เก็บตกหลังศาลฎีกามีคำสั่ง #ไม่ให้ประกันตัว “เอกชัย” เรื่องการคำนวณโทษจำคุก ที่จำเลยโต้แย้งในชั้นฎีกา

“เอกชัย หงส์กังวาน” ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน ในคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เอกชัยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงได้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คือ จำเลยเห็นว่าการโพสต์บทความเล่าเรื่องราวในเรือนจำดังกล่าว เป็นการเขียนในแนวนวนิยาย  มิได้มีเจตนาโพสต์เพื่อสื่อสารไปในทางลามก แม้จะมีถ้อยคำบางส่วนที่ไม่สุภาพ แต่จำเลยมั่นใจว่าไม่เป็นความผิดตามนิยามของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และภายหลังยังได้ฎีกาเพิ่มเติมในปัญหาข้อกฎหมาย โดยมีประเด็นคือเรื่องการคำนวณโทษจำคุกที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 บัญญัติไว้ว่า “ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากับหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรจะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้”

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเอกชัย 1 ปี มีการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม (เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก และได้กระทำความผิดใดๆ อีกในระหว่างภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ) และมีการลดโทษตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม (ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ) เมื่อส่วนของการเพิ่มโทษและลดโทษเท่ากัน ศาลจึงเห็นสมควรไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ คงโทษจำคุกไว้ที่ 1 ปี

.

.

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ในข้างต้น จะพบว่าในกรณีนี้ศาลสามารถมีดุลยพินิจคำนวณโทษจำคุกของเอกชัยได้ถึง 2 วิธี ดังนี้

.

วิธีที่ 1 เพิ่มโทษก่อน แล้วจึงค่อยลดโทษจากผลที่เพิ่ม

หากศาลคำนวณตามวิธีนี้ ก่อนเพิ่มหรือลดโทษเอกชัยจะมีโทษจำคุก 1 ปี เมื่อเพิ่มโทษหนึ่งในสามจะมีโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน จึงค่อยนำผลลัพธ์นี้มาลดโทษลงหนึ่งในสาม เท่ากับว่าเอกชัยจะมีโทษจำคุกหลังลดโทษ 10 เดือน 20 วัน

.

วิธีที่ 2 ไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ (วิธีที่ศาลใช้)

หากศาลคำนวณตามวิธีนี้ ส่วนของการเพิ่มโทษและการลดโทษที่เท่ากันนี้จะหายกันไป ไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ เท่ากับว่าเอกชัยจะมีโทษจำคุกคงเดิมตามที่พิพากษาคือ 1 ปี

.

จากผลลัพธ์ในข้างต้น จะเห็นได้ว่าโทษจำคุกจากการคำนวณทั้งสองวิธีนี้แตกต่างกันถึง 1 เดือน 10 วัน แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะเพิ่มและลดโทษด้วยวิธีใด แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) โดยเฉพาะในกรณีการบอกเล่าประสบการณ์ของเอกชัย ไม่ได้เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม ศาลจึงควรใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณ บังคับแก่จำเลย

หากศาลคำนวณโทษของเอกชัยโดยวิธีที่ 1 เอกชัยจะต้องโทษจำคุก 10 เดือน 20 วัน ไม่ใช่ 1 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้เอกชัยยังคงเหลือโทษจำคุกเพียง 6 เดือน หลังจากถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 ไม่ใช่ 7 เดือนเศษ และการที่ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเอกชัยต่อไป อาจส่งผลให้เอกชัยต้องอยู่ในเรือนจำเกินกว่าโทษตามกฎหมาย เนื่องจากการพิจารณาฎีกา อาจใช้เวลานานกว่าโทษจำคุกที่เหลือ

.

ย้อนอ่านรายละเอียดการประกันตัวครั้งที่ 5 >>> ศาลฎีกายังคงไม่ให้ประกัน “เอกชัย” ครั้งที่ 5 แม้จะเหลือโทษจำคุกเพียง 6 เดือน อาจส่งผลให้ต้องอยู่ในเรือนจำเกินกว่าโทษ

X