ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมามีประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองทยอยเข้าและออกเรือนจำอย่างต่อเนื่องในหลายคดี ทั้งปีมีผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมือง อย่างน้อย 68 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 34 ราย เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง 1 ราย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง รวมอย่างน้อย 33 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังที่ถูกขังระหว่างยังต่อสู้คดี 22 ราย เยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการพิพากษา 1 ราย และผู้ถูกคุมขังในฐานะนักโทษเด็ดขาด เนื่องจากคดีสิ้นสุดแล้ว 10 ราย
หากยังพอจำกันได้ ช่วงรอยต่อปี 2566 – 2567 มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองถูกคุมขังข้ามปีอย่างน้อย 37 ราย แม้ปี 2567 นี้อาจจะมีผู้ถูกคุมขังต่อเนื่องข้ามพ้นปีน้อยกว่าปีก่อน แต่ถือเป็นจำนวนที่ไม่ต่างกันมากนัก และเป็นอีกปีที่นักกิจกรรมและประชาชนหลายคนถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีอย่างยาวนาน
.
จำนวนผู้ต้องขังการเมืองปี 2567 พุ่งถึง 46 ราย สูงสุดในรอบ 4 ปี ก่อนลดลงเหลือ 33 รายปลายปี
จำนวนผู้ต้องขังคดีการเมืองในเรือนจำทั่วประเทศปี 2567 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 37 ราย เมื่อต้นปี เพิ่มเป็น 42 ราย ในเดือนกุมภาพันธ์ และพุ่งสูงสุดถึง 46 ราย ในช่วงต้นเดือนเมษายน นับเป็นสถิติใหม่อย่างน้อยในรอบ 4 ปี (2564-2567) ที่ไม่เคยมีจำนวนผู้ต้องขังการเมืองเกิน 40 รายมาก่อน ก่อนจะลดลงมาเป็น 43 คน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
จำนวนผู้ต้องขังเริ่มลดลงบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังคงมีจำนวนมากกว่า 40 คน กระทั่งปลายเดือนตุลาคมจำนวนผู้ต้องขังจึงลดลงอย่างชัดเจนเหลือ 36 ราย และเหลือ 33 รายในปลายเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ต้องขังการเมืองทั้งหมด พบว่ามากกว่าครึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112
แม้ครึ่งหลังของปี 2567 ยังคงมีผู้ต้องขังรายใหม่เพิ่มขึ้นจากการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี แต่การที่จำนวนผู้ต้องขังลดลงมีสาเหตุหลักคือ การได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ และพ้นโทษตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล มีไม่กี่รายที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี
.
ผู้ต้องขังคดี 112 ในเรือนจำต่างจังหวัด – “บัสบาส” รับโทษสูงสุดในประวัติศาสตร์ 54 ปี 6 เดือน
นอกจาก “อุดม” และ “กัลยา” ที่ถูกขังที่เรือนจำนราธิวาสระหว่างต่อสู้คดีชั้นฎีกาในคดีตามมาตรา 112 สำหรับปีนี้ในเรือนจำต่างจังหวัดยังปรากฏมีผู้ต้องขังทางการเมือง เพิ่มอีก 3 ราย โดยเมื่อต้นปี (18 ม.ค. 2567) ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาเพิ่มโทษให้จำคุก “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร รวม 50 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 28 ปี นับตั้งแต่นั้นบัสบาสก็ไม่ได้รับการประกันตัวเลย
นอกจากนั้น วันที่ 4 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในอีกคดีจากการโพสต์อีก 2 ข้อความ ให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ทำให้บัสบาสต้องโทษจำคุกรวม 54 ปี 6 เดือน สูงสุดในคดีมาตรา 112 เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ปัจจุบันถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงราย
ขณะที่เดือนเมษายน “พรชัย” วิมลศุภวงศ์ ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ด้วยโทษจำคุก 12 ปี ในคดีโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ หลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 12 ปี และศาลฎีกาไม่ให้ประกันระหว่างฎีกา พรชัยยังต้องโทษจำคุกกรณีไลฟ์สดเฟซบุ๊กที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ทั้งสองคดีศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อกัน และคดีสิ้นสุดแล้วหลังจากที่เขาตัดสินใจไม่ฎีกาในคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และคดีที่ศาลจังหวัดยะลาไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา
กระทั่งในเดือนสิงหาคม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำคุก “ทิวากร” วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น เป็นเวลา 6 ปี จากการสวมเสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์เรียกร้องให้ยุติการใช้มาตรา 112 รวมถึงปล่อยตัวแกนนำราษฎร ปัจจุบันถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
จุดร่วมสำคัญของคดีเหล่านี้คือผู้ต้องขังส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย และแทบทุกรายไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นฎีกา สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เข้มงวดขึ้นในศาลฎีกา
.
