กลางเดือนกันยาฯ ภาคกลาง-ใต้ อัยการยังเร่งฟ้อง #ม็อบทะลุแก๊ส #คาร์ม็อบ 8 คดี ฟ้องผู้คอมเมนท์โพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ อีก 2 คดี

สำหรับในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 (9 – 20 กันยายน 2564) ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า อัยการยื่นฟ้องคดีจากการชุมนุมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมรวม 8 คดี ทั้งจากคาร์ม็อบ และจากการชุมนุมของเยาวรุ่น “ทะลุแก๊ส” บริเวณดินแดง ทั้งหมดเป็นการเร่งรัดยื่นฟ้องใน 1 เดือน รวมทั้งมีการยื่นฟ้องคดีที่กล่าวหาว่าหมิ่นประมาทลูกสาวพลเอกประยุทธ์โดยการโฆษณา จากการคอมเมนท์ในโพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ อีก 2 คดี 

.

+++ ยื่นฟ้อง 20 ผู้ชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ก่อนศาลให้ประกันโดยใช้หลักประกันเดิม+++

9 กันยายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ได้ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ต่อศาลแขวงดุสิต จำนวนทั้งหมด 20 ราย ที่ถูกจับบริเวณแนวถนนดินแดงต่อเนื่องราชวิถี ก่อนถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ บช.ปส. ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อมา ทั้งหมดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน วางเงินประกันรายละ 20,000 บาท

>>> ไล่จับ 47 ราย เป็นเยาวชน 14 ราย! หลังยุติ​ #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช หลายรายบาดเจ็บ ก่อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ – ใช้เงินประกัน 7.6 แสน

อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 20 ร่วมกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง รวม 300 คน ได้ร่วมกันชุมนุมหรือจัดกิจกรรม “Car mob” (คาร์ม็อบ) ที่บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิและแยกสามเหลี่ยมดินแดง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ต่อมาในเวลากลางคืนหลังเที่ยง เจ้าพนักงานได้จับกุมจำเลยทั้ง 20 ราย ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้ง 20 ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องผัดฟ้องฝากขังจำเลยทั้ง 20 และมีคำสั่งฟ้องในผัดที่ 5 กรณีจำเลยที่ 6 อัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในอีกคดีหนึ่ง ของศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน 

อัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 20 ในฐานความผิดเดียว คือ ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศาลให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยใช้เงินหลักประกันเดิมที่วางในชั้นสอบสวน กำหนดนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 20 มีนัดรายงานตัวตามสัญญาประกัน และรับทราบว่าอัยการยื่นฟ้อง พิทักษ์ กาซัน หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องไม่ได้เดินทางเข้ารายงานตัว ศาลจึงมีคำสั่งให้ริบเงินประกันและออกหมายจับ อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 จำเลยรายนี้ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่โดยยื่นคำร้องของดจ่ายค่าปรับ และขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิม

ศาลมีคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยรายนี้มาศาลหลังเลยกำหนดภายใน 1 วัน จึงให้งดค่าปรับ เพิกถอนหมายจับ และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเดิม

.

+++ ผู้ชุมนุม #ม็อบ10สิงหา รับสารภาพ ข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หลังถูกแจ้งดำเนินคดีตอนไปขอเอารถมอเตอร์ไซค์คืน ศาลปรับ 10,000 +++

10 กันยายน 2564 – พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 ได้ยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา นาย เสฎฐวุฒิ มะโน ต่อศาลแขวงแขวงพระนครเหนือ เหตุเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยต่อมา เสฎฐวุฒิเลือกที่จะรับสารภาพ ศาลได้มีคำพิพากษาปรับเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท เป็นอันจบคดี

เสฎฐวุฒิให้ข้อมูลว่า ในการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เขาไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แต่ถูกยึดรถจักรยานยนต์ไว้ ต่อมา วันที่ 13 สิงหาคม 2564 เขาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เพื่อขอรับรถคืน พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การเสฎฐวุฒิในฐานะพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในการชุมนุมวันดังกล่าว โดยเขาแจ้งว่า ตนได้ขับรถไปพบเพื่อนเท่านั้น

