เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 เวลา 17.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับรายงานว่า “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 116 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567
ทั้งนี้ ตะวันและแฟรงค์ พร้อมกับสายน้ำได้มาปักหลักที่ศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเวลา 09.00 น. เพื่อติดตามให้กำลังใจกรณีของสื่อมวลชน 2 ราย ได้แก่ “เป้” ณัฐพล เมฆโสภณ และ “ยา” ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ในคดีที่สืบเนื่องมาจาก “บังเอิญ” ใช้สีสเปรย์พ่นลงบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566
ซึ่งสายน้ำและตะวันได้แจ้งต่อสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณหน้าอาคารศาลอาญาว่า หากตำรวจออกหมายจับพวกเขาแล้ว ก็ขอให้มาจับกุมที่นี่เลย โดยทั้งสามจะรอตำรวจอยู่ที่ศาลอาญานี้จนถึงช่วงเย็น
ต่อมาเวลา 16.50 น. ตะวันและแฟรงค์ พร้อมกับสายน้ำได้เดินออกมายืนบริเวณหน้าป้ายศาลอาญา รัชดาฯ โดยตำรวจได้เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 13 ก.พ. 2567 ในข้อหา ร่วมกันกระทำให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจาฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ
ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ออกหมายเรียกให้ตะวันและแฟรงค์ไปเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ ในวันที่ 12 ก.พ. 2567 เวลา 10.00 น. แต่ทั้งสองได้แจ้งความประสงค์ทางโทรศัพท์ว่า ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นช่วงเวลาบ่ายโมงของวันดังกล่าว เนื่องจากติดเรียนและทำงาน แต่ตำรวจก็ยืนยันจะให้เธอกับแฟรงค์ไปรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้า เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ว่างช่วงบ่าย ทั้งสองจึงขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 20 ก.พ. 2567 โดยทนายความได้ทำหนังสือขอเลื่อนและมอบให้เสมียนทนายไปยื่นต่อพนักงานสอบสวนในเช้าวันที่ 12 ก.พ. 2567 แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังตะวันและแฟรงค์ไม่ได้ปรากฏตัวในวันที่ 12 ก.พ. พนักงานสอบสวนจึงขอศาลอาญาออกหมายจับ โดยมีข้อหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มมาด้วย ก่อนศาลอาญาอนุมัติหมายจับ
เวลา 17.00 น. ตะวันและแฟรงค์ได้ถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.ดินแเดง โดยมีทนายความติดตามไปให้ความช่วยเหลือทางคดี
เนื้อหาในบันทึกจับกุม โดยสรุประบุว่า เวลา 16.45 น. ที่ทางเดินเท้าบริเวณหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมทั้งหมด 10 นาย นำโดย พ.ต.อ. ธิติพงษ์ สียา ผกก.สส.บก.น. 9 และเจ้าพนักงานตำรวจ คฝ. หญิง รวม 10 นาย นำกำลังเข้าควบคุมตัวตะวันและแฟรงค์ ตามหมายจับเลขที่ 610/2567 และเลขที่ 611/2667 ลงวันที่ 13 ก.พ. 2567 ตามลำดับ เพราะสืบทราบมาว่าทั้งสองจะปรากฏตัวบริเวณหน้าศาล ต่อมาพบเจอตัวทั้งสองจริงจึงได้แสดงตัวเจ้าพนักงาน อ่านหมายจับ และนำตัวทั้งสองไปที่ สน. ดินแดง ตะวันและแฟรงค์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมนี้
ระหว่างนี้ที่หน้า สน. ดินแดง มีประชาชนมาให้กำลังใจทั้งสองจำนวนหนึ่ง ต่อมา 18.30 น. ตำรวจที่ สน.ดินแดง ได้แจ้งกับทนายความว่าจะแยกตะวันไปสอบปากคำและควบคุมตัวที่ สน.ฉลองกรุง แต่ตะวันได้แจ้งความประสงค์ว่า ขอให้สอบปากคำและควบคุมตัวเธอไว้ที่ สน.ดินแดง พร้อมกับแฟรงค์ แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) หญิง จำนวน 4 นาย ได้เข้ามาควบคุมตัวและอุ้มตัวเธอขึ้นไปบนรถผู้ต้องขัง และเคลื่อนตัวออกไปที่ สน.ฉลองกรุง ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น.
