู่ประชาชนให้ลดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมไปถึงการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุกคามประชาชน 2 รายที่บ้าน สืบเนื่องจากการเผยแพร่เนื้อหาการเมืองบนเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่า “หมิ่นสถาบัน” กับประชาชนรายหนึ่งที่ได้แชร์โพสต์มาจากเพจ  “KTUK – คนไทยยูเค” เช่นกัน แต่โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาวิจารณ์บทบาทของกองทัพไทยในกรณีทหารเมียนมาทิ้งระเบิดใส่ชุมชนกะเหรี่ยงริมชายแดนทั้ง 2 ประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด

ในพื้นที่ภาคกลางยังปรากฏเหตุการณ์คุกคามในลักษณะนี้อีกอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยประชาชนคนหนึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าตนพิมพ์ข้อความที่เข้าข่าย “ละเมิดขั้นรุนแรง” อันเป็นความผิดฐานตามมาตรา 112, เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันให้ลบโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง และในเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจสอดแนมชายคนหนึ่งในจังหวัดอยุธยา และพูดข่มขู่ครอบครัวว่าจะดำเนินคดีหากไม่ลบโพสต์ที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ออกไป 

อนึ่ง ผู้ถูกตำรวจคุกคามทุกคนระบุว่าได้เผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตั้งค่าการเผยแพร่ไว้เป็นสาธารณะ และบางส่วนยืนยันว่าตนเพียงแต่กดแชร์โพสต์จากเพจต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงไปด้วยเลย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจบุกบ้านประชาชน 2 ราย เหตุแชร์โพสต์คล้ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ อ้างต้องถูก “ปรับทัศนคติ”

ตร.บุกบ้าน 2 รอบ! ขู่แจ้ง 112 กับประชาชน อ้างเหตุแชร์โพสต์วิจารณ์สถาบันฯ บนเฟซบุ๊ก พร้อมขู่จะไปโรงพักกับตร. หรือให้แม่คุมตัวไปเอง

X