ต่อมา ทางรอง ผกก. สน. ดินแดง ได้โทรเรียกเสฏฐวุฒิเข้ามาสอบคำให้การเพิ่มเติมในฐานะพยานในวันที่ 9 กันยายน 2564 แต่เมื่อเดินทางมาถึง สน. พนักงานสอบสวนได้ชี้แจงหลักฐานว่าเสฎฐวุฒิได้เข้าร่วมในการชุมนุมวันอื่น ๆ อีก จึงแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

ในวันทื่ 10 กันยายน 2564 พนักงานสอบสวนได้นัดหมายเสฏฐวุฒิให้เดินทางมาที่ สน. เพื่อที่จะได้รวมสำนวนส่งทางอัยการให้มีคำสั่งฟ้องคดี เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล จำเลยได้เลือกที่จะรับสารภาพ และศาลได้มีคำพิพากษาปรับตามข้างต้น

.

+++ อัยการยังไม่ฟ้อง แม้ครบกำหนดผัดฟ้องฝากขัง ผู้ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา #ม็อบ17สิงหา +++

13 กันยายน 2564 – ศาลแขวงพระนครเหนือได้นัดรายงานตัวผัดที่ 5 – 3 ผู้ต้องหาในคดีสืบเนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ11สิงหา ถูกกล่าวหาว่า ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยในชั้นสอบสวน ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

>>> ศาลให้ประกัน 14 ผู้ถูกจับกุม #ม็อบ11สิงหา หลังตร.ขอฝากขัง อ้างกลัวก่อเหตุร้ายอีก

อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าว อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 3 ทำให้คดีไม่ถูกฟ้องในกำหนดผัดฟ้องฝากขัง เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ศาลแขวงปทุมวันได้นัดหมายให้ 6 ผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม “ทะลุฟ้า” เดินทางมาเพื่อรายงานตัวหลังผัดฟ้องฝากขังครั้งที่ 5 ในคดีสืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ – ด้านหน้าของ สตช. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม แต่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง ทำให้คดีไม่ถูกฟ้องในกำหนด 

>>> #ม็อบ17สิงหา “ทะลุฟ้า” ยืนยันชุมนุมโดยสันติ ไม่วายถูกสลาย-จับกุมผู้ชุมนุมอีก 6 ปชช.ออกมาซื้ออาหาร ผ่านดินแดงถูกจับ “ฝ่าเคอร์ฟิว” อีกราย

ทั้งนี้ คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลแขวง กฎหมายกำหนดให้ผัดฟ้องและฝากขังได้ 30 วัน นับตั้งแต่ขอผัดฟ้องครั้งแรกหลังจับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหาไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากเกินจากนี้ไป อัยการยังสามารถฟ้องได้ แต่ต้องขออนุญาตฟ้องไปที่อัยการสูงสุดหรืออัยการภาค

.

+++ ยื่นฟ้อง 2 จำเลยคดีหมิ่นลูกประยุทธ์ แยกเป็น 2 คดี นัดตรวจพยานหลักฐาน 8 พ.ย. 64 +++

14 กันยายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีและยื่นฟ้อง 2 จำเลย ได้แก่ ธนิท (สงวนนามสกุล) และเต่า (นามสมมุติ) ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 เหตุจากแสงดความเห็นในโพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ โดยแยกฟ้องเป็น 2 คดี 

อัยการบรรยาฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 จำเลยได้ใส่ความลูกสาวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 คน โดยการโฆษณา ด้วยการพิมพ์คอมเมนท์ในโพสต์ “ชาวเน็ตตอบโต้ ด้วยกลยุทธ์ “เกลือจิ้มเกลือ” คุกคามมา คุกคามกลับไม่โกง หลัง จนท.รัฐ เยี่ยมบ้านเด็กอนุบาลชู 3 นิ้ว ชาวเน็ตจึงจัดให้ ผุดแคมเปญ #ตามหาลูกประยุทธ์”” ของเพจ News1 โดยเต่าคอมเมนท์ว่า “ตามหาครอบครัวลูกเมียของกบฏรัฐบาลประยุทธทุกตัว แล้วอย่าให้พวกมันเสวยสุขบนความทุกข์ประชาชนให้พวกผวาไปตลอด” ในขณะที่ธนิทคอมเมนท์ว่า “ลูกประยุทธ์รับ พ่อโอนที่ให้ และโอนเงินให้ คนละ 100 กว่าล้าน 55 จับมาตรวจสอบหน่อยสิ อยู่ไหนตอนนี้ หนีไปอยู่ต่างประเทศเปล่า” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เสียหายและพลเอกประยุทธ์เป็นคนไม่ดี ร่วมกันทุจริต ซึ่งเป็นความเท็จ และน่าจะทำให้ผู้เสียหายทั้งสองเสียชื่อเสียง

ในคดีนี้ จำเลยทั้ง 2 ได้เข้ามารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 14 กันยายน 2563 ชั้นสอบสวน ธนิทให้การปฏิเสธ ส่วนเต่า ซึ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่มีทนายเข้าร่วม ได้ให้การรับสารภาพ และพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวหรือส่งฝากขัง

ต่อมา ศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในทั้ง 2 คดี เป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2564 และกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 พร้อมคำร้องประกอบ ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้จำเลยสาบานตน

ทั้งนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ รวม 8 ราย ก่อนหน้านี้อัยการยื่นฟ้อง 3 รายแล้ว ผู้ต้องหาที่เหลืออีก 3 ราย อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง โดยเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 6 ตุลาคม 2564

>>> ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท! 1 ผู้ทวิต #ตามหาลูกประยุทธ์ อัยการชี้ตั้งคำถามการใช้ภาษี ปชช. ของลูกสาวนายกฯ ทำให้ทั้งคู่เสียชื่อเสียง

>>> อัยการสั่งฟ้อง 3 คดี! เหตุโพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ เมื่อปีที่แล้ว และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม #ม็อบ7สิงหา 

.

+++ ฟ้อง 2 ราย #ม็อบ16สิงหา แยกเป็น 2 คดี หนึ่งในจำเลยติดโควิด ไม่ได้มารายงานตัว +++

16 กันยายน 2564 – ในนัดรายงานตัวผัดฟ้องฝากขังครั้งที่ 5 ของผู้ต้องหาคดี #ม็อบ16สิงหา 8 ราย พบว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 ได้ยื่นฟ้อง ประชาชน 2 ราย ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ในฐานความผิด ออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม โดย 1 ราย ถูกฟ้องฐาน พกพาอาวุธไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรด้วย ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุรายแรกซึ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 18 ปี ถูกจับที่สามเหลี่ยมดินแดง ขณะขี่รถจักรยานยนต์มากับเยาวชนอีก 4 ราย ส่วนรายหลังเป็นพนักงานส่งของ ถูกจับกุมที่บริเวณถนนมิตรไมตรี ขณะขี่จักรยานยนต์กลับบ้านที่แฟลตหลัง สน.ดินแดง หลังเลิกงาน โดยตำรวจพบมีดพับ 1 เล่ม ในลิ้นชัก จึงยึดเป็นของกลาง

>>> #ม็อบ16สิงหา จับกุม 13 ราย เป็นเยาวชน 5 ราย คนส่งพิซซ่า-คนส่งของก็ถูกจับ แม้ไม่ได้ชุมนุม ก่อนศาลให้ประกันตัว

อัยการระบุในคำฟ้องพนักงานส่งของว่า จำเลยรู้สำนึกในการกระทำ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันและควบคุมโรค จึงขอศาลลงโทษสถานหนัก 

กรณีของวัยรุ่น เนื่องจากจำเลยติดโควิด จึงไม่ได้มาศาล หลังรับฟ้องศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพนักงานส่งของโดยไม่ต้องวางหลักประกัน นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 พร้อมกันทั้งสองราย

นอกเหนือจากจำเลยทั้งสอง ยังมีผู้ถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและใกล้เคียงในวันดังกล่าวอีก 6 ราย ซึ่งเดินทางมารายงานตัวผัดฟ้องฝากขังพร้อมกัน แต่อัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องเนื่องจากยังทำสำนวนไม่เสร็จ ซึ่งหากอัยการจะฟ้องในอนาคต จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดก่อน

.

