วันที่ 6 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ของ “เอกชัย หงส์กังวาน” กรณีโพสต์ข้อความเล่าประสบการการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ เมื่อปี 2560 โดยศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา
คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(4) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อความที่โจทก์หยิบยกมาฟ้องเป็นเนื้อหาที่เอกชัยบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรือนจำ รวมไปถึงประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย ที่เอกชัยเคยประสบมาระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 2 ปี 8 เดือน โดยบอกเล่าเป็นซีรีส์ทั้งหมด 14 ตอน โดยข้อความที่ถูกกล่าวหาปรากฏในตอนที่ 9
โดยศาลชั้นต้นคือ ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 1 ปี
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 ภายหลังจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้เอกชัยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่นั้น โดยไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกาเรื่อยมา เป็นระยะเวลากว่า 154 วัน ซึ่งภายหลังเขา ได้รับการประกันตัวในการยื่นประกันครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565
ย้อนอ่านข่าวได้ประกันตัว >>>ศาลฎีกาให้ประกันตัว “เอกชัย” ระบุ “ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี” หลังถูกคุมขังในเรือนจำมา 5 เดือน
ทั้งนี้ เอกชัยได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งระบุเหตุผลว่า จำเลยเห็นว่าการโพสต์บทความเล่าเรื่องราวในเรือนจำดังกล่าว เป็นการเขียนในแนวนวนิยาย มิได้มีเจตนาโพสต์เพื่อสื่อสารไปในทางลามก แม้จะมีถ้อยคำบางส่วนที่ไม่สุภาพ แต่จำเลยมั่นใจว่าไม่เป็นความผิดตามนิยามของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งในปัญหาข้อกฎหมาย โดยมีประเด็นคือเรื่องการคำนวณโทษจำคุกที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54
ต่อมา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในส่วนปัญหาข้อเท็จจริง แต่ในส่วนปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องการคำนวณโทษจำคุก ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดฎีกา ซึ่งต้องยื่นภายในระยะเวลาฎีกาคือ 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อจำเลยยื่นภายหลังระยะเวลาดังกล่าว จึงไม่อนุญาต แต่พิจารณารับเป็นคำแถลงการณ์ในคดี
และในวันนี้ (6 ก.ค. 2566) เอกชัยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับเพื่อน และประชาชนจำนวนหนึ่ง โดยมี “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล เดินทางร่วมให้กำลังใจด้วย
ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา มีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์ของจำเลยเห็นว่า จําเลยมีเจตนากระทําความผิดจริง เนื่องจากการโพสต์ใช้ถ้อยคำกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับนักโทษชายอื่นในระหว่างต้องขังคดีอื่นในเรือนจำอย่างโจ่งแจ้ง เป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนผู้รู้ผิดชอบตามปกติพึงปฏิบัติ เป็นข้อความที่ไม่สุภาพ เข้าข่ายลามกอนาจาร และมีลักษณะยั่วยุกามารมณ์
นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะลงในเฟซบุ๊กของจําเลยเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดจริง ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา
ก่อนหน้านี้เอกชัยโดนคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 154 วัน ทำให้เขาเหลือโทษจำคุกอีกราว 7 เดือน
ภายหลังการอ่านคำพิพากษาของศาล เอกชัยได้ลุกขึ้นและแถลงต่อศาลว่า ตนมีข้อสงสัยในประเด็นเรื่องการคำนวณโทษจำคุก เนื่องจากตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ในเรื่องการคำนวณโทษจำคุกที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 54 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากับหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรจะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้”
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าศาลควรจะเพิ่มโทษก่อน แล้วค่อยมาลดโทษจากส่วนที่เพิ่ม ซึ่งหากคำนวณด้วยวิธีนี้ เท่ากับว่า จำเลยจะมีโทษจำคุกหลังลดโทษ 10 เดือน 20 วัน
ย้อนอ่านเรื่องการคำนวณโทษจำคุกของเอกชัย >>> เก็บตกหลังศาลฎีกามีคำสั่ง #ไม่ให้ประกันตัว “เอกชัย” เรื่องการคำนวณโทษจำคุก ที่จำเลยโต้แย้งในชั้นฎีกา
แต่ศาลได้ตอบเอกชัยว่า โทษที่ศาลกำหนดในคดีนี้นั้นเหมาะสมดีแล้ว และการคำนวณโทษก็เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะใช้วิธีใดก็ได้ จึงคงโทษไว้ตามเดิมที่ 1 ปี ไม่มีการเพิ่มหรือลดโทษ
อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นแถลงต่อศาลในครั้งนี้ทำให้เอกชัยถูกศาลเตือนเรื่องการละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากศาลเห็นว่า เอกชัยมีการขึ้นเสียง และเห็นว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมในชั้นศาล
จากนั้นเอกชัยถูกตำรวจศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล โดยแจ้งกับเพื่อนที่เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาวันนี้ว่า เขาจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันทีภายในเย็นวันนี้
ซึ่งทำให้มีผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ รวมแล้วอย่างน้อย 18 ราย แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังในระหว่างต่อสู้คดี 7 ราย และเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) 11 ราย
ดูรายชื่อผู้ต้องขังคดีการเมืองปี 2566 >>> รายชื่อผู้ต้องขังคดีการเมืองปี 2566