“ของขวัญวันเกิดปีนี้ ฉันรู้ว่ามันคือการได้เบิกตัวมาศาลในวันนี้” เอกชัยเผยหลังถูกนัดตัวมาศาล คดีฟ้องตร. ตัดสัญญาณมือถือในชุมนุมปี 63

11 พ.ค. 2565 วันเกิดครบรอบ 47 ปี ของเอกชัย หงส์กังวาน เขาถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาลแขวงดุสิต ในนัดสืบพยานโจทก์ในคดีแพ่ง ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย กรณีมีรายงานว่าตำรวจพยายามตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในการชุมนุมของประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ในคดีนี้ เอกชัยพร้อมกับประชาชนอีก 4 คน ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นจำเลย ที่ทำการรบกวนตัดสัญญาณมือถือในพื้นที่ชุมนุมเป็นบริเวณกว้างและกินระยะเวลานานเกินความจำเป็น เป็นเหตุให้เอกชัยและบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตราย และอาจไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้ทันท่วงที และยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสื่อสาร ตลอดจนถึงการรบกวนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 10,000 บาท โดยวันนี้ ศาลอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 14-15 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น.  

.

ไม่ได้คิดหนี เตรียมสืบพยานยาวทุกคดี และหวังได้ออกไปทันเลือกตั้งผู้ว่า กทม.  

เอกชัยเดินก้มตัวลอดประตูข้างบัลลังก์ที่นั่งของผู้พิพากษาเข้ามาในห้องพิจารณา 502 ของศาลแขวงดุสิต เขาใช้มือข้างหนึ่งเหมือนดึงอะไรบริเวณข้อเท้า ใบหน้าปิดด้วยหน้ากากอนามัยสีฟ้า ภายใต้ชุดนักโทษสีน้ำตาลขาสั้น ตามหลังมาด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หนึ่งคน 

เอกชัยกึ่งเดินกึ่งโค้งตัวจนเข้ามาถึงที่ม้านั่งในห้องพิจารณาได้ ทันใดนั้น “กุญแจข้อเท้า” และเท้าสองข้างที่เปล่าเปลือยก็ปรากฏให้ทุกคนในห้องพิจารณาเห็นว่าทำไมเขาถึงเดินคล้ายเคลื่อนตัวลำบาก กุญแจข้อเท้านั้นมีโซ่ประมาณหนึ่งไม้บรรทัด สองข้างมีรูแม่กุญแจตรึงข้อเท้าทั้งสองข้างของเขาไว้  

เอกชัยบอกว่า “มันต้องเดินช้าๆ (เน้นเสียง) ด้วยเพราะมันเจ็บ”  

หลังจากปรึกษาทนายความในคดีแพ่งที่เขาถูกเบิกตัวมาในวันนี้แล้ว เอกชัยไถ่ถามถึงเหตุผลทำไมศาลฏีกาไม่อนุญาตให้เขาได้รับการประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกา ในคดีข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์ประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ เอกชัยส่ายหัวเมื่อรับรู้ว่าที่ ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 เพราะเห็นว่าเขาเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังถูกฟ้องอีกหลายคดี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเอกชัยอาจหลบหนีได้ 

เอกชัยบอกว่าคดีที่ค้างอยู่ตอนนี้ที่จำได้มีเพียง 5 คดีที่ส่งฟ้องต่อศาลแล้ว ส่วนคดีอื่นยังอยู่ในชั้นสอบสวน และคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ขบวนเสด็จเมื่อตุลาคม ปี 2563 ที่เขาถูกฟ้องข้อหาประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี เขาก็เตรียมขึ้นศาลยาวในช่วงเดือน พ.ย.- ธ.ค. 2565 และ ม.ค. 2566 เขาลงปฏิทินส่วนตัวของเขาไว้แล้วด้วย ไม่ได้เคยคิดหนีไปไหน 

เอกชัยยังได้สอบถามข่าวคราวเรื่องการขอประกันตัวให้เพื่อนอีก 2 คนที่ถูกคดีทางการเมืองด้วย เมื่อได้รับทราบว่าทนายความได้ยื่นขอประกันตัวให้หลายครั้งแล้ว แต่ศาลอาญายังไม่อนุญาต ก็พอคลายใจได้ว่ามีคนช่วยคดีเพื่อนอยู่ อย่างน้อยก็เพื่อประกันอิสรภาพออกมาต่อสู้คดีต่อ   