ตะวันถูกควบคุมตัวถึง สน. ฉลองกรุงในเวลา 20.30 น. โดยทนายความที่ขับรถติดตามไปพบว่า ตะวันมีร่องรอยช้ำแดงจากการอารยขัดขืนขณะถูก คฝ.หญิงพาตัวขึ้น-ลงรถผู้ต้องหาระหว่างย้ายที่ควบคุมตัว
ต่อมา พ.ต.ต. ธราดล วงศ์เจริญยศ สว. (สอบสวน) สน. ดินแดง ได้แจ้งข้อกล่าวหากับตะวันใน 3 ฐานความผิดด้วยกัน ได้แก่
1) ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน หรือ “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
2) ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
3) ร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 ตะวันผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และแฟรงค์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้นั่งรถยนต์มาถึงบริเวณทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสันที่มี พ.ต.ท.ชญานิน พันธ์ภักดี สารวัตรงานศูนย์ควบคุมจราจรทางด่วน 2 บก.จร. ผู้กล่าวหาที่ 1 กับพวก เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย ขบวนเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งจะเสด็จผ่านในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้หยุดรถมาจากทางร่วมชั่วคราว เพื่อถวามความปลอดภัย แต่แฟรงค์ได้พยายามขับรถแทรกระหว่างรถยนต์ที่จอดชะลอด้านหน้าจำนวนหลายคัน ซึ่งไม่สามารถขับผ่านไปได้ เพราะผู้กล่าวหาที่ 1 ให้สัญญาณมือให้รถคันดังกล่าวหยุด แต่แฟรงค์กลับบีบแตรเสียงดังต่อเนื่องประมาณ 1 นาที โดยไม่มีสาเหตุ ขณะที่ตะวันเปิดกระจกและส่งเสียงตะโกนโวยวาย
เมื่อขบวนเสด็จได้ผ่านไป ผู้กล่าวหาที่ 1 ได้เปิดการจราจรให้รถยนต์จากทางร่วมวิ่งไปได้ แต่ปรากฎว่ารถคันดังกล่าวมีพฤติการณ์ขับรถออกไปด้วยความเร็ว เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่อขบวนเสด็จจึงได้วิทยุแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นทราบ จนรถคันดังกล่าวมาถึงบริเวณทางลงพหลโยธิน 1 (อนุสาวรีย์สมรภูมิ) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่รถปิดท้ายขบวนจึงได้สกัดรถคันดังกล่าวไว้ไม่ให้สามารถแทรกเข้าไปร่วมในขบวนเสด็จได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเดินเข้าไปพูดคุย
โดยตะวันได้ทำการไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว และยังส่งเสียงโวยวายต่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ส่วนแฟรงค์ก็บีบแตรลากยาว ส่งเสียงดังรบกวน ก่อความเดือดร้นรำคาญให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน แฟรงค์ยังได้กล่าววาจาในลักษณะดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ส.ต.อ. นพรัตน์ ผู้กล่าวหาที่ 2 ซึ่งกำลังปฎิบัติหน้าที่อีกด้วย
หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท. ชญานิน ผู้กล่าวหาที่ 1 และ ส.ต.อ. นพรัตน์ ผู้กล่าวหาที่ 2 ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับตะวันในข้อหา ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ และดำเนินคดีแฟรงค์ในข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน, ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ และใช้เสียงสัญญาณยาวหรือซ้ำโดยไม่มีเหตุอันควร
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ยังระบุต่ออีกว่า ต่อมา พ.ต.ท.สรัล สุรเดชานนท์ รอง ผกก.สส.สน.ดินแดง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้สืบสวนหาพยานหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและจัดทำรายงานการสืบสวน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 4 ก.พ. 2567 ตะวันได้ทำการไลฟ์สดเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กตนเองที่เปิดเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ มีผู้ติดตามมากกว่า 37,000 คน ซึ่งประชาชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งในทางที่ “เห็นชอบด้วย” และ “ไม่เห็นชอบด้วย” สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน
