ศาลให้ฝากขัง “ตะวัน” ต่ออีก 12 วัน ตร.อ้างต้องสอบพยานอีก 2 ปาก แม้ทนายค้านว่า ผตห.ไม่หลบหนี-ไม่อาจยุ่งกับพยานได้ 

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 เวลา 14.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในผัดที่ 6  ในคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 หลังพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นขอให้ศาลฝากขังต่อไปอีกเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าต้องสอบสวนพยานอีก 2 ปาก ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตะวันต่อไปอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 17 พ.ค. 2565 ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แม้ทนายความยื่นคัดค้าน

หลังศาลเพิกถอนประกันตะวันในคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ทำให้เธอถูกฝากขังระหว่างสอบสวนในผัดที่ 4 และผัดที่ 5 ซึ่งผัดที่ 5 ครบกำหนดฝากขังในวันนี้ (5 พ.ค. 2565) เช้าวันนี้พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง จึงมายื่นคำร้องขอฝากขังตะวันต่อเป็นผัดที่ 6 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อ ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขัง 

ไต่สวนขอฝากขัง ตำรวจ ‘ตอบวกวน’ ว่าเหตุใดต้องขังต่ออีก ทั้งๆ ที่ ผตห.ไม่หลบหนี-ไม่ยุ่งเหยิงกับพยาน-มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทนายสวนตำรวจทำงานล่าช้า 12 วัน สอบพยานได้แค่ 2 ปาก 

เวลา 14.00 น. ที่ห้องเวรชี้ ชั้น 1 ศาลอาญา ได้เริ่มทำการไต่สวนคัดค้านการขอฝากขังผัดที่ 6 โดยมี พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ผู้ยื่นคำร้อง และทนายความผู้ต้องหาเข้าร่วม โดยมีพยาน 1 ปาก ได้แก่ ทนายผู้ต้องหาอ้างตนเป็นพยาน 

ทั้งนี้ศาลไม่ได้เบิกตัวตะวันมาเข้าร่วมการไต่สวนแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อ รวมถึงเห็นว่าผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความในคดีนี้แล้ว ซึ่งสามารถทำการเบิกความคัดค้านแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเบิกตัวผู้ต้องหาจากทัณฑสถานหญิงกลาง

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร ผู้ยื่นคำร้องเบิกความว่า เช้าวันนี้ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังตะวันต่อไปอีก 12 วัน เนื่องจากจำเป็นจะสอบปากคำพยานอีก 2 ปาก ได้แก่ แพทย์นิติเวชผู้ตรวจร่างกายผู้ต้องหาและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ได้รับบาดเจ็บหลังเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อขอความเห็นประกอบสำนวนคดี 

พยานอีก 2 ปากที่เหลือนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งคู่ ด้านพยานแพทย์นิติเวชพยานได้ทำการตรวจร่างกายผู้ต้องหาและตำรวจแล้วเสร็จ เหลือเพียงการสอบปากคำเท่านั้น 

ส่วนพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย พนักสอบสวนบอกว่ายังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นผู้ใด โดยจะแจ้งให้ทราบในภายหลังเมื่อหาพยานปากดังกล่าวได้แล้ว การสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายนั้นมีจุดประสงค์เพื่อขอความเห็นไปประกอบสำนวนคดีว่า ผู้ต้องหากระทำผิดตามมาตรา 112 จริงและอย่างไรบ้าง เพื่อให้ศาลเข้าใจว่าการกระทำของผู้ต้องหามีความผิดจริง

ทนายความผู้ต้องหาคัดค้านการขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานทั้ง 2 ปากได้ แม้จะไม่ขังผู้ต้องขังไว้ ผู้ต้องหาก็ไม่อาจทำให้การสอบสวนของตำรวจเสียหายได้ และพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบปากคำพยานได้ตามปกติ

พ.ต.ท.สำเนียง เบิกความว่า เห็นด้วยว่าผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานทั้ง 2 ปากที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ และเป็นบุคคลที่ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นใครได้ โดยรับด้วยว่าผู้ต้องหาไม่มีทีท่าจะหลบหนี และเมื่อมีหมายเรียกก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