“บุ้ง” เนติพร เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังคดี 112 หลังอดอาหารประท้วงกว่า 65 วัน
หนึ่งในเรื่องน่าโศกเศร้าที่สุดของสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองในปีนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “บุ้ง” เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง วัย 28 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างการถูกคุมขังในเรือนจำ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 นับเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองรายที่ 2 ที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 หลังจากกรณีของ “อากง” เมื่อปี 2555 โดยบุ้งถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 รวมระยะเวลา 110 วัน โดยเธอได้ประกาศอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2567 ต่อเนื่องจนถึงช่วงเดือนเมษายน รวมเวลาไม่น้อยกว่า 65 วัน พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
โดยบุ้งถูกคุมขังจากสองคดีต่อเนื่องกัน คือ คดีละเมิดอำนาจศาลที่ถูกตัดสินจำคุก 1 เดือน และคดีมาตรา 112 จากกรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน โดยศาลอ้างเหตุที่เธอเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566
ก่อนการเสียชีวิตบุ้งมีคดีความทางการเมืองรวม 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ภายหลังการเสียชีวิต ครอบครัวของบุ้งได้ร้องขอเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพด้วย ซึ่งจะมีนัดไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดธัญบุรี วันที่ 13 ม.ค. 2568 เวลา 13.00 น.
.
ผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้า และปัญหาการไม่ได้รับยารักษาอาการจิตเวชที่เหมาะสม
การเข้าถึงการรักษาโรคซึมเศร้าในเรือนจำกลายเป็นอีกจุดน่ากังวลของสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ยิ่งในกรณีของผู้ต้องขังหญิงที่มีประวัติการรักษาต่อเนื่องมาก่อน เช่น “มานี” เงินตา คำแสน และ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างในระบบการดูแลสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในประเทศไทย
ปัญหาสำคัญเริ่มจากการขาดมาตรฐานที่ชัดเจนในการจ่ายยารักษาโรคซึมเศร้า กรณีของมานี วัย 44 ปี จากเดิมที่เคยได้รับยาวันละ 4 เม็ด กลับถูกปรับลดเหลือ 3 เม็ดเมื่อเข้าสู่เรือนจำ โดยไม่มีความชัดเจนว่าเป็นยาชนิดเดียวกันหรือไม่ ส่งผลให้อาการแพนิคที่เคยควบคุมได้กลับมากำเริบอีกครั้ง
ในขณะที่กรณีของอาย แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 33 ปี ยิ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของปัญหา แม้ญาติจะพยายามส่งยาและเอกสารทางการแพทย์เข้าไปในทัณฑสถานหญิงกลาง แต่การรักษายังไม่มีเสถียรภาพ ต้องปรับปริมาณยาทุก 1-2 สัปดาห์ และที่สำคัญคือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มียาชนิดที่เธอใช้รักษาอยู่เป็นประจำ
สิ่งเหล่านี้นี้สะท้อนปัญหาเชิงระบบ เช่น การขาดการประสานงานระหว่างระบบการรักษาภายนอกกับภายในเรือนจำ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็น โดยเฉพาะยาเฉพาะทางที่ไม่มีในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนไม่เพียงพอ และที่สำคัญการที่ผู้ต้องขังไม่ได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องกับแพทย์เฉพาะทางที่เคยได้รับการรักษา ทำให้อาการป่วยมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก
.
