13 ก.ย. 2567 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ นักกิจกรรมภาคอีสาน ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต จากการปราศรัยประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 112 จำคุกคนละ 3 ปี เพิ่มโทษไผ่กึ่งหนึ่ง กรณีทำผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี จำคุกไผ่ 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกไผ่ 2 ปี 12 เดือน จำคุกครูใหญ่ 2 ปี ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
องค์คณะผู้พิพากษา ได้แก่ สากล บุตรสำราญ และพิมลพรรณ ถิรางกูร
คดีนี้สืบพยานไปเมื่อกลางเดือน เม.ย. ถึงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า ผู้ชุมนุมและการชุมนุมมีการคัดกรอง สถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง ไม่แออัด ไผ่และครูใหญ่ปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลที่ออกกฎหมายส่งผลกระทบสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้เรียกร้องให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ รวมถึงพยานหลักฐานที่เป็นคลิปของโจทก์ตลอดจนบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยนั้นไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน
.
เวลา 10.00 น. ไผ่, ครูใหญ่ ทนายจำเลย พร้อมทั้งเพื่อน ๆ และประชาชนที่มาให้กำลังใจ ทยอยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 2 เพื่อฟังคำพิพากษา จนเต็มม้านั่งในห้องพิจารณาคดี
ราว 11.00 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษามีสาระสำคัญในส่วนที่เป็นคำวินิจฉัยใน 4 ประเด็น โดยสรุปดังนี้
1. ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เห็นว่า วันเกิดเหตุอยู่ในช่วงขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 9 เหตุผลที่ขยายระยะประกาศดังกล่าวก็เพื่อการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการ์การระบาดระลอกใหม่ แสดงว่าในช่วงเกิดเหตุสถานการณ์การแพร่ระบาดทุเลาเบาบาง เห็นได้จากโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน on site ตามที่ รอง ผอ.ร.ร.ภูเขียว เบิกความ
เจือสมกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงนั้นลดจำนวนลง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิยังจัดกิจกรรมประกวดเยาวชนต้นแบบ มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวนไม่น้อย
สอดคล้องกับพยานโจทก์ปากสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิเบิกความว่า การจัดกิจกรรมจะมีความเสี่ยงสูงเมื่อมีผู้เข้าร่วมเป็นไข้ ถ้าผู้เข้าร่วมไม่แสดงอาการ การชุมนุมก็มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อผู้ชุมนุมในคดีนี้ผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว ไม่พบคนที่ติดเชื้อ การชุมนุมย่อมมีความเสี่ยงต่ำ จำเลยทั้งสองกับพวกย่อมทำกิจกรรมได้เช่นเดียวกับการประกวดเยาวชนต้นแบบ
ประกอบกับสถานที่จัดกิจกรรมล้วนโล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท มีพื้นที่กว้าง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมเดินไปมาได้ มีการรวมกลุ่มก็เพียงบางช่วง ไม่นาน แม้มีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏมีผู้ติดเชื้อ การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
2. ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
เห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ต้องขอรับการอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ขออนุญาตคือผู้จัดให้มีกิจกรรม แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอยืนยันว่า จำเลยที่ทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรม แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่จะอาศัยเพียงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาเป็นโทษต่อจำเลย ก็จะเป็นผลร้ายต่อจำเลยเกินไป จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีมูลเหตุจูงใจที่ชัดเจน แม้ได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองปราศรัยโจมตีรัฐบาล แต่ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตรงกันข้ามพยานโจทก์ได้ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ระหว่างการชุมนุมไม่มีบุคคลถูกทำร้าย ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธหรือก่อเหตุรุนแรง
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ตำรวจขอโทษนักเรียนที่ถูกคุกคามไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมค่าย พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมีมูลเหตุจูงใจที่จะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3)
4. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.อภิรักษ์ เบิกความว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 และพวกปราศรัย พยานรับฟังอยู่ตลอดและเมื่ออ่านบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีถ้อยคำบางส่วนของจำเลยที่ 1 กล่าวว่า “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์…” พยานโจทก์อีกหลายปากก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้ง จ.ส.ต.อาทิตย์ ที่ถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ปราศรัยโดยใช้ภาษาไทยและภาษาอีสาน พยานฟังเข้าใจทุกถ้อยคำและถอดเทปทุกถ้อยคำ โดยจำเลยที่ 1 พูดปราศรัยถ้อยคำดังกล่าวจริง
เห็นว่า เหตุการณ์บางส่วนเกิดหน้า สภ.ภูเขียว พยานโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ไม่ผิดวิสัยที่จะเบิกความสอดคล้องกัน ประกอบกับวัตถุพยานที่เป็นคลิปคำปราศรัยพบจำเลยที่ 1 ปราศรัยด้วยถ้อยคำดังกล่าว เห็นได้ว่า ภาพและเสียงล้วนมีเนื้อหาตรงตามบันทึกการถอดเทปของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เองก็เบิกความรับว่า ปราศรัยด้วยถ้อยคำดังกล่าว เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำดังกล่าวจริง
ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำว่า “..ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นบัลลังค์มา… ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ที่ต้องฟังเสียงประชามติของประชาชนก็ไม่ได้เกิดขึ้น…” แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลภาพและเสียงในคลิป ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำดังกล่าว
ประกอบกับ พ.ต.ท.หญิง สมร ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า วัตถุพยานที่ตรวจเป็น DVD ไม่ใช่แฟลชไดรฟ์ ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล วัตถุพยานที่พยานตรวจและที่โจทก์อ้างส่งอาจไม่ตรงกันทั้งหมด จ.ส.ต.อาทิตย์ ก็เบิกความว่า คลิปปราศรัยมาจากยูทูบ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดาวน์โหลดหรืออัพโหลด ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มีการปราศรัยหลายที่ อาจเป็นไปได้ว่า ตำรวจนำคำปราศรัยที่อื่นมารวม หากเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวอาจไม่ใช่การกระทำของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุโดยตรง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1
แต่ที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำว่า “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์…” ประชาชนที่ได้รับฟังย่อมเกิดความรู้สึกว่า พระมหากษัตริย์ไม่ดูแลประชาชน อันเป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่า ไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
ที่จำเลยอ้างว่า สถาบันกษัตริย์ที่พยานพูดมีความหมายถึง กลุ่มเครือข่ายชนชั้นนำที่ได้ผลประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ หากเป็นเช่นนั้นจริง จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้คำอื่นที่สื่อความหมายได้ตรงมากกว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ไม่สมเหตุสมผล ไม่น่าเชื่อถือ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
สำหรับคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 “ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูกขาดสัมปทาน…” เห็นได้ว่า เสียงปราศรัยของจำเลยที่ 2 ในคลิปตรงกับบันทึกการถอดเทป จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า ปราศรัยข้อความดังกล่าว เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ปราศรัยถ้อยคำดังกล่าวจริง
การที่จำเลยที่ 2 พูดปราศรัยด้วยถ้อยคำดังกล่าว ประชาชนที่รับฟังอาจเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์สั่งระเบิดภูเขา อันเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ
ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า การปราศรัยมีเจตนาแยกทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้ชัดระหว่างทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น เห็นว่า จากภาพและเสียงการปราศรัยของจำเลยที่ 2 บางส่วน จำเลยที่ 2 พูดถึงพระมหากษัตริย์ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทําให้คนไทยทุกข์ ๆ พ่อจะไปแจกถุงยังชีพให้ เดี๋ยวพ่อจะเอาโครงการไปให้ โครงการที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นใครละเซ็นต์รัฐประหาร…” คำพูดดังกล่าวล้วนใส่ความ ดูถูก เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ ทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงซ้ำในอนุมาตราเดียวกันภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 2 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี
ส่วนคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วหรือไม่ และผลการพิพากษาเป็นอย่างไร จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
.
หลังศาลจบการอ่านคำพิพากษา ไผ่และครูใหญ่ได้พูดคุยกับเพื่อนและญาติซักพักก่อนถูกควบคุมตัวลงไปห้องขังด้านหลังศาลซึ่งเป็นช่วงใกล้เที่ยงแล้ว ทนายจึงยื่นประกันในช่วงบ่ายด้วยวงเงินประกันคนละ 300,000 บาท เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาสั่งนานหน่อย เนื่องจากต้องรอผลการประเมินความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม หลังรออยู่จนกระทั่งราว 15.30 น. เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณา ยังไม่สามารถบอกได้ว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์จะลงมาเมื่อไหร่
ประมาณ 16.15 น. รถผู้ต้องขังของเรือนจำอำเภอภูเขียวควบคุมตัวผู้ต้องขังรวมทั้งไผ่และครูใหญ่ จากห้องขังศาลจังหวัดภูเขียวไปที่เรือนจำ ทั้งสองต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างรอฟังคำสั่งคำร้องขอประกันชั้นอุทธรณ์ ทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 44 คนแล้ว โดยเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ถึง 30 คน
ภาพจากไลฟ์ในเฟซบุ๊ก Pai Jatupat
.
(**เพิ่มเติมข้อมูลวันที่ 14 ก.ย. 2567)
วันต่อมา (14 ก.ย. 2567) เวลา 14.00 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ประกันไผ่และครูใหญ่ ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองเคยได้รับอนุญาตให้การปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกันเป็นเงินคนละ 300,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป”
หลังวางเงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยสำหรับไผ่วางเพิ่ม 100,000 บาท จากที่เคยวางไว้ในชั้น 200,000 บาท และครูใหญ่จำนวน 300,000 บาท เนื่องจากชั้นต้นใช้ตำแหน่ง สส. ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอำเภอภูเขียวในเวลาประมาณ 15.30 น. รวมเวลาถูกคุมขัง 2 วัน
.
อ่านคำเบิกความพยานในชั้นศาล:
อ่านฐานข้อมูลคดี:
คดี 112 “ไผ่-ครูใหญ่-ไมค์” หลังปราศรัยหวังให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หน้า สภ.ภูเขียว