ยกฟ้อง 20 ผู้ชุมนุมคาร์ม็อบ10สิงหา64 ศาลแขวงดุสิตชี้ ไม่ใช่ผู้จัด – หัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามชุมนุม 

วันที่ 13 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชนจำนวน 20 ราย ที่ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีถูกจับกุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและแยกสามเหลี่ยมดินแดงหลังการชุมนุม #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 

ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศเคลื่อนขบวน Car Mob จากบ้านธรรมนัส พรหมเผ่า บริเวณถนนพระรามเก้าไปยังห้างคิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ โดยใช้เส้นทางถนนอโศก-ดินแดง ผ่านมายังบริเวณแยกดินแดง โดยภายหลังจากที่แกนนำประกาศเลิกการชุมนุมในช่วง 17.00 น. แต่ยังมีผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่ยังคงยืนยันจะอยู่ในพื้นที่และปะทะกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะถูกจับกุมไปอย่างน้อย 47 ราย และบางส่วนถูกนำตัวไปสอบสวนและทำบันทึกจับกุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 

ย้อนดูเหตุแห่งคดี>> ไล่จับ 47 ราย เป็นเยาวชน 14 ราย! หลังยุติ​ #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช หลายรายบาดเจ็บ ก่อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ – ใช้เงินประกัน 7.6 แสน

ในการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 จำเลยทั้ง 20 กับพวกรวม 300 คน ได้ร่วมกันชุมนุมหรือจัดกิจกรรม “Car mob” (คาร์ม็อบ) ที่บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิและแยกสามเหลี่ยมดินแดง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ต่อมาในเวลากลางคืนหลังเที่ยง เจ้าพนักงานได้จับกุมจำเลยทั้ง 20 ราย ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน 

ชั้นสอบสวนและพิจารณาจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ และได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วยหลักประกันเป็นเงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์คนละ 20,000 บาท รวมเงินประกันในคดีนี้ถึง 400,000 บาท

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565, 20, 25 และ 26 ม.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

ที่ห้องพิจารณา 510 เวลา 10.00 น. ศาลได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยที่ภายในห้องพิจารณามีจำเลยบางส่วนที่ทยอยเดินทางมารอฟังคำพิพากษา ก่อนที่ทนายจำเลยจะลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า มีจำเลย 1 ราย ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำจากความผิดในคดีอื่น จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาไปก่อน 

ด้านศาลชี้แจงว่า หากขาดจำเลยไปคนใดคนหนึ่ง ศาลจะไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ ศาลจึงให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไปเป็นช่วงบ่าย พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่เตรียมการวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำเพื่อให้จำเลยที่ถูกคุมขังรายดังกล่าวฟังคำพิพากษาพร้อมกัน 

ต่อมา เวลา 14.45 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษาอีกครั้งมีใจความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรและขยายเวลาเรื่อยมา และมีการห้ามจัดกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการฯ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ที่จะพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานที่จัดกิจกรรม 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 20 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้ง 20 คน ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ตามข้อกฎหมายไม่ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 แทนนายกรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ   

ดังนั้น ข้อกำหนดต่าง ๆ ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม ห้ามทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด จึงเป็นเพียงการสั่งการในทางบริหารเพื่อประโยชน์แห่งการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำที่ได้รับมอบอำนาจให้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ห้ามทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโรคโควิด จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และ 18 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 20 กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าวหรือไม่ 

นอกจากนี้ พยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 เป็นการชุมนุมของหลายกลุ่ม หลายบุคคล จำเลยทั้ง 20 อยู่ร่วมการชุมนุมดังกล่าว แต่ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศยุติการชุมนุม จำเลยทั้ง 20 ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศจึงถูกจับกุม แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์แต่ละปากเบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้ง 20 เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมที่อยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่มีพยานโจทก์ปากใดทราบว่า ใครเป็นแกนนำหรือผู้จัด หรือจำเลยทั้ง 20 คนใดเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร 

หลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 20 เป็นผู้จัดกิจกรรม การกระทำของจำเลยทั้ง 20 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง 

.

.

อ่านประมวลสถานการณ์การชุมนุมเพิ่มเติม: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1628653157435

X