ศาลฎีกายังคงไม่ให้ประกัน “เอกชัย” ครั้งที่ 3 ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม แม้เสนอเพิ่มวงเงิน-ยื่นคำร้องขอฎีกาแล้ว

19 พ.ค. 2565 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “เอกชัย หงส์กังวาน” ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์ ประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลฎีกาก็ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกาคำพิพากษา ทำให้เอกชัยถูกคุมขังมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 

ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลฎีกาพิจารณา และล่าสุด ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยการยื่นประกันตัวครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว

>>ศาลไม่ให้ประกัน “สมบัติ-เอกชัย” ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

.

เปิดคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “เพิ่มวงเงินประกัน 2 แสนบาท-ยืนยันไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ทุกคดีที่ถูกฟ้องเป็นการใช้สิทธิ ICCPR”

ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเอกชัยระบุว่า ขอวางหลักประกันเป็นเงิน 200,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา จำเลยจะไม่หลบหนี ไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคการพิจารณาคดีของศาล

นอกจากนี้ จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยังมีความประสงค์จะขอฎีกาคำพิพากษาของศาล โดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และยื่นฎีกาต่อศาลไปในวันที่ 18 พ.ค. 2565 เพื่อให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ 

เกี่ยวกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้โปรดอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยมาตั้งแต่ชั้นพิจารณา และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ศาลก็ยังได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ กรณีจึงเห็นได้ว่าจำเลยมิได้มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ อีกทั้งจำเลยมีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงสามารถติดตามจำเลยได้โดยง่าย 

ที่สำคัญแม้จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังถูกฟ้องอีกหลายคดี แต่ก็ไม่ได้มีพฤติการณ์อันใดของจำเลยที่เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าจำเลยจะหลบหนี ดังเห็นได้จากจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในทุกคดี โดยทุกคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดีนั้นมีมูลเหตุจากการชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง การแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งสิ้น อันเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR) มิได้เป็นการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมใดๆ 

ทั้งนี้ ในระหว่างฎีกา หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวใดๆ ตามกฎหมาย หรือกำหนดให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ EM จำเลยก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด 

.

ไม่ให้ประกันครั้งที่ 3 ระบุ “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” แม้เอกชัยยื่นคำร้องขอฎีกาแล้ว

ต่อมา วันนี้ (26 พ.ค. 2565) ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเอกชัย เป็นครั้งที่ 3 โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง”

ทั้งนี้ เอกชัยได้ยื่นคำร้องขอรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและฎีกาต่อศาลอาญาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 โดยขณะนี้คำร้องและฎีกานั้น ได้ส่งให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาให้อนุญาตให้ฎีกาต่อไป 

อนึ่ง เอกชัยถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดี ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้ปัจจุบัน เอกชัยถูกคุมขังมาแล้ว 38 วัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 26 พ.ค. 2565 ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 10 คน

.

X