14 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัด ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 48 ปี ฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564
คดีนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ยกฟ้อง และให้คืนของกลางคือเสื้อยืดสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จำนวน 3 ตัว แก่ทิวากร
คำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า พยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่า โพสต์ของจำเลยชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ข้อความและภาพที่จำเลยโพสต์กล่าวถึง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ จึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง อีกทั้ง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ต่อมา วันที่ 14 ธ.ค. 2565 พรรณพงษ์ ทนินซ้อน อัยการอาวุโส สํานักงานคดีศาลสูงภาค 4 ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการศาลสูงจังหวัดขอนแก่น ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคําพิพากษาศาลชั้นต้น และพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องกับริบของกลาง โดยอ้างเหตุผลว่า พยานโจทก์หลายปากให้การชั้นสอบสวนว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์อาจทำให้ประชาชนเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ พยานโจทก์ยังเห็นว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึง รัชกาลที่ 10 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ทิวากรได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในเวลาต่อมา เพื่อโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยยืนยันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งชี้ว่า คำให้การของพยานในชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานโจทก์หลายปากก็เห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เจาะจงถึงรัชกาลที่ 10
จึงชวนจับตาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะมีคำพิพากษาในคดีนี้อย่างไร
ทั้งนี้ ทิวากรได้แจ้งทนายความไว้ว่า หากศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้เขามีความผิด และลงโทษจำคุกเขาโดยไม่รอการลงโทษ เขาประสงค์ที่จะไม่ยื่นประกันในระหว่างฎีกา เช่นเดียวกับที่เขาเคยแจ้งไว้ก่อนฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า
“ผมจะรับการทรมานทั้งกายและใจ ทั้งที่ในมโนสำนึกผมไม่ผิดนะ เพื่อเป็นการประจานความอยุติธรรมว่าจริงๆ แล้ว ที่ผมเข้าไปอยู่ในคุกนั้นผมไม่ควรจะถูกฟ้องด้วยซ้ำไป 112, 116 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ มันไม่เข้าอยู่แล้ว ที่ผมเข้าไปไม่ใช่เพราะว่าผมผิด แต่ผมเข้าไปเพราะว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ยุติธรรม และผมไม่กลัว”
.
อัยการอุทธรณ์อ้าง พยานโจทก์หลายปากเบิกความยืนยัน จำเลยโพสต์ถึง “สถาบันกษัตริย์” แต่พยานเห็นว่าหมายถึง ร.10
อัยการศาลสูงจังหวัดขอนแก่น ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยอ้างถึงเหตุผลดังนี้
1. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีเพียง ผศ.ดร.อานนท์ เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องที่ว่าสถาบันกษัตริย์จะล่มสลายเป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่พยานโจทก์ปากอื่นทั้งหมดไม่มีปากใดที่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวและรูปภาพกับข้อความตามฟ้องอีก 2 ข้อความ เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จําเลยลงทั้งหมดในแต่ละครั้งแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเช่นนั้น นั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า นอกจากพยานโจทก์ปาก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องที่ว่าสถาบันกษัตริย์จะล่มสลาย เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์แล้ว ยังเบิกความว่า ข้อความ “เราหมดศรัทธา…” เป็นการชักชวนให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นแม้ไม่ได้เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 ข้อความ เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ปรากฏข้อความที่จําเลยลงให้เห็นเป็นเช่นนั้น แต่พยานโจทก์ปากดุลยภพและนาวี ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์ลงในเฟชบุ๊กแล้วเห็นว่า อาจทําให้ประชาชนหรือผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าว เกิดความเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งพยานโจทก์ปาก พ.อ.เชาวลิต และอรทัยรัตน์ ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานได้เข้าไปดูคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของจําเลยแล้ว มีบางคนแสดงความคิดเห็นแบบเกลียดชังพระมหากษัตริย์
2. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อข้อความและรูปภาพที่จําเลยลงในเพจเฟซบุ๊กกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ จําเลยจึงมิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอน การเข้าใจข้อความดังกล่าว จึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง นั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ข้อความและรูปภาพที่จําเลยลงในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัติย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่พยานโจทก์หลายปากเบิกความหรือให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10, อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ก็เบิกความและให้การในชั้นสอบสวนว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และคําว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึงรัชกาลที่ 10 และวิไลวรรณให้การในชั้นสอบสวนว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการกล่าวอ้างเรื่องราวในปัจจุบันจึงเท่ากับ ผู้โพสต์มีเจตนามุ่งหมายกล่าวถึงรัชกาลปัจจุบัน
ดังนั้น โจทก์จึงเห็นว่าการลงข้อความและรูปภาพของจําเลยได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอน ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 10
3. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ มิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จําเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก จึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และมิใช่กระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน รวมทั้งไม่เป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้อง และเสื้อยืดของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งจําเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด จึงไม่ริบ ให้คืนแก่เจ้าของ นั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานโจทก์ปากวิไลวรรณ, พ.อ.เชาวลิต และสุรสิทธิ์ เบิกความว่า พยานอ่านข้อความที่จำเลยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์แล้ว เห็นว่าจําเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, ทําให้ปรากฏแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้อง เสื้อยืดของกลางจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจําเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด อันพึงต้องริบตามกฎหมาย
.