วันนี้เป็นโอกาสพิเศษของเอกชัย เพราะเป็นวันเกิดของเขา ก่อนที่เอกชัยจะถูกนำตัวไปยังห้องควบคุมตัวด้านล่างศาล เพื่อนโจทก์ร่วมฟ้องคดีนี้และผู้มาสังเกตการณ์คดี อวยพรวันเกิดเขาและขอให้เขาสมหวังในสิ่งที่อยากได้

เอกชัยยิ้มและกล่าวขอบคุณทุกคน เขาบอกว่าอยากออกมาเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือหากติดยาวก็คงได้อภัยโทษออกมาโดยเร็วกว่าคำพิพากษาได้ และเอกชัยอยากให้กระบวนการฎีกาคดีเขาเกิดขึ้นโดยเร็วอีกด้วย  

“ของขวัญวันเกิดปีนี้ ฉันรู้ ว่ามันคือการได้เบิกตัวมาศาลในวันนี้” เอกชัยยืนขึ้นและโบกไม้โบกมือในสไตล์ของเขาก่อนจากกัน  

.

คดีตัดสัญญาณมือถือข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย นัดสืบใหม่เดือน ธันวาคม ปีนี้ 

สำหรับในคดีแพ่ง ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย โจทก์ทั้งห้าคน ทนายความโจทก์ อัยการจำเลย พร้อมด้วยที่ปรึกษาด้านคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายจำเลยมาศาล ในนัดสืบพยานโจทก์ 

ทนายความโจทก์ แถลงว่าเอกสารที่ทางโจทก์หมายเรียกให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ทั้งจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Dtac ส่งมาประกอบการสืบพยานของฝ่ายโจทก์นั้น ทางบริษัททั้ง 3 ยังไม่ได้ส่งมาให้ศาล โจทก์จึงขอเลื่อนคดีไปอีกสักนัดเพื่อติดตามเอกสารดังกล่าว ศาลสอบถามฝ่ายจำเลย จำเลยไม่ค้าน   

ศาลแขวงดุสิตจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยออกไปเพราะเอกสารที่หมายเรียกนั้นเป็นเอกสารสำคัญในคดี และนัดหมายวันนัดสืบพยานใหม่ ฝ่ายโจทก์เป็นวันที่ 14 ธ.ค. 2565 และฝ่ายจำเลยเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. 

คดีนี้ เอกชัยและเพื่อนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สืบเนื่องจากในเวลาประมาณ 16.00 – 21.00 น. ของวันที่ 16 ส.ค. 2563 ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โจทก์ทั้ง 5 คน พบว่าในบริเวณที่มีการชุมนุมไม่สามารถใช้งานสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อดูข่าวสารในเฟซบุ๊กได้ ต่อมา พบข่าวปรากฏภาพถ่ายของรถยนต์หลายคันที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ต้องสงสัยว่ารบกวนสัญญาณ โดยรถยนต์เหล่านี้มีตราสัญลักษณ์ของ สตช. ทั้งยังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายถืออุปกรณ์ต้องสงสัย นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นของ สตช. ได้ชี้แจงว่าหนึ่งในรถยนต์ที่ปรากฏตามภาพนั้นมีประสิทธิภาพในการตัดสัญญาณมือถือได้จริง

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 5 จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสื่อสาร ตลอดจนถึงการรบกวนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

โจทก์ทั้ง 5 จึงได้ยื่นฟ้อง สตช. ไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ซึ่งเดิมทีโจทก์แต่ละรายได้แยกฟ้อง สตช. เป็นคนละ 1 คดี รวม 5 คดี แต่เนื่องจากมูลเหตุในคดี พยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน และจำเลยเป็นบุคคลเดียวกันคือ สตช. ศาลจึงได้มีคำสั่งรวมคดีไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาต่อศาลปกครอง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ศาลปกครองกลางได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับศาลแขวงดุสิตว่า เหตุในคดีนี้เกิดขณะที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมาตรา 16 ได้บัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” ดังนั้น การกระทำทางละเมิดของเจ้าพนักงานอันเกิดจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง  

.

อ่านเพิ่มเติม: 

ประชาชนฟ้อง สตช. ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย กรณีสตช. ใช้รถและอุปกรณ์ตัดสัญญาณเน็ตในที่ชุมนุม 

“เอกชัย” ร้องศาลคุ้มครองชั่วคราว ใช้โทรศัพท์-เน็ตในพื้นที่ชุมนุม หวั่นไม่ปลอดภัย

.

X