ทนายเบิกความว่า ตะวันถูกขอฝากขังมานาน 16 วันแล้ว ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยหลบหนี ตามมานัดหมายของศาลตลอด ศาลเรียกตัวมาไต่สวน ในวันที่อาจจะมีการถอนประกันก็ไป ไม่เคยบ่ายเบี่ยงหรือผิดนัดแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนผู้ปกครองก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเช่นกัน และยังมีสถานที่ทำงานให้สามารถติดตามตัวได้อีกด้วย 

พ.ต.ท.สำเนียง บอกว่า “แต่คดีนี้ศาลเคยปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่ถูกเพิกถอนประกันไปเองเพราะทำผิดเงื่อนไข” ซึ่งในส่วนดังกล่าว ทนายความก็ได้ทำการย้ำอยู่หลายต่อหลายครั้งว่า การมาขอฝากขังของพนักงานสอบสวน กับการที่ผู้ต้องหาถูก

ทนายถามย้ำพนักงานสอบสวนอีกว่า “ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งใช่ไหม” พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ใช่”

ทนายถามอีกว่า “ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาไม่มีอิทธิพลจะไปยุ่งเหยิงกับพยานทั้ง 2 ปากที่เป็นข้าราชการใช่หรือไหม” พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ใช่” และทนายถามอีกว่า “ผู้ปกครองของผู้ต้องหามีก็ที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่งใช่หรือไม่” พ.ต.ท.สำเนียง ก็ตอบอีกว่า “ใช่”

ทนายสอบถามว่า เหตุที่ขอฝากขังต่ออีก 12 วัน เพราะตำรวจมีเหตุผลอย่างเดียว คือ ‘กลัวผู้ต้องหาหลบหนีใช่หรือไม่’ ซึ่งทาง พ.ต.ท. สำเนียงกลับไม่สามารถตอบได้ชัดเจนตลอดการไต่สวน และเลี่ยงที่จะไม่ตอบตรงๆหากแต่กล่าวเพียงว่าตำรวจ จะต้องมาขอให้ขังทุกครั้งไป เพราะยังทำการสอบสวนไม่เสร็จ โดยทนายความก็ได้อธิบายต่อหน้าผู้พิพากษาและตำรวจผู้ร้องเพิ่มเติมว่า  การทำงานของตำรวจนั้นล่าช้ามากและเป็นการขังผู้ต้องขังไว้อย่างไม่มีความจำเป็น ผิดเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการมาขอฝากขังของตำรวจนั้น ที่จริงเป็นคนละเรื่องกับการถอนประกันจากเหตุที่เด็กผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล การฝากขังผู้ต้องหา ที่ยังไม่ใช้จำเลย อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องแต่อย่างใดนั้น จะต้องทำไม่เกินแก่ความจำเป็น ก่อนหน้านี้ตำรวจก็ได้ขอฝากขังต่อศาลไปแล้วเป็นเวลา 12 วันจนครบผัด โดยอ้างว่าต้องสอบปากคำพยานจำนวน 4 ปาก แต่ 12 วันผ่านไปตำรวจสอบปากคำพยานเสร็จแค่ 2 ปาก วึ่งนับว่าช้ามาก

ทนายกล่าวต่อว่า “กฏหมายมอบอำนาจให้ทนายความพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ต้องหา ไม่ให้ผู้ต้องหาสูญเสียสิทธิและเสรีภาพ และย้ำว่าการขังผู้ต้องหาต่อไป ไม่ได้มีความจำเป็นและมีประโยชน์ใดๆ”

พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่สามารถขอฝากขังผู้ต้องหาได้ เพื่อจะได้มีเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานในสำนวนคดีให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ไม่ได้เกรงกลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานแต่อย่างใด

ทนายถามย้ำพนักงานสอบสวนอีกครั้งเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในการคัดค้านขอฝากขังว่า “ไม่เคยเห็นผู้ต้องหามีพฤติการณ์ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานมาก่อนใช่หรือไม่” พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ใช่” ทนายถามอีกว่า “ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีใช่หรือไม่” ซึ่งในครั้งนี้ พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ไม่ทราบ”

จากนั้นทนายผู้ต้องหาได้สรุปเหตุผลในการขอคัดค้านการฝากขังว่า ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้ เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี” และประกอบกับเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
  2. พนักงานสอบสวนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผู้ต้องหาไว้ต่อไป
  3. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
  4. พยาน 2 ปาก ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาไม่ว่าทางใด
  5. พนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอฝากขังให้การยืนยันด้วยตนเองว่า ‘ไม่กลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี’