“ทิวากร” แก้อุทธรณ์ชี้ พยานโจทก์ตีความข้อความตามฟ้องแตกต่างกันไป หลายปากก็เห็นว่าไม่ได้เจาะจงถึงรัชกาลที่ 10 จึงไม่ผิด 112
ทิวากรยื่นคำแก้อุทธรณ์ เพื่อโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1. ในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ว่า มีพยานปากอื่นได้ยืนยันว่าการกระทำของจำเลยเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยพยานโจทก์ปากดุลยภพและนาวี แสงฤทธิ์ ต่างให้การในชั้นสอบสวนแต่เพียงว่า “อาจ” ทำให้ประชาชนผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าวเกิดความเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ การที่พยานใช้ถ้อยคำว่า “อาจ” ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นคำช่วยกริยาบอกถึงการคาดคะเน จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า ข้อความดังกล่าวชักชวนให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเกลียดชังต่อสถาบันกษัตริย์ และเมื่อมาเบิกความในชั้นพิจารณาพยานทั้งสองปากกลับไม่เบิกความในลักษณะดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งพยานโจทก์ปากดุลยภพยังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อเห็นข้อความดังกล่าวแล้วพยานยังรักในสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิม
ส่วนที่พยานโจทก์ปาก พ.อ.ชวลิต และอรทัยรัตน์ ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า พยานได้เข้าไปดูคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของจําเลย แล้วมีบางคนแสดงความคิดเห็นแบบเกลียดชังพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อมาเบิกความในชั้นพิจารณาพยานทั้งสองกลับไม่เบิกความยืนยันในลักษณะเดียวกันกับที่เคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ทั้งสองปากไม่ได้เบิกความเลยว่า ได้เข้าไปดูคนที่มาแสดงความเห็นในโพสต์ของจำเลย
นอกจากนี้คำให้การในชั้นสอบสวนในส่วนนี้ของ พ.อ.ชวลิต และอรทัยรัตน์ ก็มีเนื้อความเหมือนกันทุกถ้อยคำ จนเป็นพิรุธให้จำเลยสงสัยว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการคัดลอกคำให้การของพยานปากหนึ่งไปเป็นคำให้การของพยานปากอื่น ๆ แล้วจึงให้พยานเซ็นรับรอง โดยไม่ได้บันทึกคำให้การของพยานตามจริง กรณีดังกล่าวทำให้บันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้ศาลรับฟังได้
2. ในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ว่ามีพยานหลายปากยืนยันว่าคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10
จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยเฉพาะที่ศาลวินิจฉัยว่า การเข้าใจข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้องขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ การตีความของแต่ละบุคคลนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของที่แตกต่างกันไป ดังนั้น แม้อุทธรณ์โจทก์จะยกคำเบิกความหรือคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์หลายปากที่ตีความไปตามความรู้และประสบการณ์ของตนเองว่า ข้อความที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กหมายถึงรัชกาลที่ 10 แต่ก็มีพยานโจทก์ปากอื่นที่ตีความแตกต่างออกไป โดยเบิกความตอบโจทก์และทนายจำเลยว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แม้แต่พยานโจทก์ปากที่โจทก์นำคำให้การชั้นสอบสวนอ้างมาในอุทธรณ์
พยานโจทก์เหล่านั้นยังตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต
เมื่อข้อความที่จำเลยโพสต์ใช้คำว่า “สถาบันกษัตริย์” การตีความย่อมต้องตีความจากคำว่า “สถาบันกษัตริย์” เท่านั้น ซึ่งพยานโจทก์ต่างก็ให้ความหมายไปในทางเดียวกันว่า หมายถึง พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน รวมถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต การโพสต์ข้อความตามฟ้องของจำเลยจึงมิได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ
3. จำเลยเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิได้ระบุถ้อยคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ให้เป็นองค์ประกอบความผิดตามกฏหมาย การที่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ จึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และมิใช่การกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลย และให้คืนของกลางแก่เจ้าของ เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว
.
ดูฐานข้อมูลคดี:
คดี 112, 116 ทิวากร สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” – โพสต์ยุติการใช้ 112
.
อ่านเรื่องราวของทิวากรเพิ่มเติม:
กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง
“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร
“ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์