+++ ฟ้อง “ม่อน อาชีวะ” ร่วม #ม็อบ18กรกฎา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลัง 7 คน ถูกฟ้องไปก่อนแล้ว” 

17 กันยายน 2564  ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ม่อน อาชีวะ” หรือ ธนเดช ศรีสงคราม แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ในคดี #ม็อบ18กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ในฐานความผิด ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 

อัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ธนเดชได้ร่วมกับพวกซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 814/2564 ของศาลแขวงดุสิต และเยาวชนซึ่งพนักงานสอบสวนแยกไปดำเนินคดีต่างหาก ชุมนุมทางการเมืองวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมราว 1,000 คน ยืนกันหนาแน่นในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทั้งยังไม่มีมาตรการคัดกรอง ไม่มีการจัดให้เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร นอกจากนี้ ยังมีการนำรถยนต์กระบะมาจอดบนถนน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในลักษณะกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ ทำให้รถติดอย่างหนัก 

จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันธนเดชระหว่างพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้ประกัน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 20,000 บาท และนัดพร้อมในวันที่ 25 มกราคม 2565 

หลัง #ม็อบ18กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ธนเดชถูกจับกุมที่หน้า สน.บางเขน ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี เหตุจาก #ม็อบ16กรกฎา เรียกร้องวัคซีน mRNA ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข แต่ตำรวจกลับควบคุมตัวประชาชนอีก 11 ราย  เป็นเยาวชน 4 ราย ที่ร่วมเดินทางมากับธนเดช โดยไม่มีหมายจับ อ้างว่าได้ติดตามมาจากที่ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 11 รายว่า ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกลุ่มที่ไม่ใช่เยาวชน 7 ราย อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 

ส่วนธนเดช พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 และยื่นฟ้องตามหลัง คาดว่า ในชั้นศาลอัยการจะขอให้ศาลรวมพิจารณาคดีของธนเดชและจำเลยอีก 7 ราย ส่วนคดีเยาวชน 4 ราย ยังอยู่ในชั้นสอบสวน  

นอกจากนี้ พนักงานอัยการจังหวัดยะลายังยื่นฟ้อง 5 ประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดยะลา จากกรณีจัดและร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ 7 สิงหา ในตัวเมืองยะลา และพนักงานอัยการคดีศาลแขวงลพบุรียื่นฟ้องนักกิจกรรมอีก 2 ราย จากกิจกรรมคาร์ม็อบ 1 สิงหา ของจังหวัดลพบุรี  ในข้อหาหลักฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนศาลให้ประกันตัว โดยให้สาบานตนแทนการวางหลักประกัน ศาลจังหวัดยะลายังกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องคดีนี้ หรือก่ออันตรายประการอื่น 

>>> ไม่ถึงเดือน อัยการเร่งฟ้องคดีคาร์ม็อบยะลา

>>> อัยการสั่งฟ้อง 4 คดีคาร์ม็อบ ทั้งคดีสระบุรี-ลพบุรี-อาชีวะไล่เผด็จการ ศาลให้ประกันไม่ต้องวางหลักทรัพย์

รวมทั้งมีการฟ้อง 4 นักกิจกรรม-นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ปัณณภัทร จันทรางกูล, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์ และวัชรากร ไชยแก้ว ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประกาศจังหวัดปทุมธานี กรณีชุมนุมให้กำลังใจนักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ที่ถูกจับกุมจากหน้าสโมสรตำรวจไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หลังศาลรับฟ้องได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้วางหลักประกันคนละ 20,000 บาท 

.

X