ภาพรวมส่งท้ายปี 67 ผู้ต้องขังการเมืองยังถูกคุมขัง หลังคดี 112 เข้มงวดขึ้น-ประกันตัวยากเย็น
ย้อนกลับไปในปี 2566 พบว่าตลอดทั้งช่วงปีดังกล่าว สถานการณ์ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดี โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 รวมถึงคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดในเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา พบว่า มีแนวโน้มของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดเพิ่มมากขึ้น โดยในสิ้นปี 2566 พบว่ามีสูงขึ้นถึง 24 ราย
.
ต่อมา ในเดือนมกราคม 2567 พบว่า ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังข้ามปีมาจากปี 2566 ยังคงไม่มีใครได้รับการปล่อยตัว และในวันที่ 18 ม.ค. 2567 ศาลจังหวัดเชียงรายได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำคุกบัสบาส 50 ปี และศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันระหว่างฎีกาในวันเดียวกัน ทำให้บัสบาสถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายในวันนั้นทันที ถือเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองรายใหม่รายแรกในปี 2567 ที่ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำ และยังเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองรายแรกที่ถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 50 ปี
ปัจจุบัน บัสบาสถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย โดยไม่ได้สิทธิประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในปีนี้รวม 4 ครั้ง และศาลฎีกาได้ยกคำร้องเรื่อยมา ระบุว่า เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แม้บัสบาสจะยืนยันต่อสู้คดีถึงที่สุดในทุกคดีของตนเอง
และกรณีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองคนล่าสุดในช่วงสิ้นปีนี้ที่ถูกคุมขังและศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวออกมาสู้คดีในระหว่างฎีกา หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน ในคดีมาตรา 112 ที่แอมป์ขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ13กุมภา64
.
ตลอดทั้งปี 2567 มีนักกิจกรรมและประชาชนถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำตามที่ต่าง ๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ในขณะเดียวกันผู้ต้องขังทางการเมืองหลายรายก็ทยอยได้รับการปล่อยตัวหลังมีการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ได้รับการอภัยโทษ มีจำนวนรวม 10 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 จำนวน 4 ราย ได้แก่ “พลทหารเมธิน”, “วัฒน์”, “กิจจา” และวารุณี, ผู้ต้องขังในคดีอั้งยี่กรณีสหพันธรัฐไท 2 ราย ได้แก่ “กฤษณะ” และ “วรรณภา” และคดีครอบครองวัตถุระเบิด จำนวน 4 ราย , “ทัตพงศ์”, “สุดใจ”, “มาร์ค” และ “ยงยุทธ” และมีกรณีของผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ 1 ราย หลังรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ได้แก่ “มะ” ณัฐชนน
.
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ต้องขังทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษ รวม 9 ราย ได้แก่ “ธี” ถิรนัย, “มาย” ชัยพร, “โย่ง”, “ปริทัศน์”, “สุวิทย์”, “เอกชัย” หงส์กังวาน, “นภัส”, “ภัทรชัย” และ “ภูมิ” หัวลำโพง
ในกรณีของผู้ต้องขังทางการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวหลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ที่น่าสนใจคือ กรณีของวารุณี ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับอภัยโทษ เนื่องจากเธอถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังวารุณีตัดสินใจขอถอนอุทธรณ์เมื่อเดือน เม.ย. 2567 เพื่อหวังให้คดีถึงที่สุด ศาลไม่มีคำสั่งเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 21 พ.ย. 2567 ศาลอาญาจึงอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ ซึ่งใช้เวลากว่า 7 เดือน ทำให้เธอได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังรวม 1 ปี 5 เดือน หรือ 518 วัน เกือบครบกำหนดโทษคือ 1 ปี 6 เดือน
.
