14 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 48 ปี ตกเป็นจำเลย กรณีโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564 ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ต่อมาอัยการศาลสูงจังหวัดขอนแก่นยื่นอุทธรณ์
ประมาณ 09.30 น. ทิวากร ทนายความ ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและไอลอว์ และเพื่อนของทิวากร เดินทางถึงห้องพิจารณาคดีที่ 9 โดยพบว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่าปกติ คือ นอกจากผู้มาศาลจะต้องถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสแกนบัตรประชาชน และตรวจกระเป๋าที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าอาคารตามปกติแล้ว ผู้ที่มาห้องพิจารณาคดีที่ 9 ยังถูกตรวจค้นกระเป๋าก่อนเข้าห้องอีกครั้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตามเข้ามาในห้องพิจารณากำชับให้เก็บโทรศัพท์ใส่กระเป๋า ทั้งยังนั่งจับตาผู้สังเกตการณ์ทั้งสองคนตลอดเวลา
ราว 10.00 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี โดยยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจําคุกกระทงละ 2 ปี รวมจําคุก 6 ปี ริบของกลาง
หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตำรวจประจำศาลได้นำกุญแจมือมาใส่ทิวากรและควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ซึ่งผลของคำพิพากษาทำให้ทิวากรจะถูกควบคุมตัวไปขังระหว่างฎีกาที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่สิ้นสุด เนื่องจากเขาแจ้งความประสงค์ไว้ว่ายังไม่ต้องการให้ยื่นประกัน
ทั้งนี้ ในคดีทางการเมืองจากการแสดงออกและการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทิวากรเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองคนแรกของจังหวัดขอนแก่น และทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มเป็น 42 คนแล้ว โดยเป็นผู้ต้องขังระหว่างการต่อสู้คดีในคดีมาตรา 112 จำนวน 17 คน
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุ โพสต์ของจำเลยมุ่งกล่าวถึง ร.10 – ข้อความมีลักษณะ ลดคุณค่า ใส่ความ จึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีเนื้อหาโดยย่อดังนี้
อุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้รูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์จะมิได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่ก็สื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นําสืบมาแสดงให้เห็นว่าจําเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์นั้น
เห็นว่า แม้รูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์ จําเลยจะใช้ถ้อยคําว่า “สถาบันกษัตริย์” แต่ถ้อยคําดังกล่าวเป็นนามธรรม ซึ่งจะมีความหมายมุ่งถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจําเลย เพื่อให้เห็นเจตนาว่าประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ประกอบกับวิญญูชนทั่วไปซึ่งได้พบเห็นรูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์สามารถเข้าใจได้ว่ามุ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันหรือไม่
คดีนี้จําเลยเบิกความรับว่า คําว่า สถาบันกษัตริย์ ที่จําเลยพูดถึงนั้นหมายถึง พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์องค์ปัจจุบัน องคมนตรี ประธานองคมนตรี ราชเลขานุการ ราชองครักษ์ระดับสูง เมื่อพิจารณาประกอบพยานเอกสารของจําเลย ประกอบถ้อยคําที่จําเลยโพสต์ตามฟ้อง เมื่อสถาบันกษัตริย์เป็นนามธรรมจึงไม่อาจกระทําตามถ้อยคําดังกล่าวได้
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเอกสารของโจทก์ที่จําเลยลงข้อความตอบผู้มาแสดงความคิดเห็นว่า “ยุค ร.9 ใช้ 112 กันอย่างบ้าคลั่งเหมือนกันครับ บ้าคลั่งกว่ายุค ร.10 อีก ยุค ร.10 ยังมีช่วงระงับใช้…” แสดงให้เห็นเจตนาของจําเลยว่ามุ่งประสงค์ต่อพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน
ทั้งพยานโจทก์หลายปากต่างก็เบิกความทํานองเดียวกันว่า เมื่อเห็นข้อความดังกล่าวมีความมุ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาจึงรับฟังได้ว่า รูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์ดังกล่าวหมายถึง พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน
ส่วนที่จําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ หรือไม่นั้น
เห็นว่า นอกจากการที่จําเลยโพสต์รูปภาพของจําเลยสวมเสื้อคอกลมสีขาว มีข้อความสกรีนตัวหนังสืออักษรสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ยังปรากฏว่าจําเลยมีการโพสต์ข้อความชักชวนให้คนมาซื้อเสื้อที่มีข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจําเลยมีเจตนาสบประมาท ลดคุณค่าพระเกียรติยศ อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน
ส่วนที่จําเลยโพสต์อีก 2 ข้อความนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล โดยไม่ต้องรับผิดชอบโดยพระองค์เอง ดังนี้ การที่จําเลยโพสต์ข้อความเรียกร้องดังกล่าว พระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถจะกระทําได้
เมื่อพิจารณาถ้อยคําที่จําเลยโพสต์ดังกล่าว ปรากฏมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทํานองเกลียดชัง ด่าทอ จึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเมื่อจําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความโดยนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)
ส่วนการกระทําของจําเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่จําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความดังกล่าวก็เพื่อต้องการที่จะให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้
ส่วนเสื้อยืดของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจําเลยได้ใช้สื่อความหมายในการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงให้ริบ
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด รวม 3 กระทง จําคุกกระทงละ 3 ปี ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจําคุกกระทงละ 2 ปี รวมจําคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น
องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงชื่อท้ายคำพิพากษาประกอบด้วย ยงยศ คุปตะวาทิน, เดชะ วีระเดช และวิรัตน์ สีดาคุณ
.
ดูฐานข้อมูลคดีนี้:
คดี 112, 116 ทิวากร สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” – โพสต์ยุติการใช้ 112
.
อ่านเรื่องราวของทิวากรเพิ่มเติม:
กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง
“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร
“ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์