จากนั้นศาลกล่าวว่า “การสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายเพื่อขอความเห็นมาประกอบสำนวนคดีนี้นั้นไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาถูกคุมขังมาเป็นเวลานานแล้ว ตำรวจควรรีบดำเนินการสอบปากคำพยานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พยานปากไหนที่ไม่สำคัญก็ให้ตัดออกไปได้”

จากนั้นเมื่อทนายความถาม พ.ต.ท.สำเนียง ว่า หากครั้งนี้ศาลไม่ให้ขังไว้และปล่อยตัวไป ตำรวจจะมาคัดค้านการประกันตัวอีกหรือไม่ ซึ่งสำหรับคำถามนี้ พ.ต.ท.สำเนียง ได้ตอบกลับว่า “ผมมีความจำเป็นที่จะต้องทำไปตามหน้าที่ สมควรหรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล”

หลังไต่สวนเสร็จไม่ถึง 2 นาที ศาลอ่านคำสั่งให้ฝากขังตะวันต่อไปอีก 12 วันทันที 

เวลาประมาณ 14.30 น. หลังดำเนินการไต่สวนคัดค้านขอฝากขังแล้วเสร็จ จากนั้นผู้พิพากษาได้เดินเข้าไปปรึกษาผู้พิพากษาท่านอื่นอีกหนึ่งท่านในห้องผู้พิพากษาเวรประจำวัน ใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที ก่อนจะเดินออกมาและอ่านคำสั่งทันที

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตะวันตามคำร้องของพนักงานสอบสวนต่อไปอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 17 พ.ค. 2565 เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีความจำเป็นที่จะต้องสอบปากคำพยานอีก 2 ปาก โดยระบุในคำสั่งเพิ่มเติมว่า หากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาอีกในครั้งหน้าศาลจะพิจารณาโดยเคร่งครัด 

หลังอ่านคำสั่ง ศาลได้บอกว่า “อนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 12 วัน แต่บอกไม่ได้ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ฝากขังครั้งสุดท้ายหรือไม่” และได้กำชับพนักงานสอบสวนครั้งสุดท้ายว่า “ขอให้เร่งรัดการสอบสวนขึ้นอีกนิดหนึ่ง” 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการอนุญาตให้ขังในครั้งก่อน ผู้พิพากษาก็มีการจดคำสั่งและกระบวนพิจารณาในแบบเดียวกัน คือมีการปรามว่าหากทำงานล่าช้าก็จะไม่อนุญาตให้ฝากขังอีก แต่อย่างไรก็ดีก็ยังคงสั่งอนุญาตให้ขังตัวผู้ต้องหาไว้

ทั้งนี้ ในคดีข้อหาตามมาตรา 112 กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการขออำนาจศาลฝากขังได้ไม่เกิน 7 ครั้ง หรือ 7 ผัด ครั้งละไม่เกิน 12 วัน แต่ต้องไม่เกิน 84 วัน โดยการอนุญาตให้ฝากขังตะวันของศาลในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งถอนประกัน “ตะวัน” เหตุร่วมรับเสด็จ-โพสต์โพลขบวนเสด็จเดือดหรือไม่ ส่งตัวไปทัณฑสถานหญิงทันที โดยไม่รอยื่นประกัน

ตร.จับ “ตะวัน” ไลฟ์สดก่อนมีเสด็จ คุมตัวแจ้ง ม.112 อ้างกล่าว “ด้อยค่า” กษัตริย์ ซ้ำแจ้งเพิ่มอีกคดี กรณีทำโพลความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ

ตร.นางเลิ้ง ขอศาลถอนประกัน “ตะวัน” อ้างเหตุโพสต์-แชร์เฟซบุ๊ก 10 ครั้ง ทั้งขับรถเข้าใกล้ขบวนเสด็จ ทนายเตรียมยื่นคำคัดค้าน ก่อนฟังคำสั่ง 20 เม.ย.นี้

ศาลให้ฝากขัง “ตะวัน” ต่ออีก 12 วัน เหตุตำรวจขอสอบพยานอีก 4 ปาก แม้ทนายค้านว่าไม่ขังไว้ก็สอบพยานได้ 

X