ต่อมา ยังพบว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ตะวันได้โพสต์คลิปเหตุการณ์จากกล้องหน้ารถ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของตะวันกับแฟรงค์ที่เป็นการแสดงการต่อต้าน ท้าทาย และดูหมิ่นพระเกียรติยศต่อขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ การกระทำดังกล่าวของตะวันและแฟรงค์เป็นการสร้างภาพตัวอย่าง ชักจูงให้คล้อยตามพฤติกรรมของตน เป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชน ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต หรือส่งเสริมให้บุคคลแสดงความคิดเห็นต่อต้านขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ พ.ต.ท.สรัล ผู้กล่าวหาที่ 3 จึงมาแจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับทั้งสองข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
ทั้งนี้ แฟรงค์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน. ดินแดง เหมือนกับตะวัน 3 ข้อหา พร้อมทั้งข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และใช้เสียงสัญญาณยาวหรือซ้ำโดยไม่มีเหตุอันควร อีก 2 ข้อหา รวมเป็น 5 ข้อหา
ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งยังไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใด ๆ และปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวทั้งสองเพิ่มเติม ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควร อีก 1 ข้อหา
หลังเสร็จการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในช่วงเวลา 23.00 น. ตะวันถูกควบคุมตัวที่ สน.ฉลองกรุง ส่วนแฟรงค์จะอยู่ที่ สน.ดินแดง เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น (14 ก.พ. 2567)
XXXX
เช้าวันที่ 14 ก.พ. 2567 เวลา 10.00 น. รถควบคุมตัวผู้ต้องขังจาก สน.ดินแดง และ สน.ฉลองกรุง ได้ทยอยมาถึงศาลอาญา ซึ่งทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังทันที
ต่อมาเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ศาลจะเปิดห้องพิจารณาคดีที่ 809 เพื่อทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขังตามคำร้องของทนายความ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมสังเกตการณ์ไต่สวนในวันนี้
ร.ต.อ.ศรัทธาธรรม สูตรสุวรรณ และ พ.ต.ท.สนุก พัฒนา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เข้าให้การในฐานะผู้ร้องขอฝากขัง โดยเบิกความถึงพฤติการณ์แห่งคดี โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 เวลาประมาณ 18.20 น. แฟรงค์ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ โดยมีตะวันเป็นผู้โดยสารอยู่บริเวณด้านข้างคนขับ บนทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสัน มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ซึ่งในขณะนั้น มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กำลังเสด็จผ่านในบริเวณดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อารักขาได้มีการสั่งให้หยุดรถที่มาจากทางร่วมฯ เป็นการชั่วคราวเพื่อถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จ
ในเวลาต่อมา ได้ปรากฏว่าแฟรงค์ ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ ได้พยายามเข้ามาแทรกกลางระหว่างรถที่ชะลออยู่ เพื่อแทรกตัวไปด้านหน้า แต่ไม่สามารถขับผ่านไปได้ โดยมีตำรวจสั่งให้หยุด ซึ่งผู้ต้องหาที่ขับรถได้หยุดรถและบีบแตรส่งเสียงดังเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเนื่องประมาณ 1 นาที
ส่วนตะวันที่นั่งอยู่ข้างคนขับ ได้เปิดกระจกรถต่อว่าตำรวจที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวว่า เดือดร้อนภาษีประชาชน และเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว ก็ได้เปิดการจราจรให้รถยนต์จากทางร่วมฯ วิ่งไปได้ตามปกติ โดยเห็นว่ารถของผู้ต้องหาทั้งสองคนมีพฤติการณ์ขับรถเร็ว ซึ่งตำรวจเห็นว่าอาจเป็นการอันตรายต่อขบวนเสด็จ จึงได้แจ้งทางวิทยุให้เจ้าหน้าที่รายอื่นที่ปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยทราบถึงพฤติกรรมของรถยนต์คันดังกล่าว
