ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 1 เดือน “นภัส” กรณีถูกตามจับหลัง #ม็อบ10สิงหา64 และพบมีระเบิดปิงปอง 3 ลูก ก่อนได้ประกันชั้นอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญาตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษาในคดีมีวัตถุระเบิดในครอบครอง และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “นภัส” (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี จากการถูกจับกุมภายหลังยุติการชุมนุม #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 และถูกตรวจพบว่ามีระเบิดปิงปองในกระเป๋าจำนวน 3 ลูก

.

ย้อนดูเหตุแห่งคดี  ถูกตามจับหลังยุติ #คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช โดยไม่มีหมายจับ

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ภายหลังยุติการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา64  ในเวลาราว 20.30 น. นภัสและพวกรวม 5 ราย ขณะกำลังกลับบ้านพัก ถูกเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนติดตามหลังออกจากพื้นที่การชุมนุม และเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายจับ โดยนภัสถูกตรวจพบระเบิดปิงปองจำนวน 3 ลูก ที่จัดทำขึ้นเองในกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล ชุดจับกุมจึงได้ควบคุมตัวไปที่ สน.ตลิ่งชัน เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฝากขังในวันถัดมา ด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา หรือ #คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายที่แยกราชประสงค์ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปที่อาคารชิโน-ไทย ทาวเวอร์, บ้านของธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอาคารคิง พาวเวอร์ ก่อนที่จะยุติกิจกรรมในเวลา 17.06 น. ทั้งนี้ ทางกลุ่มแนวร่วม มธ.ยังได้อ่านประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย

อ่านข่าวขณะนภัสและผู้ชุมนุมรายอื่นถูกจับกุม: ไล่จับ 47 ราย เป็นเยาวชน 14 ราย! หลังยุติ​ #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช หลายรายบาดเจ็บ ก่อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ – ใช้เงินประกัน 7.6 แสน

.

ย้อนดูคำฟ้องในคดี 

คดีนี้ ณัฐวรรณ กิจพันธ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 2 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่นั้น จำเลยกับพวกไม่น้อยกว่า 10 คนที่หลบหนียังไม่ได้ตามตัวฟ้องได้ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมมากกว่า 5 คน ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งหนึ่ง ย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่แออัด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อมาเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมยึดวัตถุระเบิดปิงปองจำนวน 3 ลูกที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและกระเป๋าสะพายจำนวน 1 ใบไว้เป็นของกลาง 

จำเลยได้มีวัตถุระเบิดแรงดันต่ำ ประเภทดินเทา พันด้วยเทปกาวสีดำ จำนวน 3 ลูก ซึ่งเป็นลักษณะของวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบจัดทำขึ้นเอง (ระเบิดปิงปอง) อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดด้วยมือเปล่าหรือกระทบเพื่อให้ก้อนหินและวัตถุระเบิดแรงดันต่ำที่บรรจุอยู่ภายในเสียดสีกระแทกกัน ทำให้เกิดการระเบิดโดยมีเศษหิน เศษแก้ว สกรูเกรียวปล่อยเป็นสะเก็ด จัดเป็นวัตถุระเบิดตามกฎหมายและเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ 

พนักงานอัยการจึงได้ยื่นฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปิน พ.ศ. 2490 มาตรา 55 และมาตรา 78 วรรค 1 และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ท้ายคำฟ้องอัยการยังได้ขอให้ศาลสั่งริบของกลางเป็นวัตถุระเบิด จำนวน 3 ลูกและกระเป๋าสะพายด้วย

เมื่อถึงนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 13 ก.ย. 2565 นภัสได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้มีการสืบเสาะและพินิจจำเลย พร้อมทั้งนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

.

ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 1 เดือน ข้อหามีวัตถุระเบิด-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เพราะรับสารภาพ

วันนี้ เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาที่ 304 ผู้พิพากษาออกนั่งบังลังก์และได้ถามนภัสว่า ในกระบวนการสืบเสาะและพินิจจำเลยเพื่อนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษในคดีนี้ เหตุใดเจ้าหน้าที่คุมความประพฤติจึงไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ตามที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รวมถึงเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ให้ไว้ก็ไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน

นภัสแถลงต่อศาลว่า เมื่อไม่นานนี้เขาได้ย้ายออกมาอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งแทนที่อยู่เดิมตามทะเบียนบ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่อยู่เดิมสักเท่าไหร่ ส่วนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ติดต่อไม่ได้นั้นเป็นเพราะนภัสได้ทำโทรศัพท์มือถือหล่นหายไป ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจึงไม่สามารถดำเนินการสืบเสาะและพินิจจำเลยตามคำสั่งศาลได้

ต่อมาศาลได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4, 55, 78 วรรค 1, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 4, 5, 9 (2), 18 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป 

ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดในครอบครอง ให้จำคุก 2 ปี ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 1 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 15 วัน และให้ยึดของกลางเป็นระเบิด 3 ลูก และกระเป๋าสะพาย 1 ใบ

จากนั้นนภัสถูกตำรวจศาลใส่กุญแจมือและพาตัวไปคุมขังยังห้องขังใต้ถุนศาลทันที โดยทนายความได้ยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน 100,000 บาท และได้วางเงินเพิ่มเติมอีก 30,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

เวลา 11.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ตามคำร้องขอประกันที่ได้ยื่นต่อศาลไว้ข้างต้น และศาลได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากผิดสัญญาประกันให้ปรับเงินประกันทั้งหมด จากนั้นไม่นานนภัสจึงถูกปล่อยตัวออกจากห้องขังใต้ถุนศาลและเดินทางกลับบ้าน

.

X