เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องคดีของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักศึกษาและนักกิจกรรมวัย 20 ปี ในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เหตุในคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ตะวันได้ไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่บริเวณทางเท้าบนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตะวันได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าควบคุมตัว และนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) โดยตะวันถูกแจ้งข้อหา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3), ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
การฟ้องคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่ “ตะวัน” ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันในคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ทำให้เธอถูกฝากขังระหว่างสอบสวนเรื่อยมา จนถึงวันที่ 26 พ.ค. 2565 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง พร้อมกับอดอาหารประท้วง ทั้งสิ้น 37 วัน
.
ฟ้อง 112! อัยการชี้ ถ้อยคำในไลฟ์เรื่องขบวนเสด็จ เจตนาสร้างความเสียหายแก่ความมั่นคงของประเทศ-เสียดสีในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมพระเกียรติ
ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด บรรยายคำฟ้องโดยท้าวความว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ
คำฟ้องระบุเกี่ยวกับพฤติการณ์ของคดีว่า จำเลยได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ในหัวข้อ “มารับขบวนเสด็จ” โดยเนื้อหาที่ถ่ายทอดสดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีจํานวนยอดไลน์ 503 แสดงความคิดเห็น 848 รายการ และแชร์ 435 ครั้ง
คำฟ้องได้ถอดข้อความแต่ละท่อนที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กล่าวมาเรียงต่อกัน พร้อมสรุปว่าคำพูดดังกล่าวของจำเลยที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กนั้น มีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่า เหตุที่ม็อบชาวนาต้องย้ายเป็นเพราะพระมหากษัตริย์เสด็จผ่าน และพระมหากษัตริย์ไม่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชน อันเป็นการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ และเป็นการกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายต่อเบื้องพระยุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ ในวันเกิดเหตุดังกล่าว ขณะที่ พ.ต.อ.เอกสมยศ อุดมรักษาทรัพย์ พนักงานตํารวจ สน.นางเลิ้ง กำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเส้นทางเสด็จประจําจุดแยกมัฆวาน ได้พบเห็นจําเลยกำลังไลฟ์สด บริเวณเกาะกลางถนน ซึ่งเป็นบริเวณใกล้กับเส้นทางเสด็จพระราชดําเนินของในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงสั่งให้จำเลยหยุดการกระทำดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยฯ แต่จำเลยไม่ได้ปฎิบัติตาม โดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันสมควร ถือเป็นการขัดขืนไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานขณะปฎิบัติหน้าที่
อีกทั้งจำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ส.ต.ภาวินีย์ เดชพิพัฒนวงศ์ ซึ่งเป็นพนักงาน คฝ. หญิง สน.นางเลิ้ง ที่ได้พยายามเข้าควบคุมตัวจำเลยออกจากที่เกิดเหตุ โดยจำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าพนักงาน จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ
อัยการได้ฟ้องตะวันในทั้งหมด 4 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่
1. “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3)
3. “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138
4 “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368
สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล ในท้ายคำฟ้องยังระบุว่า ขอให้ศาลนับโทษจำเลยต่อจากคดีชุมนุมไล่ประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ของศาลแขวงนนทบุรี พร้อมกับให้ริบโทรศัพท์มือถือไว้เป็นของกลาง
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียดในคดีนี้
รายละเอียดการถูกถอนประกันในคดีนี้
การไต่สวนคัดค้านฝากขังทั้ง 4 ครั้ง