มีข้อสังเกตว่า หากคำสั่งดังกล่าวออกมาภายในเดือนสิงหาคม 2567 ที่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ วารุณีก็มีโอกาสที่จะได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่านี้ ส่งผลต่อสิทธิของผู้ต้องขังอย่างสำคัญ
ส่วนในกรณีที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมืองที่พบได้น้อยที่สุดในปี 2657 คือการได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี แม้ทนายความและญาติจะพยายามยื่นประกันหลายต่อหลายครั้งมากกว่า 150 ฉบับ โดยในปีนี้พบว่ามีผู้ต้องขังทางการเมืองเพียง 13 ราย ในจำนวน 68 ราย ที่ได้รับสิทธิประกันตัว ได้แก่ “บังเอิญ”, “ทานตะวัน” ตัวตุลานนท์, “แฟรงค์” ณัฐนนท์, “นารา”, ฉัตรมงคล วัลลีย์, ถนอม, “สวัสดิ์”, “นิว” จตุพร แซ่อึง, “กร”, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ศรีรัตน์ และ “จิรวัฒน์” เป็นรายล่าสุดในเดือนธันวาคม
.
นอกจากนี้มีกรณีที่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องภายในระยะเวลาฝากขัง ทำให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว 1 ราย ได้แก่ “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์
ในกรณีที่ของผู้ต้องขังที่ได้รับการประกันตัวที่น่าสนใจคือกรณีของ จิรวัฒน์ พ่อค้าออนไลน์ วัย 33 ปี พบว่าเขาเป็นผู้ต้องขังข้ามปี 2566 เพียงคนเดียว โดยเฉพาะในคดีตามมาตรา 112 ที่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ หลังจากถูกคุมขังมากกว่า 1 ปี 1 เดือน จากโทษจำคุก 6 ปี ที่ศาลอาญามีคำพิพากษา และญาติและทนายความพยายามยื่นขอประกันตัวถึง 9 ครั้งในปีนี้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา โดยศาลฎีกาเพิ่งมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์ 250,000 บาท พร้อมติด EM หลังทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันจิรวัฒน์ต่อศาลฎีกา ก่อนจิรวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2567
.
กรณีการให้ประกันจิรวัฒน์ของศาลฎีกามีข้อสังเกตว่า วันเดียวกันที่ศาลฎีกามีคำสั่งอนญาตให้ประกันจิรวัฒน์ ศาลฎีกากลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันทิวากร ซึ่งถูกคุมขังระหว่างฎีกาด้วยโทษจำคุก 6 ปี เช่นเดียวกันกับจิรวัฒน์
กล่าวโดยภาพรวม แนวโน้มการต่อสู้คดีทางการเมืองในปี 2567 ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต การได้รับสิทธิประกันตัวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอ้างอิงบรรทัดฐานหรือคาดเดาสถานการณ์ใด ๆ ได้ และมีแนวโน้มที่จะแย่ลงอย่างน่ากังวลโดยเฉพาะเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นอุทธรณ์และฎีกา
.
ในสิ้นปีนี้จะยังคงมีผู้ต้องขังทางการเมืองอีกจำนวน 33 ราย ที่จะถูกคุมขังข้ามปี และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีและฉลองวันขึ้นปีใหม่กับครอบครัว ซึ่งจำนวนนี้มีถึง 16 ราย ที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัวในวันปีใหม่เป็นปีที่ 2 ได้แก่ “วุฒิ”, เวหา, ทีปกร, ประวิตร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, “เก็ท”, อุดม พันธุ์นิล, สมบัติ ทองย้อย, ไพฑูรย์, สุขสันต์, “บุ๊ค” ธนายุทธ, อานนท์ นำภา, วีรภาพ, “กัลยา” และ “แม็กกี้” ขณะที่ “อัญชัญ” ในวัย 69 ปี จะไม่ได้อยู่กับครอบครัวเป็นปีที่ 4 แล้ว