จากนั้น รถของตะวันก็ได้ขับเข้าประชิดกับรถปิดท้ายขบวน แต่เจ้าหน้าที่รถปิดท้ายขบวนได้สกัดเอาไว้ได้ จึงทำให้ไม่สามารถแทรกเข้าไปในขบวนเสด็จได้
เมื่อรถของผู้ต้องหาทั้งสองคนหยุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงไปพูดคุย ซึ่งเห็นว่าตะวันได้ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง และส่งเสียงโวยวายต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
และเหตุที่ต้องมาฝากขังกับศาลอาญาในครั้งนี้ ผู้ร้องได้เสนอต่อศาลว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นการกระทำที่มีโทษสูง และอาจมีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังต้องสอบประจักษ์พยานเพิ่มอีกเป็นจำนวน 5 ราย
อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ถามค้าน โดยถาม ร.ต.อ.ศรัทธาธรรม ผู้ร้องว่า ในคดีนี้เริ่มแรก ไม่ใช่คดีที่มีโทษสูง และเป็นคดีลหุโทษเท่านั้น ซึ่งตำรวจเคยขอออกหมายจับจากศาลแขวงดุสิต แต่ศาลดังกล่าวปฏิเสธออกหมายจับให้ เนื่องจากเป็นการขอหมายที่กระชั้นชิดใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ยอมรับว่าใช่ พร้อมทั้งอธิบายว่า เดิมคดีนี้เป็นคดีลหุโทษ โดยมีเพียงข้อหาเกี่ยวกับการส่งเสียงอื้ออึงเท่านั้น
แต่เมื่อคณะพนักงานสอบสวนได้ประชุมกันแล้วลงความเห็นว่า คดีนี้ต้องแจ้ง ม.116 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มีโทษสูง จึงได้เปลี่ยนมาขอออกหมายจับจากศาลอาญาแทน โดยศาลก็ได้อนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองคน
เมื่อทนายถามต่อว่า ประจักษ์พยานที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องสอบเพิ่มเป็นบุคคลใดบ้าง ร.ต.อ.ศรัทธาธรรม ไม่สามารถตอบได้ ทนายถึงถามว่าผู้ร้องก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นบุคคลใดบ้าง ตลอดจนผู้ต้องหาทั้งสองรายก็ไม่ทราบว่าประจักษ์พยานที่พนักงานสอบสวนจะสอบปากคำเพิ่มเติมเป็นบุคคลใดบ้างใช่หรือไม่ ผู้ร้องรับว่า ใช่
ต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี โดยมีคำสั่งว่าให้ผู้ต้องหาทั้งสองรายรอฟังคำสั่งว่าศาลจะอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ ในเวลา 14.00 น.
ในเวลา 14.30 น. ศาลเรียกให้ทนายความเข้าไปฟังคำสั่งที่บริเวณห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล โดยมีคำสั่งระบุว่า เนื่องจากคดีนี้ พนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นจะต้องสอบปากคำประจักษ์พยานเพิ่มเติมอีก 5 ราย โดยเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองราย อาจเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานที่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 1 เป็นจำนวน 12 วัน (14 – 25 ก.พ. 2567)
ต่อมา 15.00 น. ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันตะวันและแฟรงค์ในทันที แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างการสอบสวน ระบุคำสั่งว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ข้อหาที่ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสองมีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุน่าเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้ หรือประการอื่นอีก ทั้งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง
ผลของคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลในวันนี้ ทำให้ตะวันถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง และแฟรงค์ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที และส่งผลให้มีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มเป็น 40 รายแล้ว